ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
1 ปี ของเหตุการณ์ 7 ต.ค. 2551 ความจริงของเหตุการณ์ดังกล่าว กำลังถูกเปิดเผยจากผลการสอบสวนศึกษาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, คณะกรรมาธิการ 3 คณะของวุฒิสภา, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตลอดจนภาพบันทึกของประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ และสื่อมวลชน ทั้งสื่อไทยและสื่อต่างชาติ
ความจริงที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เราพอจะตอบคำถามสำคัญๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ร้ายแรงในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องก่อนและหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มากขึ้น
1) “7 ตุลา” ใครฆ่าประชาชน ?
ผลการสอบสวนของ ป.ป.ช. ชี้ชัดว่า บุคคลที่วางแผน สั่งการ หรือควบคุมปฏิบัติการ ที่มีหน้าที่ (หรือละเว้นหน้าที่) โดยตรง ได้แก่
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี เมื่อปรากฏว่ามีผู้บาดเจ็บสาหัสจากปฏิบัติการของ เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเปิดทางเข้ารัฐสภาในตอนเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ก็ไม่ได้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชายุติการกระทำ กลับปล่อยให้มีการกระทำที่รุนแรงขึ้น ตามลำดับตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีผู้สั่งการ เพื่อเปิดทางให้สมาชิกรัฐสภาเข้าประชุมสภาให้ได้ โดยมิได้คำนึงถึงชีวิต ร่างกายของผู้ชุมนุม เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะสำคัญ
พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อเกิดเหตุสลายการชุมนุมในช่วงเช้า มีผู้บาดเจ็บถึงขั้นขาขาดและมีบาดแผลสาหัสหลายราย กลับเพิกเฉย เพื่อสนองนโยบายของฝ่ายการเมือง โดยมิได้ยับยั้งการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน ตามวิสัยของข้าราชการตำรวจที่มีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฎร์
พลตำรวจโท สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ตามแผนรักษาความสงบ (กรกฎ/48) ปฏิบัติหน้าที่เกินกว่าเหตุ ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
นอกจากนี้ ยังมีนายตำรวจระดับรองจาก ผบ.ตร. และ ผบ.ชน. ที่ปฏิบัติการอย่างโหดเหี้ยม ไร้สำนึกความเป็นผู้พิทักษ์สินติราษฎร์ แต่เพื่อมุ่งสนองความต้องการของนักการเมือง จงใจทำร้ายประชาชนผู้ชุมนุมอย่างเลือดเย็น เพียงแต่ ป.ป.ช.ยังไม่ได้ชี้มูลความผิดอีกส่วนหนึ่ง
2) นายกฯ (ในขณะนั้น) และเจ้าหน้าที่ มีเจตนาอะไร?
กรรม หรือการกระทำ ย่อมเป็นเครื่องชี้เจตนา เช่น
การประชุมสั่งการกลางดึกของวันที่ 6 ตุลาคม 2551 (หลัง 01.30 น. ของวันที่ 7 ต.ค.) ให้เปิดทางเข้ารัฐสภาโดยเด็ดขาด ไม่ใช้วิธีจากเบาไปหาหนัก เช่น เจรจา ต่อรอง ผลักดัน โดยใช้โล่ห์ ใช้การฉีดน้ำ แล้วจึงค่อยใช้แก๊สน้ำตา
การที่มีตรวจชั้นยศ พล.ต.ท.เจาะจงเบิกระเบิดแก๊สน้ำตา ชนิดที่ผลิตและนำเข้ามาจากประเทศจีน ซึ่งมีสารระเบิดในระดับที่ทำอันตรายแก่ร่างกายและชีวิตของคนได้
การยิงระเบิดแก๊สน้ำตา และปืน เข้าใส่กลุ่มประชาชนโดยตรง
การขว้างและระดมยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ประชาชนอย่างไม่บันยะบันยัง พร้อมประกาศสำทับซ้ำๆ ไปด้วยคำเช่นว่า “มันอยู่ได้ให้มันอยู่ไป”
การไม่เร่งรีบเอื้ออำนวยให้มีการนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว อย่างกรณีคุณเจ๊ก ชุมพร หรือคุณธัญญา กุญแก้ว ถูกระเบิดขาขาด ยังต้องนั่งจมกองเลือด รอคอยความช่วยเหลืออยู่นานนับชั่วโมง เป็นผลให้เขาได้รับผลกระเทือนทางสมองซ้ำ (รายละเอียดอยู่ในหนังสือ “บาดแผล 7 ตุลา” )
การไม่ช่วยเหลือคนเจ็บ แต่กลับมุ่งจะจดชื่อผู้บาดเจ็บ สอบปากคำในที่เกิดเหตุ และยังปรากฏภายหลังเหตุการณ์ว่า ตำรวจได้ออกมาใส่ร้าย กล่าวหาผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต โดยบอกว่า พกระเบิดมาเองบ้าง ลื่นล้มล้มบ้าง ฯลฯ แถมยังมีการอำพรางคดี ด้วยการตกแต่งทาสีบริเวณรั๊วและสนามหญ้ารัฐสภา
การที่ปรากฏว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส ขาขาด ได้รับบาดแผลฉกรรจ์จำนวนมาก ตั้งปต่ตอนเช้า 06.15 น. แต่ยังปฏิบัติการแบบเดิมซ้ำๆ อีกหลายรอบ ทั้งตอนบ่าย และโดยเฉพาะช่วงค่ำ (บริเวณหน้า บชน.) ทำให้มีคนตายและเจ็บจำนวนมาก ฯลฯ
การกระทำเช่นนี้ บ่งชี้เจตนาใด ?
จะเป็นดังเช่นที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ชี้ไว้ในผลการสอบสวนกรณีดังกล่าวว่า เป็นการกระทำที่ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล คือ อาจทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บสาหัส และอาจถึงแก่ชีวิตได้ เป็นการกระทำที่เกินกว่าความจำเป็น และเป็นการปฏิบัติการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หรือไม่?
3) ผู้ชุมนุมที่บาดเจ็บ ล้มตาย มีอุดมการณ์ความคิด อย่างไร?
ผมได้มีโอกาสตั้งทีมศึกษาวิจัย ภายใต้การแนะนำของอาจารย์กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร และนพ.นพพร พงศ์ปลื้มปิติชัย โดยมีคณะนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 6 คน นำโดย ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง ได้ร่วมทีมกับคนทำงานสื่อสารมวลชนของบริษัทว็อชด็อก จำกัด อีกกว่า 10 คน นำโดยคุณศักดิ์ชัย อภินัยนาถ ทำการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยเข้าไปสืบค้นและสัมผัสกับชีวิต ปูมหลัง ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดของผู้บาดเจ็บ และคนใกล้ชิดของผู้เสียชีวิตแต่ละคน โดยมุ่งเน้นที่การค้นหาจุดยืน ตัวตน อุดมการณ์ความคิด และผลกระทบที่มีต่อชีวิตคนเหล่านั้น ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ 7 ต.ค. 2551
เนื่องจากผู้ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์มีจำนวนมาก การศึกษาดังกล่าวจึงอาศัยกลุ่มตัวอย่างที่ถูกสุ่มยิงโดยตำรวจ หรือพูดง่ายๆ ว่า เลือกเอากรณีที่ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต จำนวน 23 คน (เฉพาะที่ประสบเหตุในวันที่ 7 ต.ค.2551 จำนวน 21 คน) ซึ่งเนื้อหาสาระที่ค้นพบ น่าสนใจและกินใจอย่างยิ่ง ปรากฏอยู่ในหนังสือ “บาดแผล 7 ตุลา” และบางส่วนได้จัดทำเป็นดีวีดีสารคดีชีวิต “บาดแผล 7 ตุลา” จำนวน 2 แผ่น สิ่งที่ค้นพบโดยสังเขป เช่น
คนเหล่านี้ ส่วนใหญ่เข้าร่วมชุมนุมด้วยความรู้สึกเป็นห่วงในหลวงของเรา ไม่ต้องการรัฐบาลหุ่นเชิดของทักษิณ รับไม่ได้กับการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวนักการเมืองให้พ้นผิด รับไม่ได้กับระบอบทักษิณที่ทุจริต โกงชาติ ฯลฯ
คนเหล่านี้ ส่วนใหญ่ รู้ทั้งรู้ว่าเกิดเหตุรุนแรงในตอนเช้า มีอันตรายคุกคามต่อการชุมนุมของพันธมิตรฯ แต่ทุกคนก็ยังออกมาเข้าร่วมในตอนบ่ายและค่ำ โดยให้เหตุผลว่า ตอนนั้น คิดว่าเมื่อเกิดเหตุร้ายแรงช่วงเช้าแล้ว ตำรวจก็คงมีหัวใจความเป็นมนุษย์ คงไม่ทำร้ายประชาชนซ้ำอีก หรืออย่างน้อย ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองก็คงไม่ปล่อยให้เกิดเหตุร้ายซ้ำอีก
คนเหล่านี้ ออกมาร่วมกับพันธมิตรฯ มากๆ เพราะ “จะต้องออกไปร่วมกับพี่น้องเราเยอะๆ เขาจะได้ไม่ทำร้ายพวกเรา” เกิดความรู้สึกผูกพันกันด้วยหัวใจในระหว่างการชุมนุมอันยาวนาน
บอกว่า ออกมาร่วมกันเหมือน “สายน้ำเล็กๆ ที่ไหลรวมกันเป็นแม่น้ำ เป็นมหาสมุทร เป็นพลัง” หรือ “เราแต่ละคนเป็นเม็ดทราย แม้มีขนาดเล็ก แต่รวมตัวกันก็มีพลัง” หรือ “เราคือกิ่งไม้เล็กๆ ถ้ามามัดรวมกันก็มีความแข็งแกร่ง”
แต่เมื่อเกิดเหตุร้าย ซ้ำหลายๆ รอบในวันที่ 7 ต.ค. 2551 สะท้อนว่า คนเหล่านี้ ยังมองความเป็นมนุษย์ของรัฐบาลสมชายและตำรวจดีเกินความเป็นจริง
คนเหล่านี้ ทุกคนยืนยันตรงกันว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ วันนั้น ก็ยังจะออกมาร่วมชุมนุมอีก ไม่เสียใจเลยที่ออกมาร่วมชุมนุมในวันนั้น การบาดเจ็บและพิการ แม้จะเป็นความสูญเสีย แต่ก็พร้อมจะออกมาร่วมชุมนุมอีกครั้ง หากต้องทำเพื่อบ้านเมืองส่วนรวม
ถ้าบ้านเมืองมีปัญหา ก็จะออกมาต่อสู้อีก ภูมิใจที่ได้เสียสละ พร้อมต่อสู้กับระบอบทักษิณ เพราะ “ถ้าระบอบทักษิณยังอยู่ เราจะไม่ได้อยู่ในแผ่นดินที่คุ้นเคยอีกต่อไป”
อุดมการณ์ของผู้เสียสละ 7 ต.ค.2551 สอดคล้องกับพระดำรัสของสมเด็จพระสังฆราชที่ว่า “การให้ที่ยิ่งใหญ่ คือการทำให้แผ่นดิน”
ในส่วนของครอบครัวของผู้เสียชีวิต ผู้พิการ แขนขาด ขาขาด สมองพิการ ต่างต้องทุกข์ทรมานไม่แพ้ตัวผู้ได้รับบาดเจ็บ หลายคนถูกกระทบในด้านหนทางทำมาหากิน เช่น เคยขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง แต่เมื่อขาขาด ทำให้ต้องหาหนทางทำมาหากินอย่างอื่น (ตี๋ แซ่เตียว), เคยทำงานแบกหามในโรงงาน แต่เมื่อเท้าขาด ก็ต้องหาทางทำมาหากินอย่างอื่น (มิถุนา อุ่นแก้ว), เคยเป็นแม่บ้าน ดูแลลูกๆ แต่เมื่อถูกระเบิดสมองเสียหาย ต้องนอนโรงพยาบาลอยู่จนถึงวันนี้ ครอบครัวก็สูญเสียใหญ่หลวง (รุ่งทิวา ธาตุนิยม) ฯลฯ
ยังดี ที่ทุกคนได้รับกำลังใจและความช่วยเหลืออย่างดี “ไม่ทิ้งกัน” จากพันธมิตรฯ แกนนำ และผู้ร่วมชุมนุมทั้งหลาย มีการผัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปเยี่ยมกันโดยไม่ได้นัดหมาย มีการช่วยเหลือเกื้อกูล ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ตลอดจนช่วยหางาน ช่วยแบ่งเบาความรู้สึกสูญเสียและความเครียดในใจออกไปได้ไม่น้อย
ที่จะขาดก็แต่ความสนใจ และแสดงออกถึงความเอาใจใส่ของรัฐบาล
4) ต้นทุนของการเปลี่ยนแปลงระบอบทักษิณ ตกอยู่กับประชาชน?
เริ่มจากต้นทุนที่สูงที่สุด คือ ชีวิตที่จากไป โดยตลอดการชุมนุมของพันธมิตรฯ มีผู้เสียชีวิตถึง 7 คน
บาดเจ็บสาหัสถึงขั้นพิการ 7 คน บาดเจ็บอีกกว่า 625 คน
คนเหล่านี้ สูญเสียอวัยวะ สมอง ลูกตา แขน ขา ฯลฯ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบทักษิณ
ครอบครัวญาติมิตรของคนเหล่านี้ ต้องสุญเสียคนที่รัก คนที่เคยดูแลช่วยเหลือ ช่วยทำมาหากิน คนที่เคยเป๋นเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยาก
ประชาชนผู้ชุมนุมทั้งหมดหลายล้านคนทั่วประเทศ ต่างสูญเสียเวลาในการทำมากินส่วนตัว เพื่อออกมาปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม
หลายคนเสียค่ารถ ค่าอาหาร เดินทางออกมาร่วมชุมนุมด้วยตนเอง หรือบ้างก็ให้ภรรยา หรือสามี หรือลูก ออกมาชุมนุมในช่วงเวลาที่ตนเองไม่สะดวก
หลายคนถึงกับบริจาคเงินส่วนตัว เพื่อช่วยเหลือการชุมนุมเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ฯลฯ
ต้นทุนเหล่านี้ ล้วนตกอยู่กับประชาชนทั้งสิ้น
5) รัฐบาลปัจจุบัน เน้น “สมานฉันท์” ?
การอ้างว่า เน้นสมานฉันท์ แต่มุ่งจะแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของตัวนักการเมืองในสภาและพรรคการเมืองโดยตรง ไม่น่าจะเกิดการสมานฉันท์ที่แท้จริง
ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรด้วยเลยแม้แต่น้อย
ตรงกันข้าม ประชาชนกลับเป็นผู้สูญเสียผลประโยชน์โดยตรง เพราะประชาชนเปรียบเสมือนเป็นเจ้าของบ้าน ที่นักการเมืองเหมือนเป็นผู้รับเหมาเข้ามาทำงานตามทีโออาร์หรือสเป๊คงานที่ตกลงกันไว้ตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อผู้รับเหมาเข้ามาทำงานแล้ว กลับจะแก้ทีโออาร์เอง เพื่อลดภาระงานของตัวเอง เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง
การที่นักการเมืองและพรรคการเมืองผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่อาจจะกระทำได้โดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
แม้จะพยายามอ้างทำประชามติ แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็เพิ่งจะผ่านการลงประชามติมาเพียง 2 ปี ยังใช้บังคับไม่ครบวาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ส.เลยด้วยซ้ำ (4 ปี) เพียงแต่เมื่อนักการเมืองเห็นว่าตนเองถูกตรวจสอบ ก็จะขอแก้ใหม่ ทำประชามติใหม่ เหมือนแพ้แล้วขอแข่งใหม่อยู่ร่ำไป ไม่คำนึงถึงงบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท ทำให้ประชาชนและประเทศชาติ ต่างเสียเวลา เสียโอกาส โดยไม่รู้สึกละอาย
ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 244(3) “ให้ติดตาม ประเมินผล และจัดทำข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รวมตลอดถึงข้อพิจารณาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในกรณีที่เห็นว่าจำเป็น” แต่ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ ละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ?
ที่สำคัญ ถึงแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ก็ไม่ช่วยให้เกิดความสมานฉันท์เลยแม้แต่น้อย เพราะประเด็นปัญหาความวุ่นวายในบ้านเมืองไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความไม่เคารพคำพิพากษาของศาล ความไม่เคารพกติกาบ้านเมือง ความอยากเป็นใหญ่ของคนในระบอบทักษิณ ใช่หรือไม่
น่าสะท้อนใจเหลือเกินว่า ระบอบทักษิณเกิดขึ้นก็ด้วยน้ำมือและความร่วมมือของนักการเมืองบางส่วน จนเกิดความเสียหายใหญ่หลวงต่อแผ่นดิน และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
กลับเป็นประชาชน ที่รับภาระต้นทุนในการเปลี่ยนแปลงระบอบทักษิณ โดยช่วยกันออกมาชุมนุมขับไล่ระบอบทักษิณ เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และพัฒนาการเมืองไทยให้ก้าวหน้า มีธรรมาภิบาลยิ่งขึ้น
โดยที่ประชาชนเหล่านั้น ยอมตาย ยอมเสียสละเลือดเนื้อและชีวิต ทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส ประเมินค่ามิได้ ตลอดการชุมนุมของพันธมิตรฯ 193 วัน เริ่มจาก 25 พ.ค. 2551 ซึ่งรวมถึง “7 ต.ค.2551” อันเป็นการชุมนุมต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง และต่อต้านรัฐบาลหุ่นเชิดของระบอบทักษิณ
แต่มาวันนี้ กลับจะเป็นนักการเมืองอีกครั้ง ที่กำลังพยายามจะใช้อำนาจรัฐแก้รัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว ทั้งของตัวเองและเพื่อพรรคการเมืองของตัวเอง
การอ้างสมานฉันท์เยี่ยงนี้ จึงไม่นับเป็นการสมานฉันท์ที่แท้จริงอย่างแน่นอน
เพียงจะแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองและพรรคการเมืองกันเอง เท่านี้ ก็สร้างความเจ็บปวด เสมือนบดขยี้ลงไปบนบาดแผล 7 ตุลา สร้างความร้าวลึกและทรมานหัวใจของประชาชนพันธมิตรฯ ตลอดจนคนระดับสูง คนระดับกลางทั่วไป ที่ค่อยๆ เสื่อมความหวังที่เคยมีต่อรัฐบาลและรัฐสภาลงไปเรื่อยๆ
คิดหรือว่าแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นนี้ แล้วบ้านเมืองจะสมานฉันท์ ?
ไม่คิดหรือว่าถ้าแก้รัฐธรรมนูญโดยเอาประชามติบังหน้าแบบนี้แล้ว บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟอีกครั้ง ?
บาดแผล 7 ตุลา ที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา ไม่ได้รับการเอาใจใส่จากรัฐบาลแม้แต่น้อย แต่กำลังจะถูกกรีดซ้ำด้วยการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง!