xs
xsm
sm
md
lg

อ่านหนังสือได้ 10 เล่ม… เรื่องท้าทายแบบเดิมๆ ของสังคมไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นอีกครั้งหนึ่ง (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าครั้งที่เท่าไหร่แล้ว) ที่กระทรวงศึกษาธิการ ที่มี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นหัวเรือใหญ่ แสดงความขยันขันแข็งอีกครั้งเพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการอ่าน โดยมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 2 ชุด คือ คณะทำงาน รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ ประธานที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตเป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดแผนการดำเนินงานในระยะยาว ตั้งแต่ปี 2552-2561 และแผนระยะสั้นในปี 2552-2553 ส่วนคณะทำงานชุดที่ 2 คือคณะกรรมการปรับปรุงภาษีส่งเสริมการอ่าน มี เกียรติชัย พงษ์พาณิชย์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นประธาน

งานนี้จึงดูจริงจังมากๆ ซึ่งสังคมเองก็รอดูอยู่ว่าจะเป็นจริงแค่ไหน รศ.ดร.สุขุม บอกว่า การทำงานครั้งนี้จะมีการวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว และจะทำอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน มีการประเมินผลเป็นระยะ รวมถึงการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างสม่ำเสมอ

“สิ่งที่ทำให้สังคมไทยไม่มีวัฒนธรรมการอ่าน เราวิเคราะห์มา 2-3 ประเด็นคือ สังคมไทยเป็นสังคมที่ค่อนข้างสบาย มีการรับรู้เรื่องราวโดยการเล่าเรื่องมากกว่าที่จะค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง จึงสร้างความเคยชินให้ไม่ต้องกระตือรือร้น ประเด็นที่ 2 คือการอ่านถูกปลูกฝังเฉพาะในระบบโรงเรียนเท่านั้น ความจำเป็นในการอ่านจึงมุ่งเฉพาะแต่ในหนังสือเรียนและชั้นเรียนเป็นหลัก และสุดท้าย การรณรงค์ให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติมีการทำมาโดยตลอด แต่มีลักษณะซ้ำซ้อน ไม่ยั่งยืน และไม่มีการติดตามผล ดังนั้น พอเริ่มรัฐบาลใหม่ทีก็ทำที จึงทำให้การอ่านไม่ต่อเนื่อง”

อย่างที่เคยได้ยินเป็นประจำเกือบทุกปีว่าคนไทยอ่านหนังสือปีละไม่กี่บรรทัด บางคนบอกว่าการอ่านหนังสือของคนไทยไม่น่าจะน้อยขนาดนั้น ซึ่งเมื่อไปตรวจสอบดูจาก การสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร พ.ศ.2551 พบว่า คนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปมีอัตราการอ่านหนังสือร้อยละ 66.3 ผู้ชายอ่านมากกว่าผู้หญิง และประชากรในเขตเมืองอ่านหนังสือมากกว่าในเขตชนบท
..........

1.

การอ่านเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่ภาครัฐจะสร้างวัฒนธรรมได้ในช่วงเวลาสั้นๆ จากข้อมูลสถิติตัวเดียวกัน

‘จากการสำรวจความคิดเห็นของประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป เกี่ยวกับวิธีการรณรงค์ให้คนรักการอ่านหนังสือ พบว่า วิธีการรณรงค์ที่ได้รับการเสนอแนะมากที่สุด 5 ลำดับแรก คือ หนังสือควรมีราคาถูกลงร้อยละ 28.7 หนังสือควรมีเนื้อหาสาระน่าสนใจร้อยละ 22.0 ควรมีห้องสมุดประจำหมู่บ้านหรือชุมชนร้อยละ 19.8 ส่งเสริมให้พ่อแม่ปลูกฝังให้เด็กรักการอ่านหนังสือร้อยละ 19.3 และภาษาที่ใช้ในหนังสือควรใช้ภาษาง่าย ๆ สื่อให้ทุกคนสามารถเข้าใจได้ ร้อยละ 13.1’

แต่คำถามที่ต้องไปไกลกว่า ‘อ่าน’ คือ ‘อ่านอะไร’ จะวัดการอ่านของคนในประเทศจากปริมาณหรือคุณภาพ เรื่องนี้ ชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ในฐานะคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีพ

ต่อคำถามที่ว่านโยบายนี้จะเป็นการเน้นการอ่านเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพหรือไม่ เธอยอมรับว่าใช่ เพราะถือเป็นธรรมชาติในการทำงานที่ต้องตั้งเป้าเป็นตัวเลขเอาไว้ แต่ก็เคยมีการประชุมกันในหมู่คณะกรรมการว่าไม่ควรจะตั้งเฉพาะปริมาณ ควรจะพูดเรื่องคุณภาพด้วย

“ตัวคุณภาพเป็นตัวที่วัดไม่ได้ ไม่สามารถรู้หรอกว่าข้างในของเด็กแต่ละคนมันเป็นยังไง มันจะรู้ได้ต่อเมื่อระยะเวลามันผ่านไประยะหนึ่ง สังคมมันอาจจะเปลี่ยน ลักษณะการอ่านหนังสือ ความสนใจของคนเปลี่ยนไป อย่างนี้แสดงว่ามันมีผล แต่หากมันไม่มีผล มันไม่ปรากฏ แสดงว่าการทำงานเรื่องทศวรรษการอ่านนี้ไม่ได้ผล”
ที่สำคัญ ชมัยภรยังแสดงทัศนะด้วยว่าเราควรขยายขอบเขตนิยามของการอ่านให้กว้างไกลกว่านี้


“อะไรก็ตามที่มีตัวอักษรและมีสายตาสัมพันธ์กัน แล้วกระบวนการในสมองและร่างกายทำงาน นับว่าเป็นการอ่านทั้งหมด ไม่ว่าจะอ่านหนังสือพิมพ์ หรือการ์ตูนก็นับเป็นการอ่านชนิดหนึ่งเช่นกัน

“ไม่ได้หมายความว่า พออ่านการ์ตูนแล้วเราจะปฏิเสธ ถือว่าเขาไม่ได้อยู่ในกระบวนการของการอ่าน นั่นล่ะนับเป็นกระบวนการของการอ่าน เพียงแต่หนังสือการ์ตูนจะมีเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น เมื่อคนอายุน้อย เช่น คนอายุน้อยสัก 10-12 ปี ได้อ่านการ์ตูน ความประทับใจจะสูง จินตนาการจะมีมากกว่า การ์ตูนจะเป็นฐานที่ดีสำหรับเด็กที่จะก้าวไปสู่การอ่านต่อๆ ไป คือมันก็เป็นไปได้ที่เขาจะอ่านการ์ตูนไปเรื่อยๆ แต่ในขณะเดียวกันเขาจะอยากอ่านในสิ่งที่มันมากกว่าการ์ตูน หรือมันยากกว่าการ์ตูน มันจะพัฒนาไปเอง

“แต่ว่าสิ่งที่เราต้องการในเรื่องของการอ่านก็คือว่า คุณต้องเอาตาไปเจอกับตัวอักษรหรือเส้นสายที่แสดงแทนตัวอักษร แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีตัวอักษรด้วยซึ่งมันก็เป็นพวกเดียวกัน”
..........

2.

ด้านเจ้าของสำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์อย่าง ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา พูดถึงนโยบายลดภาษีกระดาษลงว่า ก็คงช่วยได้บ้าง โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนของการผลิตหนังสือนั้นถูกลง และเมื่อต้นทุนถูก การตั้งราคาก็จะทำได้ถูกลง

แต่ราคาเป็นแค่เพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นที่บอกว่าคนไทยจะอ่านหรือไม่อ่านหนังสือ ทุกวันนี้ราคาหนังสือในประเทศไทยก็ไม่ได้แพงมาก เมื่อเทียบกับค่าครองชีพ แต่ถ้ามันถูกลงมาบ้างก็คงช่วยได้ แต่ไม่ได้ช่วยทั้งหมด เพราะจริงๆ แล้วกิจกรรมการส่งเสริมการอ่าน มันมีปัจจัยมากกว่านั้น ทั้งการรณรงค์ วัฒนธรรม การสนับสนุนการศึกษาให้คนเข้าใจว่า การอ่านมีความสำคัญต่อการพัฒนาปัญญาอย่างไรบ้าง

“ทุกวันนี้ ปัญหาของการอ่านหนังสือไม่ได้อยู่แค่ภาครัฐอย่างเดียว แต่อยู่ที่ภาคเอกชนด้วย ตอนนี้ ปริมาณหนังสือมันมีเยอะ แต่หน้าร้านมันมีพื้นที่ไม่เพียงพอ หนังสือที่มีคุณภาพก็จะถูกหนังสือกระแสตีออกไปหลังร้าน และเมื่อมันอยู่หลังร้านคนก็จะไม่สามารถหามันได้เจอ ด้วยเหตุนี้คนก็เลยไม่ได้อ่านหนังสือแบบนี้ หันมาอ่านหนังสือแบบอื่น

“แล้วคนทุกวันนี้ก็ไม่ใช่ว่าเขาไม่อ่านนะ แต่ต้องถามว่าเขาอ่านอะไร ถ้าอ่านหนังสือกระแส บางทีมันก็ไม่ได้ส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน จนนำไปสู่การสร้างปัญญาหรือทางออกทางความคิด ถึงตอนนี้ภาคเอกชนก็ต้องคิดเหมือนกันว่าคุณกำลังอยู่ในธุรกิจวัฒนธรรม ไม่ใช่ธุรกิจขายผงซักฟอก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐบาลก็ต้องมีส่วนในการกำหนดนโยบายที่มีส่วนช่วยด้วย เพราะกลไกต่างๆ มันอยู่ที่ภาครัฐ จะลดภาษีกระดาษก็ได้ หรือส่งเสริมให้มีห้องสมุดชุมชนให้มันมากขึ้นก็ได้ ให้บรรณารักษ์ช่วยกันสั่งหนังสือที่ดี เอาไปใส่ห้องสมุด ยอดขายของหนังสือคุณภาพมันจะได้สูงขึ้น แล้วสำนักพิมพ์ดีๆ จะได้อยู่ได้”

ทัศนะของภิญโญกลับไปสู่คำถามสำคัญข้างต้นว่า การส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ต้องมองในเชิงคุณภาพควบคู่ไปด้วยว่าสิ่งที่อ่านนั้นคืออะไร อีกประการหนึ่งที่เขาย้ำก็คือรัฐบาลจะต้องมองในภาพรวมและเชื่อมโยงให้ได้ระหว่างการอ่านกับการต่อยอดความรู้ในภาคส่วนอื่นๆ
..........

3.
การวัดการอ่านในยุคอินเทอร์เน็ตอาจไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนการวัดปริมาณหนังสือ ต้องยอมรับว่า คนจำนวนหนึ่งถึงแม้จะไม่ได้อ่านหนังสือเล่มที่จับต้องได้ แต่พวกเขาก็อ่านข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต การตั้งเป้าของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มจากปีละ 5 เล่มเป็น 10 เล่ม จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรวบรัดได้ว่าใครอ่านหรือไม่อ่านหนังสือถึง 10 เล่ม

“เราจะต้องประเมินให้รอบด้าน เพราะเด็กบางคนอ่านในเว็บไซต์ ค้นในอินเทอร์เน็ต อาจจะเกิน 10 เล่มด้วยซ้ำ ดังนั้น การวัดและประเมินผลจึงต้องครอบคลุม ไม่ใช่เฉพาะการอ่านหนังสือเล่มเท่านั้น ถ้าสามารถประเมินตรงนี้ได้ครบถ้วน ผมว่าการอ่านมันจะขยายกว้างขึ้น ถ้าคิดเฉพาะการอ่านหนังสืออย่างเดียว มันค่อนข้างจะแคบไป

“อะไรก็ตามถ้าอ่านแล้วมีการพัฒนา อ่านฉลากยา อ่านคำเตือนจากโปสเตอร์ไข้หวัด 2009 แล้วทำให้คนระมัดระวังขึ้น ผมว่าตรงนี้เป็นการอ่านในชีวิตประจำวันที่ค่อนข้างได้ผล” รศ.ดร.สุขุมอธิบาย

ขณะที่ชมัยภรมองประเด็นนี้ว่า จริงอยู่ที่เราไม่ควรปิดกั้น แต่ควรต้องมีการควบคุมคุณภาพของเนื้อหา

“การอ่านอีบุ๊กออนไลน์ รัฐก็ไม่ได้เข้าไปควบคุมว่าเด็กๆ อ่านอะไร ก็ปล่อยไปตามสะเปะสะปะ ได้ยินว่ามีนวนิยายในเว็บทั้งหมดตอนนี้กว่า 240,000 เรื่อง มันเวียนอ่านกันจนปวดหัว ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่ว่าที่มีคุณภาพมันไม่มี มันมีน้อยมาก เท่าที่เขาทำวิจัย เพราะว่าเด็กๆ ไม่รู้เลยว่าจะเขียนยังไงให้มีคุณภาพ ก็เวียนกันอ่านอยู่แค่นั้น เพราะไม่รู้ ถ้าใครที่จัดการได้ก็ต้องเข้าไปจัดการ คือคำว่าจัดการไม่ได้แปลว่าไปปิด แต่แปลว่าไปทำให้มันดี ไปเพิ่ม ไปพัฒนา”

นักเขียนหนุ่มอย่าง วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์ มองเรื่องวัฒนธรรมการอ่าน ที่กระจายเข้าสู่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้นว่า น่าจะเป็นคนละเรื่องกันและเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะแม้เทคโนโลยีอาจจะทำให้การรับรู้การอ่านเพิ่มมากขึ้นก็ตาม

แต่จริงๆ แล้วอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นเรื่องของการสนทนา เป็นเรื่องของการแจ้งข่าวสารมากกว่า เพราะหากสังเกตดูจะพบว่า ภาษาที่อยู่ในโลกไซเบอร์นั้นเป็นภาษาพูดหรือภาษาที่ใช้สำหรับสื่อสารกัน ไม่ใช่ภาษาเขียนหรือภาษาหนังสือ และเขายังมีความเห็นต่อนโยบายครั้งล่าสุดของกระทรวงศึกษาธิการครั้งนี้ว่า

“ผมเชื่อว่านโยบายนี้เป็นแค่การทดลองมากกว่า คงยังไม่ประสบความสำเร็จ ในการทำให้คนไทยอ่านหนังสือหรอก ถ้าจะสำเร็จก็คงจะเป็นพวกเด็กๆ อายุ 2-3 ปี ส่วนอายุช่วงอื่นๆ อาจจะมีการแข่งขันกันระหว่างอายุ แล้วพอสนับสนุนก็ต้องมีการเผยแพร่เหตุผลของการกระตุ้น เพื่อให้กลุ่มอื่นมีความกระเตื้องอยากอ่าน แล้วหนังสือที่จะเผยแพร่ก็ไม่ควรเป็นหนังสือที่แคบเกินไป เช่น ควรสนับสนุนให้เด็กอ่านหนังสือของผู้ใหญ่บ้าง เพราะบางเล่ม เด็กก็มีวุฒิภาวะของเด็กที่จะอธิบายกับตัวเองได้ว่า จะเชื่อหรือไม่เชื่อ หรือเข้าใจในหนังสือของผู้ใหญ่ได้

“ขณะที่การสนับสนุนก็ต้องทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำแบบฉาบฉวย ถ้าทำได้ควรทำเป็นนโยบายอมตะเลย ยุคไหนล้มก็ยังทำได้อยู่ เผด็จการขึ้นมาครองอำนาจ ก็ยังสนับสนุนให้คนอ่านหนังสือต่อต้านเผด็จการได้ สำหรับผมแล้วนโยบายนี้ก็เป็นนโยบายที่ดี แต่โดยรวมแล้วคงเป็นไปได้ยาก เพราะการที่มีหนังสือที่ทำให้คนมีความรู้ คนที่มีอำนาจก็จะกลัว”
..........

ไม่ว่าโครงการนี้จะสำเร็จหรือไม่ จะฉาบฉวยหรือเอาจริงเอาจัง ก็ต้องขอเอาใจช่วย การสร้างวัฒนธรรมการอ่านยังไงก็เป็นสิ่งที่ดี และก็ยังนึกข้อเสียไม่ออก

แต่ก่อนจะไปถึงวัฒนธรรมการอ่าน อาจยังต้องผ่านขวากหนามอีกเยอะ ...ก็อย่างที่วีระยศบอกว่า

“ผมว่าก่อนที่เราจะพูดถึงค่านิยมในการอ่าน เอาแค่ค่านิยมในการถือหนังสือให้ได้ซะก่อนดีกว่า ฉันมีเล่มโน้น ฉันมีเล่มนี้ ก็ถือว่าโอเค เพราะแค่คุณมีของในมือที่เป็นหนังสือก็ย่อมดีกว่า เป็นมือถือ เครื่องเพชร หรือโน้ตบุ๊กที่เป็นวัตถุ ปีหนึ่งผมถือหนังสือ 50 เล่ม คุณถือหนังสือกี่เล่ม มันอาจจะได้ผลเบื้องต้นมากกว่า เพราะเวลาคุณไปเจอใคร ก็อาจจะมีคำถามว่าคุณอ่านเล่มนั้นเป็นไง มันอาจจะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกิดขึ้น”
***********

เรื่อง: ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น