xs
xsm
sm
md
lg

The Unknown Woman : ความลับของหญิงแปลกหน้า

เผยแพร่:   โดย: โสภณา เชาว์วิวัฒน์กุล


* หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนของหนัง

จนถึงวันนี้ ผลงานที่ได้ชื่อว่า ดีที่สุด ตราตรึงในหัวใจผู้ชมมากที่สุด ของ จูเซปเป ตอร์นาตอเร ก็ยังหนีไม่พ้น Cinema Paradiso ซึ่งออกฉายตั้งแต่ปี 1988

หลังจากนั้นมา แม้ตอร์นาตอเรจะมีผลงานตามออกมาอีกหลายเรื่อง และทุกเรื่องล้วนอยู่ในเกณฑ์ ‘ดี-ดีมาก’ (Everybody’s Fine, The Star Maker, The Legend of 1900, Malena) ทว่าลงท้าย มันก็ถูกรัศมี Cinema Paradiso บดบังจนแทบจะหมดสิ้น

The Unknown Woman เป็นงาน ‘เกือบล่าสุด’ ของตอร์นาตอเร (ที่ต้องใช้คำว่า ‘เกือบล่าสุด’ เพราะ ณ วันนี้ตอร์นาตอเรมีหนังอีกเรื่องที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ชื่อ Baaria – La Porta del Vento หนังมีกำหนดฉายในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้)

หนังออกฉายที่อิตาลีเมื่อปี 2006 และได้รับการแซ่ซ้องจากนักวิจารณ์ในบ้านเกิดเป็นอันมาก หลายเสียงถึงกับบอกว่า หากไม่นับ Cinema Paradiso แล้ว นี่ถือเป็นงานที่ดีที่สุดของเขา หนังได้รับรางวัลดาวิด ดิ โดนาเตลโล (ออสการ์อิตาลี) ถึง 5 ตัว (จากการเข้าชิง 12) นอกจากนั้นยังได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนอิตาลีในการเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม ประจำปี 2008 ด้วย

The Unknown Woman หรือ “ผู้หญิงที่ไม่มีใครรู้จัก” ในชื่อเรื่อง หมายถึง อิเรนา หญิงสาวชาวยูเครนที่เดินทางมาทำมาหากินด้วยการเป็นแม่บ้านรับจ้างทำความสะอาด ณ เมืองใหญ่เมืองหนึ่งในประเทศอิตาลี

หนังเล่าเรื่องของอิเรนาตั้งแต่นาทีแรกที่เธอเดินทางมาถึงเมืองอันเป็นฉากหลังของเรื่อง และทำให้ผู้ชมตระหนักถึงความไม่ชอบมาพากลของตัวละครตัวนี้ทันที ด้วยการที่ หนึ่ง หนังตัดสลับย้อนกลับไปเล่าถึงอดีตของอิเรนา โดยบอกว่า ครั้งหนึ่งเธอเคยเข้ารับการคัดเลือกตัว ‘แบบชอบกล’ รายการหนึ่ง คราวนั้นอิเรนาต้องเปลื้องผ้าเปลื้องผ่อนเปลือยกายล่อนจ้อน ทั้งยังต้องสวมหน้ากากปิดบังใบหน้าที่แท้จริงของตนเองไว้ ขณะที่ผู้ทำการคัดเลือกก็หลบซ่อนกายอยู่เบื้องหลังกำแพงหนาทึบ แล้วลอบพิจารณาเนื้อหนังมังสาส่วนสัดของเธอผ่านช่องเล็กๆ ที่มีขนาดพอให้สายตาลอดผ่านเท่านั้น

สอง อิเรนาให้ความสนใจอพาร์ตเมนต์หรูหราห้องหนึ่งเป็นพิเศษ ถึงขั้นที่ยอมเช่าห้องโกโรโกโสในตึกฝั่งตรงข้ามเป็นที่อยู่อาศัย เพียงเพื่อจะได้มองเห็นอพาร์ตเมนต์ห้องดังกล่าวถนัด จากคำบอกเล่าของผู้ดูแลตึก ผู้อยู่อาศัยในอพาร์ตเมนต์ห้องที่เป็นเป้าหมายของอิเรนา คือ ครอบครัวนักธุรกิจค้าอัญมณี นาม อะดาแคร์ อันประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูกสาววัยไม่กี่ขวบคนหนึ่ง

สาม ในบรรดาสมบัติพัสถานที่อิเรนานำติดตัวมาไม่กี่ชิ้น มีอยู่ชิ้นหนึ่งเป็นกระเป๋าเดินทางขนาดย่อมซึ่งภายในบรรจุเงินจนแทบจะล้นกระเป๋า และทันทีที่ย้ายเข้าไปอยู่ในห้องเช่าทรุดโทรมห้องนั้น สิ่งแรกๆ ที่อิรินาทำ ก็คือการหาที่ซุกซ่อนเงินเหล่านั้นให้มิดชิดที่สุดเท่าที่จะทำได้

เรื่องราวถัดจากนี้ หนังเล่าถึงความพยายามของอิเรนาในการพาตัวเองเข้าไปพัวพันกับครอบครัวอะดาแคร์ พร้อมกันนั้นก็คั่นสลับด้วยเรื่องในอดีตของเธอเป็นห้วงๆ ...เดาได้ไม่ยาก อดีตของอิเรนากับพฤติกรรมแปลกๆ ของเธอในปัจจุบัน ย่อมต้องมีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันอย่างไม่ต้องสงสัย

มากกว่านั้น คือ ทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น หากจะสืบสาวราวเรื่องจนถึงที่สุดแล้วก็จะพบว่า จุดเริ่มต้นแรกสุดของมัน แท้จริงแล้วอยู่ที่การคัดเลือกตัวแปลกประหลาดภายในห้องหับลึกลับ –ที่หนังเน้นย้ำความสำคัญด้วยการเผยให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า- ในคราวนั้นนั่นเอง

จูเซปเป ตอร์นาตอเรเคยให้สัมภาษณ์ว่า เขาได้แรงบันดาลใจของหนังเรื่องนี้จากข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ชิ้นหนึ่งที่อ่านพบเมื่อ 20 กว่าปีก่อน

เนื้อข่าวชิ้นที่ว่า กล่าวถึงสามี-ภรรยาชาวอิตาเลียนคู่หนึ่งที่ถูกจับภายหลังตำรวจสืบทราบว่า ทั้งคู่ ‘มีลูกตามใบสั่ง’ กล่าวคือ ก่อนจะเปิดอู่ ทั้งสองจะแสวงหา ‘ผู้ซื้อ’ ไว้ล่วงหน้า เมื่อตกลงราคา ทำสัญญากันเป็นมั่นเหมาะเรียบร้อยแล้ว ทั้งคู่ก็จะยกเลิกการคุมกำเนิด ตัวภรรยาจะปล่อยให้ตัวเองตั้งครรภ์ หลังจากนั้นก็จะนำลูกที่คลอดออกมาไปให้แก่ผู้ซื้อ รับเงินมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องประคองชีวิต

จะว่าไป เนื้อข่าวชิ้นที่ว่า เป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับหนังชีวิตรันทดโศกสะเทือน บีบหัวใจและน้ำตากันอย่างดุเดือดถึงพริกถึงขิงได้เรื่องหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม กับตอร์นาตอเรแล้ว เขาเลือกที่จะจับมันมาแปรรูปเสียใหม่ เพิ่มความระทึกขวัญ (ตอร์นาตอเรเล่าว่า คำถามสำคัญที่เขาตั้งไว้ในการเขียนบทหนังเรื่องนี้ ก็คือ “จะเกิดอะไรขึ้นหากท้ายที่สุดแล้วแม่ที่แท้จริงของทารก ตัดสินใจทวงลูกแท้ๆ ของตนคืน?”) เติม ‘ความร่วมสมัย’ ด้วยการใส่เรื่องราวของขบวนการค้ามนุษย์เข้าไป

แม้ลงท้าย The Unknown Woman จะไม่ใช่หนังที่สร้างขึ้นเพื่อรณรงค์ต่อต้านหรือกระทั่งตีแผ่ปัญหาดังกล่าว ทว่าอย่างน้อยที่สุด มันก็น่าจะทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกอยากรู้อยากเห็น –หรือพูดอีกแบบคือ ตื่นตัว- ต่อขบวนการย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นคนประเภทนี้ขึ้นมาบ้าง

หากจำเป็นต้องนิยาม ในความเห็นของดิฉัน The Unknown Woman คือ หนังระทึกขวัญ ที่ทั้ง ‘ดูสนุกและสะเทือนใจ’ เอามากๆ เรื่องหนึ่ง

หนังเต็มไปด้วยฉากระทึกขวัญชิงไหวชิงพริบ ประเภท ‘แมวไล่จับหนู’ หรือ ‘หนูล่อหลอกแมว’ สารพัด แต่ที่ถือว่าโดดเด่นมากที่สุด ก็คือ ในส่วนของจังหวะการเล่าเรื่อง จังหวะการตัดสลับระหว่างเหตุการณ์ในปัจจุบันกับเงื่อนงำในอดีตทุกครั้งล้วน ‘ถูกต้อง’

หนังอุดมไปด้วยความลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนหลายตลบ แต่ความเซียนของตอร์นาตอเรก็ทำให้เขารู้ว่า ควรจะเปิดเผยความลับเหล่านั้น ‘เท่าใด’ และ ‘เมื่อไหร่’ จึงจะให้ผลลัพธ์ในการกระตุ้นต่อมอยากรู้ของผู้ชมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนั้น ที่ถือว่าเด็ดขาดเหนือชั้น ก็คือ เมื่อหนังดำเนินไปได้ราวค่อนเรื่อง และผู้ชมคิดว่าตัวเองมีร่องรอยมากพอที่จะคาดเดาอะไรต่อมิอะไรได้ทั้งหมดแล้ว ทว่าท้ายที่สุด เมื่อถึงคราวที่หนังยอมเฉลยความลับทั้งหมดออกมาจริงๆ มันก็ยังอุตส่าห์มี ‘เซอร์ไพรส์’ ที่สร้างความตกตะลึงให้แก่ผู้ชมได้อีกระลอกหนึ่ง

หนังอาจมีรอยตำหนิอยู่บ้างในแง่ของความสมเหตุสมผลของเหตุการณ์บางช่วงตอน หรือกระทั่งตอนจบของเรื่องที่ผู้ชมบางส่วนอาจมองว่ามันชวนฝันเกินจริงและพยายามจะเอาใจตลาดเกินไปสักหน่อย

อย่างไรก็ตาม ก็อย่างที่ได้เรียนไว้ บาดแผลรอยตำหนิใดๆ ก็ตามของหนังเรื่องนี้ ท้ายที่สุดแล้วก็ถูกฝีมือการเล่าเรื่องที่เหนือชั้นของตอร์นาตอเรกลบไปจนหมดสิ้น ตลอดความยาวร่วม 2 ชั่วโมงของหนัง มันทำให้ผู้ชมมัวแต่ง่วนอยู่กับการลุ้นระทึกไปกับเรื่องราวที่อยู่ตรงหน้า จนไม่มีเวลาวอกแวกไปคิดถึงอะไรอื่นทั้งนั้น

และคนทำหนังคนไหนก็ตาม ที่ทำให้หนังของตนตรึงความสนใจผู้ชมได้ตั้งแต่นาทีแรกยันนาทีสุดท้ายเช่นนี้ ถ้าไม่เรียกว่าเก่ง ‘โคตรเทพ’ ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอย่างไรแล้ว





กำลังโหลดความคิดเห็น