xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ซ่อนเงื่อนหนุนโรงไฟฟ้าพึ่งก๊าซ ปมวิกฤตดันค่าเอฟทีพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ "ธรรมาภิบาลระบบพลังงานไทย ภาคสอง" (2) โดย .... ทีมข่าวพิเศษ

ASTVผู้จัดการออนไลน์ – คณะอนุกรรมาธิการ กมธ.ตรวจสอบทุจริตฯ วุฒิสภา เปิดเบื้องหลัง ปตท. ชงข้อมูลสุดพิลึก วางแผนผลักดันให้การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ 20 แห่งพึ่งเชื้อเพลิงก๊าซฯทั้งหมดแบบซ่อนเงื่อน ตั้งข้อกังขาเมื่อการจัดส่งก๊าซมีปัญหา คาดการณ์ต้นทุนราคาน้ำมันผิดพลาดแบบเหลือเชื่อ ทำไมต้องโยนภาระให้ประชาชนแบกค่าเอฟที

นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา นำเสนอข้อมูลและวิเคราะห์การวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า 2007 (2550 – 2564) หรือ แผนพีดีพี 2007 และแผนพีดีพี 2009 ในเวทีสัมมนาเรื่อง “ก๊าซธรรมชาติของไทย ใครได้ประโยชน์” ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยชี้ประเด็นให้เห็นถึงการวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ตามแผนดังกล่าวแบบซ่อนเงื่อน และกรณีปตท. ส่งก๊าซเข้าระบบไม่ได้ตามสัญญาแต่กลับหาผู้รับผิดชอบไม่ได้ แล้วโยนภาระมาให้ประชาชนแบกรับ

คณะอนุกรรมาธิการฯ ให้ข้อมูลว่า การวางแผนพีดีพี 2007 มีการคาดการณ์ราคาเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ โดย ข้อมูลจาก ปตท. ระบุราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ ในปี 2555 อยู่ที่ 252 บาท/ล้านบีทียู และในปี 2556 – 2564 อยู่ที่ 250, 251, 252, 254, 255, 257, 259, 260 และ 261 บาท/ล้านบีทียู ตามลำดับ หรืออีก 15 ปี ราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ส่วนน้ำมันเตา (กำมะถัน 2.0%) ราคา 335 บาท/ล้านบีทียู และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 632 บาท/ล้านบีทียู โดยยืนราคาเดียวตลอดตั้งแต่ปี 2550 – 2564

“น้ำมันเตากับดีเซลอีก 15 ปีราคาไม่ขึ้นเลย เป็นการคาดการณ์ที่ไม่น่าจะถูกต้อง เป็นสมมุติฐานแบบเหลือเชื่อ ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นจากการชงข้อมูลของ ปตท. โดยการคาดการณ์ราคาน้ำมันในการวางแผนพีดีพีในปี 2547 ที่จัดทำโดย บมจ.ปตท.ลงวันที่ 16 ก.ค. 47 นั้น ใช้ราคาฐานในปี 48 เท่ากับ 19 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และจะเพิ่มขึ้นบ้าง ส่วนในระยะยาวจะลดลงเหลือ 26 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลใน 2558 ขณะที่การกำหนดราคาก๊าซจะอิงราคาน้ำมันถึงประมาณร้อยละ 90 เหตุนี้จึงมีการกำหนดให้โรงไฟฟ้าใหม่ทั้ง 20 โรงใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงทั้งหมด ตลาดก๊าซที่ใหญ่ที่สุดคือโรงไฟฟ้า” นายศุภกิจ นำเสนอข้อมูลในงานสัมมนาดังกล่าว

(หมายเหตุ คาดการณ์ราคาก๊าซ น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล ข้อมูลจาก ปตท. 31 ม.ค. 50 (ที่น้ำมันดิบ 55 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล) และอัตราแลกเปลี่ยนที่ 38 บาท/เหรียญสหรัฐฯ)

อนุกรรมาธิการฯ กล่าวต่อว่า ในการวางแผนมักมีข้ออ้างอยู่เสมอว่าเป็นแผนระยะสั้น แต่เอาเข้าจริงเมื่อราคาไม่ได้เป็นไปตามคาดการณ์หรือไม่ได้เป็นไปตามสมมุติฐานซึ่งในข้อเท็จจริงก็เป็นไปไม่ได้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะ 15 ปี ราคาน้ำมันไม่ขึ้นเลยจะเป็นไปได้อย่างไร ก็จะเอาภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาใส่ไว้ในค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่าเอฟทีทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการขัดกันของผลประโยชน์ที่มีการสอดใส้เอาโรงไฟฟ้าที่ขนอมของเอ็กโก้มาใส่ไว้ในตอนที่มีการปรับปรุงแผนพีดีพี 2007 เนื่องจากปลัดกระทรวงพลังงานสวมหมวกหลายใบ คือเป็นทั้งประธานบอร์ด กฟผ. ประธานบอร์ดเอ็กโก้ ประธานคณะกรรมการปรับปรุงแผนพีดีพี เมื่อเรื่องถูกเปิดเผยจึงถูกถอดออกไปให้มีการเปิดประมูล

นายศุภกิจ กล่าวถึงประเด็นความผิดพลาดและการจัดส่งก๊าซจาก ปตท. ป้อนโรงไฟฟ้าที่มีปัญหาอยู่ในเวลานี้ ความจริงแล้วเหตุการณ์ทำนองนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี 2547 คราวนั้น ปตท.ไม่สามารถส่งก๊าซป้อนโรงไฟฟ้า ทำให้ กฟผ.ต้องใช้เชื้อเพลิงอื่นที่มีต้นทุนแพงกว่า คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ถูกรวมไว้ในค่าเอฟทีทั้งหมด

ต่อมา เมื่อเดือนส.ค. 2552 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีก๊าซหายไปจากระบบพร้อมๆ กันจำนวนมหาศาล เทียบกับโรงไฟฟ้าขนาด 10,000 เมกะวัตต์ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้ไฟสูงสุดทั้งประเทศ หากเทียบตัวเลขการลงทุนตกประมาณ 3 แสนล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน เคยคำนวณค่าความเสียหายจากการเกิดไฟตกไฟดับ ตกประมาณหน่วยละ 7 – 9 บาท หรือประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อวัน

นายศุภกิจ ตั้งคำถามต่อว่า ประเด็นสำคัญคือ คำถามพื้นฐานก๊าซหายไปได้อย่างไร การรับผิดจากสัญญาซื้อขายก๊าซระหว่างปตท.กับ กฟผ. และสัญญาที่ ปตท. ทำกับแท่นขุดเจาะ เป็นอย่างไร เหตุการณ์เมื่อกลางเดือนส.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน บอกว่ามูลค่าเสียหายประมาณ 500 ล้านบาท ที่ต้องหาผู้รับผิดชอบ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าใครต้องรับผิด

เรื่องนี้ กระทรวงพลังงาน ได้ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมาตรวจสอบ โดยมีนายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นประธานบอร์ด ปตท. อยู่ด้วย เป็นประธาน คำถามคือการตั้งคนที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นมาตรวจสอบจะได้ความจริงหรือไม่ ค่าความเสียหาย 500 ล้านน้อยไปหรือไม่

“คำถามเรื่องก๊าซหายไปจากระบบหากตอบไม่ได้ และการแก้ไขปัญหาออกมาแบบนี้ จะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่อีกกี่โรงก็ไม่มีความมั่นคงในระบบพลังงานของไทย” นายศุภกิจ กล่าว

อนึ่ง เมื่อวันที่ 12 – 14 ก.ย. ที่ผ่านมา ระบบส่งก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าเกิดปัญหาขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 จากแหล่งพัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย ที่ 18 บริเวณอ่าวไทย และแหล่งก๊าซฯ เยตากุนของพม่า ส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้า ทำให้กฟผ. ต้องผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงอื่น คือ น้ำมันเตาซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าก๊าซ และเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี และซื้อไฟจากมาเลเซียเข้ามาเสริม ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้น ทางผู้บริหาร ปตท. ออกมาระบุว่า แหล่งที่ป้อนก๊าซมีบริษัทปิโตรนาส เป็นผู้บริหาร ไม่ใช่ ปตท.สผ. ส่วนสาเหตุการหยุดส่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น