xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.โบ้ยไม่เกี่ยว วิกฤตผลิตไฟฟ้าเจ๊งซ้ำ ขาดก๊าซทั้งมาเลย์พม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตะลึง! ระบบจ่ายก๊าซฯเพื่อผลิตไฟฟ้าเกิดปัญหาหยุดจ่ายเมื่อ 12-14 ก.ย.ที่ผ่านมา ซ้ำสองหลังเพิ่งเกิดเหตุครั้งแรก “กฟผ.” เผยมีปัญหาทั้งก๊าซเจดีเอ-18 และเยตากุน ต้องปรับแผนกระทันหัน ผลิตไฟจากเขื่อนรัชชประภา-ใช้น้ำมันเตาผลิตที่ราชบุรี-ซื้อไฟฟ้าจากมาเลย์ รับมือแก้ปัญหาเฉพาะหน้า นักวิชาการเตือนไทยก้าวสู่วิกฤติผลิตไฟฟ้าแล้ว

นายวิรัช กาญจนพิบูลย์ รองผู้ว่าการกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะโฆษกการไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 12-14 ก.ย. 2552 ระบบส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าได้เกิดปัญหาขึ้นอีกครั้งทั้งจากแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(เจดีเอ) ที่ 18 บริเวณอ่าวไทยและแหล่งก๊าซฯเยตากุน จากพม่า ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าโดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ทั้งนี้ผลดังกล่าวทำให้กฟผ.ต้องปรับแผนด่วนด้วยการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี ต้องซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียมาเสริมระบบ และเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันเตาที่โรงไฟฟ้าราชบุรี ทั้งนี้เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศและรองรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

สำหรับเหตุการณ์ระบบท่อก๊าซฯเกิดปัญหาตามลำดับดังนี้ แหล่งเจดีเอ-18 หยุดทำงาน 2 ครั้งครั้งแรกวันที่ 12 ก.ย. เวลา 9.74 น. และกลับมาจ่ายก๊าซให้โรงไฟฟ้าจะนะได้ เวลา 15.30 น. รวมเวลาหยุดจ่ายก๊าซ 5 ชั่วโมง 43 นาที จากการหยุดจ่ายก๊าซครั้งนี้ ทำให้มีก๊าซที่คุณภาพไม่เหมาะสมจำนวนหนึ่งส่งมาที่โรงไฟฟ้าจะนะ ทำให้ กฟผ. ต้องหยุดผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าจะนะ

ส่วนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 ก.ย.เกิดเหตุแหล่งก๊าซเจดีเอ-18 หยุดจ่ายก๊าซฯอีกครั้งระหว่างเวลา 17.14 ถึงเวลา 02.35 น.ของวันที่ 14 ก.ย. 52 รวมหยุดจ่ายก๊าซฯไป 9 ชั่วโมง 14 นาที ส่วนแหล่งเยตากุนนั้น มีการปฏิบัติงานย้ายแท่นขุดเจาะส่งผลให้ต้องลดการจ่ายก๊าซลง 2 ครั้ง คือครั้งแรกวันที่ 12 กันยายน 2552 เวลา 11.30 น. และจ่ายก๊าซเข้าระบบได้เป็นปกติ เวลา18.30 น. ครั้งที่ 2 วันที่ 13 กันยายน 2552 เวลา 01.40น.และจ่ายก๊าซฯเป็นปกติในเวลา 10.55 น.

นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ รองผู้ว่าการกฟผ. กล่าว ว่า กฟผ.ต้องปรับแผนการผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยเพิ่มการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนรัชชประภา จสุราษฎร์ธานี ในอัตรา 240 เมกะวัตต์ ตลอดจนการซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียมาเสริมระบบที่ราคาสูง 5 บาทต่อหน่วยรวมใช้เงิน 2.7 ล้านบาท รวมทั้งเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันเตาที่โรงไฟฟ้าราชบุรี จำนวน 4 แสนลิตร ทั้งนี้เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ

“แม้จะมีโรงไฟฟ้าที่กระบี่ แต่ก็ใช้น้ำมันดีเซลและต้องใช้เวลาในการอุ่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งเกรงว่าจะไม่ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”นายสุทัศน์กล่าว

***ปตท.ปัดงานนี้ไม่เกี่ยว ปตท.สผ.

นายภาณุ สุทธิรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายจัดหาก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. กล่าวว่า แหล่งเจดีเอที่หยุดส่งป้อนเป็นแหล่งเจดีเอ บล็อค 18 บริษัทปิโตรนาส เป็นผู้บริหาร (โอเปอร์เรต) ไม่ใช่บมจ.ปตท.สผ.แต่อย่างใดและเป็นแหล่งที่ป้อนก๊าซให้ไทย 440 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันอีกส่วนหนึ่งที่เหลือประมาณ 430 ล้านลบ.ฟุตต่อวันป้อนให้กับมาเลเซีย ส่วนสาเหตุของการหยุดส่งอยู่ระหว่างตรวจสอบอยู่

ส่วนปัญหาที่แหล่งเยตากุนนั้นเกิดจากการย้ายแท่นขุดเจาะ มีบริษัทปิโตรนาสคาลิการี่เป็นผู้บริหารการผลิตเช่นกัน อย่างไรก็ตามแม้แหล่งก๊าซทั้งหมดจะหยุดแต่ปตท.ได้เรียกกาซจากแหล่งอื่นมาทดแทนได้บางส่วนจากยูโนแคล 2-3 แหล่งบงกช ไพลิน แต่ไม่สามารถครอบคลุมกับปริมาณก๊าซที่หายไปได้ทั้งหมด

“ ขณะนี้เหตุการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทางปตท.เองก็ไม่สบายใจนักเพราะส่งผลต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของไทย ส่วนความรับผิดชอบจุดนี้คงต้องดูสัญญาซื้อขายก๊าซฯว่ามีเหตุผลอะไรหรือเหตุสุดวิสัยอะไรหรือไม่” นายภาณุกล่าว

***แค่เดือนเดียวเกิดขึ้นซ้ำสอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่ระบบจ่ายก๊าซฯเกิดปัญหาขึ้นจากครั้งแรกในช่วงระยะเวลาประมาณ 1 เดือนผ่านไปเท่านั้นโดยครั้งแรกเกิดขึ้นส่งผลให้กฟผ.เดินเครื่องผลิตไฟจากเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรีฉุกเฉินนำไปสู่น้ำท่วมบ้านเรือนท้ายเขื่อน โดยปตท.ได้ชี้แจงครั้งนั้นว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่เกิดขึ้นพร้อมกัน 3
เหตุการณ์คือแหล่งก๊าซ A-18 พื้นที่พัฒนาร่วมไทยมาเลเซียหรือเจดีเอ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งหยุดซ่อมบำรุงตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 9 – 19 สิงหาคม 2552 จึงทำให้ปริมาณก๊าซฯ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตลดลงจากปกติ และจะสามารถกลับเข้าสู่การผลิตปกติได้ในวันที่ 19 สิงหาคมนี้

ต่อมาวันที่ 13 ส.ค.ปรากฏว่ามีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดคือท่อก๊าซจากแหล่งบงกชในอ่าวไทยเกิดรั่วทำให้ต้องหยุดซ่อมชั่วคราวก๊าซธรรมชาติหายไป 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตแต่เช้าวันที่ 17 ส.ค.ได้ผลิตตามแปกติแล้ว และหลังจากนั้นเช้าวันที่ 15 ส.ค.ก๊าซจากแหล่งยาดานา พม่า เกิดการหยุดส่งก๊าซฯฉุกเฉินเพราะระบบส่งตัดการจ่ายก๊าซฯแบบกระทันหันหรือ Emergency Shutdown ส่วนนี้เป็นระบบเทคนิคคล้ายเซฟทีคัททำให้ก๊าซฯส่วนนี้หายไป 600 ล้านลบ.ฟุต

*****จับตาผลักภาระให้ประชาชนจ่าย

แหล่งข่าวจากวงการพลังงานกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นคาดว่ากระทรวงพลังงานจะโยนภาระให้กฟผ. แบกรับภาระไปก่อนและเมื่อราคาก๊าซลดลงในอนาคตจึงจะมีการลดภาระดังกล่าวซึ่งในที่สุดค่าไฟที่สูงขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวก็จะถูกผลักให้ประชาชนรับภาระไปทั้งหมดเนื่องจากสัญญาซื้อขายก๊าซของปตท.มีช่องโหว่ให้เกิดข้ออ้างในเรื่องของเหตุสุดวิสัยไว้

****ไฟฟ้าไทยก้าวสู่วิกฤติแล้ว

นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการด้านพลังงานกล่าวว่า ระบบผลิตไฟฟ้าของไทยก้าวสู่วิกฤติแล้วเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นสองครั้งชี้ให้เห็นว่าไทยกำลังเสี่ยงเพราะใช้ก๊าซฯผลิตไฟสูงถึง 70% ขนาดประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียมีสำรองก๊าซฯมากกว่าไทยหลายเท่าตัวยังใช้ก๊าซฯผลิตไฟไม่สูงเท่าไทยทุกประเทศจะกระจายความเสี่ยงเรื่องเชื้อเพลิงเกือบทั้งนั้นยกเว้นไทย

“ผมคิดว่าหมดเวลาสำหรับโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯแล้วควรจะหยุดไว้เช่นนี้ไม่ควรจะสูงไปมากกว่านี้จะต้องเลือกกระจายแหล่งพลังงานผลิตไฟฟ้าเพราะมันเสี่ยงมากเวลานี้น่าตกใจที่โรงไฟฟ้าทุกอย่างถูกต่อต้านหมดแม้กระทั่งโรงไฟฟ้าใช้ก๊าซชีวมวล “นายมนูญกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น