xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ดองคดีเซ็นทรัลแล็บ “เนวินแอนด์เดอะแก๊งค์”ยังลอยนวล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เนวิน ชิดชอบ
ASTVผู้จัดการรายวัน – การใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ของตนหรือพวกพ้องของ “เนวินแอนด์เดอะแก๊งค์” ไม่ได้มีแต่เพียงคดีทุจริตกล้ายางซึ่งรอวันศาลฎีกาฯนัดพิพากษา 21 ก.ย.นี้เท่านั้น แต่ยังมีคดีเซ็นทรัลแล็บที่คนกลุ่มเดียวกันนี้มีพฤติกรรมร่วมกระทำความผิดฮั้วประมูล ถูกกล่าวโทษมีความผิดทางอาญา แต่คดีกลับสุดอืดถูกดองอยู่ที่ ป.ป.ช.

คดีทุจริตกล้ายาง “เนวินและพวก” โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการจากกระทรวงเกษตรฯ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งข้อหากระทำความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 9-13 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 157, 341 ซึ่งเวลานี้กลุ่มจำเลยทั้ง 44 คน ต่างลุ้นระทึกว่า วันที่ 21 ก.ย. 52 ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษา จะมีผลออกมาเช่นใด

คดีทุจริตกล้ายาง อย่างน้อยก็ดำเนินไปจนถึงปลายทาง ส่วนผลแห่งคดีจะออกมาเช่นใดก็ขึ้นอยู่กับคำตัดสินของศาล

***ขณะที่คดีเซ็นทรัลแล็บ หรือโครงการก่อสร้างและจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ของบริษัทห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร จำกัด ซึ่งมีลักษณะการโกงไม่แตกต่างกัน โดยฝีมือของกลุ่มบุคคลคนเดียวกัน กลับยังถูกแช่แข็งไว้ที่ ป.ป.ช. นับตั้งแต่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ส่งสำนวนมาให้ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อตั้งแต่เดือนมิ.ย. 51

มิหนำซ้ำ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังจัดการรื้อสำนวนและตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีขึ้นมาใหม่ โดยมี เมธี ครองแก้ว กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน

ที่ผ่านมา มีแต่เพียงกระแสข่าวว่า คณะอนุกรรมการไต่สวน ได้สรุปคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 53 รายแล้ว และกำลังทำสำนวนตั้งข้อกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาแต่ละราย ทั้งประเด็นการฮั้วประมูลการจัดซื้อเครื่องมือแพงกว่าความเป็น ใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

***แต่ในทางความเป็นจริงกระทั่งบัดนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่แถลงความคืบหน้าใดๆ ในคดีนี้ และคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.ที่รับผิดชอบคดีเซ็นทรัลแล็บ ไม่ได้ประชุมกันมา 2 สัปดาห์แล้ว

*** ถอดแบบพฤติกรรมโกง

คดีดังกล่าวนี้ จากผลการตรวจสอบของ คตส. พบความผิดในหลายประเด็น คือ

1) การกำหนดนโยบายเพื่อจัดตั้งบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง พบว่าเรื่องที่เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกเป็นการดำเนินงานในลักษณะองค์กรมหาชน

แต่ต่อมาผู้รับผิดชอบโครงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นลักษณะบริษัทจำกัดเพื่อไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่หน่วยงานต้องถือปฏิบัติ ทำให้การดำเนินงานในรูปบริษัททำได้ง่ายขึ้น เช่น การเลือกบุคคลเข้ามาเป็นคณะกรรมการ การใช้จ่ายเงิน การออกกฎระเบียบของบริษัท

เวลานั้นในที่ประชุมครม. มีหลายหน่วยงานท้วงติงและให้กลับไปพิจารณาทบทวนใหม่เพราะอาจไปซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นที่รับตรวจสารตกค้างในสินค้าเกษตรอยู่แล้ว และเงินที่นำไปจัดตั้งและการดำเนินการต่างๆ ของบริษัทก็เป็นเงินของรัฐ ก็ควรยึดกฎระเบียบของรัฐเป็นสำคัญ

****อย่างไรก็ตาม หลังนำเรื่องเข้าที่ประชุมครม. ก็มีการจัดตั้งบริษัท และปรากฏว่า นายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรฯ ขณะนั้น เข้าไปนั่งเป็นประธานเพื่อกำหนดนโยบายและสั่งการให้การดำเนินงานทั้งหมดของบริษัทห้องปฏิบัติการฯ เป็นไปตามความต้องการของตนเอง

คณะกรรมการ คตส. ชี้ว่า การจัดตั้งหน่วยงานนี้ในรูปบริษัทจำกัดเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 87 ที่ไม่ให้รัฐค้าขายแข่งขันกับเอกชน ไม่สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มาตรา 10 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม พ.ศ. 2543

2) การก่อตั้งบริษัทไม่ได้ศึกษาความคุ้มทุนเพราะเมื่อ คตส. เข้าไปตรวจสอบ พบว่า การดำเนินไม่ประสบผลสำเร็จ มีลูกค้าน้อย เพราะสินค้าที่ผ่านการรับรองจากบริษัทห้องปฏิบัติการกลางฯ แล้ว แต่ผลการรับรองก็ต้องไปผ่านการพิจารณาจากห้องปฏิบัติการของหน่วยราชการอีก ซ้ำราคาค่าตรวจจากห้องปฏิบัติของภาครัฐต่ำกว่าอีกด้วย

***นอกจากนั้น ยังพบการจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ในราคาแพงแต่ใช้งานไม่คุ้มค่า บางสาขาไม่ได้ใช้ บางสาขาพื้นที่อยู่ในจังหวัดห่างไกลจากทะเล ไม่มีลูกค้าตรวจสอบอาหารทะเลแต่กลับซื้อเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบอาหารทะเลเพราะจัดซื้อเครื่องมือเหมือนกันทุกสาขา

3) สถานะของบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง ฯ มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทรัฐวิสาหกิจไม่ใช่บริษัทจำกัด ตาม พ.ร.บ.ต่าง ๆ เช่น พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4 พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 และพ.ร.บ.พัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521 มาตรา 4

***4) การดำเนินการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ของบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง ฯ นั้นมีการกระทำผิดกฎหมาย ตั้งแต่การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะและราคากลางของเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์*** ของบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง ฯ เพื่อนำไปใช้ในการประกวดราคา มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์กับบริษัทเอกชนบางราย และกีดกันบริษัทอื่น ๆ มีความผิดปกติในการดำเนินการในการประกวดราคา

เช่น การจัดซื้อเครื่องมือ และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ พบว่า มีความผิดปกติ เช่น การประมูลจัดซื้อ มีบริษัทเอกชนบางราย ใช้แหล่งเงินในการออกหนังสือค้ำประกันธนาคารแห่งเดียวกัน บุคคลที่ดำเนินการเป็นคนเดียวกัน

รวมทั้งบริษัทที่เข้าประมูลหลายแห่งได้รับใบอนุญาตให้เป็นตัวแทนการขายเครื่องมือ จากบริษัทจำหน่ายเครื่องมือรายใหญ่รายหนึ่ง ถือเป็นการกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น และกรรมการรายหนึ่งที่ทำหน้าที่กำหนดคุณลักษณะเครื่องมือ มีความสัมพันธ์ทางครอบครัวกับผู้บริหารระดับสูงในบริษัทขายเครื่องมือรายหนึ่งด้วย

นอกจากนั้น เครื่องมือที่จัดซื้อก็มีราคาสูงมากกว่าความเป็นจริง เพราะกระบวนการซื้อขายเครื่องมือของเอกชนเป็นลักษณะการซื้อเครื่องมือมาเป็นทอดๆ

เช่น กิจการร่วมค้าบริษัทสิทธิพร ฯ ซึ่งเป็นผู้ประมูลการจัดหาเครื่องมือทาง วิทยาศาสตร์ไม่ได้จัดซื้อเครื่องมือจากบริษัทผู้ผลิต เช่น บริษัทเอจิเลนต์ ฯ โดยตรง แต่ได้ให้บริษัทเอกชนอื่น เช่น บริษัท เอส. ดับเบี้ลยู. เอ็น. คอมพิวเทค จำกัด (ซี่งไม่มีประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจประเภทการค้าเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ มาก่อน และภายหลังเลิกกิจการไปหลังจากการซื้อขายสินค้าครั้งนี้) ดำเนินการซื้อจากบริษัทเหล่านั้น และนำมาขายกับกิจการร่วมค้าบริษัทสิทธิพร

นอกจากนั้น มีบางบริษัทเป็นผู้ดำเนินการในลักษณะตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้กับบริษัทผู้ผลิตสินค้า เช่น บริษัทเวิลด์สยาม กรุ๊ป จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทเอจิเลนต์ฯ

ทั้งนี้บริษัทต่าง ๆ ดังกล่าวนั้นมีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกันในการประกอบธุรกิจกับโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรฯ โดยจากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ที่โอนไปจากกิจการร่วมค้าบริษัทสิทธิพร ฯ ที่ได้เงินไปจากบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง ฯ พบว่า บริษัทเหล่านี้ ได้เคยเข้าร่วมประมูลงานข้อมูลในโครงการอื่นของกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ 3 โครงการ ที่เกี่ยวเนื่องมาแล้ว ชี้ให้เห็นว่าบริษัทเอกชนเหล่านี้ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน

จากการซื้อขายสินค้ากันหลายทอดดังกล่าว ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น มากกว่าที่ควรจะเป็นโดยมีส่วนต่างประมาณ 343 ล้านบาท อันทำให้บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง ฯ เสียประโยชน์จากการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ของบริษัทดังกล่าว

***ที่สำคัญ เงินที่ได้รับไปจากบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง ฯ ถูกสั่งจ่ายเป็นเช็คมากกว่าหลายร้อยใบ ไปให้บุคคล และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ก่อนที่เงินจำนวนนี้จะถูกถอน เป็นเงินสด และหายไปโดยไม่สามารถติดตามได้ และมีเงินจากบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง ฯ บางส่วนโอนข้าไปในบัญชีของกลุ่มนักเล่นหุ้นกลุ่มหนึ่งด้วย

***“เนวิน” เข้าข่ายผิดฮั้วประมูล

ผลการตรวจสอบของ คตส. ได้ชี้มูลความผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องกว่า 53 คน ประกอบด้วย

1.กลุ่มนักการเมือง คือนายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตร และสหกรณ์ ขณะนั้น โดยใช้อำนาจสั่งการ และชี้นำในการดำเนินการโครงการดังกล่าว มีความผิดตาม มาตรา 10,11,13 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ประกอบมาตรา 84 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 66 แห่งพ.ร.บ. ป.ป.ช.

2.คณะกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ คณะกรมการบริษัท คณะทำงานด้านเทคนิคสถานที่ และอุปกรณ์ และคณะทำงานพิจารณาด้านเทคนิคอุปกรณ์ ของ บริษัท เซ็นทรัลแล็บ ได้ร่วมกันกำหนดคุณสมบัติหรือล็อกสเปกในลักษณะเจาะจง และมีคณะกรรมการบางคนมีส่วนได้เสียกับการดำเนินการครั้งนี้ มีความผิด ตามมาตรา 11 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว ประกอบมาตรา 151 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 8 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502

ทั้งนี้ ในส่วนของการประกวดราคาที่ไม่ชอบ เห็นควรดำเนินการกับกรรมการผู้จัดการ และคณะกรรมการบริหาร ตามมาตรา 11 และ 12 แห่งพ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายาญา และมาตรา 8 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดต่อพนักงานของรัฐฯ พ.ศ.2502

3.กลุ่มบริษัทเอกชน รวมกันฮั้วในการเสนอราคามีความผิดตามาตรา 4 ,9 แห่ง พ.ร.บ.อั้ว และมาตรา 341 แห่งประมาลกฎหมายอาญา และกลุ่มที่ 4 บุคคล และนิติบุคคล ที่ร่วมกันในการสมยอมราคา และฉ้อโกงรัฐ ทำให้รัฐเสียหายมีความผิด ตามมาตรา 5 ,9 แห่ง พ.ร.บ.ฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งต้องรับโทษตามมาตรา 60,61 ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว และมีความผิดฐานรับของโจร ตามมาตรา 357 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

นอกจากการกล่าวหาของ คตส.แล้วจะมีการส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ง. และดีเอสไอ เพื่อสอบประเด็นการฟอกเงินด้วย

***หากตรวจสอบรายชื่อ 53 ผู้ถูกกล่าวหาแล้ว จะพบรายชื่อบุคคลที่ตกเป็นจำเลยคดีกล้ายาง เช่น เนวิน ชิดชอบ รมช.กระทรวงเกษตรฯ และกลุ่มข้าราชการกรมวิชาการเกษตร เช่น ฉกรรจ์ แสงรักษาวงส์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการเกษตร รองปลัดกระทรวงเกษตรฯในปัจจุบัน, นาย สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตรในขณะนี้ และ นายจิรากร โกศัยเสวี รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นต้น

***ส่วนบริษัทเอกชนขาใหญ่ที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา คือ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ที่มี นางทัศนีย์ ชาญวีรกุล หรือ นายวัลลภ รุ่งกิจวรเสถียร หรือ นายมาศถวิน ชาญวีรกุล หรือนายวรพันธ์ ช้อนทอง หรือ นางสนอง ชาญวีรกุล กรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนในปัจจุบัน นายอนุทิน ชาญวีรกุล อดีต รมช.สาธารณสุข ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจในขณะเกิดเหตุ ที่มอบอำนาจให้ นายประเสริฐ คงเคารพธรรม เป็นผู้เสนอราคา

ในสำนวนการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการ คตส. ยังพบข้อมูลว่า คณะกรรมการที่พิจารณาข้อมูลเรื่องอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ หรือกำหนดสเปกค มีความสัมพันธ์ เป็นสามีภรรยา กับบุคคลที่อยู่ในบริษัทจำหน่ายเครื่องมืออุปกรณ์วิทยาศาสตร์รายหนึ่ง ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับโครงการเซ็นทรัลแล็บด้วย โดยรายแรก เป็นภรรยาของผู้บริหารระดับสูงในบริษัท ส่วนรายที่สอง เป็นภรรยาของข้าราชการคนหนึ่งในหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ และทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาบริษัทแห่งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น