xs
xsm
sm
md
lg

เจรจาเขตทับซ้อนทะเลไทย-กัมพูชา ยืดเยื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลระหว่างไทย - กัมพูชา มีปัญหายืดเยื้อมานานเช่นเดียวกันกับเส้นเขตแดนทางบก อีกทั้งผลสำรวจเบื้องต้นยังประเมินกันว่า เขตแดนทางทะเลที่ทับซ้อนกันมีแหล่งน้ำมันและก๊าซฯ มหาศาล ก็ยิ่งทำให้เรื่องนี้ยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีกหลายเท่า

พื้นที่ทางทะเลที่มีปัญหา เกิดจากการตีความสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1907 และ ค.ศ. 1909 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับจุดเริ่มต้นทางบกแตกต่างกัน โดยมีการลากเส้นพรมแดนทางบกเลยลงไปในทะเลจนถึงเกาะกูด ผลดังกล่าว ทำให้ไทยและกัมพูชา ประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยแตกต่างกัน

ดลยา เทียนทอง นักวิจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลในงานวิจัยการพัฒนาพื้นที่ร่วมไทย-กัมพูชาในอ่าวไทยว่า กัมพูชา ได้ประกาศเขตไหล่ทวีปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2513 โดยกำหนดเขตแนวไหล่ทวีปด้านเหนือลากพาดเกาะกูดออกมาในบริเวณกลางอ่าวไทย และต่อมาในปี พ.ศ.2515 กัมพูชาได้ประกาศเขตไหล่ทวีปอีกครั้ง ส่วนไทยได้ประกาศเขตไหล่ทวีปบริเวณอ่าวไทยหลังกัมพูชา 3 ปี คือ ในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2516

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ พื้นที่เขตไหล่ทวีปในอ่าวไทยของทั้งสองประเทศ มีการทับซ้อนกัน เนื่องจากไทยและกัมพูชา เป็นประเทศที่มีแนวชายฝั่งในลักษณะประชิด และต่างฝ่ายต่างก็ประกาศเขตไหล่ทวีปของตนแต่ฝ่ายเดียว เช่นเดียวกับกรณีไทยและมาเลเซีย ทั้งนี้ พื้นที่เขตไหล่ทวีปที่ทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชาคิดเป็น 34,034,065 ตารางกิโลเมตร (ในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าว มีเนื้อที่บางส่วนทับซ้อนกับเขตไหล่ทวีปของเวียดนามด้วย)

แต่ต่อมา ในปี พ.ศ.2525 รัฐบาลกัมพูชา ได้ทำสนธิสัญญากับรัฐบาลเวียดนามเกี่ยวกับเส้นแบ่งน่านน้ำประวัติศาสตร์ร่วมกัน ส่งผลให้พื้นที่ไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ทับซ้อนกับไทยเหลือเพียง 27,960 ตารางกิโลเมตร

ในช่วงปี พ.ศ.2523 รัฐบาลไทยและกัมพูชา ได้เปิดการเจรจาในการแก้ไขปัญหาเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกันในอ่าวไทย ด้วยการใช้แนวทางการแบ่งเขตแต่ไม่บรรลุผลสำเร็จ

กระทั่งในปี พ.ศ.2538 ได้เปิดเจรจากันอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เป็นทียอมรับทั้งสองฝ่ายได้ มีเพียงการตกลงที่จะจัดตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (Joint Technical Committee – JTC) ในการศึกษาปัญหาร่วมกัน

“ทักษิณ” เจรจาแลกผลประโยชน์

ต่อมา ในช่วงที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้บรรลุข้อตกลงในการเจรจาปัญหาเขตทับซ้อนทางทะเลระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นครั้งแรก โดยได้มีข้อบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 เป็นผลให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย – กัมพูชา และมีการประชุมครั้งแรกในเดือนธันวาคม ปีเดียวกัน โดยแบ่งพื้นที่การเจรจาออกเป็นสองส่วน

ส่วนแรก พื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไป ซึ่งไม่มีข้อขัดแย้งกันให้แบ่งเขตทางทะเลอย่างชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ส่วนที่สอง พื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมา ให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกัน (Joint Development Area - JDA)

รัฐบาลทักษิณ หมายมั่นจะเจรจาปักปันเขตแดนในทะเลและตกลงแบ่งปันผลประโยชน์จากการให้สัมปทานขุดเจาะแก๊สและน้ำมันให้เร็วที่สุด แต่การเดินทางไปเยือนกัมพูชาของทักษิณ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2549 เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวกลับสะดุดลง เนื่องจากการเจรจาจัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัว เพราะข้อเสนอสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้

ถึงแม้ว่าพื้นที่ส่วนที่อยู่ตรงกลาง จะตกลงกันได้ในเบื้องต้นโดยแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการขุดเจาะน้ำแก๊สและน้ำมัน ในสัดส่วน 50-50 แต่พื้นที่ทางด้านซ้ายและด้านขวาของพื้นที่ทับซ้อนนั้น ฝ่ายกัมพูชาเสนอให้แบ่งผลประโยชน์ในสัดส่วน 90-10 แต่ฝ่ายไทยเห็นควรแบ่งในสัดส่วน 60-40 และการเจรจาสะดุดหยุดลงเมื่อรัฐบาลทักษิณ ถูกรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายนในปีเดียวกัน จนถึงบัดนี้ การเจรจาตกลงแบ่งปันผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

แต่อย่างไรก็ตาม สังคมไทยเกิดมีข้อสงสัยเคลือบแคลงต่อการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันระหว่างทักษิณและฮุนเซน ซึ่งกลายมาเป็นประเด็นเชื่อมโยงมาถึงกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชา เพราะกระแสข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ วางแผนเข้าพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณด้านใต้ห่างจากหน้าผาที่ตั้งปราสาทพระวิหารประมาณ 300 เมตร ขนาดพื้นที่ 20,000 เฮกตาร์ ในรูปแบบเอ็นเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็ก

นอกจากนั้น รัฐบาลฮุนเซนยังให้สัมปทานเช่าเกาะกงในระยะยาวเป็นเวลา 99 ปี แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โดยใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 40,000 ล้านบาท ลงทุนในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทั้งท่าเรือน้ำลึก กาสิโน สนามบิน ฯลฯ โดยมีรูปแบบการบริหารแบบเขตพิเศษคล้ายกับฮ่องกง

ความมุ่งหมายของ ทักษิณ ซึ่งขณะนั้น (สิงหาคม 2549) เป็นรัฐบาลรักษาการ แต่เร่งรีบไปกัมพูชาเพื่อเจรจาที่จะเอาผลประโยชน์ของชาติไปเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ส่วนตน อีกทั้งมีการไปแทรกแซงการทำงานของผู้เชี่ยวชาญเรื่องแผนที่ทหาร ยังไม่บรรลุผล เพราะถูกชุมนุมขับไล่โดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กระทั่งเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร เมื่อเดือนกันยายน 2549 การเจรจาเรื่องดังกล่าวก็หยุดชะงักไป

กระทั่งมาถึงรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่มีนายนพดล ปัทมะ เป็นรมว.กระทรวงการต่างประเทศ นายนภดลได้แถลงต่อสื่อมวลชนอย่างมั่นใจในช่วงที่เข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ว่า จะเจรจาเพื่อหาข้อตกลงกับรัฐบาลกัมพูชาเกี่ยวกับปัญหาเขตทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น โดยมั่นใจว่าจะสามารถตกลงในปัญหานี้ร่วมกับกัมพูชาในเร็วๆ นี้ แต่เพียงไม่เดือนจากนั้น นายนภดลก็ต้องลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2551 ด้วยประเด็นปัญหาเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหารของฝ่ายกัมพูชา

รัฐบาลชุดปัจจุบัน นายกษิต ภิรมย์ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ โดยมาดหมายว่า จะหยิบเรื่องนี้มาเจรจากับกัมพูชาตั้งแต่เดือนเมษายน ที่ผ่านมา แต่ปมปัญหาปราสาทพระวิหารและปัญหาชายแดนระหว่างกัน ทำให้เรื่องนี้เงียบหายไป
 
กระทั่งถูกหยิบยกขึ้นมาตั้งข้อสังเกตกันอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ คราวที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง บินไปเจรจากับ ฮุนเซน เรื่องปราสาทพระวิหารและสถานการณ์ชายแดนว่า มีการยกเรื่องผลประโยชน์เขตทับซ้อนทางทะเลขึ้นมาคุยกันนอกรอบด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น