xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์หักหน้า"มาร์ค"ลุยเซ็นประมูลข้าวฉาวทำรัฐฯเจ๊ง2หมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ASTVผู้จัดการรายวัน – พาณิชย์หักหน้า "อภิสิทธิ์" ลุยเซ็นประมูลข้าวฉาวทำรัฐเจ๊ง 2 หมื่นล้าน คล้อยหลังศึกเกาเหลาข้าวโพดเพียงแค่วันเดียว ร้องนายกรัฐมนตรีตรวจสอบพิรุธ พิลึก อคส. ขยันขันแข็งเกินเหตุเร่งรัดจัดต่อรองราคาทางโทรศัพท์ในวันหยุดแก้โพยใหม่ อุ้มนอมินียักษ์เกษตรเข้าวินตามใบสั่งบิ๊กการเมืองพรรคร่วมรัฐบาล ลองของ “มาร์ค” รีบเซ็นสัญญาคล้อยหลังนายกฯ มีคำสั่งให้พาณิชย์นำเรื่องประมูลสินค้าเกษตรจากโครงการรับจำนำเข้าครม.ทุกครั้งก่อนเพียงแค่วันเดียว คณะกรรมการประมูลฯ แฉถูกบีบให้เซ็นอนุมัติ แถมเจอตุกติกอุบเงียบรายละเอียดผลประมูลไม่ยอมให้สำเนากับกรรมการเหตุกลัวเรื่องยัดใส้ฉาวโฉ่

แหล่งข่าวคณะกรรมการประมูลสต็อกข้าวรัฐบาล จำนวน 2.6 ล้านตัน ที่มีนายนาคม ธีรสุวรรณวิจักร รักษาการผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นประธาน เปิดเผยว่า การประมูลขายข้าวครั้งล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ ที่เปิดประมูลเมื่อวันที่ 6 พ.ค. และเซ็นสัญญาไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมานั้น มีข้อพิรุธเกิดขึ้นหลายประการ ซึ่งกรรมการที่เป็นข้าราชการจากหน่วยงานอื่นที่ร่วมอยู่ในคณะกรรมการการประมูลมีความรู้สึกอึดอัดเป็นอย่างมาก และตกอยู่ในสภาพจำยอมต้องทำตามใบสั่งของนักการเมืองใหญ่สังกัดพรรคร่วมรัฐบาลที่อยู่เบื้องหลังการประมูล

“ตอนนี้หลายคนถูกข่มขู่ว่าหากข้อมูลการประมูลที่มีเงื่อนงำพิรุธหลุดออกไปให้ระวังจะเจอดี ข้าราชการที่เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการฯ จึงเกรงว่าจะต้องมารับเคราะห์ ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะทำงานเข้ามาตรวจสอบการประมูลข้าวครั้งนี้ เหมือนกับกรณีการประมูลขายข้าวโพดจากโครงการรับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 51/52 อย่างเร่งด่วนเพราะทำให้รัฐฯเสียหายและมีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม” แหล่งข่าวกล่าว

***โพยใหม่ใบสั่งนักการเมือง

แหล่งข่าว กล่าวต่อว่า หากไล่เรียงลำดับการประมูลขายข้าวตั้งแต่ต้นจนจบจะเห็นข้อพิรุธและปรากฏหลักฐานให้สืบสาวถึงต้นตอตัวการที่ร่วมกระบวนการได้ กล่าวคือ เมื่อวันพฤหัสฯที่ 7 พ.ค. คณะกรรมการฯ ที่มีรักษาการ ผอ.อคส. เป็นประธาน เปิดให้เอกชนยื่นซองเสนอราคาในช่วงเช้า จากนั้นช่วงบ่ายเริ่มต่อรองราคากัน และวันศุกร์ที่ 8 พ.ค. ก็มีการต่อรองราคากันทางโทรศัพท์

กระทั่งวันเสาร์ที่ 9 พ.ค. ซึ่งเป็นวันหยุดก็ยังต่อรองราคากันต่อจนได้ข้อสรุปราคาของแต่ละรายและตกลงหยุดราคากันแล้วว่ารายใดเสนอราคาเท่าไหร่ มีการแจ้งกันอย่างไม่เป็นทางการ แต่แทนที่กระบวนการต่างๆ จะจบเพียงเท่านั้น ก็กลับมีใบสั่งจากนักการเมืองที่ใหญ่กว่ารัฐมนตรีว่าการพาณิชย์ให้มีการจัดทำโพยใหม่ ในวันอาทิตย์ที่ 10 พ.ค.ต่อเนื่องถึงวันที่ 11 พ.ค. ซึ่งเป็นวันพืชมงคล หน่วยงานราชการหยุดทำการ

“การทำโพยใหม่ก็จะดูว่ารายที่เสนอราคาสูงสุดในวันที่ 9 พ.ค. เสนอมาเท่าไหร่ ก็ไปบอกรายที่จะเอาเข้ามาแทนว่า ให้แก้ราคาเสนอเข้ามาใหม่ ทำราคาให้สูงกว่ารายที่ชนะราคาในวันที่ 9 พ.ค. ดังนั้นถ้าไปดูการเสนอราคาในโพยที่ตัดสินในวันที่ 9 พ.ค. กับวันที่ 10 - 11 พ.ค. จะไม่เหมือนกัน” แหล่งข่าว กล่าว

ต่อมา เมื่อวันที่ 12 พ.ค. มีการเรียกต่อรองผลประโยชน์กัน มีการเรียกใต้โต๊ะไล่ตั้งแต่ตันละ 200 บาท – 2,000 บาทต่อตัน เพราะข้าวมีหลายเกรดหลายราคา หากเป็นชนิดข้าวหอมมะลิ ซึ่งได้ราคาดีก็ต้องจ่ายสูงถึงตันละ 2,000 บาท

หลังจากนั้น วันที่ 13 พ.ค. กระทรวงพาณิชย์ ก็รีบประกาศผลการประมูลทันที เพราะวันนั้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีปัญหาเกาเหลาข้าวโพด โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ซักไซ้ไล่เรียงถึงกระบวนการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 450,000 ตัน จากโครงการรับจำนำข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 51/52 จนกระทั่งนางพรทิวา นาคาศัย รมว.กระทรวงพาณิชย์ ถึงกลับสะอื้นกลางครม. และสุดท้ายครม.ไม่อนุมัติให้ขายข้าวโพดตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยครม.ยังมีมติให้กระทรวงพาณิชย์ เสนอผลการประมูลต่อคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แห่งชาติ ที่มีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานอีกครั้งเพื่อตัดสินว่าจะขายหรือไม่

นอกจากนั้น ครม. ยังมีมติให้กระทรวงพาณิชย์นำเรื่องการระบายสินค้าเกษตรทุกชนิด ที่อยู่ในโครงการรับจำนำ เสนอให้ครม.อนุมัติก่อนระบายหรือขายให้เอกชน เพราะเห็นว่าการระบายสินค้าเกษตรในโครงการรับจำนำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรช่วงที่ผ่านมา ผลการดำเนินงานขาดทุนเป็นจำนวนมาก เงินที่นำมาไปใช้รับจำนำก็เป็นเงินภาษีของประชาชน เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น ครม.ต้องรับผิดชอบ ครม.จึงเห็นว่าการระบายสินค้าแต่ละชนิดควรต้องเสนอให้ ครม.พิจารณาก่อน

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า หลังคำสั่งนายกรัฐมนตรีและมติครม.ที่ออกมาเมื่อวันที่ 13 พ.ค. กระทรวงพาณิชย์ กลัวว่าต้องกลับทำตามมติครม. จึงรีบเรียกผู้ชนะประมูลทั้งหมดเข้ามาหารือและต่อรองไว้เผื่อว่าหากมีการเปลี่ยนแปลง เอกชนก็จะได้ฟ้องนายกรัฐมนตรี พร้อมๆ กับรีบร้อนทำสัญญาทั้งที่เอกสารหลักฐานไม่ครบ และจนบัดนี้ก็ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดผลประมูลต่อสาธารณชน แม้แต่กรรมการก็ยังไม่มีสำเนา

ทั้งนี้ “ASTVผู้จัดการรายวัน” ได้ติดต่อขอข้อมูลดังกล่าวจากกระทรวงพาณิชย์ หลังเสร็จสิ้นประมูลและเซ็นสัญญาแล้วแต่ยังไม่ได้รับแต่อย่างใด

*** จับพิรุธ - หักหน้า “อภิสิทธิ์”

แหล่งข่าวชี้ว่า เมื่อพิจารณากระบวนการประมูลขายข้าวจากโครงการรับจำนำครั้งนี้ มีข้อพิรุธสำคัญ คือ 1) การประมูลผิดระเบียบราชการหรือไม่ เพราะกระทำกันในวันหยุดราชการ โดยการต่อรองราคาทางโทรศัพท์มีขึ้นในวันที่ 9 – 10 – 11 พ.ค.

2) การเร่งรัดทำสัญญากันในวันที่ 14 พ.ค. หลังจากที่ครม. มีมติเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ให้นำเรื่องการระบายสินค้าเกษตรทุกชนิดที่อยู่ในโครงการรับจำนำนำเสนอ ครม. อนุมัติก่อนขายให้เอกชน ดังนั้น สัญญาที่ทำกันจึงขัดต่อมติครม. สัญญาต้องตกเป็นโมฆะหรือไม่

3 ) ไม่มีการกำหนดราคากลางเพื่อใช้อ้างอิงในการพิจารณาอนุมัติ
 
และ 4) กระบวนการประมูล คณะกรรมการต่อรองราคา คณะกรรมการตัดสินผลประกวดราคา ต้องเซ็นใบกำกับบัญชีรายชื่อผู้ชนะประมูล กรรมการหลายคนก็กลัวว่าจะมีการยัดใส้ จึงขอสำเนาเอกสารที่เซ็นไปเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน แต่รักษาการ ผอ. อคส. ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ กลับไม่ให้ เก็บโพยเอาไว้หมด

“กรรมการบางคนบอกว่า มีการข่มขู่เอาไว้ด้วยว่า ถ้าเอาโพยไปแล้วหลุดออกไปจะต้องรับผิดชอบ กรรมการซึ่งเป็นข้าราชการก็กลัว เพราะแพ้ทางนักการเมืองอยู่แล้ว จำต้องยอม โดนกันทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะนักการเมืองที่เข้ามาจัดโพยใหญ่กว่ารัฐมนตรีเสียอีก พวกพ่อค้าก็พูดกันว่าถ้าจะวิ่งก็วิ่งที่บ้านปากเกร็ดแน่นอนกว่า รัฐมนตรีไม่มีอำนาจเป็นแค่เสือกระดาษ” แหล่งข่าวกล่าว และว่า ขณะนี้วงการค้าข้าวยังคอยดูว่าเงินใต้โต๊ะที่ว่าจะจ่ายกันนั้น จะจ่ายกันหมดหรือไม่ เพราะประมูลคราวที่แล้วนอมินีบริษัทยักษ์เกษตรที่เคยเข้ามาในวงการค้าข้าว ก็ยังจ่ายให้อดีตรัฐมนตรีไม่หมด กลุ่มนี้ชอบโอ่ว่าจะให้สูงแต่มักเบี้ยวทีหลัง

อนึ่ง การประมูลซื้อข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว มีรายงานข่าวจากองค์การคลังสินค้า แจ้งผลการเสนอซื้อข้าวในสต็อกรัฐบาลเบื้องต้น ว่ามีผู้ที่เสนอซื้อข้าวในสต๊อกรัฐบาลปริมาณสูงที่สุด มี 4 ราย คือ บริษัท วุฒิกวี จำกัด บริษัท สิงห์โตทองไรซ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท ไชยพรไรซ์แอนด์ฟู้ดโปรดักส์ จำกัด และบริษัท แคปปิตัลซีเรียลส์ จำกัด ส่วนบริษัท สยามอินดิก้า จำกัด ยื่นเสนอซื้อไม่เหมายกล็อตแต่เสนอซื้อมากเป็นอันดับที่ 5

ในการเสนอซื้อดังกล่าว วุฒิกวี เสนอซื้อข้าวขาว 5% ปี 2551/52 ปริมาณ 1.113 ล้านตัน และปี 2552 ปริมาณ 1.318 ล้านตัน ตันละ 1.46 หมื่นบาทราคาเดียว ราคารวม 3.5 หมื่นล้านบาท, สิงห์โตทองฯ เสนอซื้อข้าวปี 2551/52 ปริมาณ 1.128 ล้านตัน ตันละ 1.2-1.4 หมื่นบาท รวม 1.57 หมื่นล้านบาท และปี 2552 ปริมาณ 1.323 ล้านตัน ตันละ 1.3-1.55 หมื่นบาท รวม 1.84 หมื่นล้านบาท,

ไชยพรฯ เสนอซื้อข้าวปี 2551/52 ปริมาณ 1.128 ล้านตัน ตันละ 1.39 หมื่นบาท รวม 1.56 หมื่นล้านบาท และปี 2552 ปริมาณ 1.323 ล้านตัน ตันละ 1.388 หมื่นบาท รวม 1.83 หมื่นล้านบาท, แคปปิตัลซีเรียลส์ เสนอซื้อข้าวปี 2551/52 ปริมาณ 1.128 ล้านตัน ตันละ 1.385 หมื่นบาท รวม 1.56 หมื่นล้านบาท ปี 2552 ปริมาณ 1.323 ล้านตัน ตันละ 1.38 หมี่นบาท รวม1.82 หมื่นล้านบาท ส่วนสยามอินดิก้า เสนอซื้อข้าวปี 2551/52 ปริมาณ 8.32 แสนตัน ตันละ 1.1-1.2 หมื่นบาท รวม 9.4 พันล้านบาท และปี 2552 ปริมาณ 6.45 แสนตัน ตันละ 1.1 หมื่นบาท รวม 7.1 พันล้านบาท

*** อุ้มสมนอมินียักษ์ใหญ่เกษตร

เมื่อผลเบื้องต้นปรากฏออกมา วงการค้าข้าวต่างจับตามองว่า วุฒิกรี ซึ่งมีนักการเมืองอดีตรัฐมนตรีหนุนหลังอยู่จะได้ข้าวยกล็อตหรือไม่ ขณะเดียวกันก็มีการพูดกันว่า สยามอินดิก้า ซึ่งมีนักการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาล และเป็นสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ให้การสนับสนุนอาจแซงโค้งขึ้นมาแทน ขึ้นอยู่กับการเจรจาต่อรองผลประโยชน์ ทั้งนี้ ทั้ง วุฒิกรี และ สยามอินดิก้า ต่างเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาไม่นาน และวงการค้าข้าวรู้กันดีว่า สยามอินดิก้า เป็นนอมินีหรือบริษัทตัวแทนของ เพรสซิเด้นท์ อะกริ เทรดดิ้ง บริษัทที่เคยประมูลข้าวแบบยกล็อต 1.7 ล้านตัน สมัยนายวัฒนา เมืองสุข เป็นรมว.พาณิชย์ และมีปัญหาผิดสัญญาจนถูกขึ้นบัญชีดำของกระทรวงพาณิชย์

การต่อรองผลประโยชน์ระหว่างนักการเมืองและบริษัทเข้าร่วมประมูล ปรากฏผลในเวลาต่อมา กล่าวคือ คณะกรรมการต่อรองราคาฯ ได้นำข้อสรุปเสนอต่อนางพรทิวา นาคาสัย รมว.พาณิชย์ พิจารณา 2 แนวทาง คือ แนวทางแรก อนุมัติขายในราคาเฉลี่ย 1.4 หมื่นบาท/ตัน ขึ้นไป จะมีผู้ชนะการประมูลข้าว 13-14 ราย สามารถจำหน่ายข้าวได้ถึง 2.4 ล้านตัน และแนวทางสอง อนุมัติจำหน่ายในราคา 1.45 หมื่นบาท/ตัน ขึ้นไป จะมีผู้ชนะการประมูลเหลือต่ำกว่า 13 ราย จะสามารถจำหน่ายข้าวได้เพียง 1 ล้านตัน ซึ่งแนวทางแรกเป็นแนวทางที่นางพรทิวา เห็นชอบ เพราะระบายข้าวได้มากกว่า

คราวนี้ รายชื่อผู้ที่ชนะการประมูลข้าวในแนวทางแรกรายใหญ่ เช่น บริษัท สยามอินดิก้า ปริมาณ 6.7 แสนตัน ราคา 1.4-1.41 หมื่นบาท, บริษัท แคปปิตัลซีเรียลส์ ในเครือนครหลวงค้าข้าว ปริมาณ 3 แสนตัน ราคาเฉลี่ย 1.43-1.48 หมื่นบาท, บริษัท เอเชียโกลเด้นไรซ์ และบริษัท ไชยพรไรซ์แอนด์ฟู้ดโปรดักส์ รายละ 3 แสนตัน ในราคาเฉลี่ย 1.43-1.45 หมื่นบาท บริษัท พงษ์ลาภ ปริมาณ 2 แสนตัน ราคา 1.4-1.43 หมื่นบาท และบริษัท สิงห์โตทอง ไรซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ปริมาณ 4.6 แสนตัน ราคาเฉลี่ย 1.4 หมื่นบาท

ส่วนบริษัทวุฒิกวี ที่เสนอซื้อข้าวยกล็อต ไม่ได้รับการเรียกเจรจาต่อรองราคา เนื่องจากถูกตัดสิทธิการประมูล เพราะมีคุณสมบัติไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขการประมูล คือ ถูกขึ้นบัญชีดำ (แบล็กลิสต์) อยู่กับทางอคส.

ก่อนหน้านี้ ในวันเปิดซองประมูลข้าว สยามอินดิก้า เสนอซื้อข้าวไม่ยกล็อต และให้ราคาเพียงตันละ 1.1-1.3 หมื่นบาท ขณะที่วุฒิกวี เสนอซื้อข้าวยกล็อต และให้ราคาสูงตันละ 1.46 หมื่นบาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า การขายข้าวส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว 5% นาปรัง ปี 2551 และนาปี 2551/52 รวม 2.4 ล้านตัน โดยราคาเฉลี่ยที่ขายได้อยู่ที่ 1.42 – 1.55 หมื่นบาทต่อตัน ซึ่งยังต่ำกว่าราคาตลาดปัจจุบันอยู่ที่ 1.6-1.7 หมื่นบาท/ตัน และต่ำกว่าราคารับจำนำที่ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 2 .2 - 2.4 หมื่นบาทต่อตัน (ข้าวสาร) (ประมาณการจากการรับจำนำข้าวเปลือกตันละ 1.4 หมื่นบาท และ 1.2 หมื่นบาท) จะทำให้ขาดทุนจากราคาตลาดประมาณ 2,000-3,000 บาท/ตัน หรืออนุมัติขายข้าว 2.4 ล้านตัน ขาดทุน 4,800-7,200 ล้านบาท และขาดทุนจากต้นทุนรับจำนำประมาณตันละ 1-1.4 หมื่นบาทขึ้นไป หรืออนุมัติจำหน่าย 2.4 ล้านตัน จะขาดทุนถึง 2.4 หมื่นล้านบาทขึ้นไป
กำลังโหลดความคิดเห็น