xs
xsm
sm
md
lg

แฉสัญญารับประกันงานใกล้หมด รัฐบาลเตรียมควักจ่ายค่าโง่ "สุวรรณภูมิ"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน
ASTVผู้จัดการรายวัน – สางทุจริตสุวรรณภูมิสุดอืด “บรรณวิทย์” ชี้การตรวจสอบล่าช้าส่งผลให้สัญญารับประกันงานใกล้หมดอายุ รัฐฯต้องควักจ่ายค่าซ่อมเองบานเบอะแน่ ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่เวย์ รันเวย์ หลังคาผ้าใบ เผยกลุ่มขั้วอำนาจเก่าทั้งฝ่ายการเมือง บอร์ด และผู้บริหารทอท.ต่างมีผลประโยชน์ทับซ้อน นั่งทับเรื่องกลบเกลื่อนความผิด ขณะที่ ป.ป.ช. ท่องคาถาต้องใช้เวลาควานหารายละเอียดอีกมาก 16 คดีทุจริตสุวรรณภูมิ ผ่านมา 2 ปีกว่ายังไม่คืบหน้าถึงขั้นแจ้งข้อกล่าวหาแก๊งปล้นชาติแม้แต่คดีเดียว

พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม และอดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการติดตามคดีทุจริตสนามบินสุวรรณภูมิว่า คดีความต่างๆ มีความล่าช้ามาก ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศชาติเสียหาย เสียประโยชน์ ที่ชัดเจนที่สุดคือ อายุสัญญารับประกันงานต่างๆ ใกล้จะสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะเป็นแท็กซี่เวย์ รันเวย์ หลังคาผ้าใบ สุดท้ายรัฐต้องเป็นผู้ควักเงินจ่ายค่าซ่อมแซมเองแน่นอน ทั้งที่ความผิดต่างๆ หากกระบวนการตรวจสอบ ชี้มูลความผิด ทำได้เร็ว ภาระในส่วนนี้ฝ่ายเอกชนคู่สัญญาต้องรับผิดชอบ และเอาผิดกับผู้มีอำนาจที่ไปเอื้อประโยชน์ให้

“ทุกเรื่องที่คณะกรรมาธิการฯ เข้าไปตรวจสอบและขอให้แก้ไขยังไม่มีการทำอะไร นับตั้งแต่ความสะดวกเรื่องห้องน้ำ เป็นต้นไป แถลงบอกจะทำเพิ่ม แต่ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม” พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าว

เขายังบอกว่า กรณีรถเข็นกระเป๋าหาย มีการทุจริตชัด เพราะอุปกรณ์สิ่งของในสนามบินจะหายได้อย่างไรถ้าคนในไม่รู้กัน แต่ปัญหานี้กลับกลายเป็นโอกาสให้มีการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ เหมือนการฆ่าตัดตอน ส่วนเรื่องหลังคาผ้าใบ ตอนนี้ก็ยังมีปัญหา ฝนตกน้ำก็รั่วซึมและยังไม่ได้แก้ไข ขณะที่กรณีดิวตี้ฟรี คิงส์พาวเวอร์ ซึ่งตอนแรกตนเองยื่นเรื่องฟ้องต่อศาลฎีกาฯ แต่ทางศาลให้กลับมาเร่งคดีที่ส่งไปให้คณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน แต่ละเรื่องจึงดูเหมือนว่าไม่ไปถึงไหน

อดีตประธานคณะกรรมาธิการคมนาคมฯ กล่าวถึงสาเหตุที่คดีทุจริตสุวรรณภูมิไม่ได้รับการชำระสะสางอย่างที่ควรจะเป็นว่า เหตุผลหลักมาจากการสืบทอดอำนาจของกลุ่มขั้วอำนาจเก่าที่ยังคุมสุวรรณภูมิอยู่ เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายโสภณ ซารัมย์ คือ กลุ่มเนวิน ซึ่งมีสัมพันธ์อันดีกับอดีตรัฐมนตรีคมนาคมในสมัยรัฐบาลทักษิณ
 
ส่วนคณะกรรมการ ทอท. (บอร์ด) และผู้บริหาร ส่วนหนึ่งก็เป็นกลุ่มคนที่อยู่ชุดที่ถูกกล่าวหาว่าร่วมกระทำความผิดมาตั้งแต่ช่วงเร่งก่อสร้างสนามบินสมัยทักษิณ ดังนั้นจึงกลายเป็นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เข้ามากลบเกลื่อนเรื่องที่ตนเองเคยมีส่วนร่วมทำผิดเอาไว้ หน่วยงานต่างๆ ที่เข้าไปตรวจสอบกรณีทุจริตสนามบินสุวรรณภูมิ จึงมักเจออุปสรรคเหมือนกันที่ไม่ได้รับความร่วมมือจาก บทม.

“ป.ป.ช.บอกว่าแต่ละคดีต้องการรายละเอียดอีกมาก สัปดาห์นี้ก็จะลงไปสอบอีก แต่ดูแล้วช้ามาก ใช้เวลานานมาก ความยุติธรรมที่ล่าช้าจะทำให้เกิดความไม่ยุติธรรม กรณีทุจริตสุวรรณภูมิที่ยื่นไป ป.ป.ช.นั้น ยื่นโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แต่ตอนนี้ผมเองกลับถูกฟ้องหมิ่นประมาท” พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าว

*** หลังคาผ้าใบใกล้หมดอายุ

อดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีทุจริตหลังคาผ้าใบสุวรรณภูมิ ว่ามีปัญหาการลดคุณภาพ แม้จะประกวดราคากันถูกต้องแต่แก้สเปกกันภายหลัง และลดระยะเวลาประกันของอายุผ้าจากมาตรฐานสากล 20 ปี เหลือเพียง 5 ปี เมื่อลดสเปคคุณภาพวัสดุมีอายุใช้งานแค่ 5 ปี ต้องซ่อมทุกครั้งเมื่อฝนตกน้ำรั่วซึม

การจัดซื้อจัดจ้างหลังคาผ้าใบติดตั้งที่อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น นายเกียรติ สิทธอมร อดีตอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาหลังคาผ้าใบฯ ในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิ สนช. ตรวจสอบพบว่า วัสดุไม่ตรงกับสเปกที่ระบุไว้ในสัญญา แต่กลับไม่มีการอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องหรือผู้ออกแบบ แถมยังว่าจ้างผู้ออกแบบเดิมเป็นเงินถึง 285 ล้านบาท มาอนุมัติแบบใหม่ภายหลังจากผู้รับเหมาได้แก้ไขสเปกอีกด้วย ซึ่งการอนุมัติแบบและติดตั้งเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก โดยไม่มีการตรวจสอบคุณภาพของวัสดุก่อน และแม้ว่าจะติดตั้งไปแล้วกว่า 30% แต่ผลการตรวจสอบคุณภาพจากห้องปฏิบัติการ (ผลแล็บ) ออกมาว่าไม่ได้มาตรฐาน ผู้มีอำนาจกลับไม่มีการระงับการติดตั้ง

ต่อมา เมื่อมีการติดตั้งเสร็จแล้ว ทาง บทม.จึงมีคำสั่งให้เปลี่ยนผ้าใบชั้นในทั้งหมดจาก 96 เบย์ เป็น 108 เบย์ ซึ่งเป็นคำสั่งที่ช้าร่วมปีหลังทราบว่าวัสดุผ้าใบที่ติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน แต่สุดท้ายก็เปลี่ยนหลังคาผ้าใบเพียง 17 เบย์เท่านั้น ผลจากการที่ใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน ผิดสเปก ทำให้หลังคาผ้าใบเริ่มเปลี่ยนสี ฉีกขาด มีปัญหาด้านความร้อน ทางคณะอนุกรรมาธิการฯ มีความเห็นว่า ต้องเปลี่ยนผ้าใบทั้งชั้นกลางและชั้นใน ซึ่งบริษัทไอทีโอ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะเป็นผู้รับเหมา ส่วนความเสียหายเบื้องต้นประเมินไว้สำหรับการเปลี่ยนผ้าใบทั้งสองชั้น ประมาณ 2,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตามสัญญาระหว่าง บทม.กับไอทีโอ ได้กำหนดให้ไอทีโอ จัดหาและติดตั้งผ้าใบหลังคา แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นนอกเคลือบเพื่อสะท้อนรังสียูวี ชั้นกลางเพื่อกักเสียงและกระจายความร้อน และชั้นในซึ่งถักทอจากเส้นใยเคลือบโซลาฟลอนพิเศษเพื่อกระจายแสง รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 2,400 ล้านบาท เริ่มติดตั้งตั้งแต่ปลายปี 2546 จากนั้นไม่นานก็ปรากฏร่องรอยความผิดปกติในตัวผ้าใบ ลายผ้าใบไม่สม่ำเสมอ มีจุดขาว บทม.สั่งให้แก้ไข ผู้รับเหมาได้ทำความสะอาด ทาสีทับรอยด่าง แต่ในที่สุด บทม.ก็สั่งให้รื้อถอนและเปลี่ยนผ้าใบใหม่เกือบทั้งหมดของอาคารเทียบท่าอากาศยาน เมื่อเดือนมิ.ย. 2548 เนื่องจากผลแล็บทั้งในและต่างประเทศ แสดงผลว่า ผ้าใบที่ติดตั้งชั้นในมีคุณภาพต่ำกว่าสเปกที่กำหนด

กรณีหลังคาผ้าใบฯ เป็น 1 ใน 16 คดีทุจริตสนามบินสุวรรณภูมิ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิ (สนช.) ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว ดีเอสไอ ได้ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการ โดยกล่าวหา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับพวก กระทำความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในการติดตั้งหลังคาผ้าใบอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของวัสดุ แก้ไขระยะเวลารับประกันวัสดุหลังคาผ้าใบ ภายหลังการลงนามในสัญญาแล้ว

คณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2552 ว่า การดำเนินการคดีดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว โดยมี ศ.ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน ขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวน

/////////////////////////////////////

16 คดีทุจริตสุวรรณภูมิ หรือจะ“เน่า”คามือ ป.ป.ช.??

การออกมากระทุ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ของ สนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ดำเนินการรายการ Good Morning Thailand ทาง เอเอสทีวี เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2552 โดยพาดพิงถึงการปฏิบัติงานของ ศ.ภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.ว่า งานในความรับผิดชอบของนายภักดี โพธิศิริ ซึ่งคดีทุจริตในสนามบินสุวรรรภูมิที่มีการร้องเรียนไว้ 2 ปีกว่าแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าแม้แต่เรื่องเดียว
 
และกล่าวฝากไปถึงนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ให้ช่วยตรวจสอบนายภักดี ด้วยนั้น ทำให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ถึงกับร้อนตัวรีบนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมและแถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2552 ว่า เรื่องกล่าวหาเกี่ยวกับทุจริตสุวรรณภูมิที่อยู่ระหว่างการดำเนินการมีทั้งสิ้น 16 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่คณะกรรมาธิการวิสามัญและติดตามแก้ไขปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว ดีเอสไอ ส่งเรื่องมาให้ คณะกรรมการป.ป.ช.ดำเนินการ สรุปได้ดังนี้

1.เรื่องกล่าวหา คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา โครงการปรับปรุงคุณภาพของทางวิ่งฝั่งตะวันออก บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) กรณีไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดในประกาศเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่ม VKP Joint Venture เป็นผู้ได้งานโครงการปรับปรุงคุณภาพของทางวิ่งฝั่งตะวันออก สนามบินสุวรรณภูมิ

ขณะนี้การดำเนินการ อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นของพนักงานเจ้าหน้าที่

2.เรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด และเจ้าหน้าที่ บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด(บทม.) กรณีเจ้าหน้าที่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด เจาะจงใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าสนามบิน ยี่ห้อ Crouse Hinds ที่ผลิตตามมาตรฐาน FAA และไม่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของ ICAO ในการสอบราคาจ้างปรับปรุงป้าย TAXIWAY GUIDANCE SIGN ณ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ตามประกาศลงวันที่ 5 ม.ค. 2547 โดยยืนยันว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าวถูกต้องตามข้อกำหนด ICAO แล้ว ที่สุดต้องยกเลิกการสอบราคาดังกล่าว รวมทั้งเจ้าหน้าที่บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าดังกล่าวติดตั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิเช่นเดียวกัน

ขณะนี้ การดำเนินการพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างสรุปเรื่องเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา

3.เรื่องกล่าวหาคณะกรรมการกำหนดราคากลาง เฉพาะงานก่อสร้างพื้นผิว ทางวิ่ง ทางขับ และลานจอดอากาศยาน กำหนดราคากลางอุปกรณ์ไฟฟ้า ทางวิ่ง ทางขับ และลานจอดอากาศยานโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ สูงผิดปกติ ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว โดยมี นายเมธี ครองแก้ว กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ

ขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวน

4.เรื่อง กล่าวหา ข้าราชการการเมือง กรรมการและเจ้าหน้าที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด ทุจริตในการจ้างเอกชนเข้าบริหารกิจการโรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดำเนินการจ้างในราคาที่สูงเกินมาตรฐาน ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว โดยมีนายเมธี ครองแก้ว กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ

ขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวน

5. เรื่องกล่าวหานายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม, ประธานกรรมการ ทอท., คณะกรรมการ ทอท., ประธานคณะทำงานและคณะทำงานพิจารณาต่ออายุสัญญาของบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด, ผู้บริหารของกลุ่มบริษัท คิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด และที่ปรึกษาของ ทอท. ร่วมกันทุจริตโครงการสัมปทานร้านค้าปลอดอากรและการใช้พื้นที่ในสนามบินสุวรรณภูมิ

ขณะนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว โดยมีนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการไต่สวน ในขั้นตอนพิจารณาว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่

6.เรื่องกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวก กรณีร่วมกันทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการประมูลงานจ้างเหมาบริการรักษาความปลอดภัย ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยวิธีพิเศษ ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว โดยมี นายใจเด็ด พรไชยา กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ

ขณะนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง

7.เรื่องกล่าวหา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) กับพวก กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 เอื้อประโยชน์ให้บริษัทร่วมทุนเอกชนแห่งหนึ่ง ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้เข้าดำเนินงานโครงการคลังสินค้าและโครงการบริการอุปกรณ์ภาคพื้นและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการซ่อมบำรุง ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ทั้งที่ บริษัทดังกล่าวยื่นข้อเสนอไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนด TOR

ขณะนี้ อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นของพนักงานเจ้าหน้าที่

8.เรื่องกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองข้าราชการ กรรมการและพนักงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. กรณีทุจริตเกี่ยวกับการจัดจ้าง ผู้ให้บริการรถเข็นกระเป๋าในสนามบินสุวรรณภูมิ เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทไทยแอร์พอร์ตกราวต์ เซอร์วิสเซส จำกัด (TAGS) โดยการแก้ไข และยกเลิก TOR หลายครั้ง และจัดจ้างในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดมาก

ขณะนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน

9.เรื่องกล่าวหา นักการเมือง ข้าราชการ กรรมการ และเจ้าหน้าที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และเอกชน กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่า ด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ในการประมูลเช่ารถบริการรับ - ส่งผู้โดยสาร (LIMOUSINE) ให้บริการรับ - ส่ง ผู้โดยสารในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะเวลา 5 ปี รวม 8 สัญญา วงเงิน 2,651,481,500 บาท

ขณะนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน

10.เรื่องกล่าวหา เจ้าหน้าที่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ในการประมูลจ้างกลุ่มบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งให้บริการระบบไฟฟ้า 400 Hz และระบบปรับอากาศ PC

ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นของพนักงานเจ้าหน้าที่

11.เรื่องกล่าวหา นักการเมือง ข้าราชการ กรรมการและเจ้าหน้าที่บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และเอกชน กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และกฎหมายอื่น ที่เกี่ยวข้องในการทำสัญญาระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับบริษัทสุวรรณภูมิทรานเซอร์วิส จำกัด (SVT) ในการทำสัญญาหาผลประโยชน์ในพื้นที่ศูนย์บริหารการขนส่ง โดยนำไปจัดกิจการเชิงพาณิชย์

ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว โดยมีนายใจเด็ด พรไชยา กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ และอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง

12. เรื่องกล่าวหา ข้าราชการสังกัดกรมชลประทาน และนางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ขณะดำรงตำแหน่งรมว.เกษตรและสหกรณ์ ทุจริตเกี่ยวกับ การจัดจ้างก่อสร้างโครงการระบายน้ำบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิของกรมชลประทานในราคาสูงเกินจริง มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้าง

ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว โดยมีนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ และอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง

13. เรื่องกล่าวหา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรมว.คมนาคม กับพวก กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องในการติดตั้งหลังคาผ้าใบอาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของวัสดุ แก้ไขระยะเวลารับประกันวัสดุหลังคาผ้าใบ ภายหลังการลงนามในสัญญาแล้ว

ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว โดยมีนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ และอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง

14.เรื่องกล่าวหา นักการเมือง ข้าราชการ กรรมการ และเจ้าหน้าที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และเอกชน มีพฤติการณ์กระทำความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องในการจัดจ้างกลุ่ม SPS Consortium เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการขยะในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ขณะนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน

15.เรื่องกล่าวหา คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ และกรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ทุจริตในการทำสัญญาจ้าง ก่อสร้างซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ

ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว โดยมีนายเมธี ครองแก้ว เป็นประธานอนุกรรมการ และอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริง

16.เรื่องกล่าวหา ข้าราชการ นักการเมือง กรรมการ และเจ้าหน้าที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และเอกชน กระทำความผิด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาฯ พ.ศ. 2542 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการให้สัมปทานเอกชนประกอบกิจการ Day Room (ห้องพักแรม) ในอาคารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ขณะนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างนำเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน

ทั้ง 16 เรื่องอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของพนักงานเจ้าหน้าที่ จำนวน 8 เรื่อง อยู่ในความรับผิดชอบของนายเมธี ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวน จำนวน 3 เรื่อง และนายใจเด็ด ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวน จำนวน 2 เรื่อง คงเหลืออยู่ในความรับผิดชอบของนายภักดี ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวน 3 เรื่อง

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า คณะกรรมการป.ป.ช. ไม่ได้กล่าวถึงคดีซีทีเอ็กซ์ ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) ส่งมาให้คณะกรรมการป.ป.ช. ดำเนินการต่อแต่อย่างใด
 
ซึ่งคดีซีทีเอ็กซ์นี้ คตส. กับ อัยการ มีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องความสมบูรณ์ของคดีเพื่อสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง และเมื่อ คตส.หมดวาระลง เรื่องถูกส่งมาอยู่ที่ ป.ป.ช. จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้นำคดีขึ้นสู่ศาลแต่อย่างใด ท่ามกลางข้อกังขาว่า นายใจเด็ด พรไชยา กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฯ ที่รับผิดชอบคดีนี้ มาจากสายอัยการ และเหตุที่คดีไม่คืบหน้าอย่างที่ควรจะเป็นเพราะอัยการสูงสุด ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีซีทีเอ็กซ์ด้วย รวมไปถึง ทักษิณ ชินวัตร, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, ศรีสุข จันทรางศุ และ สมชัย สวัสดิผล เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น