xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้องศาลเพิกถอนEIA-ใบอนุญาต ยื่นป.ป.ช.เอาผิดข้อหาละเว้น (ตอนที่ 4 จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวเชิงวิเคราะห์ “เจาะแผนปิโตรเคมี4แสนล้าน ตราบาปยุคทักษิณ” โดยทีมข่าวพิเศษ ความยาว 4 ตอนจบ

ตอนที่ 4 (จบ)

ASTVผู้จัดการรายวัน – สภาทนายความฯ เตรียมพร้อมยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้เพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และเพิกถอนใบอนุญาตรวมถึงระงับการดำเนินการกิจกรรมของโครงการลงทุนปิโตรเคมีและเกี่ยวเนื่องในพื้นที่ระยอง 44 โครงการ ด้านเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ยื่นป.ป.ช. ดีเอสไอ เอาผิด “โฆษิต-พรชัย-นิศากร-สุพัฒน์-มณฑา” ข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่และมีผลประโยชน์ทับซ้อน

การชะงักงันของแผนลงทุนปิโตรเคมี ระยะที่ 3 ซึ่งกลุ่มนักลงทุนเอกชนโอดครวญว่า หากประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนทันทีกว่า 2.8 แสนล้านบาท จากเม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นกว่า 4 แสนล้านบาท เนื่องจากโครงการลงทุนอยู่ระหว่างการดำเนินการแต่ต้องกลับมารอความชัดเจนว่าจะต้องปรับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่หรือไม่นั้น

ถ้าจะว่าไปแล้วนี่เป็นผลพวงมาจากความย่ามใจในอำนาจและอิทธิพลของฝ่ายรัฐและเอกชนที่มักพากันอาศัยช่องโหว่และละเมิดกฎหมายกันเสียเองจนเคยชิน โดยเฉพาะการลงทุนในเขตอีสเทิร์นซีบอร์ดด้วยแล้ว นักลงทุนต่างได้รับการอุ้มชูจากภาครัฐมาโดยตลอด

การเคลื่อนไหวของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกเพื่อให้หยุดการขยายการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และขอให้ระงับการพิจารณาอีไอเอไว้ก่อนเพื่อแก้ไขปัญหา มีมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เพราะปัญหามลพิษที่รุนแรงขึ้นในทุกด้าน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง แต่ข้อเรียกร้องของภาคประชาชนกลับไม่ได้รับการตอบสนอง

มรดกบาปจากสมัยรัฐบาลทักษิณ ได้รับการสานต่อจากรัฐบาลสมัยพลเอกสุรยุทธ์ ซึ่งมีนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อีกทั้งยังเป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อ้างเหตุว่า มีแผนลดและขจัดมลพิษควบคู่ไปด้วยแล้ว ซึ่งเนื้อแท้นั่นคือการซื้อเวลาเพื่อเดินหน้าขยายการลงทุน

ขณะที่สำนักงานนโยบายแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อ้างว่า ไม่สามารถระงับการพิจารณาอีไอเอได้ เพราะตามกฎหมายเมื่อเอกชนเสนอเข้ามาก็ต้องตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญขึ้นมาพิจารณา และเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อพิจารณาอนุมัติ

แผนการลงทุนปิโตรเคมี ระยะที่ 3 จึงเดินหน้าต่อไป ไม่มีปัญหาทั้งการอนุมัติอีไอเอ อนุมัติส่งเสริมการลงทุน แถมยังมีการจัดตั้งมวลชนเพื่อสร้างความชอบธรรมว่าชุมชนมีส่วนร่วมและเห็นดีเห็นงามด้วย แต่ในที่สุดก็ต้องมาหยุดชะงัก เมื่อกระบวนการพิจารณาคดีในศาลปกครองระยอง เปิดเผยให้เห็นความจริงว่าหน่วยงานรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และมีผลประโยชน์ทับซ้อน

***พึ่งป.ป.ช.-ดีเอสไอเอาผิดฐานละเว้น

ผลจากการคำพิพากษาของศาลปกครองระยอง จุดชนวนให้ภาคประชาชนหันมาพึ่งกระบวนการยุติธรรม รุกคืบเอาผิดกับหน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐผู้เกี่ยวข้อง

สุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า เครือข่ายฯ จะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), ผู้ตรวจการรัฐสภา, คณะกรรมาธิการการศึกษา ตรวจสอบทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เพื่อให้ดำเนินการเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องกับการอนุมัติขยายการลงทุนปิโตรเคมี ระยะที่ 3 การอนุมัติอีไอเอโดยมิชอบ จำนวน 5 คน ดังนี้

1)นายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และอดีตประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 2)นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน อดีตประธานกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), รองประธานคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อแก้ปัญหามลพิษและกำหนดการพัฒนาพื้นที่จังหวัดระยอง

3)นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ 4)นางมณฑา ประณทนรพาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และ 5) นางนิศากร โฆษิตรัตน์ เลขาธิการสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ

“เครือข่ายฯ ขอให้เอาผิดในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และมีผลประโยชน์ทับซ้อน อีกทั้งยังจะแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ระยองให้ดำเนินคดีกับบุคคลทั้งห้าด้วย” นายสุทธิ กล่าว

***ฟ้องหน่วยงานรัฐทำผิดกม.

ศรีสุวรรณ จรรยา กรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาทนายฯ ได้รับมอบอำนาจจากสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับพวก ให้ยื่นฟ้องเลขาธิการสผ., คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, รัฐมนนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทำการไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่รัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 67 และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 กำหนดไว้ ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญฯ 2550 หมวดที่ 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย ส่วนที่ 12 สิทธิชุมชน ในมาตรา 67 บัญญัติว่า “สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม

การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว”

นอกจากนั้น พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 5 กำหนดไว้ว่า บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ

บุคคลมีหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการดำเนินการให้เกิดสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อม
ตามวรรคหนึ่ง และ มาตรา 10 เมื่อมีกรณีที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเกิดขึ้น หน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ต้องเปิดเผยข้อมูลนั้นและวิธีป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพให้ประชาชนทราบและจัดหาข้อมูลให้โดยเร็ว

แต่ปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1- 6 ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกลับละเลยกระทำการไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือโดยไม่ถูกตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งบัดนี้มีโครงการหรือกิจการที่เข้าข่ายเป็ฯโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพที่ผู้ถูกฟ้องคดี ได้ให้ความเห็นชอบไปแล้วในพื้นที่ระยองมากกว่า 44 โครงการ ประกอบด้วย โครงการอุตสาหกรรม 36 โครงการ โครงการคมนาคม 3 โครงการ, โครงการพลังงาน 5 โครงการ

โครงการดังกล่าว ไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง และพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ คือ ไม่ได้ศึกษาหรือประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในชุมชนที่โครงการหรือกิจกรรมนั้นไปก่อตั้งหรือดำเนินการในพื้นที่อย่างทั่วถึงและรอบด้าน, ไม่ได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน อีกทั้งยังไม่ได้ให้องค์กรอิสระซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการ

ศรีสุวรรณ ระบุว่า โครงการดังกล่าวอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ด้วยปรากฏว่ามีข้อมูลการศึกษาวิจัยจากหลายหน่วยงาน หลายองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา นักวิชาการอิสระ ยืนยันสอดคล้องกันว่า โครงการที่เป็นปัจจัยหลักในการแพร่กระจายมลพิษส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นโครงการในพื้นที่ทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด, นิคมฯ บ้านฉาง, นิคมฯเอเชีย, นิคมฯเหมราชตะวันออก, นิคมฯผาแดง และนิคมฯอาร์ไอแอล

การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดำเนินการไปโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายละไม่ยับยั้งในการรับและส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ไปให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องพิจารณา และผู้ฟ้องคดีที่ 2 ก็รับพิจารณาต่อและให้ความเห็นชอบไปโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายแม่บทและไม่ได้สั่งการหรือยับยั้งด้วยเช่นกัน จึงถือเป็นการจงใจถือว่าเป็นการจงใจที่จะดำเนินการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฯ 2550 อย่างชัดเจน

และเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 เห็นชอบในรายงานแล้ว ได้ส่งเรื่องให้เจ้าของโครงการทราบเพื่อยื่นเรื่องต่อหน่วยงานอนุญาต คือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3, 4, 5 หรือ 6 แล้วแต่กรณี ทำการอนุญาตต่อไปนั้นถือเป็นการดำเนินการที่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายข้างต้นเช่นกัน

***ขอศาลสั่งเพิกถอนอีไอเอ

คำขอท้ายคำฟ้องในคดี คือ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะผู้ชำนาญการฯ แล้วนับแต่วันที่ 24 สิงหคม 2550 เป็นต้นมา และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3, 4, 5 เพิกถอนใบอนุญาตรวมทั้งระงับการดำเนินกิจกรรมใดๆ สำหรับโครงการที่ได้จัดทำรายงานอีไอเอที่อาจก่อผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ
ทั้งนี้ เพื่อให้นำกลับมาดำเนินการให้ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 67 และพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ให้ถูกต้องโดยให้ศึกษาหรือประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนในชุมชนที่โครงการนั้นไปตั้ง, จัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย และให้องค์กรอิสระให้ความเห็นประกอบก่อนดำเนินการ
กำลังโหลดความคิดเห็น