xs
xsm
sm
md
lg

ลักไก่เดินหน้าลงทุนปิโตรเคมี บิดเบือนข้อมูลผลกระทบสวล.ไร้ปัญหา (ตอนที่ 2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ข่าวเชิงวิเคราะห์ “เจาะแผนปิโตรเคมีสี่แสนล้าน ตราบาปยุคทักษิณ” โดยทีมข่าวพิเศษ (ความยาว 4 ตอนจบ)

ตอนที่ 2

ASTVผู้จัดการรายวัน – แฉก๊วนทักษิณ - บิ๊กปตท.- อดีตแทคโนแครตสภาพัฒน์ในรัฐบาลสุรยุทธ์ ร่วมชงแผนรับไม้ต่อลักไก่เดินหน้าลงทุนปิโตรเคมี เฟส 3 โดยไม่ผ่านครม.อนุมัติจนกระทั่งบัดนี้ มิหนำซ้ำยังบิดเบือนข้อมูลผลศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมไร้ปัญหาสวนทางความจริงได้อย่างน่าอัศจรรย์ฉายซ้ำภาพการสร้างธรรมาภิบาลจอมปลอม

การปั้นแผนลงทุนปิโตรเคมี ระยะที่ 3 เพื่อกระตุ้นการลงทุน สร้างเม็ดเงินมหาศาลให้ประเทศชาติ แต่แฝงเร้นไปด้วยผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่ม ฉาบทาไว้ด้วยการอวดอ้างว่าได้ศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ด้วยแล้ว โดยผลศึกษาที่ออกมาช่างน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เพราะปรากฏว่า ไร้ปัญหา

ตามผลศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมประกอบการจัดทำแผนแม่บทปิโตรเคมี ระยะที่ 3 ระบุว่า พื้นที่บริเวณมาบตาพุดและใกล้เคียงยังมีศักยภาพเพียงพอในการรองรับการปล่อยของเสียได้ โดยค่าความเข้มข้นของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และ ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ที่มีการตรวจวัดในบริเวณมาบตาพุดอยู่ระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดเป็นจำนวนมาก โดยค่าความเข้มของ SO2 และ NO2 ที่โรงงานปล่อยออกมาจริงมีปริมาณน้อยกว่าจำนวนที่แต่ละโรงงานได้ขออนุญาตไว้ในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อยู่มาก และการปล่อยมลพิษของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้า

นอกจากนี้ ของเสียที่เป็นของแข็งและของเหลวยังไม่เป็นปัญหาในการกำจัดเพราะประเทศไทยสามารถกำจัดของเสียเหล่านี้ได้อีกมาก ดังนั้น จึงมีข้อสรุปว่า การขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะ 3 ในบริเวณนี้สามารถดำเนินการต่อไปได้

นั่นคือ ผลศึกษาที่เกิดขึ้นจากฝีมือของกระทรวงพลังงานในยุครัฐบาลทักษิณ 2 ซึ่งเป็นผลศึกษาที่ทั้งรัฐบาลทักษิณ และกลุ่มผู้ลงทุนหลักในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คือ กลุ่มปตท. อยากจะฟังและอยากให้เป็น เพื่อสร้างความชอบธรรมให้การลงทุนแลดูเสมือนมีธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มเปี่ยม

ขณะที่รายงานผลการศึกษาของหน่วยงานที่ควบคุมดูแลด้านมลพิษโดยตรง คือ กรมควบคุมมลพิษ และผลการศึกษาของนักวิชาการ องค์กรอิสระอื่นๆ ต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียงมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจนอาจเป็นอันตรายต่อสุขอนามัยของประชาชน โดยพบสารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็งเกินค่ามาตรฐาน และมีสถิติการเกิดโรคมะเร็งทุกชนิดและมะเร็งเม็ดเลือดขาวของอำเภอเมืองระยอง สูงกว่าอำเภออื่นๆ ถึง 3 เท่าและ 5 เท่า

การปล่อยมลพิษทางอากาศในอัตราสูงสุดที่ได้รับอนุญาตของแต่ละโรงงานเป็นผลให้มีค่าความเข้มข้นของสารพิษสูงเกินค่ามาตรฐานของคุณภาพอากาศ ไม่นับปัญหาคุณภาพน้ำผิวดิน คุณภาพน้ำทะเล คุณภาพน้ำบาดาลและบ่อน้ำตื้นที่ปนเปื้อนโลหะหนัก มีสภาพเป็นกรด

ส่วนการจัดการกากของเสียอุตสาหกรรม มีปัญหาการลักลอบนำของเสียและสารเคมีออกไปทิ้งในพื้นที่สาธารณะในหลายพื้นที่ เช่น อำเภอบ้านค่าย กิ่งอำเภอเขาชะเมา กิ่งอำเภอนิคมพัฒนา ตำบลมาบข่า อำเภอเมือง จังหวัดระยอง

เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ และคณะวิจัยจากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ ชี้ว่า ผลกระทบด้านสุขภาพของชาวระยองเป็นผลมาจากมลพิษที่เป็นปัญหาวิกฤตเรื้อรังมายาวนาน แม้แต่การสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อเดือนก.ย.2549-พ.ค.2551 ก็ยังพบสารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็งเกินค่ามาตรฐานในอากาศ 3 ชนิด คือ เบนซิน (Benzene) 1, 3 บิวทาไดอีน (Butadiene) ส่วน 1, 2 ไดคลอไรอีเทน (Dichroethane) เกินค่าสูงสุดอยู่ที่ 60 เท่า

ทั้งนี้ ถ้าหากมีการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมตามแผนแม่บทปิโตรเคมีระยะที่ 3 ในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง ประมาณ 3,000 ไร่ โดยจะมีการก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่ 56 โครงการ จะทำให้ปริมาณมลพิษเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือราวปี 2561 จะมีมลพิษประมาณซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพิ่มจากปัจจุบัน 17,284 ตัน/ปี เป็น 17,782 ตัน/ปี หรือเพิ่มขึ้น 2.9%
 
ไนโตรเจนออกไซด์ จาก 22,785 ตัน/ปี เป็น 34,022 ตัน/ปี เพิ่มขึ้น 49.3% ปริมาณน้ำทิ้ง จาก 17.5 ล้าน ลบ.ม./ปี เป็น 41 ลบ.ม./ปี เพิ่มขึ้น 134.3% กากของแข็ง จาก 20,000 ตัน/ปี เป็น 57,600 ตัน/ปี เพิ่มขึ้น 188% และกากของแข็งอันตราย จาก 15,000 ตัน/ปี เป็น 45,400 ตัน/ปี เพิ่มขึ้น 202.7%

ด้วยผลศึกษาสิ่งแวดล้อมของแผนแม่บทปิโตรเคมีที่ออกมาชนิดสวนทางกับความจริงโดยสิ้นเชิงนี้เองที่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาในมุมกลับ คือ การก่อร่างสร้างเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่แห่งนี้ที่ไม่เคยเกิดขึ้นได้ในทางความเป็นจริงและถูกทำให้หมดสภาพเพราะ “ถูกซื้อ” ด้วยกลยุทย์สารพัดนั้น กลับมีความเข้มแข็งขึ้น ประชาชนลุกฮือคัดค้านการพัฒนาแบบทุนนิยมสามานท์ที่เอาแต่ได้ฝ่ายเดียวชนิดที่ไม่เคยเห็นการต่อสู้ครั้งใดจะยืดเยื้อและคงสภาพอยู่ได้ยาวนานเช่นครั้งนี้

ที่สำคัญ เครือข่ายประชาชนในพื้นที่ได้พัฒนายกระดับการต่อสู้โดยหันมาพึ่งพิงกระบวนการยุติธรรม กระทั่งทำให้แผนการลงทุนปิโตรเคมี ระยะ 3 ซึ่งเป็นฝันอร่อยของนักลงทุนบางกลุ่มต้องหยุดชะงัก รอการปรับแผนสิ่งแวดล้อมใหม่ อันเป็นผลจากคำสั่งศาลปกครองที่ให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุดในขณะนี้

ไม่เพียงแต่ข้อมูลการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้นที่ถูกบิดผิดไปจากสภาพความเป็นจริง การแปลงแผนแม่บทเพื่อนำไปสู่แผนปฏิบัติ กระทรวงพลังงานและกลุ่มผู้ลงทุนหลักก็ใช้วิธี “ลักไก่” ขยายการลงทุนโดยไม่รอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบด้วยเช่นกัน

เครือข่ายธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีองค์กรร่วมในเครือข่าย เช่น สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, สถาบันพระปกเกล้า,โครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากรในสังกัดคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และสภาทนายความแห่งประเทศไทย ซึ่งเข้ามาศึกษาเรื่องธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมมาบตาพุด ตั้งข้อสังเกตว่า ตามหลักการที่กำหนดไว้นั้น การแปลงแผนแม่บทไปสู่การปฏิบัติจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้ประกาศเป็นแผนแห่งชาติเสียก่อน

แต่ทว่าในทางความเป็นจริงแล้ว ภายหลังจากกระทรวงพลังงาน ตรวจรับแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 3 เมื่อเดือนมกราคม 2548 จนกระทั่งถึงบัดนี้ ก็ยังไม่มีการนำแผนดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบแต่อย่างใด

ข้ออ้างจากเหตุความชุลมุนวุ่นวายทางการเมือง การผลัดเปลี่ยนอำนาจ และกระแสการคัดค้านของประชาชนที่เกิดขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ทำให้แผนแม่บทลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไม่ได้นำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่แทนที่เรื่องนี้จะเป็นอุปสรรคกลับกลายเป็นช่องทางหลบเลี่ยง ลักไก่เดินหน้าลงทุนด้วยการสมยอมทั้งฝ่ายรัฐและเอกชน

ในทางปฏิบัติ กลุ่มธุรกิจ จึงพากันขยายพื้นที่ลงทุนด้วยการขออนุญาตสร้างโรงงานเพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนนั้นก็ได้รับการอนุมัติแถมให้บีโอไอยกเว้นภาษี ให้สิทธิพิเศษ สิทธิประโยชน์ มากที่สุดเท่าที่บีโอไอจะสามารถให้ได้ เพราะนี่คือยุทธศาสตร์หลักในการลงทุนของประเทศ

อิทธิพลของกลุ่มผู้ลงทุนหลักในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีมากน้อยแค่ไหน ดูได้จากการส่ง “วิเศษ จูภิบาล” อดีตผู้ว่าการฯ ปตท. เข้ามานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในช่วงรัฐบาลทักษิณ 2 เมื่อปี 2548 หลังจาก น.พ. พรหมมินท์ เลิศสุริย์เดช หรือ “หมอมิ้ง” รมว.กระทรวงพลังงานคนแรก วางรากฐานเอาไว้เสร็จสรรพก่อนย้ายก้นออกไป

“หมอมิ้ง” เป็นใคร ? “วิเศษ จูภิบาล” เป็นใคร? เข้ามาทำอะไรในกระทรวงพลังงาน และเกี่ยวอะไรกับ “ทักษิณ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี และกลุ่มก๊วนการเมืองของเขาขณะนั้นอย่างไร ใครๆ ก็รู้กันดี

การขยายลงทุนปิโตรเคมีที่มีลู่ทางแห่งอนาคตอันสดใสในยุคของรัฐบาลทักษิณ ดำเนินไปท่ามกลางเสียงร่ำร้องคร่ำครวญจากผู้สูญเสียญาติสนิทมิตรสหายที่เจ็บป่วยและตายไปด้วยโรคจากมลพิษ กระทั่งเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร ผลัดอำนาจ ผลัดแผ่นดิน อันเป็นความหวังใหม่ของประชาชนหลายหมู่เหล่า แต่สำหรับชุมชนชาวมาบตาพุดทุกอย่างกลับยิ่งเลวร้ายลงกว่าเดิม

โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ อดีตแทคโนแครตจากสภาพัฒน์ ซึ่งผันตัวเองไปอยู่แบงก์กรุงเทพ ได้รับเทียบเชิญให้เข้ามานั่งในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในคณะรัฐบาลทหาร ได้เล่นบทบาทผลักดันการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้เดินหน้าไม่หยุดยั้ง ทั้งที่กระแสเรียกร้องคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ดังขึ้นเป็นลำดับเพราะต้องการให้รัฐบาลเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหามลพิษ ตามด้วยวิกฤตการขาดแคลนน้ำที่รุนแรงขึ้นจากการแย่งชิงน้ำเพื่อภาคอุตสาหกรรม

แต่ทว่า นอกจากเขาจะไม่ยี่หระต่อเสียงเรียกร้องของประชาชนให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุดแล้ว เขายังอาศัยหมวกอีกใบที่สวมอยู่คือ ประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เร่งอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่คั่งค้างล่าช้า เพราะต้องพิจารณากันอย่างรอบด้านเนื่องจากหน่วยงานควบคุมมลพิษตระหนักดีว่า พื้นที่มาบตาพุดมีปัญหามลพิษเข้าขั้นวิกฤตรุนแรงแล้ว

โฆษิต ในวันที่สวมหมวกนักการเมือง จึงดูเสมือนไม่ต่างอะไรไปจาก “หมอมิ้ง” หรือ วิเศษ จูภิบาล ที่คำนึงถึงแต่เม็ดเงิน กำไร กระตุ้นลงทุน การเติบโตของจีดีพี ตามลัทธิทุนนิยมสามานท์ แม้ว่าช่วงที่เขาทำงานอยู่สภาพัฒน์มาค่อนชีวิตจะได้ชื่อว่าเป็นนักพัฒนาเพื่อคนจน คัดง้างกับปีกสายพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งผลักดันโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดมาไม่น้อย จนต้องอำลาจากสภาพัฒน์ด้วยความชอกช้ำ

ส่วนเครือปตท. กลุ่มลงทุนผู้ทรงอิทธิพลนั้น ไม่ว่าจะยุคสมัยรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ หรือแม้กระทั่งรัฐบาลประชาธิปัตย์ ก็ล้วนแต่ไม่มีรัฐบาลไหนกล้าแตะ ซ้ำยังต้องคอยสดับรับฟังว่า ปตท.จะเอาอย่างไร ทั้งที่ ปตท.หาใช่รัฐวิสาหกิจของรัฐเช่นในอดีต เป็นแค่บริษัทเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้น ขณะที่รัฐบาลนั้น มีหน้าที่บริหารประเทศเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมแก่ทุกๆ ฝ่าย หาใช่เป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่

หนึ่งในรูปธรรมที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของ ปตท. เจ้าของโครงการปิโตรเคมี ระยะที่ 3 ตัวจริง เกิดขึ้นในช่วงที่ โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ หารือกับ ประเสิรฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เพื่อย้ายโครงการปิโตรเคมี ระยะที่ 3 จากมาบตาพุดไปยังพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้ แต่ได้รับการปฏิเสธจาก ปตท. เพราะหากต้องย้ายพื้นที่ก็ต้องปรับแผนลงทุนใหม่

แต่ที่มากกว่านั้นก็คือ พื้นที่ใหม่ต้องลงทุนเพิ่มอีกมากแต่ที่มาบตาพุดแค่ต่อยอด ดังผลศึกษาที่ชี้ว่า หากลงทุนปิโตรเคมีระยะ 3 ทั้งหมดในมาบตาพุดจะทำให้เม็ดเงินลงทุนต่ำกว่าระยะที่ 1 และ 2 เพราะแทบไม่ต้องลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคเพิ่มเติม

แล้วทำไม กลุ่มปตท. ต้องไปเสี่ยงกับการเปิดพื้นที่ใหม่ ที่ต้องลงทุนเพิ่ม และยังไม่แน่ว่าจะเคลียร์ปัญหามวลชนได้หรือไม่

การลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะเกิดขึ้นในพื้นที่ใหม่ได้อย่างไรในเมื่อปัญหามลพิษท่วมมาบตาพุดฟ้องต่อสาธารณะอย่างชัดเจนว่า การลงทุนที่อวดอ้างว่ามีธรรมาภิบาลเต็มเปี่ยมของบรรดากลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ระดับชาติทั้งหลาย แท้จริงแล้วเป็นเพียงแค่ธรรมาภิบาลจอมปลอม

สัจจะวาจาของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ว่า ธุรกิจต้องรักษามาตรฐานสิ่งแวดล้อม ต้องไม่ทำให้ชุมชนเดือดร้อน จะเป็นจริงได้หรือไม่ การอุ้มนักลงทุนขาใหญ่ละเมิดรัฐธรรมนูญ ทำผิดกฎหมายบนซากศพของประชาชน จะยังดำเนินต่อไป ข้อเสนอให้ทบทวนแผนลงทุนปิโตรเคมีนี้ใหม่จะเป็นไปได้หรือ? โปรดติดตามตอนที่ 3 ฉบับวันพรุ่งนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น