ข่าวเชิงวิเคราะห์ “เจาะแผนปิโตรเคมี4แสนล้าน ตราบาปยุคทักษิณ” โดยทีมข่าวพิเศษ (ความยาว 4 ตอนจบ)
ตอนที่ 1
ASTVผู้จัดการรายวัน – เจาะแผนลงทุนปิโตรเคมี เฟส 3 มูลค่า 4 แสนล้าน เร่งทำคลอดในยุครัฐบาลทักษิณแบบพิกลพิการ ปั่นกระแสสร้างรายได้มหาศาลให้กลุ่มปตท.รับหลายเด้ง ดันราคาหุ้นการเมืองในมือพวกพ้องกระฉูด อีกทั้งเพิ่มมูลค่าก๊าซฯที่ปตท.ผูกขาดธุรกิจ วางแผนกินยาวตั้งกระทรวงพลังงานรวบแผนลงทุนปิโตรเคมีผนวกแผนพัฒนาพลังงาน บวกเร่งแปรรูป ปตท. ยอกย้อนซ่อนกลเพื่อเป้าหมายทำให้รัฐวิสาหกิจผูกขาดด้านพลังงานของชาติกลายสภาพเป็นแหล่งขุมทรัพย์สูบกินไม่มีวันหมดสิ้น
ข้อกังขาต่อแผนลงทุนปิโตรเคมี เฟส 3 มูลค่าร่วม 400,000 ล้านบาทในเขตพื้นที่มาบตาพุดที่มีปัญหามลพิษอย่างหนักหนาสาหัสอยู่ในเวลานี้ คือใครกันแน่ที่เป็นเจ้าของนโยบายและแผนปฏิบัติการ “ตัวจริง” ใครกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันชนิดสุดฤทธิ์สุดเดชโดยไม่สนว่าจะมีปัญหากระทบต่อชีวิตผู้คนและสิ่งแวดล้อมเพียงใด ใครกันแน่ที่บงการรัฐ และใช้คราบความเป็นองค์กรเร้นรัฐสร้างรายได้และกำไรมหาศาล มองเห็นแต่ประโยชน์ที่ตนเองจะได้ถ่ายเดียว
ขบวนการปั้นอภิมหาโครงการนี้มีผู้ร่วมดำเนินการทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ซึ่งอาศัยคราบไคลนักการเมือง นักธุรกิจที่ฉาบด้วยภาพลักษณ์ธรรมาภิบาล แทคโนแครตจากหอคอยงาช้าง โดยมีชีวิตผู้คน ชุมชน เป็นเครื่องเซ่นสังเวยความพิกลพิการของแผนลงทุนซึ่งฉายชัดให้เห็นนับตั้งแต่เริ่มต้นจนเร่งทำคลอดแต่ต้องมาชะงักในเวลานี้
ความหอมหวานของการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ดำเนินควบคู่มากับการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก (อีสเทิร์นซีบอร์ด) กว่า 25 ปี เย้ายวนใจให้กลุ่มผู้ได้ประโยชน์เดินหน้าขยายการลงทุนไม่หยุดยั้งนับจากโครงการระยะที่ 1 (2523 – 2532) ซึ่งมีการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ในฐานะตัวแทนรัฐบาล เป็นผู้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้ก๊าซธรรมชาติที่ค้นพบในอ่าวไทย จุดเริ่มของยุคสมัยแห่งความโชติช่วงชัชวาลย์
ความสำเร็จอันงดงามของนักลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะแรก ทำให้เกิดโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 2 (2532 – 2547) ตามมาอย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาลสนับสนุนและส่งเสริมทุกด้าน ทั้งให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุน คุ้มครองผู้ลงทุนหน้าเดิมด้วยการห้ามตั้งและห้ามขยายโรงงานปิโตรเคมีโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้มีผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เพียงหนึ่งหรือสองราย
กระทั่งอุตสาหกรรมนี้เฟื่องฟูสุดๆ ช่วงปี 2538 รัฐบาลจึงเปิดเสรีเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คือ คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของสภาพัฒน์ และคณะอนุกรรมการปิโตรเคมี กระทรวงอุตสาหกรรม และแน่นอนกลุ่มผู้ลงทุนหลักยังคงเป็นกลุ่มปตท.เช่นเดิม
ข้อต่อในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 เกิดขึ้นในช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลทักษิณ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่อดีตผู้นำประเทศและพวกพ้องใช้อำนาจทางการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ทุกรูปแบบ โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของอดีตผู้นำประเทศคนนี้ก็คือ การสยายปีกจากอาณาจักรธุรกิจโทรคมนาคมเข้ามายึดกุมธุรกิจพลังงาน ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้และผลกำไรมหาศาล แถมยังเป็นธุรกิจผูกขาดโดยธรรมชาติเนื่องจากต้องลงทุนสูงและต้องอาศัยอำนาจทางการเมืองเกื้อหนุน
ภายใต้เป้าหมายดังกล่าว ช่วงเวลาแห่งการเถลิงอำนาจของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เขาจึงยกแม่น้ำทั้งห้ารองรับปฏิบัติการเขย่าขวัญข้าราชการ “ผู้บริหารประเทศตัวจริง” ด้วยการไล่รื้อโครงสร้างระบบราชการครั้งใหญ่ ก่อเกิดกระทรวง ทบวง กรมขึ้นมาใหม่ แต่กระทรวงตั้งใหม่ที่สำคัญและมีเบื้องหลังแอบแฝงอยู่หนึ่งในนั้น ก็คือ กระทรวงพลังงาน เห็นได้จากการส่งมือขวาคนสำคัญที่ไว้วางใจได้มากที่สุดของเขา คือ นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช หรือ “หมอมิ้ง” เข้ามาเป็นรัฐมนตรีคนแรก
“หมอมิ้ง” มือขวาทักษิณผู้ที่น่าเชื่อได้ว่าประสบความสำเร็จในทุกภารกิจ ทั้งร่วมสร้างอาณาจักรชินคอร์ปจนถึงอยู่เบื้องหลังการไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองของทักษิณ ไม่ได้ทำให้ท่านอดีตผู้นำผิดหวังแม้แต่น้อย เมื่อ พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 กำหนดให้กระทรวงพลังงานทำหน้าที่จัดหา พัฒนาและบริหารจัดการพลังงาน บทบาทของกระทรวงจึงครอบคลุมการบริหารจัดการพลังงานทุกสาขา ทั้งไฟฟ้า น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ฯลฯ
จากนั้น เขาก็เดินหมากให้นโยบายจัดทำแผนบูรณาการระหว่างแผนพลังงานกับแผนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และกำหนดให้ปิโตรเคมี เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวงพลังงาน นัยว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวตามเป้าหมายของรัฐบาล
แต่การจัดทำแผนพลังงานและปิโตรเคมีแบบบูรณาการข้างต้นจะมีประโยชน์อะไรกับทักษิณและพวก หากผู้ลงทุนหลักและผูกขาดในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี น้ำมัน และก๊าซฯ คือ ปตท. ยังคงมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐ ดังนั้นการเร่งแปรรูป ปตท. เพื่อเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดช่องให้นอมินีผู้นำและพวกพ้องเข้าถือหุ้น จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องทำให้สำเร็จควบคู่กันไป
งานแปรรูป ปตท. นี้อดีตผู้นำได้ส่ง “โอฬาร ไชยประวัติ” เข้าไปร่วมจัดการจนบรรลุผลสำเร็จ แล้ว ปตท. ก็แปรสภาพจากรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) ในปลายปี 2544 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ ปตท. มีผู้ว่าการชื่อ วิเศษ จูภิบาล ผู้ซึ่งเข้ามาสืบทอดตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต่อจากหมอมิ้ง
ภายหลังหมอมิ้ง มีบัญชาเรื่องนโยบายจัดทำแผนบูรณาการด้านพลังงานกับปิโตรเคมี สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน มอบหมายให้สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ศึกษาแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 3 (2547 – 2561) ด้วยวงเงิน 15,330,425 บาท ระยะเวลาประมาณ 8 เดือน (26 ธ.ค. 46 – 25 ส.ค. 47) เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเลียมอย่างเป็นระบบและศึกษา “ตัวเลขมูลค่าเพิ่มของการนำก๊าซธรรมชาติ” ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศมาเป็นวัตถุดิบในการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยการศึกษานี้แล้วเสร็จในเดือนม.ค. 2548
เป็นที่น่าสังเกตว่า แผนลงทุนปิโตรเคมี เฟส 3 นี้ กระทรวงพลังงาน รวบเอามาจัดการเองโดยหน่วยงานเดิมที่เคยรับผิดชอบการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ คือ คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ของสภาพัฒน์ ได้ยุติบทบาทลง เมื่อปี 2548 ทั้งนี้ ในช่วงปลายแผนลงทุนปิโตรเคมี ระยะที่ 2 ต่อเนื่องถึงการปั้นแผนลงทุนปิโตรเคมีในระยะที่ 3 การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จึงขึ้นอยู่กับกระทรวงอุตสาหกรรม และในที่สุดก็ถูกรวบเข้ามาอยู่ในมือกระทรวงพลังงาน ซึ่งมีอดีตผู้บริหารจาก ปตท. เข้ามาเป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง
สาระสำคัญของแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 3 ตั้งอยู่บนหลักปรัชญา “สร้างความสามารถในการแข่งขัน และการเพิ่มมูลค่าให้ก๊าซธรรมชาติของประเทศ” โดยหนึ่งในกลยุทธ์เป้าหมาย คือขยายการผลิตปิโตรเคมีในเขตมาบตาพุด ให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ที่เข้มแข็งและพัฒนาอุตสาหกรรมบางส่วนที่อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช
การเลือกใช้วัตถุดิบตั้งต้นในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วยก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมี ปตท.ผูกขาดธุรกิจนี้อยู่ เป็นโอกาสสร้างรายได้และสร้างกำไรอันงดงามให้กับปตท. ซึ่งแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) มีเป้าหมายธุรกิจเพื่อสร้างผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นเป็นหลัก
ส่วนผู้ถือหุ้นที่ว่าก็ไม่ใช่ใครอื่นแต่เป็นเครือข่ายนักการเมืองทั้งนั้น โดยหุ้นที่จัดไปในลักษณะอภิสิทธิ์ชน ประมาณ 47 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท บรรดาญาติและพรรคพวกนักการเมืองได้รับแบ่งสรรถ้วนหน้าสูงสุดถึงครอบครัวละ 5 ล้านหุ้น โดยเฉพาะตระกูลจุฬางกูล และมหากิจศิริ ขณะที่ประชาชนทั่วไปแทบหมดโอกาสจองหุ้นที่ขายเกลี้ยงในเวลาเพียง 1 นาที 17 วินาที
ทั้งนี้ ผลศึกษาการสร้างมูลค่าเพิ่มของปิโตรเคมีและมูลค่าการลงทุนของโครงการทั้งหมด ชี้ว่า การนำก๊าซอีเทนและโพรเพนมาผลิตปิโตรเคมีตามแผนแม่บทนี้ จะเพิ่มมูลค่าเฉลี่ยให้กับก๊าซธรรมชาติได้ประมาณ 4.61 เท่าในสายเอทีลีน และ 4.88 เท่าในสายโพรพิลีน บนพื้นฐานของการคาดการณ์ราคาที่ใช้ในการศึกษาที่ราคาก๊าซธรรมชาติ 159 เหรียญสหรัฐต่อตัน มูลค่าเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ในสายเอทีลีน 733 เหรียญสหรัฐต่อตัน มูลค่าเฉลี่ยผลิตภัณฑ์ในสายโพรพิลีน 776 เหรีญสหรัฐต่อตัน
เมื่อมีการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 อย่างสมบูรณ์แบบตามแผน พ.ศ. 2547 – 2561 ในกรณีคาดการณ์ที่ราคาสูง (High Case) เงินที่ใช้การลงทุนจะมีจำนวน 410,000 ล้านบาท สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศเมื่อมีการผลิตครบทุกโรงงานแล้วประมาณ 270,000 ล้านบาทต่อปี หากหักต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศแล้วจะมีรายได้สุทธิประมาณ 180,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นกำไรราว 70,000 ล้านบาทต่อปี เฉลี่ยเป็นผลตอบแทนการลงทุน (Return on Invesment) ประมาณ 22% ซึ่งเป็นตัวเลขผลตอบแทนที่นับได้ว่าสูงมากๆ
นอกจากนี้ หากลงทุนระยะ 3 ทั้งหมดในพื้นที่มาบตาพุด จะทำให้เม็ดเงินลงทุนในระยะที่ 3 ต่ำกว่าระยะที่ 1 และ 2 เพราะแทบไม่ต้องลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคเพิ่ม
แผนการลงทุนปิโตรเคมี ระยะ 3 ประมาณการว่าหากมีการสร้างโรงงานใหม่ตามแผนทั้งหมด 42 – 56 แห่ง จะใช้แรงงานประมาณ 5,600 คน เป็นแรงงานระดับปริญญา 1,300 คน และระดับอาชีวะ 4,300 คน หากรวมการจ้างงานในอุตสาหกรรมแปรรูปพลาสติกซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จะเกิดการจ้างงานอีกไม่น้อยกว่า 156,800 คน ไม่นับรวมการสร้างงานที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการผลิตและบริการที่สนับสนุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและแปรรูปพลาสติก
การปลุกปั้นผลักดันแผนลงทุนปิโตรเคมีให้สำเร็จเพื่อสร้างผลประโยชน์มหาศาลให้กับกลุ่ม ปตท. นั้นมันคือข้อมูลที่เป็นปัจจัยบวกที่ดันราคาหุ้น ปตท. พุ่งกระฉูด ทะยานขึ้นไปไม่หยุดยั้ง จากหลัก 100 เป็น 200, 300 และสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 400 กว่าบาทต่อหุ้น จากราคา 35 บาท/หุ้น กำไรส่วนต่างถูกผ่องถ่ายไปยังผู้ถือหุ้นอิ่มเอมกันถ้วนหน้า
อิ่มเอมอู้ฟู่กันขนาดไหน คงต้องถามไถ่ “พายัพ ชินวัตร” ซึ่งนำกลุ่มก๊วนเพื่อนพ้องน้องพี่ ลงทุนในหุ้นการเมือง แสวงหาเม็ดเงินกำไรจากตลาดหุ้นจนเป็นที่เลื่องลือในช่วงที่ทักษิณ นั่งอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเวลานี้เขาก็ถูกจัดวางให้เป็น “ถุงเงินใบใหญ่” ที่บรรดาเครือข่ายแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงมา “วางบิล” เพื่อต่อท่อน้ำเลี้ยงสำหรับการระดมพลชุมนุมใหญ่ในเวลานี้
การฉายภาพความเฟื่องฟูนำมาซึ่งรายได้มหาศาลของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีโดยรัฐและกลุ่มผู้ลงทุนหลัก อาจจะดูเหมือนซาตานที่เอาแต่กอบโกยมากไป ผลการศึกษาจึงมีหัวข้อที่ว่าด้วยการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 3 ด้วย แต่ทว่าข้อมูลที่ปรากฎในรายงานผลการศึกษากลับสวนทางกับสภาพความเป็นจริงของพื้นที่อย่างสิ้นเชิง
การบิดข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการลงทุน ยุครัฐบาลทักษิณและกลุ่มบริษัทธุรกิจผู้ลงทุนหลัก ซึ่งมีนักการเมืองเข้าร่วมถือหุ้นอยู่เพียบนั้น ทำกันอย่างไร ก๊วนทักษิณ - บิ๊กปตท. – อดีตแทคโนแครตสภาพัฒน์ จนมาถึงรัฐบาลสุรยุทธ์ ร่วมชงแผนรับไม้ต่อ ลักไก่เดินหน้าโครงการที่มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลถึง 400,000 ล้าน โดยไม่ผ่านครม.อนุมัติได้อย่างไร โปรดติดตามต่อใน ตอนที่ 2 ฉบับวันพรุ่งนี้