xs
xsm
sm
md
lg

ฉวยโอกาสบ้านเมืองวุ่น ยัดไส้ขึ้นค่าไฟฟ้า ค่าผ่านท่อก๊าซ ประเคนปตท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สถานการณ์บ้านเมืองกำลังวุ่นวาย เศรษฐกิจดิ่งเหว ประชาชนกลับถูกกระหน่ำซ้ำเติมจากมติของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อนุมัติให้ขึ้นค่าผ่านท่อก๊าซฯ เอื้อประโยชน์ให้ปตท. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เดินหน้าคัดค้านมติอัปยศ ลั่นฟ้องศาลปกครองคุ้มครองประชาชน เพราะถูกขูดรีดจากการปรับขึ้นค่าผ่านท่อก๊าซฯให้ปตท. และยัดไส้ขึ้นค่าไฟฟ้า “รสนา” เตือนรมว.คลังระวังถูกฟ้องฐานเพิกเฉยไม่ทวงคืนสมบัติชาติ

จากกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ได้มีมติอนุมัติปรับขึ้นอัตราค่าผ่านท่อก๊าซให้กับปตท. จากเดิมที่จัดเก็บในอัตรา 19.74 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 21.76 บาทต่อล้านบีทียู หรือเพิ่มขึ้น 2.02 บาท ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552 นี้นั้น

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เรื่องอัตราค่าผ่านท่อก๊าซนี้จริงๆ แล้วอัตราที่ใช้ในปัจจุบันก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว เพราะคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้กำหนดให้ค่าผ่านท่อเป็นค่าคงที่ตลอดอายุโครงการ ทำให้ในแต่ละปี ปตท. ได้กำไรส่วนเกินไปปีละกว่า 2,500 ล้านบาท และจากที่ผ่าน ๆ มาได้มีการประมาณการตัวเลขการใช้ก๊าซที่น้อยกว่าการใช้ก๊าซที่เกิดขึ้นจริง ส่งผลให้การกำหนดราคาค่าผ่านท่อสูงเกินจริง ส่วนต่างที่เกิดขึ้นตรงนี้นับเป็นเงินหลายหมื่นล้านซึ่ง ปตท.ได้ไป

“หากจะมีการคิดปรับราคาค่าผ่านท่อก๊าซจริงๆ ก็ควรจะเป็นการปรับลดมากกว่าปรับเพิ่ม ด้วยเหตุผลหลักๆอยู่สองประการ คือ ปตท.คิดอัตราผลตอบแทนการลงทุน (Return of Equality : ROE) สูงกว่าค่ามาตรฐาน คือ คิดถึงร้อยละ 18 ทั้งที่ควรจะคิดเพียงเป็นร้อยละ 14 เท่านั้น และการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาว 40 ปีไว้ในอัตราคงที่สูงถึงร้อยละ 10.5 ทั้งที่ความเป็นจริงอัตราดอกเบี้ยมีการปรับลดตลอดเวลา การคิดค่าผ่านท่ออยู่บนฐานอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินจริงขนาดนี้ ทำให้ปตท.ได้ผลประโยชน์ไปมาก” นางสาวสารีกล่าว

นางสาวสารีกล่าวต่อว่า ทั้งนี้ได้มีการคำนวณกันไว้ว่า หากมีการปรับลดค่า ROE เป็น 14% และอัตราดอกเบี้ยที่ควรจะเป็นคือ 5.75 มูลค่าก๊าซจะลดลงมากถึง 3,800 ล้านบาท และค่าบริการต้นทุนคงที่ (Demand Charge) ซึ่งเป็นสัดส่วนส่วนใหญ่ของราคาค่าส่งท่อก๊าซจะสามารถลดลงจากเดิม 19.40 บาทเป็น 13.13 บาทต่อล้านบีทียูเท่านั้น

“สิ่งที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคมากที่สุดของการปรับขึ้นค่าผ่านท่อก๊าซครั้งนี้ คือ ปตท.ได้มีการปรับมูลค่าท่อก๊าซใหม่สูงถึง 60,000 ล้านบาท ทั้งที่ความเป็นจริงมูลค่าท่อก๊าซที่เหลืออยู่มีเพียง 32,000 ล้านบาทเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาได้มีการจ่ายมูลค่าท่อตรงส่วนนี้ไปแล้ว คิดง่ายๆว่าเหมือนเราจ่ายเงินซื้อของไปหมดแล้วสมมุติว่า 100 บาท แต่ได้มีการประเมินว่าของนั้นยังมีมูลค่าอีก 50 บาท ก็มาเก็บเงินเรา 50 บาทอีกรอบ

นอกจากนี้ ปตท.ยังไม่คืนทรัพย์สินที่ใช้อำนาจมหาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติและนับเป็นการนำทรัพย์สินประชาชนมาหากำไรกับประชาชน เรื่องนี้ถือเป็นการเอาเปรียบประชาชนที่สุด ถือเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้” นางสาวสารีกล่าวและว่า กกพ.ได้อนุมัติอัตราค่าผ่านท่าก๊าซให้กับปตท. ครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เหตุผลในการขึ้นไม่ชอบ และไม่รักษาผลประโยชน์ของสาธารณชน หากวันพรุ่งนี้ (1 เมษายน 2552) กกพ.ยืนยันการคิดอัตราค่าผ่านท่อก๊าซใหม่จริง และมีผลบังคับใช้ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน คือ ค่าเอฟที(Ft) จะเพิ่มขึ้นทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้น

นางสาวสารี กล่าวว่า หากการขึ้นค่าผ่านท่อก๊าซฯ มีผลในวันที่ 1 เมษายนนี้ ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค จะเข้ายื่นเรื่องฟ้องต่อศาลปกครองและจะขอให้มีการคุ้มครองให้มีการระงับการอนุมัติปรับขึ้นอัตราค่าผ่านท่อก๊าซดังกล่าวของ กกพ. เพราะถือเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอาเปรียบประชาชนผู้บริโภค และจะดำเนินการเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด

ก่อนหน้านี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่รัฐสภา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาและตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา แถลงคัดค้านกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าผ่านท่ออีก 2 บาทซึ่งจะมีผลให้ต้องเพิ่มค่าเอฟทีในเดือนพฤษภาคมนี้ว่า คณะกรรมาธิการฯไม่เห็นด้วยกับการอนุมัติดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกพช.รวมถึงรมว.คลังในฐานะดูแลกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของปตท.ให้พิจารณาเรื่องนี้โดยด่วนเนื่องจากจะกระทบต่อประชาชนทั่วประเทศที่ต้องแบกภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการฯได้เชิญตัวแทน กพช.มาให้ข้อมูลแล้วในเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมาหลังจากที่รับทราบว่ามีการทำประชาพิจารณ์ทางอินเตอร์เน็ตเพื่อสอบถามความเห็นจากประชาชนว่าเห็นด้วยกับการขึ้นค่าผ่านท่อหรือไม่

น.ส.รสนา กล่าวด้วยว่า ปตท.อ้างว่ามีค่าใช้จ่ายในการดูแลท่อ 61,289 ล้านบาทซึ่งทั้งหมดเป็นท่อเก่าเพื่อขยายอายุการใช้งานของท่อ ซึ่งกรรมาธิการฯเห็นว่าตัวเลขที่นำมาอ้างอิงนั้นไม่สมจริง เนื่องจากท่อทั้งหมดของปตท.เป็นท่อเดิมที่สร้างก่อนการแปรรูป ไม่ได้สร้างใหม่

ส่วนที่กพช. อ้างว่าเหมือนบ้านต้องมีการปรับปรุงและท่าสีใหม่เพื่อเพิ่มอายุการใช้งานนั้น ทางกรรมาธิการฯเคยขอให้ส่งตัวเลขค่าทาสีและปรับปรุงดังกล่าวว่ามีจำนวนทั้งสิ้นเท่าใด แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับข้อมูลดังกล่าว ในทางตรงกันข้ามกลับอนุมัติให้ขึ้นค่าผ่านท่ออีก 2 บาทซึ่งจะกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรง ทั้งที่ประเทศกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต ซึ่งไม่มีประเทศไหนเขากระทำการที่ซ้ำเติมประชาชน เมื่อท่อดังกล่วเป็นท่อที่สร้างก่อนการแปรรูปมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจึงควรคืนให้ประชาชนเจ้าของประเทศจึงจะถูก

“ขณะที่ศาลปกครองเองเคยตัดสินให้ปตท.คืนท่อต่างๆ กลับมาให้เป็นสมบัติของแผ่นดิน แต่จนถึงวันนี้ปตท.ก็ยังไม่ได้ดำเนินการ รมว.คลัง ระวังจะถูกฟ้องด้วยฐานไม่ยอมคืนท่อให้เป็นสมบัติของรัฐแล้วยังร่วมอนุมัติให้ขึ้นค่าผ่านท่อด้วย” นางรสนา กล่าว และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากการวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ได้ระบุว่า การปรับขึ้นค่าผ่านท่อก๊าซฯ ในอัตราดังกล่าวจะทำให้ปตท.ได้รับผลประโยชน์ปีละประมาณพันกว่าล้านบาท

ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ กรรมาธิการฯ กล่าวเสริมว่า การให้ประชาชนแสดงความเห็นทางเว็ปไซต์ทำให้ได้ความคิดเห็นในวงจำกัด เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ด้วย
 
เช่นเดียวกับน.ส.สุมณฑ์ สุตะวิริยะวัฒน์ กรรมาธิการฯ ที่กล่าวว่า ประชานิยมที่รัฐบาลอภิสิทธิ์กำลังดำเนินการขณะนี้ ตนเกรงว่าในที่สุดคนจะไม่นิยม เพราะรัฐบาลได้เพิ่มภาระในเรื่องที่จำเป็นของประชาชน นายกรัฐมนตรีจึงต้องลงมาดูแลแก้ไขในเรื่องนี้โดยด่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น