xs
xsm
sm
md
lg

ไขปริศนาค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย.เกลี่ยเป็น 4 งวด อุ้มจ่ายค่าก๊าซฯ ปตท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรกกูเลเตอร์ แจงปรับค่าเอฟทีงวดใหม่ ม.ค.-เม.ย.52 เพิ่มขึ้น 14.85 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีใหม่ 92.55 สตางค์ต่อหน่วย โดยงวดนี้ยังคงสูตรคำนวณต้นทุนราคาก๊าซย้อนหลัง 6 เดือน เพราะเกลี่ยออกไปเฉลี่ยขึ้นอีก 4 งวดในอนาคต เพื่อปรับขึ้นอีกครั้งละ 14.85 สตางค์เท่ากับงวดนี้ และจะใช้ต้นทุนก๊าซย้อนหลัง 2 เดือน และ 4 เดือน ในงวดถัดไป ขณะที่ กฟผ.ยังต้องแบกภาระงวดนี้ 1 พันล้าน และงวดที่แล้ว 1.9 หมื่นล้าน เตรียมออกพันธบัตร 2 หมื่นล้าน กู้สภาพคล่อง

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกกูเลเตอร์) ออกมาระบุอีกครั้งว่า ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ (มกราคม-เมษายน 2552) จะมีการปรับขึ้นเพียง 14.85 สตางค์ต่อหน่วย โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมเรกกูเลเตอร์ 13 มกราคม 2552 นี้ รวมเป็นค่าเอฟทีงวดใหม่ 92.55 สตางค์ต่อหน่วย สร้างสถิติค่าเอฟทีสูงสุดตั้งแต่ประเทศไทยกำหนดใช้ค่าไฟฟ้าที่รวมระหว่างค่าไฟฟ้าฐานและค่าเอฟที

นายดิเรก กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าเอฟทีงวดใหม่จะปรับขึ้นเท่ากับงวดที่แล้วคือ 14.85 สตางค์ต่อหน่วย หรือปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ในขณะที่ต้นทุนที่แท้จริงนั้น จะต้องปรับเพิ่มอีก 50 สตางค์ต่อหน่วย ตามต้นทุนเชื้อเพลิงหลักคือก๊าซธรรมชาติที่ปรับเพิ่มขึ้นที่ผันแปรตามราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-12 เดือน

อย่างไรก็ตาม การที่ปรับเพิ่มในอัตราต่ำเพราะเห็นว่าไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนมากเกินไป แต่หากไม่ปรับขึ้นเลยก็จะกระทบต่อฐานะการเงินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คิเป็นเงินกว่า 7,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การปรับเพิ่มค่าเอฟทีในอัตรา 14.85 สตางค์ต่อหน่วย กฟผ.ยังคงรับภาระเพิ่มอีกกว่า 1,000 ล้านบาท เป็นภาระเพิ่มเติมจากที่งวดที่แล้ว กฟผ.แบกรับภาระไปแล้ว 19,000 ล้านบาท

“เรกกูเลเตอร์มองว่า ค่าก๊าซธรรมชาติ ที่เป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในงวดต่อๆ ไป อาจราคาถูกลง ตามสูตรผกผันตามราคาน้ำมันที่เริ่มถูกลงมากในงวดไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว จึงมีโอกาสที่ค่าไฟฟ้าเอฟทีค้างจ่ายที่ติดภาระอีก 2 งวดข้างหน้าอีกงวดละ 14.85 สตางค์ ค่าเอฟทีที่แท้จริงอาจจะไม่สูงเท่ากับอัตราดังกล่าวก็ได้”

ทั้งนี้ ค่าเอฟทีในปัจจุบันอยู่ที่ 77.70 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อเอฟทีงวดใหม่ปรับขึ้น 14.85 สตางค์ ดังนั้น ค่าเอฟทีงวดใหม่จะเท่ากับ 92.55 สตางค์หน่วย เมื่อรวมกับไฟฟ้าฐานแล้วจะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยงวดนี้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.17 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นของต้นทุนเอฟทีงวดที่แล้วนั้นปรับขึ้นรวม 57 สตางค์ต่อหน่วย แต่เรกกูเลเตอร์มีมติให้เกลี่ยออกเป็น 4 งวด โดยใช้ฐานว่าจะนำไปคำนวณรวมแต่ละงวดในอัตรา 14.85 สตางค์หน่วย

นายดิเรก กล่าวว่า การคำนวณค่าไฟฟ้าเอฟทีงวดใหม่ ยังได้ปรับสูตรการคำนวณเกณฑ์ต้นทุนก๊าซธรรมชาติใหม่ จากเดิมใช้สูตรย้อนหลัง 2 เดือน เป็นล่วงหน้า 4 เดือน ทำให้ต้นทุนเฉลี่ยก๊าซฯ ลดจาก 275 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 251 บาทต่อล้านบีทียู สูงกว่างวดที่แล้วประมาณ 22 บาทต่อล้านบีทียู

โดยในส่วนของประชาชนที่ใช้ฟ้าต่ำกว่า 80 หน่วยต่อเดือน จะไม่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าไฟฟ้างวดนี้ เนื่องจากใช้ไฟฟ้าฟรีเพราะรัฐบาลได้ประกาศต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพหลังจากที่จะครบกำหนดในวันที่ 31 มกราคม 2552 นี้

นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ.จะออกพันธบัตรเพื่อเสริมสภาพคล่องกรณีรับภาระเอฟที โดยคณะกรรมการ กฟผ.อนุมัติเบื้องต้น 20,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีการออกพันธบัตรงวดแรก เดือนมกราคม 2552 นี้ วงเงิน 10,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น