xs
xsm
sm
md
lg

ม็อบหนุน-ต้านบุกทำเนียบ16มี.ค.วัดใจนายกฯอุทธรณ์คดีมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ชุมชนมาบตาพุดเสียงแตกอีกฝ่ายหนุนให้อุทธณ์ แต่อีกฝ่ายต่อต้านการยื่นอุทธรณ์ให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ ขู่นำม็อบชนม็อบบุกทำเนียบฯ ฟังมติที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติวันที่ 16 มี.ค.นี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยผนึกสถาบันพระปกเกล้า จับมือเครือข่ายธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและองค์กรภาคี ล่าชื่อหนุน “อภิสิทธิ์” ไม่อุทธรณ์คดี

วานนี้ (13มี.ค.) นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ลงพื้นที่รับฟังข้อคิดเห็นของฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านการประกาศให้บริเวณพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ
นายชาญชัย กล่าวว่า ประเด็นหลักที่ยังคงแตกต่างกัน
 
คือ อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานยื่นอุทธรณ์ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งสนับสนุนให้ยื่นอุทธรณ์ ดังนั้นจะนำความเห็นของทุกฝ่ายไปเสนอรายงานต่อที่ประชุมบอร์ดสิ่งแวดล้อมฯที่จะประชุมวันที่ 16 มี.ค.นี้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม มีข้อเรียกร้องของชุมชนที่เป็นแกนนำยื่นฟ้องต่อศาลให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ ประกอบด้วย ให้มีการดูแลปัญหาการทิ้งกากอุตสาหกรรม การสร้างห้องทดสอบระดับสารมลพิษต่างๆ การสร้างศูนย์สุขภาพ รวมไปถึงการให้ความรู้แก่ประชาชนเยาวชนในการป้องกันมลพิษที่จะเกิดขึ้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวได้มอบหมายให้ส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งกรมโรงงานอุตสาหกรรม กนอ. รับไปดำเนินการ ส่วนกรณีศูนย์สุขภาพนั้นจะประสานไปยังรมว.สาธารณสุขเข้ามาสนับสนุนการจัดสร้างต่อไป

นายอิทธิพล แจ่มแจ้ง ประธานกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้สนับสนุนให้มีการยื่นอุทธรณ์ก็เพื่อให้แผนการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันที่มีการลงทุนไปแล้วเกือบหมื่นล้านบาท(แผนปี 50-54) ดำเนินต่อไปแต่หากจะมีการเพิ่มเติมหรือปรับปรุงก็ควรจะดึงทุกส่วนเข้ามาร่วมแบบมืออาชีพเพราะการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษนั้นจะต้องมองผลกระทบในทุกมิติ

“อำนาจจะตกไปอยู่ในท้องถิ่นแทนที่จะเป็นหน่วยงานระดับชาติแล้วแน่ใจหรือว่าเทศบาลจะจัดทำแผนชุมชนอย่างมืออาชีพได้เพราะขนาดแผนที่จัดทำมาจากทุกส่วนแล้วยังไม่ยอมรับ”นายอิทธิพลกล่าว

ทั้งนี้วันที่ 16 มี.ค.กลุ่มจะนำชุมชนที่จะสนับสนุนการยื่นอุทรณ์เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาลที่จะมีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อรับฟังผลของที่ประชุมว่าจะมีการยื่นอุทธรณ์หรือไม่ ซึ่งหากไม่ยื่นอุทธรณ์ก็คงจะต้องมาหารือว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

นายสุทธา เหมสถล นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม อ.บ้านฉาง-มาบตาพุด กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมหารือเพื่อจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้หรือเซาท์เทิร์นซีบอร์ดและได้ยกให้มาบตาพุดเป็นรูปแบบของการจัดการด้านมลพิษ ขณะเดียวกันยังได้เข้าร่วมทำแผนลดมลพิษในมาบตาพุดในหลายๆ คณะทำงานหากรัฐประกาศเป็นเขตควบคุมก็เท่ากับที่ผ่านมาไม่ได้ทำอะไรเลยก็พร้อมจะลาออกจากทุกคณะทำงานและจะออกมาเคลื่อนไหวด้านนอกเพื่อทำให้ประกาศนั้นทุเลา

****ม็อบต้านอุทธรณ์บุกทำเนียบฯชน

นายรัชยุทธ วงศ์ภุชชงค์ ประธานชุมชนซอยร่วมพัฒนา ซึ่งเป็นกลุ่มยื่นเรื่องให้ศาลปกครองระยองพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ประกาศให้มาบตาพุดเป็นพื้นที่ควบคุมมลพิษ ว่า วันที่ 16 มี.ค.จะนำผู้สนับสนุนไม่ให้มีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลมาฟังผลการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หากอุทธรณ์ก็จะยื่นร้องต่อศาลปกครองขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้การประกาศเขตควบคุมมลพิษสามารถดำเนินการได้ใน 60 วันตามที่ศาลปกครองระยองพิพากษา ขณะเดียวกันจะเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลให้เห็นความสำคัญของชีวิตประชาชนในพื้นที่

นายรัชยุทธ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ชุมชนต้องการคือ 1.ไม่อยากให้มีการยื่นอุทธรณ์เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อชุมชนมานานการแก้ไขปัญหายังไม่ชัดเจน 2.มีการลักลอบขนกากอุตสาหกรรมไปทิ้งในชุมชนต่างๆ 3.ชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข 4.ขอให้มีห้องแล็ป ตรวจ สอบน้ำเสียโรงงาน 5.ขอให้สร้างศูนย์สุขภาพ 6. ให้มีการสอนวิชาเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายให้กับนักเรียน 7.ให้กลุ่มโรงงานทั้งหมดจดทะเบียนใน จังหวัด ระยอง

“แผนการจัดการสิ่งแวดล้อมเดิมนั้นทางเทศบาลไม่มีส่วนเข้าไปร่วมแต่อย่างใด นายกเทศมนตรีก็ทำอะไรไม่ได้แต่หากประกาศเขตควบคุมอำนาจจะอยู่ที่ท้องถิ่นงบประมาณส่วนหนึ่งก็จะเข้ามาและเราเห็นว่าควรกำหนดให้โรงงานมาจดทะเบียนในท้องถิ่นก็จะทำให้มีภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าท้องถิ่นแทนก็จะนำงบนี้มาบริหารจัดการที่ดีกว่า”นายรัชยุทธกล่าว
ทั้งนี้หากประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษท้องถิ่นก็อาจจะมีการทบทวนแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมใหม่ส่วนจะเข้มงวดเพิ่มขึ้นก็จะต้องมาในส่วนที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันแผนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอก็จะต้องทบทวนเช่นกัน

***ระวังส่งสัญญาณปิโตรฯไทยมีปัญหา

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) กรณีมาบตาพุดนั้น ไออาร์พีซีอยู่นอกเขตมาบตาพุดจึงไม่ได้รับผลกระทบ แต่เรื่องนี้หากมองในแง่จิตวิทยาส่งผลกระทบมากเพราะเท่ากับไทยส่งสัญญาณให้กับนักลงทุนต่างชาติว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทั้งๆ ที่มาบตาพุดไม่ได้บ่งชี้ว่าสิ่งแวดล้อมเลวร้าย

นายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทปตท.เคมิคอล จำกัด กล่าวว่า การยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลหรือไม่อยู่ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่เอกชนต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบที่ออกมาอยู่แล้วแต่หากภาครัฐต้องการให้บริษัทฯจัดหาข้อเท็จจริง ข้อมูลวิชาการพร้อมที่จะให้ คำสั่งศาลที่ออกมามองในแง่ดีก็ถือว่าทำให้ชุมชนมีความใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นแต่กฏระเบียบจะต้องมีความชัดเจน มีเหตุและผลเพราะในการพิจารณาการลงทุนในอาคตก็ต้องนำไปปัจจัยดังกล่าวไปประกอบการลงทุน

“เครือปตท.ก็มีการลงทุนต่างประเทศ คงไม่ได้มองแค่เมืองไทยแล้ว ถ้าหากลงไม่ได้ก็ต้องหันไปต่างประเทศแทนก็เท่ากับสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศอื่นๆไปแทนที่ไทยจะได้ ภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ไทยมีความจำเป็นต้องการเงินตราต่างประเทศการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษอยากให้พิจารณาให้ดีว่าจะกระทบภาพรวมประเทศมากน้อยแค่ไหน แต่ปตท.ไม่กังวลอยู่แล้วเพราะดูแลตามระเบียบทุกอย่าง” นายวีรศักดิ์ กล่าว

***ล่าชื่อหนุนไม่ยื่นอุทธรณ์

ทางด้านเครือข่ายธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและองค์กรภาคี ประกอบด้วย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สถาบันพระปกเกล้า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภาทนายความฯ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม และนักวิชาการอิสระ ร่วมออกแถลงการณ์พร้อมกับล่ารายชื่อผู้สนับสนุนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ มีความเห็นว่ารัฐไม่ควรยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองระยอง และควรนำหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม อันประกอบด้วย การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจ และการเข้าถึงความยุติธรรม มาดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว

สำหรับข้อเสนอเพื่อการเสริมสร้างธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม “มาบตาพุด” ที่เครือข่ายฯ เสนอต่อรัฐบาล คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้
1. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไม่ควรยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองระยองที่มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 มี.ค.52 แต่ควรปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโดยการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตควบคุมมลพิษ และต้องสนับสนุนเจ้าพนักงานท้องถิ่น จังหวัด และประชาชน ในการจัดการปัญหามลพิษอุตสาหกรรมให้สัมฤทธิ์ผลรวมทั้งการทบทวนมาตรฐานมลพิษทั้งหลาย ทั้งมลพิษในแหล่งกำเนิดและในสิ่งแวดล้อม

2. ยุติการอนุญาตให้มีการเพิ่มหรือขยายโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าวจนกว่าจะเป็นที่ประจักษ์ว่าสามารถควบคุมระดับมลพิษในพื้นที่ให้อยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ได้เสียก่อน

3. การนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าวจะต้องพัฒนาศูนย์ข้อมูลข่าวสารเชิงรุกประจำนิคม และจัดทำระบบเครือข่ายข้อมูลระหว่างนิคมต่างๆ โดยมีหน้าที่แจ้งให้โรงเรียน โรงพยาบาล และชุมชนโดยรอบทราบทันทีเมื่อเกิดการรั่วไหลของก๊าซหรือมลพิษอื่นอย่างผิดปกติ พร้อมทั้งให้คำแนะนำถึงวิธีการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง และตอบคำถามต่างๆ เกี่ยวกับมลพิษและสารอันตรายแก่ประชาชนได้อย่างทันท่วงที

4. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ควรเร่งอนุมัติการประกาศใช้การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ของพื้นที่จังหวัดระยองโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงนโยบายและแผนการพัฒนา/จัดการสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการปรับปรุงผังเมืองรวมมาบตาพุด และผังเมืองอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดระยอง

5. กรมควบคุมมลพิษควรเร่งการดำเนินการประเมินขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่มาบตาพุดให้สัมฤทธิ์ผล และจัดให้มีการตรวจวัดมลพิษในอากาศอย่างต่อเนื่องและถาวรตามจุดต่างๆ รวมถึงในทุกชุมชน และทุกโรงเรียน และเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ให้ประชาชนทราบตามเวลาที่เกิดขึ้นจริงโดยจอมอนิเตอร์ที่มองเห็นได้ชัดเจนในระยะไกล

6. ให้รัฐบาลพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการพหุพาคีเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ 7. ให้รัฐบาลพิจารณาจัดตั้งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในรูปคณะกรรมการนำร่องขึ้นในพื้นที่จังหวัดระยอง ตามมาตรา67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

8. ทบทวน/ประเมินผลแผนและผังเมืองเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่มาบตาพุด ได้แก่ การทบทวนแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะ 3 ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและให้มีแผนการจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษอย่างมีประสิทธิภาพ การประเมินผลแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม และในการจัดทำผังเมืองรวมมาบตาพุดฉบับใหม่แทนผังเมืองเดิมที่หมดอายุ ให้คำนึงถึงศักยภาพและขีดจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ และจัดให้มีกระบวนการหารือประชาชน

9. กำหนดให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดให้ประชาชนตรวจดูได้ตามมาตรา 9 (8) แห่ง พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และ 10. ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 พ.ร.บ. การผังเมือง พ.ศ. 2518 และ พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติพ.ศ. 2535 รวมทั้งเร่งตรากฎหมายเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน และเร่งจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมและวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบัญญัติแนวทางการดำเนินคดีแบบกลุ่มให้ปรากฏผลโดยเร็ว

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ระบุว่า คำพิพากษาของศาลปกครองจังหวัดระยอง เป็นข้อยืนยันเป็นที่ประจักษ์ของผลกระทบจากแผนพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด เนื่องจากเมื่อเครือข่ายได้ศึกษาธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมของแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 แผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยอง และผังเมืองรวมบริเวณอุตสาหกรรมหลักและชุมชนจังหวัดระยอง ที่นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในพื้นที่มาบตาพุดในปัจจุบันแล้ว

ปรากฏว่าผลการศึกษาได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐมีนโยบายอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบและความสูญเสียอย่างรุนแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติ ชายฝั่งทะเล เกิดมลพิษ และส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน เหมือนกับจะไม่ได้ตระหนักว่าประชาชนเป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นเจ้าของประเทศ

การดำเนินนโยบายดังกล่าวเป็นการขัดต่อหลักการการพัฒนาที่ยั่งยืน ขัดต่อมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่รับรองสิทธิของบุคคลที่จะดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น