xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายประชาชน ตอ.ยื่น 7 ข้อ รมว.อุตฯ ดำเนินการหลังมารับฟังความคิดเห็น ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ระยอง - เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ยื่นข้อเสนอ 7 ข้อให้ รมว.อุตสาหรรมดำเนินการหลังมารับฟังความคิดเห็นประชาชน ด้าน ชาวบ้านฉาง กว่า 500 คน ชูป้ายต้อนรับ รมว.อุตสาหกรรม ให้ยื่นอุทธรณ์

วันนี้ (13 มี.ค.) นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) นายวีระพงศ์ ไชยเพิ่ม รอง ผู้ว่าการ กนอ.เดินทางมาประชุมร่วมระดมความคิดเห็นภาครัฐ เอกชนและประชาชน หาข้อสรุปกรณีการประกาศเขตพื้นที่มาบตาพุด และใกล้เคียงบางส่วนเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จะนำเข้าประชุมในวันจันทร์ที่ 16 มีนาคมนี้ ที่ห้องประชุมสำนักงานการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง ระยอง

โดยมี นายรัชยุทธ วงศ์ภุชชงค์ ผู้แทนจากเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก และตัวแทนชาวบ้านจาก 11 ชุมชน ที่ยื่นฟ้องศาลปกครองระยองให้ประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ และ นายอิทธิพล แจ่มแจ้ง ประธานมูลนิธิกองทุนเพื่อคุณภาพและสิ่งแวดล้อมตงมาบตาพุดและ ต.บ้านฉาง นายสุทธา เหมสถล นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม อ.บ้านฉาง-มาบตาพุด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟัง โดยบริเวณด้านนอกนิคมฯ ได้ มีชาวบ้านกว่า 500 คน ชูป้ายให้มีการยื่นอุทธรณ์การประกาศเขตควบคุมมลพิษ หวั่นกระทบท่องเที่ยวและอาชีพประมงพื้นบ้าน

นายรัชยุทธ วงศ์ภุชชงค์ ผู้แทนจากเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก และตัวแทนชาวบ้านจาก 11 ชุมชน กล่าวว่า ความต้องการของชาวบ้าน คือ 1.ไม่อยากให้มีการยื่นอุทธรณ์เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อชุมชนมานานการแก้ไขปัญหายังไม่ชัดเจน 2.มีการลักลอบขนกากอุตสาหกรรมไปทิ้งในชุมชนต่างๆ 3.ชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข 4.ขอให้มีห้องแล็ป ตรวจ สอบน้ำเสียโรงงาน 5.ขอให้สร้างศูนย์สุขภาพ 6.ให้มีการสอนวิชาเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายให้กับนักเรียน 7.ให้กลุ่มโรงงานทั้งหมดจดทะเบียนในจังหวัดระยอง

ด้าน นายอิทธิพล แจ่มแจ้ง ประธานมูลนิธิกองทุนเพื่อคุณภาพและสิ่งแวดล้อมตงมาบตาพุดและ ต.บ้านฉาง ประธานมูลนิธิกองทุนเพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าการแก้ไขปัญหามลพิษเดินมาถูกทางแล้ว โดยการจัดทำแผนและแก้ไขปัญหาร่วมกัน ถ้ามีการประกาศเขตควบคุมมลพิษ อาจส่งผลกระทบหลายกลุ่มอาทิ กลุ่มประมง ท่องเที่ยว ฯลฯ

ด้าน นายสุทธา เหมสถล นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม อ.บ้านฉาง-มาบตาพุด กล่าวว่า เมื่อมีการเสนอข่าวมาบตาพุดมีแต่มลพิษ และถูกประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ส่งผลกระทบร้านอาหารโดยเฉพาะร้านของผมเองลูกค้าน้อยลงเพราะเกรงว่าอาหารทะเลเป็นพิษ จะอุทธรณ์หรือไม่ ไม่ใช่ปัญหา สำคัญที่ว่าวันนี้ชาวบ้านจำนวนมากแห่มา ตอบได้ไหมว่าเมื่อประกาศเขตควบคุมมลพิษแล้วค่ามลพิษมันจะลดลง ถ้าเปิดให้ให้มีการอุทธรณ์ ท่านรัฐมนตรีไม่ต้องอุทธรณ์ก็ได้ ผมนี่แหละจะเป็นคนอุทธรณ์ เพราะผมเสียหายได้รับผลกระทบ เจ้าของโรงแรมได้รับผลกระทบ ราคาห้องพัก 800 บาท ลดเหลือ 400 บาท ยังไม่ค่อยมีคนมาพัก บ้านจัดสรรราคา 120,000 บาท ตกลงมาเหลือ 800,000 บาท

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าการประกาศเขตควบคุมมลพิษ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายให้เข้าใจตรงกัน กระทรวงอุตสาหกรรมยึดนโยบายหลักการอยู่ร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับประชาชน ที่ผ่านมาได้รับรายงานว่า กนอ.ร่วมมือกับผู้ประกอบการกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด หน่วยงานต่างๆและชุมชนในพื้นที่ ร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหามลพิษตามแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ พ.ศ.2550-2554 ผลเป็นที่น่าพอใจ

ที่ผ่านมา ได้กำหนดนโยบายอุตสาหกรรมเป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม 3 อย่างนี้ต้องเดินไปร่วมกัน มีโรงงานต้องมีควัน เสียง และกลิ่น กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเข้ามากำกับดูแล จากการายงาน กนอ.มีการพัฒนา ควบคุมมลพิษ จากการเสนอของกลุ่มที่ไม่อยากให้ยื่นอุทธรณ์เสนอ ว่า มีการลักลอบขนกากอุตสาหกรรมไปทิ้งในแหล่งชุมชน ผมจะสั่งการตรงนี้เลยว่าผู้ว่าระยองซึ่งรับผิดชอบ ตรงไหนไม่ดีให้โทรศัพท์ไปแจ้งผมได้ที่เบอร์ 081—7553333 ไปชี้เลยว่าโรงงานไหน จะส่งผู้ตรวจการกระทรวงฯเข้ามาดูแลโดยเฉพาะอุตสาหกรรมจังหวัด เรื่องห้องแล็ป และศูนย์สุขภาพ จะประสานหน่วยงานให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมรวมทั้งห้องแล็ป สามารถเข้ามาดูข้อเท็จจริงได้ เรื่องสร้างศูนย์สุขภาพจะขอเงินบริจาคสร้างให้ เรื่องการเรียนการสอนวิชาเกี่ยวกับสารเคมีให้กับนักเรียน นั้นจะดำเนินการให้ ส่วนเรื่องให้กลุ่มโรงงานมาจดทะเบียนที่ระยองมันต้องแก้กฎหมาย

สำหรับการสร้างศูนย์สุขภาพประชาชนห้องแล็ป นั้นสามารถทำได้ ที่ผ่านมาการทำงานของชุมชนก็เคยทำงานร่วมกัน เหลือเพียงเรื่องเดียวคืออุทธรณ์กลับไม่อุทธรณ์ ปล่อยให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นผู้ตัดสินใจ

นางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เผยว่าแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษ ดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในส่วนของการลดมลสารทางอากาศ เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของชุมชนมาบตาพุด ได้มีการปรับลดลงได้ตามเป้าที่กำหนด เช่นการรั่วซึมของสารประกอบอินทรีย์ระเหยจากแหล่งรั่วซึม ผู้ประกอบการได้ปรับลดลงตามเกณฑ์มาตรฐานสากล มีการลงทุนปรับปรุงเครื่องจักรและเทคโนโลยี่ที่ทันสมัย



กำลังโหลดความคิดเห็น