xs
xsm
sm
md
lg

มติฯประกาศเขตมลพิษเอกชนถอยก่อนร้องศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – “มาร์ค” เดินหน้าประกาศเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด แต่ยื่นอุทธรณ์กรณีบอร์ด สวล.ชุดก่อนถูกศาลวินิจฉัยว่าละเลยปฏิบัติหน้าที่ เชื่อมั่นไม่กระทบลงทุนทั้งยังจะช่วยยกระดับการลงทุนที่มีมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ชุมชนอยู่ร่วมกันได้ “ชาญชัย”หาเสียงที่ ส.อ.ท. ยุอุทธรณ์ แถมฟาดงวงพ่วงงบปี’53 ขอไปได้จิ๊บจ๊อยอีกถอนตัวจากรัฐบาลแน่ บอร์ด ปตท.ถก 20 มี.ค.ประเมินแผนลงทุนใหม่ ด้านภาคเอกชนเคารพการตัดสินใจบอร์ด สวล. ขอดูกรอบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ หากสร้างความเสียหายก็จะร้องต่อศาลปกครองกลาง

วานนี้ (16 มี.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กลว.) ครั้งที่ 1/2552 ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ใช้เวลาประชุมนานกว่า 2 ชั่วโมง พิจารณาถึงปัญหามลพิษมาบตาพุด จ.ระยอง โดยนายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์หลังประชุมว่า กลว. มีมติว่าจะไม่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองจ.ระยอง ที่ตัดสินให้ กลว.ประกาศให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดทั้งหมด รวมทั้งต.เนินพระ ต.มาบข่า และต.ทับมา อ.เมืองระยอง ทั้งตำบลตลอดจนท้องที่ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง ทั้งตำบล เป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อดำเนินการควบคุม ลด และขจัดมลพิษ ตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย และได้ให้ข้อสังเกตว่าให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด
“ส่วนการอุทธรณ์ ก็จะดำเนินการ เนื่องจากศาลปกครองมีคำวินิจฉัยว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมชุดก่อนได้ละเลยต่อการปฏิบัติเรื่องการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ต้องอุทธรณ์เพื่อยืนยันว่าเขาไม่ได้ละเลย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
สำหรับผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงไม่มีผลกระทบ เราอย่าไปทำให้เกิดความสับสน จริงๆ แล้วการประกาศเขตควบคุมมลพิษเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ในประเทศไทยและไม่ได้ส่งผลกระทบกับการดำเนินงานต่างๆ การประกาศเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด การให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมจะทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ เดินต่อไปได้ ส่วนมาตรการที่ตั้งขึ้นมาก็จะมีขั้นตอนที่ต้องไปทำ ต้องฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายอยู่แล้ว
ต่อกรณีที่ก่อนหน้านี้เอกชนประเมินว่ารัฐสูญเสียรายได้นับหมื่นล้านนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่ที่มีความกังวลกันมี 2 ลักษณะ คือ อันแรกพูดทำนองว่าจะไปกระทบกับการทำงานในหลายอย่างที่ทำอยู่แล้วหรือไม่ ซึ่งในที่ประชุมคิดว่าไม่มีผลกระทบ ส่วนที่ 2 กังวลว่าเมื่อประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้วจะเป็นการส่งสัญญาณอะไร หรือไม่ ตนยืนยันว่าไม่ เพราะตามกฎหมาย เจตนารมณ์ คือ ประกาศเพื่อให้เรามีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
“การทำตรงนี้ไม่ได้มีผลให้เป็นการต่อต้านธุรกิจและธุรกิจต้องเคารพเพื่อรักษามาตรฐานรักษาสิ่งแวดล้อม และต้องทำให้ชุมชนไม่เดือดร้อนเป็นความพอดี ซึ่งเราจะต้องมีเครื่องมือไปดูแลเรื่องนี้” นายกรัฐมนตรี กล่าว
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวว่า ไม่คิดว่าจะเสียบรรยากาศการลงทุน ถ้าทุกคนอธิบายให้เห็นว่าเป็นกลไกตามปกติที่เกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลพึงจะใช้ในการดูแลผลกระทบจากอุตสาหกรรม
เมื่อถามว่าภาคอุตสาหกรรมยอมรับกับการประกาศเขตหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คงต้องรอฟัง ซึ่งตนพร้อมที่จะไปชี้แจง
สำหรับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีผลกระทบกับรายงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา เพราะไม่ได้ย้อนหลัง
เมื่อถามว่าภาคเอกชนจะยื่นศาลปกครองกลาง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หากจะใช้สิทธิทางกฎหมายก็ทำได้ แต่ทั้งหมดคงไม่กระทบต่อการดำเนินการของรัฐบาลเรื่องการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ
ส่วนการประกาศเขตควบคุมมลพิษชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งจะยื่นฟ้องร้องรัฐบาลนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าอยากจะใช้สิทธิทางกฎหมายก็ทำได้เช่นกัน
นายอภิสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณาถึงปัญหาที่จังหวัดสระบุรี ในเรื่องกากอุตสาหกรรมของบริษัทซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชน ขณะนี้ตนได้ขอให้ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดูว่าทำไมถึงมีการร้องเรียนต่อเนื่องมาเป็นเวลา 10 ปี และให้รายงานกลับมาภายใน 7 วัน ส่วนเรื่องของเสียงที่เป็นผลกระทบจากสนามบินสุวรรณภูมิ นายอภิสิทธิ์ ขอให้เสนอมาเป็นเรื่องพิจารณาครั้งหน้า สำหรับเรื่องปัญหาหมอกควันที่ภาคเหนือไม่ได้มีการพิจารณาในที่ประชุม แต่ ครม.ได้ติดตามเรื่องนี้อยู่ รวมทั้งเรื่องแก่งเสือเต้นไม่ได้อยู่ในวาระเพื่อพิจารณา

*ม็อบหนุน-ต้านเผชิญหน้า
ในวันเดียวกันนี้ที่ จ.ระยอง มีกลุ่มชาวบ้านที่สนับสนุนและคัดค้านการอุทธรณ์คดี มาชุมนุมรอฟังผลประชุม ซึ่งกลุ่มที่สนับสนุนให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฯ นำโดยนายสุทธา เหมสกล นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวและร้านอาหารอำเภอบ้านฉาง นำชาวบ้านประมาณ 400 คน มาชุมนุมรวมอยู่ที่สนามข้างศาลากลางจังหวัดระยอง
ส่วนกลุ่มของผู้ที่ไม่ต้องการให้อุทธรณ์ นำโดยนายสุทธิ อัศฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ฟ้องคดี ได้รวมตัวกันที่ฝั่งตรงข้ามศาลปกครองจังหวัดระยอง ประมาณ กว่า 200 คน และชูบัตรประชาชน เพื่อแสดงให้รู้ว่าการรวมตัวครั้งไม่มีใครจ้างมา พร้อมนำโลงศพและป้ายเขียนว่า “ฆาตกรรมด้วยมลพิษ”
ทั้งนี้ ทั้งสองกลุ่มซึ่งเดิมจะเข้ามาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล แต่ได้รับการขอร้องจากผู้ใหญ่ให้ปักหลักรออยู่ที่ระยองแทน ต่อมานายสุทธิ และนายเจริญ ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการยื่นอุทธรณ์ต่อนายวิชิต ชาติไพสิฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง พร้อมรับปากจะนำเรื่องนี้เสนอต่อรัฐบาลต่อไป ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมทั้ง 2 ฝ่ายได้มีการสลายการชุมนุมในเวลาต่อมา
นายสุทธิเปิดเผยหลังจากทราบมติคณะกรรมการฯ ดังกล่าวข้างต้นว่า ทางเครือข่ายฯ พอใจที่ให้มีประกาศเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุดเพราะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ชาวบ้านเฝ้ารอมานาน ส่วนกรณีที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ชุดก่อนจะอุทธรณ์ในข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่ฯ นั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องต่อสู้กันในกระบวนการของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งประเด็นนี้ เครือข่ายฯ ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้วด้วย

*** “ชาญชัย” ยุเอกชนอุทธรณ์
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรืองรมว.อุตสาหกรรม กล่าวในการบรรยายพิเศษเรื่อง “นำอุตสาหกรรมไทย...ฝ่าวิกฤต” ในการประชุมสามัยประจำปี 2552 ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในวันเดียวกันนี้ว่า ทราบว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบให้มีการอุทธรณ์เฉพาะกรณีคณะกรรมการฯ หน่วยงานราชการทำไปตามกฏหมายแต่ไม่อุทธรณ์กรณีการประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษเรื่องนี้ก็คงจะต้องเป็นหน้าที่ของเอกชนในการอุทธรณ์
“การตัดสินใจแบบนี้ก็ถือว่าแบบกึ่งๆ โอเคแบบนี้ก็เอา แต่ผมบอกเลยว่าภาคอุตสาหกรรมจะต้องเดินหน้าต่อ และบอกเลยว่าถ้าไม่อุทธรณ์ผมเองก็นอนไม่หลับถ้าไม่ร่วมกันเดินก็แปลว่าสวัสดีครับก็คงต้องบอกว่าให้โรงงานอุทธรณ์ก็ได้”นายชาญชัยกล่าว

***ของขึ้นขู่ถอนจากรัฐบาล
นายชาญชัย ยังกล่าวถึงกรณีการจัดสรรงบประมาณปี 2553 ว่า อุตสาหกรรมสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละกว่า 1.5 ล้านล้านบาทแต่ปรากฏว่าการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนให้ได้รับจากงบประมาณปกติเพียง 5,000 กว่าล้านบาทเท่านั้นไม่เพียงพอสำหรับการจะไปดูแลภาคอุตสาหกรรมในช่วงวิกฤตินี้ได้ทั้งที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของแรงงานจำนวนมากและเป็นกระทรวงที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศดังนั้นการจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณปี 2553 ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะเสนอไป 1.8 หมื่นล้านบาทหากไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสมก็คงถอยดีกว่า
“วันที่ 21 มี.ค.นี้ผมก็จะได้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดินแล้ว ผมว่าการสร้างถนนสายหนึ่งไม่รู้กี่หมื่นล้านบาทหยุดไปก่อนได้ไหม มาสนใจอุตสาหกรรมที่จะดูแลแรงงานสร้างรายได้ให้ประเทศจะดีกว่ามีที่ไหนผมของบเพิ่มเติมปี 2552 ไป 1.6 หมื่นล้านบาทได้มา 500 ล้านบาท จัดงบไม่ดูเพื่อนบ้าน ญี่ปุ่นกระทรวงอุตสาหกรรมได้เป็นแสนล้านบาท พม่า กัมพูชา หลายหมื่นล้านบาทจะไปรักษาแรงงานได้อย่างไร แบบนี้จะถอนผมออกจากการเป็นรัฐมนตรีก็ไม่กลัวหรอกเพราะถ้าวิกฤตเป็นโดมิโนจะยิ่งกว่าเดิมอีกอยู่ไม่ได้ รัฐบาลก็ไม่ได้ด้วย”นายชาญชัยกล่าว

***เล็งล่ารายชื่อชาวบ้านอุทธรณ์
นายอิทธิพล แจ่มแจ้ง ประธานกรรมการ องค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กำลังหารือกับฝ่ายกฎหมายถึงการที่ประชาชนที่เดือดร้อนจากการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฯ โดยเตรียมล่ารายชื่อประชาชนที่เดือดร้อน และได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตควบคุมมลพิษ เพื่อยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลฯเอง

***บอร์ดปตท.นัดถก 20 มี.ค.นี้
นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงานในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันที่ 20 มี.ค.นี้ บอร์ดปตท.จะหารือกรณีการประกาศควบคุมมลพิษที่มาบตาพุด โดยพิจารณาถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับปตท. แผนการลงทุนว่าจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง ซึ่งขณะนี้ผู้บริหารของปตท.กำลังรวบรวมข้อมูล ผลกระทบ และแนวทางแก้ไข รวมถึงตัวเลขการลงทุนทั้งหมดของเครือปตท.

***เอกชนถอยตั้งหลักรอแผนสวล.ใหม่
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากการหารือกับผู้ประกอบการที่ลงทุนในมาบตาพุดเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เคมี พลาสติก ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กได้ข้อสรุปที่เคารพในการตัดสินใจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองระยอง และยินดีให้ความร่วมมือ โดยจะรอผลการพิจารณากรอบการจัดการสิ่งแวดล้อมใหม่ที่จะต้องจัดทำขึ้นหากส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อนักลงทุนก็จะมีการพิจารณาในหลักกฎหมายในการยื่นต่อศาลปกครองกลาง
นอกจากนี้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นจึงเสนอให้รัฐควรจัดตั้งองค์กรภาคีร่วมในการวางกรอบการแก้ไขปัญหา และจะต้องมีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน เนื่องจากปัจจุบันเอกชนได้ร่วมกับชุมชนในการดูแลและดำเนินงานตามแผนของขั้นตอนทางกฎหมายอยู่แล้ว และเพื่อให้เกิดทำงานร่วมกันส.อ.ท.และสภาหอการค้าไทย ควรร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้วย
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า ตามกฎหมายแล้วเอกชนไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ เพราะเป็นเรื่องของบอร์ดสิ่งแวดล้อม เว้นแต่ได้รับความเสียหายและกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ซึ่งประเด็นนี้จึงต้องรอแผนจัดการสิ่งแวดล้อมใหม่ที่จะออกมาก่อนหากมีผลกระทบก็มีทางเลือกในการยื่นฟ้องศาลปกครองกลางในการให้มีการไต่สวนใหม่ หรือขอให้ชะลอคำสั่งดังกล่าวออกไปก่อน ซึ่งจะต้องศึกษาในแง่กฎหมายอีกครั้ง.
กำลังโหลดความคิดเห็น