xs
xsm
sm
md
lg

สภาทนายฟ้องศาลปค.เลิกอีไอเอมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สภาทนายความยื่นฟ้องศาลปกครองกลางยกเลิกอีไอเอ 35 โครงการปิโตรเคมีที่มาบตาพุด ชี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กระทรวงอุตสาหกรรมรุดลงพื้นที่พรุ่งนี้รวบรวมข้อเสนอชุมชน-เอกชนก่อนสรุปเสนอนายกรัฐมนตรี ในเวทีประชุมคณะกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 16 มี.ค.นี้ ด้านชุมชนมาบตาพุดแตกสองเสี่ยง ทั้งค้านและหนุน อุทธรณ์ประกาศเขตควบคุมมลพิษ “ไกรศักดิ์” เผยสถิติชาวบ้านป่วยโรคมะเร็งมากขึ้นเล็งเสนอนายกฯ ทบทวน ด้านคณะกก.สิทธิฯหนุนยุติอุทธรณ์

วานนี้ (11 มี.ค.) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา และมูลนิธิสา ธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) จัดราชดำเนินเสวนาเรื่อง “ คดีสิ่งแวดล้อมจากมาบตาพุด ถึงแม่เมาะ ทางออกอยู่ตรงไหน ” โดยมีผู้แทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง พร้อมด้วยนักวิชาการด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม อาทิ นายศรีสุวรรณ จรรยา กรรมการสิ่งแวดล้อม สภาทนายความ ดร. สัญชัย สูติพันธ์วิหาร จากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดร.สุรพล ดวงแข ประธานเครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า จากกรณีของมาบตาพุด และแม่เมาะ ที่เกิดจากการต่อสู้เรียกร้องของชาวบ้าน จนศาลมีคำพิพากษาให้ชาวบ้านชนะรัฐในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ถือเป็นการสะท้อนกระบวนการยุติธรรมในแง่บวกที่เรียกว่า ตุลาการภิวัฒน์ ที่ส่งสัญญาณต่อรัฐว่าต่อไปสิ่งแวดล้อม และสิทธิของชุมชนต้องเป็นตัวตั้งในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และแนวโน้มจะมีคดีสิ่งแวดล้อมเข้าสู่การพิจารณาของศาลมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด ที่เป็นการเรียกร้องของชาวบ้านเป็นครั้งแรก ไม่ใช่การประกาศพื้นที่โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ที่มีอำนาจตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม 2535 น่าจะเป็นทิศทางใหม่ให้การพัฒนาโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า จากการติดตามการอนุมัติอีไอ ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ระหว่าง 24 ส.ค.50-ปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลขิงแก่ มีการตั้งคณะกรรมการ 2-3 ชุดขึ้นมาแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่มาบตาพุด แต่กลับพบมีการให้ความเห็นชอบอีไอเอ โครงการด้านปิโตรเคมี ในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉางและพื้นที่ใกล้เคียงรวม 35 โครงการ ซึ่งแสดงว่ารัฐบาลไม่ได้ตั้งใจแก้ปัญหามาบตาพุดอย่างจริงจัง เพียงแต่ต้องการซื้อเวลา และผ่านโครงการให้กับกลุ่มทุน หรือนักการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องไปก่อน
“สภาทนายฯ จึงเตรียมจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากเห็นว่าการอนุมัติอีไอเอไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยมีรัฐ 5 หน่วยงาน ได้แก่ สผ. บอร์ดสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย และกระ ทรวงพลังงาน คาดว่าจะทำสำนวนและยื่นฟ้องร้องต่อศาลได้ภายในเดือนมี.ค.นี้ และหากศาลปกครองรับฟ้องก็ทำให้อีไอเอทั้ง 35 โครงการเป็นโมฆะ พร้อมกันนี้จะขอให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 มีส่วนให้ความเห็น” นายศรีสุวรรณ กล่าว
ดร.สัญชัย กล่าวว่า ปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ 2 กรณี สะท้อนถึงความบกพร่องของหน่วยงานรัฐ 3 ระดับ กล่าวคือ มีปัญหาเชิงกระบวนทัศน์ มองเศรษฐกิจและใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) เป็นเครื่องชี้วัดการพัฒนา ขณะที่ปัญหาเชิงนโยบาย เพราะไม่ชัดเจน และสุดท้ายปัญหาเชิงปฏิบัติ ที่ยังแยกส่วนกันระหว่างโครงสร้างและกลไกการบริหาร
โดยที่ผ่านมาความพยายามที่จะยกเครื่องกฎหมายอีไอเอ ผ่านมา 5 ปียังไม่สำเร็จ เพราะติดที่ฝ่ายการเมือง ทำให้ข้อเสนอเรื่องการปฏิรูประบบประเมินอีไอเอในทุกขั้นตอนและการเพิ่มพื้นที่และขนาดโครงการที่ต้องทำอีไอเอยังไม่สำเร็จ ขณะที่การตั้งองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 ผ่านมา 1 ปีแล้วยังไม่สำเร็จ
ซึ่งขณะนี้กำลังมีการล่ารายชื่อให้ครบหมื่นรายเพื่อยื่นตั้งกฎหมายลูกฉบับประชาชน พร้อมกันนี้ยังเสนอให้รัฐต้องกำหนดให้การทำระบบประเมินสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ก่อนดำเนินโครงการต้องมีผลบังคับใช้ อีกทั้งกำหนดว่าในพื้นที่ที่ประกาศเขตควบคุมมลพิษ ต้องกำหนดมาตรฐานสารมลพิษควบคุมจากแหล่งกำเนิดเข้มงวดกว่าพื้นที่อื่นๆ และมีการติดตามและทบทวนทุก 5 ปีอีกด้วย

รมว.อุตฯลงพื้นที่ 13 มี.ค.นี้

นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรมจะเดินทางร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)ไปยังพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยองวันที่ 13 มี.ค.นี้เพื่อรับฟังข้อเสนอของชุมชนมาบตาพุดถึงกรณีการประกาศพื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดจัดทำเป็นข้อเสนอถึงผลดีและผลเสียเสนอรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 16 มี.ค.นี้
“ คงจะต้องนำข้อเสนอทุกฝ่ายมารวบรวมในทุกมิติ ซึ่งการจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่คงอยู่ที่ดุลยวินิจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นสำคัญ ซึ่งในฐานะกระทรวงอุตสาหกรรมเองก็ต้องทำตามกฏหมายในการดูแลสิ่งแวดล้อม แต่คงต้องรายงานข้อเท็จจริงว่าข้อมูลที่มีการยื่นฟ้องต่อศาลตั้งแต่ปี 2549 แต่แผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำกันอยู่นั้นเป็นช่วงปี 2550-54 มีความคืบหน้าไปมาก และอีกส่วนก็กังวลคือโครงการลงทุนทั้งเก่าและใหม่จะต้องมีการจัดทำแผนสิ่งแวดล้อมใหม่หรือไม่ อย่างไร อันนี้ก็จะต้องชัดเจนด้วย”นายสรยุทธกล่าว

คณะกก.สิทธิฯ ค้านยื่นอุทธรณ์

นายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า พื้นที่การพัฒนาอุตสาหกรรมมาบตาพุดก่อปัญหามลพิษรุนแรงและต่อเนื่องถึงปัจจุบัน โดยมีการขยายอุตสาหกรรมไปติดชุมชนโดยไม่มีพื้นที่กันชน และรายงานผลการตรวจมลพิษพบว่าเกินค่ามาตรฐานทั้งคุณภาพน้ำ น้ำทะเล อากาศ และสารอินทรีย์ระเหยก่อมะเร็ง ซึ่งคำพิพากษาของศาลและข้อมูลศึกษาทางวิชาการต่างๆ ยืนยันปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี คณะกรรมการสิทธฺฯ จึงขอคัดค้านแนวคิดของรัฐบาลที่จะยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฯ ที่ให้ประกาศพื้นที่ดังล่าวป็นเขตควบคุมมลพิษ
ในวันเดียวกันนี้ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก นำโดยนายสุทธิ อัศฌาศัย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผ่านทางนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และนายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง เพื่อขอให้รัฐบาลพิจารณาไม่อุทธรณ์คดี และเรียกร้องให้รัฐบาลควรแก้ปัญหาภายใต้คำสั่งของศาลและดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ ซึ่งปัญหานี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่ารัฐบาลภายใต้การปกครองของประชาธิปัตย์จะเลือกใช้หลักธรรมมาภิบาล หลักกฎหมาย และผลการศึกษามาเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจ เพื่อประโยชน์ของประเทศ หรือจะใช้อำนาจของนายทุน ที่ต้องการเอาแต่ผลกำไรเท่านั้น
นายไกรศักดิ์ กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีสถิติของผู้ป่วยเป็นมะเร็งของประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากมลพิษในอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งหากรัฐบาลจะยื่นอุทธรณ์จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าอุตสาหกรรมไม่มีมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ ซึ่งตนจะนำเรื่องนี้ส่งให้นายกฯต่อไป
ด้านนายสาธิต กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพของคนในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษ ถูกละเลยมาโดยตลอด จนกระทั่งเครือข่ายประชาชนได้มีการฟ้องร้องในที่สุดศาล จึงมีคำสั่งให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ ตนจึงขอเรียกร้องให้นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยอมรับคำตัดสินของศาล โดยไม่ดำเนินการยื่นอุทธรณ์คดี พร้อมกันนี้ให้รัฐบาลดำเนินการตามคำสั่งของศาลอย่างเคร่งครัด และขอให้มีการทบทวนการทำงานของการนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งถือว่าล้มเหลว
ส่วนนายอิทธิพล แจ่มแจ้ง ประธานคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ชุมชนเมืองมาบตาพุด และเทศบาลตำบลบ้านฉาง กล่าวหลังการยื่นหนังสือให้กับกระทรวงอุตสาหกรรมวานนี้ (11มี.ค.) ว่า มูลนิธิฯยืนยันที่จะสนับสนุนต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวม
“เราได้ร่วมกันจัดทำแผนลดและขจัดมลพิษปี 2550-2554 มาตรฐานต่างๆ จัดอยู่ในระดับสากลมีภาคประชาชนรับรู้ รับทราบ มีการติดตามจากหน่วยงานรัฐทุกส่วนทุกอย่างโปร่งใสก็ไม่เข้าใจว่าถ้าทำกันระดับชาติแล้วยังไม่ยอมรับแล้วท้องถิ่นทำเองจะแก้ไขได้อย่างไร และหากมีอะไรเกิดขึ้นในจังหวัดระยองรัฐบาลชุดนี้จะต้องรับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงมิได้”นายอิทธิพลกล่าว
ทั้งนี้ มูลนิธิฯยังไปยื่นหนังสือฉบับเดียวกันที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายกรัฐมนตรีด้วย และกำลังพิจารณาจะล่ารายชื่อชุมชนเพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติวันที่ 16 มี.ค.นี้เพื่อให้มีการอุทธรณ์หากไม่เช่นนั้นแล้วจะได้รับผลกระทบอย่างหนักในทุกส่วนเนื่องจากล่าสุดอุตสาหกรรมประมงเริ่มได้รับผลกระทบแล้วเพราะห้องเย็นบางแห่งไม่ยอมรับสินค้าประมงจากระยองหลังมีข่าวว่ามีมลพิษจนต้องประกาศเป็นเขตควบคุม
“ข่าวที่ออกไปสร้างความสับสนแล้วชาวบ้านเข้าใจว่ามีมลพิษเป็นปัญหา การท่องเที่ยว การประมงจะได้รับผลกระทบแน่นอนหากประกาศเป็นเขตมลพิษจริงซึ่งการที่คนกลุ่มหนึ่งอ้างว่าที่อื่นประกาศแล้วดีก็ต้องย้อนถามไปว่าที่อื่นมีการลงทุนเช่นมาบตาพุดหรือไม่”นายอิทธิพลกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ได้รายงานถึงผลกระทบต่อการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดว่าหากมีการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษจะกระทบต่อเงินลงทุนที่จะชะลอออกไปทันที 2.8 แสนล้านบาทเนื่องจากโครงการลงทุนดังกล่าวอยู่ระหว่างดำเนินการซึ่งจะต้องรอความชัดเจนว่าจะต้องปรับแผนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่(อีไอเอ) หรือไม่ ขณะที่ภาพรวมการลงทุนด้านปิโตรเคมีในมาบตาพุดนั้นมีทั้งสิ้น 4.1 แสนล้านบาท

“มาร์ค”ย้ำขอดูผลดี-เสียก่อนอุทธรณ์

นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกได้เดินทางมายื่นหนังสือ ว่า มีทั้งฝ่ายที่มายื่นหนังสือขอให้อุทธรณ์ต่อคำสั่งศาลปกครอง และฝ่ายที่มายื่นหนังสือเพื่อขอไม่ให้อุทธรณ์ แต่ตั้งใจจะทำตามคำพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งตนจะดูข้อกฎหมายอีกทีว่าเมื่ออุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์จะมีผลอย่างไร คณะกรรมการจะต้องเป็นผู้พิจารณาอีกที
เมื่อถามว่า ในส่วนตัวมองเรื่องนี้ว่าอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเห็นตรงกับนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าน่าจะประกาศเขตควบคุมมลพิษ เมื่อถามอีกว่าชางบ้านคาดหวังว่ากรณีนี้จะเป็นกรณีตัวอย่าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เข้าใจ จริงๆแล้วถ้าประกาศเขตแล้วอุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์ก็ไม่ได้เป็นประเด็นหลัก ไม่ยืดยาวเพราะประกาศไปแล้วก็ถือว่าประกาศ เมื่อถามว่า สิ่งที่ชาวบ้านจะได้รับเงินชดเชย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกับเงินชดเชย เพราะการจ่ายเงินชดเชยเป็นคดีทางแพ่ง ไม่เกี่ยวกับคดีของศาลปกครอง
เมื่อถามว่า รัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จะทำกรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างว่ารัฐบาลมีความจริงจังกับเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กำลังขอดูอยู่เรื่องปัญหาทางเทคนิคทางกฎหมาย เมื่อถามว่าทางรัฐกังวลกลัวว่าจะมีการฟ้องร้องเพิ่มเติมจึงไม่กล้าที่จะประกาศอุทธรณ์ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขอดูข้อกฎหมาย หากไม่อุทธรณ์ก็ถูกกล่าวหาว่าไม่รักษาผลประโยชน์ของฝ่ายรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น