“ พงศ์เทพ – วราเทพ - สมใจนึก ” ขึ้นศาลฎีกานักการเมือง ตรวจพยานหลักฐานคดี “หวยบนดิน” ทนาย ป.ป.ช. เผยเตรียมส่งพยานเอกสาร 32 แฟ้ม พยานบุคคลกว่า 40 ปาก ฝ่ายจำเลยส่งเอกสาร 1 แฟ้ม พยานบุคคลร่วม 500 ปาก ศาลให้เวลาคู่ความหารือ ตรวจดูพยานซ้ำซ้อนก่อนนัดพร้อม 24 ธ.ค.นี้ บ่ายสอง เพื่อกำหนดวันไต่สวนพยานพร้อมสั่งยกคำร้อง “ พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์” บอร์ดกองสลาก ฯ ร้องขอ ก.คลัง – มหาดไทย – กองสลาก ฯ เป็นจำเลยร่วม
วันนี้ ( 22 ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายสบโชค สุขารมณ์ ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา เจ้าของสำนวนทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์นัดตรวจสอบหลักฐานคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2551 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ( ศาลสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราวจนกว่าจะได้ตัวมาดำเนินคดี ) จำเลยที่ 1 , อดีตคณะรัฐมนตรีชุดรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่ 2- 30 และผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นจำเลยที่ 31- 47 ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ หรือจัดการทรัพย์ ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต ( ยักยอกทรัพย์ ) , เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการดูแลกิจการ เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น , เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น , เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่แสดงว่ามีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร โดยทุจริตเรียกเก็บหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร และเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา147,152,153,154 ,157 ประกอบมาตรา 83,84,86,90,91 และ ความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2502 มาตรา 3,4,8,9,10 และ 11ซึ่งท้ายฟ้องโจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมด ร่วมกันคืนเงินตามที่จำเลยทั้งหมด มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินไปของสำนักงานสลากอันถือว่าเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ รวมจำนวน 14,862,254,865.94 บาทด้วย
โดยวันนี้นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตประธานกรรมการสำนักงานสลาก ฯ และนางสตรี ประทีปะเสน ผู้แทนสำนักงบประมาณ ในฐานะกรรมการสำนักงานสลาก ฯ จำเลยที่ 31 และ 39 มาศาล หลังจากที่ทั้งสองไม่ได้เดินทางมาศาลในนัดพิจารณาคดีครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การจำเลยเนื่องจากติดภารกิจ ซึ่งศาลอ่านและอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้งสองฟังแล้ว จำเลยที่ 31 และ 39 ให้การปฏิเสธ ตามคำให้การที่ยื่นส่งต่อศาลมาแล้ว ขณะที่วันนี้ทนายโจทก์ได้ยื่นส่งพยานเอกสารจำนวน 32 แฟ้ม ส่วนจำเลย ยื่นส่งพยานเอกสาร 1 แฟ้ม ซึ่งการตรวจพยานหลักฐานนั้นเพื่อความสะดวก ศาลมีคำสั่งให้ทนายโจทก์ – จำเลย ร่วมประชุมหารือกับเลขานุการองค์คณะ ฯ และเลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา และหากคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะโต้แย้งพยานหลักฐานใดให้ส่งประเด็นเสนอองค์คณะ ฯ ภายใน เวลา 12.00 น. ของวันที่ 24 ธ.ค.นี้ โดยศาลจะนัดพร้อมคู่ความเพื่อสอบถามความพร้อมการตรวจสอบพยานหลักฐานเพื่อกำหนดวันไต่สวนพยาน ในวันที่ 24 ธ.ค.นี้ เวลา 14.00 น.
ส่วนที่ พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ กรรมการสำนักงานสาลก ฯ จำเลยที่ 45 ยื่นคำร้องขอศาลมีคำสั่งให้กระทรวงการคลัง , กระทรวงมหาดไทย , สำนักงานสลากกินแบ่ง ฯ และคณะกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์ ตามมติ ครม. มาเป็นจำเลยร่วมนั้น ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การจะให้บุคคลใดมาเป็นจำเลยร่วม จะกระทำใดต่อเมื่อ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดบุคคลนั้นแล้ว ทั้งนี้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทาการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 10 และ 11 ดังนั้นจำเลยที่ 45 ไม่อาจร้องขอให้ศาลเรียกกระทรวงการคลัง , กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสลากกินแบ่ง ฯ และคณะกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์ มาเป็นจำเลยร่วมได้ จึงให้ยกคำร้อง และที่นายวิษณุ เครืองาม จำเลยที่ 7 ยื่นคำร้องขอแถลงคดีด้วยวาจา ศาลเห็นควรมีคำสั่งในวันนัดพร้อมคู่ความที่ 24 ธ.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่วันนี้นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง จำเลยที่ 10 , นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีต รมว.ยุติธรรม จำเลยที่ 24 , และพล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ อดีต ผอ.สำนักงานสาลก ฯ และกรรมการสำนักงานสาลก ฯ จำเลยที่ 43 ได้เดินทางมาร่วมฟังการพิจารณาด้วย แม้ที่ผ่านมาศาลจะอนุญาตให้ดำเนินการพิจารณาและไต่สวนพยานหลักฐาน ลับหลังจำเลยได้
ด้าน นายสิทธิโชค ศรีเจริญ ประธานกรรมการมรรยาท สภาทนายความ ในฐานะ ทนายความโจทก์ เปิดเผย การตรวจพยานหลักฐานเบื้องต้นในวันนี้ ทราบว่าพยานที่จำเลยทั้งหมด เตรียมไว้เพื่อจะนำเข้าไต่สวนมีประมาณ 500 คน แต่ทั้งนี้ในการพิจารณาว่าจะนำพยานเข้าไต่สวนจริงๆ กี่ปากนั้น เท่าที่ฝ่ายเลขานุการองค์คณะ และเลขานุการศาลฎีกา ฯ ได้ร่วมตรวจสอบบัญชีพยานกับฝ่ายจำเลยแล้ว พยานจะลดจำนวนเหลือประมาณ 200 ปากเมื่อมีการอ้างพยานซ้ำซ้อนกัน โดยการไต่สวนในแต่ละประเด็นเบื้องต้นพบว่าจะมีพยานประมาณ 5 คนเพื่อนำสืบ ซึ่งจะต้องมาพิจารณากันอีกครั้งว่าในพยาน 5 ปากที่จะนำสืบประเด็นนั้นๆ มีส่วนที่ซ้ำซ้อนกันอีกหรือไม่แล้วสมควรจะต้องนำเข้าไต่สวนกี่ปาก อย่างไรก็ดีสำหรับพยานโจทก์นั้นก็ไม่น่าจะต้องนำสืบทั้งหมดกว่า 40 ปาก เนื่องจากพยานบางส่วนจะนำสืบเกี่ยวกับพยานเอกราชการ ซึ่งหากจำเลยรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพยานเอกสารราชการแล้ว จำนวนพยานที่จะเข้าไต่สวนจะลดลง โดยตนคิดว่าฝ่ายจำเลย คงจะไม่โต้แย้งความมีอยู่ของเอกสารราชการนั้น