xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนชะงักรอแผนสิ่งแวดล้อมใหม่ เอกชนเล็งยื่นชะลอเขตมลพิษมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - ภาคลงทุนทั้งเก่าและใหม่ในมาบตาพุดเคว้ง โดยเฉพาะปิโตรเคมี เครือปตท. และปูนใหญ่มูลค่านับแสนล้านชะงัก เหตุไม่มั่นใจแผนจัดการสิ่งแวดล้อมจะต้องปรับใหม่หรือไม่ เอกชนถกกนอ.แนะตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำแผนระดับชาติชี้ขาดพื้นที่ระยองว่าสมควรลงทุนต่อหรือไม่ ทั้งขอให้ชะลอการบังคับเป็นเขตคุมมลพิษ นัดถก 9 มี.ค.หาข้อสรุปเพื่อยื่นนายกฯในเวทีกรอ. อีกรอบ ขณะที่เครือข่ายภาคปชช.ตะวันออก ค้านเลื่อนประกาศใช้ เตรียมยื่น ป.ป.ช. เอาผิดกราวรูดทั้ง กนอ.-คณะกก.สวล.-ผู้บริหารกนอ. รวมทั้งนิคมฯ มาบตาพุด ผาแดง เอเชีย เหมราช และอาร์ไอแอล ข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เครือข่ายองค์กรปชช.เหนือหนุน "มาร์ค" สั่งห้ามอุทธรณ์หวั่นผลกระทบสิ่งแวดล้อมไม่สิ้นสุด

นายประสาน ตันประเสริฐ ประธานคณะกรรมการบริหารการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ดกนอ.) เปิดเผยหลังการหารือร่วมกับคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เพื่อที่จะรับฟังความคิดเห็นในการเตรียมดำเนินการหลังการประกาศให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ วานนี้ (6มี.ค.) ว่า ยอมรับว่าภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศสอบถามความถึงความชัดเจนค่อนข้างมาก ซึ่งความไม่ชัดเจนนี้ทำให้นักลงทุนมีการชะลอแผนการลงทุนแล้วเนื่องจากไม่มั่นใจว่าแผนการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรและที่ทำอยู่จะต้องปรับใหม่หรือไม่ ดังนั้นข้อมูลทั้งหมดจะมีการเสนอนายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรมเพื่อรับทราบต่อไป

"เม็ดเงินลงทุนด้านปิโตรเคมีแสนล้านบาทโดยเฉพาะเครือปตท. 7 หมื่นล้านบาทเครือซิเมนต์ไทย 3 หมื่นล้านบาทรวมประมาณ 10 โครงการช่วงปี 2550-2554 ก่อนหน้าถูกชะลอ เมื่อชัดเจนรัฐก็ทยอยอนุมัติแผนอีไอเอไปแล้วเป็นส่วนใหญ่เวลานี้บางรายก็ก่อสร้างเสร็จ ก็ไม่มั่นใจว่าจะต้องปรับแผนสิ่งแวดล้อมหรือไม่ แต่อีกหลายรายก็อยู่ระหว่างก่อสร้างซึ่งส่วนใหญ่ต้องสั่งเครื่องจักรมาก็ต้องชะลอไปเพราะรอว่าแผนสิ่งแวดล้อมจะต้องเปลี่ยนไหม และเงื่อนไขหลักเกณฑ์จะต้องปรับหรือไม่ อย่างไร ส่วนลงทุนใหม่ก็ต้องรอเช่นกัน" นายประสานกล่าว

นางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการกนอ. กล่าวว่า คงจะต้องรอความชัดเจนว่าแผนสิ่งแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรเพราะตามกฏหมายแล้วเมื่อประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษอำนาจจะอยู่ที่ท้องถิ่นที่จะต้องจัดทำแผนแล้วเสนอของบประมาณผ่านคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเข้ามา อย่างไรก็ตาม กนอ.จะได้ติดตามเกี่ยวกับความคืบหน้ากับประเด็นการแก้ไขปัญหาสารประกอบอิทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) และการศึกษาความสัมพันธ์ด้านสุขภาพ

แนะรัฐชะลอบังคับใช้รอผลศึกษา

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า วันที่ 9 มี.ค.นี้ เวลา 10.00 น. คณะกรรมการกลั่นกรองกกร. จะหารือเพื่อที่จะสรุปแนวคิดเห็นในการนำเสนอต่อเวทีการประชุมคณะกรรมการรวมภาครัฐและเอกชนหรือกรอ. ที่มีนายรัฐมนตรีเป็นประธานหรือไม่ อย่างไร
 
โดยเฉพาะจากการหารือครั้งนี้เอกชนเห็นพ้องกันว่าควรจะมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งที่มีตัวแทนทุกส่วนที่มีความรู้ ความสามารถทั้งนักวิชาการในและต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับมาศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในจ.ระยอง อย่างเป็นระบบและเป็นมาตรฐานสากลซึ่งจะใช้เวลาศึกษาระยะหนึ่ง ดังนั้นระหว่างรอการศึกษาจึงควรชะลอการบังคับคดีหรือการประกาศเขตควบคุมมลพิษออกไปก่อน

"เวลานี้ผลการศึกษาปัญหาดังกล่าวหลากหลายมุมมองและต่างคนต่างทำจึงเห็นว่าน่าจะเป็นการศึกษาระดับชาติหากพบว่าระยองมีปัญหาแล้วก็จะได้ประกาศหยุดการลงทุนไปให้ชัดเจนเลยเอกชนก็จะได้ตัดสินใจในการลงทุนระยะยาวได้และจะได้ไม่ทำให้ภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมไทยดูไม่ดีในสายตาของทุกภาคส่วนซึ่งแม้ว่าจะไม่ประกาศเขตควบคุมเอกชนก็ทำตามระเบียบอยู่แล้วและมั่นใจว่าบางอย่างเกินมาตรฐานสากลด้วยเพราะระหว่างปี 50-54 นั้นโรงงานมีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมตามแผนของรัฐถึง 2.1 หมื่นล้านบาท"นายพยุงศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ ผลพวงดังกล่าวส่งผลให้เอกชนมีการชะลอการลงทุนทั้งโครงการเก่าและใหม่เพื่อรอให้รัฐมีความชัดเจนเกี่ยวกับแผนสิ่งแวดล้อมเนื่องจากกังวลว่าจะต้องลงทุนอะไรเพิ่มหรือไม่ และระเบียบจะเป็นอย่างไร การขออนุญาตจะผ่านกนอ.หรือที่ใดกันแน่ ซึ่งรัฐควรจะต้องชัดเจนหากไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของไทยเพราะมาบตาพุดเป็นที่รู้จักในระดับสากล

ไม่มั่นใจอำนาจที่จะย้ายไปอยู่ที่ท้องถิ่น

นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เอกชนเข้าใจว่าจะต้องอยู่ร่วมได้กับชุมชนซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการอยู่แล้ว แต่วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น การประกาศเขตควบคุมมลพิษย่อมสร้างความสับสนให้กับนักลงทุน จากนี้ไปเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนทำให้ผู้ลงทุนเองต้องระวังมากขึ้น
 
 และกรณีนี้อำนาจจะถูกย้ายไปยังท้องถิ่นในการจัดทำแผนสิ่งแวดล้อมซึ่งเข้าใจว่าตามรัฐธรรมนูญจะต้องกระจายอำนาจ แต่เอกชนเองต้องการคณะทำงานที่เป็นมาตรฐานสากล ดังนั้นเห็นว่าวิธีที่ดีสุดต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาที่เป็นระดับชาติและเป็นที่ยอมรับทุกฝ่ายด้วยเพื่อให้ชัดเจนหากไม่เช่นนั้นจะกระทบการลงทุนในระยะยาวและภาพลักษณ์การลงทุนในประเทศด้วย

ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เมื่อประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว อำนาจจะมีการเปลี่ยนผ่าน ดังนี้ การกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมจะอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติคงเดิมแต่จะเข้มงวดเฉพาะเขตที่กำหนดจากเดิมกำหนดใช้ทั้งประเทศ ขณะที่การกำหนดมาตรฐานมลพิษจากแหล่งกำเนิดเดิมอำนาจจะอยู่ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด การจัดทำแผนการจัดการมลพิษเดิมอยู่ที่คณะกรรมการควบคุมมลพิษเป็น เทศบาลและผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น

ปชช.ค้าน - ยื่นป.ป.ช.กราวรูดข้อหาละเว้น

นายสุทธิ อัศฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนฯ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการที่ภาคเอกชนนักลงทุนเตรียมเสนอให้นายกรัฐมนตรี เลื่อนประกาศให้พื้นที่มาบตาพุด-บ้านฉาง เป็นเขตควบคุมมลพิษออก การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรม ควรจะเป็นการลงทุนที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วย ชุมชนและโรงงานสามารถอยู่ร่วมกันได้ สวัสดิภาพ สุขอนามัยของประชาชนจะต้องได้รับการคุ้มครอง ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่มองอนาคตในระยะยาว
 
เพราะไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาและส่งผลเสียหายต่อทุกฝ่าย เมื่อโรงงานปล่อยมลพิษ ประชาชนประท้วงคัดค้าน สร้างปัญหาไม่จบสิ้น ประชาชน นักลงทุน รัฐบาล ประเทศชาติก็เสียหายหมด

นายสุทธิ กล่าวต่อว่า ในวันที่ 9 มี.ค.นี้ เครือข่ายฯ จะเดินทางมายื่นหนังสือต่อสภาอุตสาหกรรม การนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) หลังจากนั้น จะยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้เอาผิดในข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากมลพิษมีปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ชุดที่มีนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน รวมทั้งผู้บริหารกนอ. และผู้บริหารนิคมฯ มาบตาพุด, นิคมฯ เอเชีย, นิคมฯ ผาแดง, นิคมฯ เหมราช และนิคมฯ อาร์ไอแอล ซึ่งรายหลังนี้เป็นนิคมฯ ปิโตรเคมีโดยเฉพาะ

วอน "มาร์ค" สั่งห้ามอุทธรณ์คดี

รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงใหม่ แจ้งว่า เครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ ประกอบด้วย คณะกรรมการประสานงานองค์พัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ),สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, กลุ่มเพื่อนประชาชนบนพื้นที่สูง, ภาคีฮักเชียงใหม่,ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ได้ออกแถลงการณ์กรณีศาลปกครองระยองพิพากษาให้พื้นที่มาบตาพุดและบริเวณข้างเคียงเป็นเขตควบคุม

โดยระบุว่า ตามที่ศาลปกครองระยองได้อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 192/2550 ระหว่างนายเจริญ เดชคุ้ม กับพวกรวม 27 คน ยื่นฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฐานละเลยไม่ประกาศให้พื้นที่ตำบลมาบตาพุดและเทศบาลเมืองมาบตาพุด ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียงที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงเป็นเขตควบคุมมลพิษเพื่อดำเนินการควบคุมลดและขจัดมลพิษตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 โดยพิพากษาว่าคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ในการไม่ประกาศให้พื้นที่มาบตาพุด ตลอดจนพื้นที่ข้างเคียงที่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงเป็น "เขตควบคุมมลพิษ"

และพิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศให้พื้นที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด รวม 5 ตำบล คือ ต.มาบตาพุด ต.ห้วยโป่ง ต.เนินพระ ต.มาบข่า และ ต.ทับมา รวมทั้งท้องที่ ต.บ้านฉาง อ.บ้านฉาง ทั้งตำบล เป็น "เขตควบคุมมลพิษ" โดยมีผลภายใน 60 วันหลังศาลมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2552 นั้น

เครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ ซึ่งมีรายชื่อแนบท้ายแถงการณ์ฉบับนี้ ได้ติดตามสถานการณ์มลพิษในพื้นที่มาบตาพุดมาอย่างใกล้ชิด ขอแสดงท่าทีและข้อเรียกร้องต่อสถานการณ์ดังกล่าว ดังนี้

1. เราเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวเป็นหลักบรรทัดฐานในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ อันจะอำนวยให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนในพื้นที่ซึ่งได้รับมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมและการพัฒนาที่ชุมชนไม่มีส่วนร่วมและจะนำมาซึ่งการเยียวยาแก้ไขปัญหาและฟื้นวิถีชีวิตของชุมชนอย่างแท้จริง

2.เราขอเรียกร้องต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในกรณีศาลปกครองระยองมีคำพิพากษาดังกล่าวนี้นั้น รัฐบาลต้องยึดหลักธรรมาภิบาลในการดูแลชีวิตและสุขภาพของประชาชนบนฐานการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ดังนั้น รัฐบาลควรมีความเห็นไปยังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยว่า อย่าได้อุทธรณ์คำพิพากษาในคดีดังกล่าวนี้เลย เพราะการอุทธรณ์จะทำให้การดำเนินการตามคำสั่งศาลในคดีนี้ยืดเยื้อออกไปและต้องใช้เวลาอีกหลายปี อันจะมาซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นและมีประกาศพื้นที่สีม่วงเพิ่มขึ้นอีก

3. เราเห็นว่ารัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำแผนงานและมาตรการฟื้นฟูชุมชนมาบตาพุดโดยจะต้องยึดหลักการที่ว่า "ผู้ได้รับผลกระทบต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นกว่าเดิม" ซึ่งจะต้องให้ชุมชนในพื้นที่มีส่วนร่วมและเห็นชอบในทุกกระบวนการเพื่อเป็นหลักประกันในการสร้างชีวิตใหม่ให้กับชุมชน

นักวิชาการจวกรัฐบาลหากอุทธรณ์

ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีเสวนา เรื่อง “สุขภาวะกับการประกาศเขตควบคุมมลพิษ กรณีมาบตาพุด”
 
นายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลด้านสุขภาพ กล่าวว่า การฟ้องร้องกรณีมาบตาพุด ไม่ได้เรียกร้องค่าเสียหาย แต่เป็นการร้องขอให้รัฐบาลเอาจริงและเคร่งครัดในการควบคุมมลพิษเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลที่ไม่สามารถใช้อำนาจที่มีอย่างมีประสิทธิภาพจนก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ โดยขณะนี้เขตกันชนระหว่างชุมชนและอุตสาหกรรมหายไป หลายเป็นเขตอุตสาหกรรมอยู่ติดกับเขตชุมชน จนโรงเรียน โรงพยาบาลต้องย้ายหนี ซึ่งหากรัฐมีความเข้มงวดตั้งแต่แรกก็คงไม่เป็นเช่นนี้

นายเดชรัต กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีความเข้าใจผิดในหลายประเด็นต่อการประกาศเขตควบคุมมลพิษว่า จะให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ มีแต่คนบอกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะขนาดส่วนกลางยังแก้ไขไม่ได้ ทั้งๆ ที่จริงแล้ว อำนาจในการควบคุมสิ่งแวดล้อม
 
ซึ่งตามประกาศเขตควบคุมมลพิษ ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 จะทำให้กระจายอยู่กับองค์กรต่างๆ รวมถึงทำให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมมากขึ้น ตามมาตรา 60 ซึ่งให้เทศบาลและเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ ทำแผนปฏิบัติการเพื่อลดและเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจะต้องรวมอยู่ในแผนพัฒนาของจังหวัดด้วยนอกจากนี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแล ควบคุมมลพิษเดิมจะต้องมีการเข้าไปประเมินและควบคุมมลพิษให้เข้มงวดมากกว่าเดิม ส่วนพื้นที่วิกฤตที่หน่วยงานแก้ไขไม่ได้ รัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องมีหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อแก้ไขปัญหาด้วย จึงไม่ใช่เป็นการให้ท้องถิ่นแก้ปัญหาเพียงลำพัง

“คงไม่ต้องกังวลคนเกินไปว่าประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และสินค้าเกษตร เพราะจากการศึกษาจังหวัดที่เคยประกาศเขตควบคุมมลพิษ 5 ปี ก่อนและหลังการประกาศ เช่น พัทยา ภูเก็ต ไม่เคยปรากฎข้อมูลว่าส่งผลกระทบแต่อย่างใด
 
และยังพบว่าใน จ.สระบุรี จ.สมุทปราการ มีอัตราการเจริญทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การประกาศไม่ได้เป็นการปิดกั้นการลงทุน แต่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมสะอาดไม่เป็นพิษสิ่งแวดล้อม การลงทุนจำเป็นต้องมีจินตนาการใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมคุณภาพชีวิตคนในท้องถิ่น และเป็นการเติบโตเชิงคุณภาพ”

นายเดชรัต กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ปัญหา คือ 1.การแก้ไขเรื่องน้ำดื่มเพราะขณะนี้บ่อน้ำตื้นไม่สามารถใช้ได้เลยในพื้นที่ ทำให้ประชาชนต้องซื้อน้ำและเกิดความขาดแคลนอย่างมาก
 
2.การแก้ปัญหาเรื่องแนวกันชน เพราะขณะนี้มีการลุกล้ำเข้ามาอยู่ในเขตชุมชน 3.การแก้ปัญหาสังคมอุตสาหกรรม ซึ่งเกิดปัญหาการฆ่าตัวตาย การติดเชื้อเอดส์ การล่วงละเมิดทางเพศที่ติดอันดับมีปัญหามากที่สุดในประเทศ ซึ่งแม้ว่าไม่ได้กำหนดไว้ตามประกาศเขตมลพิษ แต่เป็นอีกปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเข้าไปดูแล ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรดูแลมาเป็นเวลานานแล้ว

“หากครั้งนี้รัฐบาลอุทธรณ์ จะมีชื่อจารึกในประวัติศาสตร์เพราะถือว่าเป็นเรื่องตลกระดับโลก ที่อุทธรณ์ขอความเป็นธรรม ไม่ให้ศาลสั่งให้รัฐบาลใช้อำนาจของตนเองเพื่อการแก้ปัญหาให้กับประชาชน และไม่เชื่อว่าอำนาจที่มีจะแก้ปัญหาได้ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยแก้ปัญหาได้เลย
 
ซึ่งการฟ้องร้องในครั้งนี้เป็นการนำข้อมูลทางวิชาการมาต่อสู้กัน การที่จะอ้างว่ามลพิษไม่ได้เพิ่มขึ้นไม่ส่งผลกระทบนั้นคงเป็นไปได้ยาก ส่วนการที่ฝ่ายอุตสาหกรรมบอกว่ากระทบเอาข้อมูลวิชาการใดมาชีวัด นอกจากนี้ข้ออ้างที่ว่าจะกระทบต่อผู้อื่นนั้นอยากให้รัฐบาลพูดความจริง
 
เพราะการที่บริษัทปิโตรเคมีรายหนึ่งอ้างว่าต้องชะลอการลงทุนเพราะประกาศฉบับดังกล่าวนั้นเป็นการสมอ้างเพราะก่อนหน้าคำตัดสินของศาลก็มีแผนชะลอการลงทุนเนื่องจากเศรษฐกิจโลกอยู่แล้ว และหากรัฐบาลคิดจะอุทธรณ์ก็ต้องรับผิดชอบทางการเมืองด้วย” นายเดชรัต กล่าว

นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ รองผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษถือว่าช้าเกินไป อาจเนื่องมาจากคนไม่ตระหนักผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรังไม่ใช่โรคที่แสดงอาการเฉียบพลัน อีกทั้งไม่มั่นใจว่าเกิดจากมลพิษจากอุตสาหกรรมจริงหรือไม่
 
ซึ่งจากการศึกษาทางการแพทย์กว่า 10 ปี ชัดเจนแล้วว่า ผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งทำให้เสียค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพจำนวนมากแต่ไม่มีการนำมาเปรียบเทียบกับเงินที่ได้จากภาคอุตสาหกรรมเพราะถือว่าเป็นเงินคนละกระเป๋า ทั้งๆ ที่อาจไม่คุ้มค่ากันทางเศรษฐกิจ

ด้านนายสุพันธ์ ธนะพิงค์พงษ์ กรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ที่ประชุม คสช.มีมติ 4 ข้อ 1.ให้มีการชะลอการขยายโรงงานโครงการใหม่ๆ ในพื้นที่มาบตาพุด 2.ทบทวนแนวทางการพัฒนาจังหวัดระยอง 3.เปิดเผยข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพและ 4.ทำแผนป้องกันตามกฎหมาย ประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ

“ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากมลพิษจากอุตสาหกรรมอย่างมากถึงขนาดมีการออกมาตามถนนประท้วงเพื่อปกป้องสิทธิทางกฎหมาย หากรัฐบาลไม่ออกประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษภาคประชาชนคงไม่ยอม และรู้สึกผิดหวังกับรัฐบาลเพราะชาวบ้านเพียงแต่อยากให้รัฐมีความเข้มงวดในการยังคับใช้กฎหมายยิ่งขึ้น หากไม่ทำก็คงจะเหมือนกับกรณีแม่เหมาะที่ต้องเรียกร้องค่าเสียหายเพราะขณะนี้ก็มีผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายจากผลกระทบของโรงงานอยู่แล้ว”นายสุพันธ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น