xs
xsm
sm
md
lg

จวก รบ.สุดเพี้ยน! หากอุทธรณ์ให้ “มาบตาพุด” ไม่เป็นเขตควบคุมมลพิษ เชื่อใช้อำนาจรัฐแก้ปัญหายาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นักวิชาการ ชี้ หากรัฐบาลอุทธรณ์ไม่ประกาศมาบตาพุด เป็นเขตควบคุมมลพิษได้ถูกจารึกชื่อเป็นรัฐบาลที่ตลกที่สุดในโลกแน่ เพราะไม่เชื่ออำนาจรัฐใช้แก้ปัญหาได้ ระบุ ประกาศฯ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว แนะเลิกเปิดประตูรับอุตสาหกรรมสกปรกสร้างมลพิษที่ประเทศพัฒนาแล้วไม่เอา เน้นเลือกอุตสาหกรรมสะอาดเป็นมิตรกับชีวิต สิ่งแวดล้อม หมอย้ำได้ไม่คุ้มเสียสุขภาพ เตือนเป็นบทเรียนแผนพัฒนาภาคใต้ต้องระวังอย่าให้ซ้ำรอย

วันนี้ (6 มี.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีเสวนา เรื่อง “สุขภาวะกับการประกาศเขตควบคุมมลพิษ กรณีมาบตาพุด” นายเดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลด้านสุขภาพ กล่าวว่า การฟ้องร้องกรณีมาบตาพุด ไม่ได้เรียกร้องค่าเสียหาย แต่เป็นการร้องขอให้รัฐบาลเอาจริงและเคร่งครัดในการควบคุมมลพิษเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลที่ไม่สามารถใช้อำนาจที่มีอย่างมีประสิทธิภาพจนก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ โดยขณะนี้เขตกันชนระหว่างชุมชนและอุตสาหกรรมหายไป หลายเป็นเขตอุตสาหกรรมอยู่ติดกับเขตชุมชน จนโรงเรียน โรงพยาบาลต้องย้ายหนี ซึ่งหากรัฐมีความเข้มงวดตั้งแต่แรกก็คงไม่เป็นเช่นนี้

นายเดชรัต กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีความเข้าใจผิดในหลายประเด็นต่อการประกาศเขตควบคุมมลพิษว่า จะให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการ มีแต่คนบอกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะขนาดส่วนกลางยังแก้ไขไม่ได้ ทั้งๆ ที่จริงแล้ว อำนาจในการควบคุมสิ่งแวดล้อม ซึ่งตามประกาศเขตควบคุมมลพิษ ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 จะทำให้กระจายอยู่กับองค์กรต่างๆ รวมถึงทำให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมมากขึ้น ตามมาตรา 60 ซึ่งให้เทศบาลและเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ ทำแผนปฏิบัติการ เพื่อลดและเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจะต้องรวมอยู่ในแผนพัฒนาของจังหวัดด้วยนอกจากนี้ หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแล ควบคุมมลพิษเดิมจะต้องมีการเข้าไปประเมินและควบคุมมลพิษให้เข้มงวดมากกว่าเดิม ส่วนพื้นที่วิกฤตที่หน่วยงานแก้ไขไม่ได้ รัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต้องมีหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อแก้ไขปัญหาด้วย จึงไม่ใช่เป็นการให้ท้องถิ่นแก้ปัญหาเพียงลำพัง

“คงไม่ต้องกังวลคนเกินไปว่าประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และสินค้าเกษตร เพราะจากการศึกษาจังหวัดที่เคยประกาศเขตควบคุมมลพิษ 5 ปี ก่อนและหลังการประกาศ เช่น พัทยา ภูเก็ต ไม่เคยปรากฎข้อมูลว่าส่งผลกระทบแต่อย่างใด และยังพบว่า ใน จ.สระบุรี จ.สมุทปราการ มีอัตราการเจริญทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การประกาศ ไม่ได้เป็นการปิดกั้นการลงทุน แต่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมสะอาดไม่เป็นพิษสิ่งแวดล้อม การลงทุนจำเป็นต้องมีจินตนาการใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมคุณภาพชีวิตคนในท้องถิ่น และเป็นการเติบโตเชิงคุณภาพ”นายเดชรัต กล่าว

นายเดชรัต กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ปัญหา คือ 1.การแก้ไขเรื่องน้ำดื่ม เพราะขณะนี้บ่อน้ำตื้นไม่สามารถใช้ได้เลยในพื้นที่ ทำให้ประชาชนต้องซื้อน้ำและเกิดความขาดแคลนอย่างมาก 2.การแก้ปัญหาเรื่องแนวกันชน เพราะขณะนี้มีการลุกล้ำเข้ามาอยู่ในเขตชุมชน 3.การแก้ปัญหาสังคมอุตสาหกรรม ซึ่งเกิดปัญหาการฆ่าตัวตาย การติดเชื้อเอดส์ การล่วงละเมิดทางเพศที่ติดอันดับมีปัญหามากที่สุดในประเทศ ซึ่งแม้ว่าไม่ได้กำหนดไว้ตามประกาศเขตมลพิษ แต่เป็นอีกปัญหาเร่งด่วนที่ต้องเข้าไปดูแล ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรดูแลมาเป็นเวลานานแล้ว

“หากครั้งนี้รัฐบาลอุทธรณ์ จะมีชื่อจารึกในประวัติศาสตร์ เพราะถือว่าเป็นเรื่องตลกระดับโลก ที่อุทธรณ์ขอความเป็นธรรม ไม่ให้ศาลสั่งให้รัฐบาลใช้อำนาจของตนเองเพื่อการแก้ปัญหาให้กับประชาชน และไม่เชื่อว่าอำนาจที่มีจะแก้ปัญหาได้ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยแก้ปัญหาได้เลย ซึ่งการฟ้องร้องในครั้งนี้ เป็นการนำข้อมูลทางวิชาการมาต่อสู้กัน การที่จะอ้างว่ามลพิษไม่ได้เพิ่มขึ้นไม่ส่งผลกระทบนั้นคงเป็นไปได้ยาก ส่วนการที่ฝ่ายอุตสาหกรรมบอกว่ากระทบเอาข้อมูลวิชาการใดมาชีวัด นอกจากนี้ข้ออ้างที่ว่าจะกระทบต่อผู้อื่นนั้น อยากให้รัฐบาลพูดความจริง เพราะการที่บริษัทปิโตรเคมีรายหนึ่งอ้างว่าต้องชะลอการลงทุนเพราะประกาศฉบับดังกล่าวนั้น เป็นการสมอ้าง เพราะก่อนหน้าคำตัดสินของศาลก็มีแผนชะลอการลงทุนเนื่องจากเศรษฐกิจโลกอยู่แล้ว และหากรัฐบาลคิดจะอุทธรณ์ก็ต้องรับผิดชอบทางการเมืองด้วยเพราะ จ.ระยองมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แล้วชาวระยองเดือนร้อนก็คงไม่ยอมอย่างแน่นอน”นายเดชรัต กล่าว

นายเดชรัต กล่าวด้วยว่า ต่อจากนี้หากจะมีการวางแผนพัฒนาส่วนใดของประเทศ ขอให้พิจารณาให้ดี เพราะมีมาบตาพุดเป็นบทเรียน โดยเฉพาะแผนพัฒนาภาคใต้หรือเซาว์เทอน์ซีบอร์ดที่มีแผนในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่ชุมพรซึ่งมีการสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กทั้งๆ ที่ชาวบ้านไม่มีพื้นความรู้เกี่ยวกับเหล็กเลย

ด้านนายสุรชัย คุ้มสิน ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักวางแผนทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การประกาศเขตควบคุมมลพิษไม่ใช่คำตอบสุดท้ายแต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งการแก้ปัญหาทั้งหมดต้องเริ่มที่ฐานคิด อย่าทำให้เกิดเหตุการณ์ ที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษย้ายฐานจากประเทศพัฒนาแล้วที่มีต้นทุนการกำจัดมลพิษสูง มายังประเทศไทยที่ไม่สนใจว่าต้องลงทุนเรื่องนี้ การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจจากนี้ต้องพิจารณาเรื่องค่าเสียโอกาสทางทรัพยากร หากเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดมลพิษก็ต้องรับผิดชอบด้วยต้นทุนที่สูงขึ้น

“ในอนาคตการที่รัฐบาลวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจจำเป็นต้องพิจารณาผลกระทบเชิงนโยบายไปพร้อมกัน โดยพิจารณาว่า อะไรบ้างที่ทำแล้วไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อะไรที่ทำแล้วสังคมดีขึ้น คนในชุมชนจะได้อะไรบ้าง การประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจจะดูเพียงมูลค่าไม่ได้ แต่ต้องเป็นการเติบโตเชิงคุณภาพ ซึ่งอาจต้องเปลี่ยนดัชนีชี้วัดใหม่จากการประเมินแค่การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็น การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ(HIA)”นายสุรชัย กล่าว

นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ รองผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษถือว่าช้าเกินไป อาจเนื่องมาจากคนไม่ตระหนักผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรังไม่ใช่โรคที่แสดงอาการเฉียบพลัน อีกทั้งไม่มั่นใจว่าเกิดจากมลพิษจากอุตสาหกรรมจริงหรือไม่ ซึ่งจากการศึกษาทางการแพทย์กว่า 10 ปี ชัดเจนแล้วว่า ผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งทำให้เสียค่าใช้จ่ายในด้านสุขภาพจำนวนมากแต่ไม่มีการนำมาเปรียบเทียบกับเงินที่ได้จากภาคอุตสาหกรรมเพราะถือว่าเป็นเงินคนละกระเป๋า ทั้งๆ ที่อาจไม่คุ้มค่ากันทางเศรษฐกิจ

“ส่วนหนึ่งอาจมองว่าปัญหายังไม่ถึงที่สุด ยังรอได้ หากมีปัญหาสุขภาพก็สามารถรักษาได้ แต่การรอให้ป่วยอาจช้าเกินไป การไม่ป่วยดีกว่าหรือไม่ เพราะบางคนเขาไม่ได้ประโยชน์จากโรงงานอุตสาหกรรมเลยแต่ต้องได้รับผลกระทบทางสุขภาพไปด้วย ซึ่งเรื่องของสุขภาพนั้นดูเหมือนแก้ไก้แต่จริงๆ แล้วแก้ยากมาก”นพ.สมเกียรติ กล่าว

ด้านนายสุพันธ์ ธนะพิงค์พงษ์ กรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคสช.มีมติ 4 ข้อ 1.ให้มีการชะลอการขยายโรงงานโครงการใหม่ๆ ในพื้นที่มาบตาพุด 2.ทบทวนแนวทางการพัฒนาจังหวัดระยอง 3.เปิดเผยข้อมูลผลกระทบต่อสุขภาพและ 4.ทำแผนป้องกันตามกฎหมาย ประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ

“ขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากมลพิษจากอุตสาหกรรมอย่างมาก ถึงขนาดมีการออกมาตามถนนประท้วงเพื่อปกป้องสิทธิทางกฎหมาย หากรัฐบาลไม่ออกประกาศให้มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษภาคประชาชนคงไม่ยอม และรู้สึกผิดหวังกับรัฐบาล เพราะชาวบ้านเพียงแต่อยากให้รัฐมีความเข้มงวดในการยังคับใช้กฎหมายยิ่งขึ้น หากไม่ทำก็คงจะเหมือนกับกรณีแม่เหมาะที่ต้องเรียกร้องค่าเสียหายเพราะขณะนี้ก็มีผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายจากผลกระทบของโรงงานอยู่แล้ว”นายสุพันธ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น