xs
xsm
sm
md
lg

คสช.ผลักดัน 3 นโยบายเร่งด่วน เสนอ ครม.พิจารณา‏

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ
คสช.ผลักดัน 3 นโยบายเร่งด่วน เสนอ ครม.พิจารณา แก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อสุขภาพคนไทย-ส่งเสริมการเข้าถึงยา-สานความสัมพันธ์คนไข้กับหมอ วางรากฐานนโยบายสาธารณะแก้ปัญหาสุขภาพทั้งระบบ

วันที่ 26 ธันวาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ที่ประชุม คสช.มีมติให้เร่งผลักดันนโยบายเร่งด่วน 3 เรื่อง เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ดังนั้น 1.วาระวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย 2.การเข้าถึงยาถ้วนหน้าของประชากรไทย และ 3.การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและญาติกับบุคลากรทางการแพทย์ โดย คสช.จะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป โดยเป็นการวางรากฐานนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่ดี สามารถแก้ปัญหาสุขภาพทั้งระบบได้ทั้งระยะสั้นและยาว และเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคนไทยด้วย

นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า การแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทย รัฐบาลต้องดำเนินการคุ้มครองผู้ตกงาน หรือผู้ว่างงาน โดยการสนับสนุนงบประมาณให้กับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เพียงพอ ทั้งเรื่องการป้องกันโรค การส่งเสริมสุขภาพ และการฟื้นฟูจิตใจให้กับผู้ตกงาน ว่างงาน โดยให้หาแนวทางแก้ปัญหาและนำไปปฏิบัติได้จริงภายในเดือนมกราคม 2552 นี้

ด้าน รศ.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ รองเลขาธิการสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมา ค่าใช้จ่ายด้านยาคนไทยมีมูลค่าสูงมาก โดยระหว่างปี 2543-2548 มีการใช้ยาเพิ่มขึ้นร้อยละ 13-20 ขณะเดียวกัน ไทยยังไม่มีนโยบายด้านราคายาที่ชัดเจน ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแลกำหนดราคายาที่เหมาะสมและเป็นธรรม การกำหนดราคายาจึงเป็นของบริษัทยาเพียงฝ่ายเดียวทำให้ยามีราคาแพงเป็นการผูกขาด ส่งผลให้คนไทยฐานะยากจนเข้าไม่ถึงยา

รศ.ภก.วิทยา กล่าวว่า คสช.ได้จัดทำสำหรับยุทธศาสตร์การเข้าถึงยา 7 ด้าน คือ 1.การประสานความร่วมมือเครือข่ายการเข้าถึงยา เพื่อให้มีการใช้ยาที่เหมาะสม และบริหารระบบยาอย่างมีประสิทธิภาพ 2.การสนับสนุนกลุ่มผู้ป่วยให้เข้าถึงยา และมีส่วนร่วมดูแล สร้างเสริมสุขภาพ โดยภาครัฐต้องสนับสนุนการรวมกลุ่มของผู้ป่วยโดยเฉพาะโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง 3.การส่งเสริมราคายาในประเทศที่สอดคล้องกับค่าครองชีพของประชาชน 4.การพัฒนาอุตสาหกรรมยาภายในประเทศ 5.การใช้ประโยชน์และลดอุปสรรค์จากข้อกำหนดทางกฎหมาย 6.การใช้ยาอย่างเหมาะสม และ 7.การวิจัยและพัฒนายาใหม่

“การแก้ปัญหากฎหมายถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะการแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เช่น กำหนดรายละเอียดขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นป้องกันการยื่นคำขอสิทธิบัตรที่ไม่สามารถนับเป็นขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น รวมถึงผลักดันให้จัดตั้งคณะกรรมการสิทธิบัตรเภสัชภัณฑ์ ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทำหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยและดำเนินการเกี่ยวกับสิทธิบัตรเภสัชภัณฑ์ รวมถึงการยกเลิกภาษีนำเข้ายาเฉพาะยาที่ช่วยชีวิตในบัญชียาหลักแห่งชาติ และตัวยาสำคัญออกฤทธิ์ ที่นำมาผลิตยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมถึงข้อตกลงเขตการค้าเสรีต้องไม่ผูกพันประเทศเกินไปกว่าความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า” รศ.ภก.วิทยา กล่าว

นพ.ฑินกร โนรี ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ กล่าวว่า ที่ประชุมมีข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเร่งผลักดันกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาการฟ้องร้องระหว่างผู้ป่วย และญาติ กับบุคลากรทางการแพทย์ สร้างผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ ต่างเสียขวัญกำลังใจในการทำงาน ภาพรวมของประเทศเกิดค่าใช้จ่ายจากการรักษาที่เกินจำเป็นหรือการส่งต่อที่ไม่จำเป็น การมีกฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้เกิดความสมานฉันท์ มีการเจรจาไกล่เกลี่ย ด้วยบุคคลที่มีความเป็นกลางและมีอิสระ ซึ่งขณะนี้กฎหมายค้างอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการถึง 3 รัฐบาลแล้ว รวมทั้งช่วยผลักดันให้ประชาชนสามารถใช้บัตรประชาชนในการรับบริการสาธารณสุข
กำลังโหลดความคิดเห็น