สช.หนุนปรับ 3 ระบบหลักประกันสุขภาพ สร้างความเป็นธรรมลดเหลื่อมล้ำ เสนอให้ 3 หน่วยงาน สปสช.-สปส.-กรมบัญชีกลาง ร่วมทำแผนปฏิรูประบบทุก 5 ปี พร้อมจัดเวทีหาทางออกแนวทางเหมาะสมภายใน ก.ย.นี้
วันที่ 9 กันยายน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพถือเป็นเรื่องสำคัญมาก จากข้อมูลของคณะกรรมมาธิการสาธารณสุขวุฒิสภา ชี้ชัดว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าครอบคลุมประชากร 46.95 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 75 ของประชากรทั้งประเทศ ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 76,598.80 บาท ด้านระบบกองทุนประกันสังคม มีผู้ประกันตน 9.2 ล้านคน ใช้งบประมาณในการรักษาพยาบาลเป็นเงิน 17,666.96 ล้านบาท ในขณะที่งบประมาณค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ ซึ่งครอบคลุมข้าราชการและบุคคลในครอบครัว จำนวน 5.6 ล้านคน ตั้งไว้ 38,700 ล้านบาท แต่มีการจ่ายจริงสูงถึง 54,900 ล้านบาท
“หากเปรียบเทียบ ค่าใช้จ่ายรายหัวของ 3 กองทุน ในปี 2551 พบว่า กองทุนสวัสดิการข้าราชการ มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยด้านการรักษาพยาบาลสูงที่สุด คือ 9,782.63 บาท รองลงมาคือ กองทุนประกันสังคม คือ 1,900.98 บาท และน้อยที่สุด คือ กองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้า 1,631.50 บาท จะเห็นว่างบประมาณด้านการรักษาพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”นพ.อำพล กล่าว
นพ.อำพล กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การที่นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาโครงสร้างทั้ง 3 ระบบ คือ สวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคม และระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถือว่าสอดคล้องกับมติและข้อเสนอจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี 2551 ที่ระบุว่า “ให้ปรับปรุงประสิทธิภาพและการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพ โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบบริหารระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน และกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ร่วมกันจัดทำแผนปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกระยะ 5 ปี และมีการทบทวนการทำงานทุก 1 ปี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มประสิทธิภาพระหว่างระบบหลักประกันทั้ง 3 ระบบ โดยมีเป้าหมายที่เป็นรูปธรรมและกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน” ซึ่ง ครม.ได้พิจารณามตินี้แล้วเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา
“การปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพนั้นต้องมอบภาพรวมทั้งระบบและแก้อย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง โดยควรมีแผนงานและขั้นตอนที่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้น สช.ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มี จะประสานงานหน่วยงานต่างๆ เพื่อเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือหาแนวทางที่เหมาะสมกับทุกฝ่ายภายในเดือนกันยายนนี้ และจะนำเข้าสู่การพิจารณาใน คสช.ในเดือนตุลาคมด้วย”นพ.อำพล กล่าว