การหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีถึงการยุบทิ้งโครงการบัตรอีลิทการ์ด มรดกตกทอดมาจากยุครัฐบาลทักษิณ หลังจากล้มลุกคลุกคลานมาร่วม 5 ปี ถือเป็นรายการเข้าคิวปิดฉากโครงการ “ฝันเฟื่อง” ต่อเนื่องจากโครงการต่างๆ ที่ทยอยปิดตัวหรือเหี่ยวเฉาลง ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพฯเมืองแฟชั่น, ครัวไทยสู่ครัวโลก หรือแม้แต่โอทอป ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการไม่ศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจลงทุน ตามสไตล์คิดไว ทำไว ใจเร็วด่วนได้ ยัดใส้ให้พวกพ้องเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ สุดท้ายนำมาสู่ความล้มเหลว สูญเงินภาษีประชาชนนับพันล้าน
โครงการบัตรอีลิทการ์ด เปิดตัวอย่างอลังการเมื่อปี 2546 ด้วยการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำทุ่มงบโฆษณาผ่านสื่ออินเตอร์อย่าง CNN กว่า 140 ล้านบาท โดยรัฐบาลทักษิณ จัดสรรงบประมาณสำหรับโครงการนี้สูงถึง 1,000 ล้านบาท ด้วยความคิดฝันเฟื่องว่า จะขายบัตรให้กับบรรดา “อีลิท” ทั่วโลก ในราคา 1 ล้านบาท สำหรับรายบุคคล และ 2 ล้านบาท สำหรับนิติบุคคล พร้อมตั้งเป้าตัวเลขลูกค้าในปีแรก 1 แสนใบ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านใบภายใน 5 ปี ดูดเม็ดเงินเข้าประเทศมากกว่า 1 ล้านล้านบาท!!
คำโฆษณาสิทธิประโยชน์และสิทธิพิเศษสุดๆ ไม่เพียงแต่สิทธิพิเศษด้านการท่องเที่ยว แต่ยังรวมถึงอภิสิทธิ์ในการเดินทางเข้าออกประเทศด้วยการยกเลิกวีซ่าเป็นเวลา 5 ปี การทำธุรกรรมร่วมกับภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสิทธิ์การครอบครองที่ดินได้ถึง 10 ไร่ ชวนให้เชื่อว่าโครงการนี้มีแต่ความสำเร็จอย่างงดงามรออยู่เบื้องหน้า
แต่เมื่อถึงเวลาเอาจริงกลับกลายเป็นว่า สิทธิพิเศษและสิทธิประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับนั้นไม่ได้เป็นไปดังคำโฆษณา ลูกค้าที่ซื้อบัตรไปแล้วไม่สามารถใช้บริการตามสิทธิ์ที่แจ้งไว้ ไม่สามารถซื้อหรือถือครองที่ดินได้เพราะติดปัญหาข้อกฎหมาย ฯลฯ แม้กระทั่งค่าโฆษณาก็ยังติดหนี้ CNN จนเป็นเรื่องฉาวโฉ่ทั่วโลก
ปัญหาที่เกิดขึ้น แทนที่บริษัทไทยแลนด์ พริวิลเลจ การ์ด จำกัด (ทีพีซี) ผู้บริหารโครงการซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะคิดหาทางปรับปรุงระบบเครือข่ายการให้บริการโดยประสานกับผู้ประกอบการ เพิ่มการมีส่วนร่วมของเอกชนซึ่งเป็นเป้าประสงค์หลักเพื่อหวังบูมการท่องเที่ยวตั้งแต่ต้น
แต่ ทีซีพี กลับเลือกที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้ลงทุนแข่งขันกับเอกชนที่ทำธุรกิจอยู่แต่เดิม เช่น การทำบันทึกข้อตกลงกับกองทัพบก กองทัพเรือ กรมธนารักษ์ เพื่อขอใช้ที่ดินที่เชียงใหม่ หัวหิน พังงา ภูเก็ต สร้างสนามกอล์ฟเพื่อรองรับลูกค้า ก่อนที่จะพับแผนไปเพราะต้องลงทุนสูง และอาจรู้ตัวว่าไม่ได้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ จึงหันมาเช่าสนามกอล์ฟเอกชนแทน
ส่วนการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายบัตรทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีมากกว่า 10 ราย ก็มีข้อครหาว่าเอเย่นต์ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นบริษัทที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลทักษิณ ขณะนั้น ตัวแทนจำหน่ายที่เข้ามาได้เพราะอาศัยสายสัมพันธ์ จึงน่าสงสัยในฝีมือการขายว่า เจ๋งจริงหรือไม่
ไม่ว่าจะเป็นบริษัท แอคทีฟ จำกัด ที่มีนางสุนทรี จันทร์ประสิทธิ์ ซึ่งมารดามีศักดิ์เป็นน้าของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือ คิงส์ พาวเวอร์ ของนายวิชัย ศรีอักษร ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าแนบแน่นกับรัฐบาลทักษิณแค่ไหน เช่นเดียวกับบริษัทแกรนด์ อีลิท ในเครือของนายเหยียน ปิน นักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีน ที่สนิทชิดเชื้อกับทักษิณเป็นพิเศษ
ขณะที่พันธมิตรกับคู่ค้า โรงแรม รีสอร์ต สถานพยาบาล สปา ฯลฯ แม้เอกชนจะให้ความร่วมมือ แต่ผู้บริหารโครงการอีลิทการ์ด ก็ไม่สามารถทำให้คู่ค้ายกระดับบริการให้ได้มาตรฐานเดียวกันในระดับพรีเมี่ยม ให้สมกับฐานะของผู้ใช้บัตรซึ่งเป็นระดับอีลิทหรือชนชั้นนำ
ที่สำคัญ ความคิดให้ต่างชาติเข้ามาถือครองแผ่นดินในไทย ไม่มีทางที่สังคมไทยจะรับได้ กระแสต่อต้านในประเด็นนี้ ทำให้บัตรอีลิทการ์ด ขาดแม่เหล็กดึงดูดลูกค้าชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการตัดสินใจซื้อบัตรอีลิทการ์ดหรือไม่ หาใช่สิทธิพิเศษด้านการท่องเที่ยวแต่อย่างใด
ผลการตรวจสอบโครงการบัตรอีลิทการ์ดจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุว่า ททท.ไม่ศึกษาโครงการให้ดีก่อนลงทุน ทำให้ต้องปรับเป้าขายบัตรถึง 6 ครั้ง และขายได้แค่พันกว่าใบ เจ๊งเข้าเนื้อทุกปี แถมมีค่าใช้จ่ายไม่ถูกต้องเพียบ เช่น จ่ายค่าตั๋วเครื่องบินไปดูงานที่ประเทศอังกฤษให้ ส.ส. พรรคไทยรักไทย
ถ้าจะว่าไปแล้ว อีลิทการ์ดเป็นโครงการที่ดีหากสามารถทำได้ แต่เป็นเพราะไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ จุดอ่อน จุดแข็ง และความเสี่ยง อย่างชัดเจน เป็นแต่เพียงการวาดวิมานในอากาศแล้วรีบใส่เงินลงไป แถมยังให้หน่วยงานอย่าง ททท. ซึ่งมีความถนัดในการใช้เงิน ไม่ใช่หาเงิน หรือบริหารเงิน เป็นผู้กำกับดูแล ทำให้โครงการบัตรอีลิทการ์ด มีสภาพเป็นได้เพียงเป็ดง่อย และเดี้ยงสนิท
วันเวลารอรูดม่านปิดฉากมรดกความฝันเฟื่องยุครัฐบาลทักษิณไปอีกหนึ่งโครงการใกล้เข้ามาแล้ว