xs
xsm
sm
md
lg

จุดจบมหากาพย์ทุจริตคลองด่าน ศาลฎีกาพิพากษาจำคุก”วัฒนา” 10 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวัฒนา อัศวเหม
ผู้จัดการออนไลน์ - คดีทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านซึ่งนายวัฒนา อัศวเหม ถูกฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลมีคำพิพากษาในวันนี้ (18 ส.ค.) สั่งจำคุกนายวัฒนา 10 ปีนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การดำเนินคดีคลองด่านที่มีมายาวนานนับ 10 ปี ที่เกือบปิดฉากลงด้วยเหตุผลหมดอายุความ เพราะความล่าช้าของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม

นานกว่าทศวรรษที่หนังสือพิมพ์ “ผู้จัดการรายวัน” ได้เปิดปมขุดคุ้ยตีแผ่กรณีทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่านต่อสาธารณชน พร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวคัดค้านของชาวชุมชนต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ซึ่งลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อรักษาวิถีชีวิต ชุมชน และเห็นความไม่ถูกต้องในการดำเนินโครงการ

จุดเริ่มต้นของคดีทุจริตคลองด่าน ได้มีการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 โดยนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ขณะนั้น เป็นผู้ยื่น โดยขอให้ป.ป.ช.ตรวจสอบในประเด็นการทุจริตที่ดิน การประกวดราคา และการดำเนินโครงการที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งในปีเดียวกันนั้น นายเฉลา ทิมทอง ชาวบ้านต.คลองด่าน ก็ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบในครั้งนั้น เรื่องได้เงียบหายไป โดยไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดบุคคลใดหรือไม่แต่อย่างใด

ขณะที่นักการเมืองเจ้ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่เข้ามาบริหารงานต่อจากนายสุวิทย์ ไม่ว่าจะเป็นนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ จากพรรคประชาธิปัตย์ หรือนายสนธยา คุณปลื้ม จากพรรคชาติไทย ต่างก็ไม่ได้นำพาต่อการตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลในโครงการดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยอ้างว่าการดำเนินโครงการได้ล่วงเลยไปมากแล้ว

กระทั่งเมื่อปี 2546 ยุครัฐบาลทักษิณ 1 นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้หยิบยกเอาโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ขึ้นมาทบทวนใหม่ โดยแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งมีพล.ต.ต.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าชุด

คณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้สอบสวนแล้วสรุปความเห็นว่าคดีมีมูลจึงรายงานต่อรัฐมนตรี จากนั้นรัฐมนตรี ได้สั่งการให้อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ขณะนั้น คือ นายอภิชัย ชวเจริญพันธุ์ ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปราม เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2546 เพื่อให้ดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด

ต่อมา พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบส่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2546 ซึ่งตามสำนวนปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ที่ดิน กระทำความผิดหลายราย

ส่วนนายวัฒนา อัศวเหม นั้น พนักงานสอบสวน สรุปว่า มีความผิดฐานร่วมกันสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดและปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86 และ 157 ร่วมกันสนับสนุนเจ้าพนักงานรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 162 (1)

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในเดือนพ.ย. 2546 นั้น คดีของนายวัฒนา อัศวเหม ในข้อหาร่วมกันสนับสนุนเจ้าพนักงานดังกล่าวนั้น ได้ขาดอายุความไปแล้ว เพราะความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงาน มีอายุความเพียง 10 ปี นับจากปี 2536 ซึ่งเป็นปีที่มีข้อกล่าวหาว่านายวัฒนา มีส่วนเกี่ยวพันกับการออกโฉนดมิชอบที่ออกมาตั้งแต่ปี 2535 – 2536

การดำเนินคดีต่อนายวัฒนา อัศวเหม ที่แท้จริงจนส่งผลให้ศาลฯมีคำพิพากษาในวันนี้ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2547 โดยคณะกรรมการตรวจสอบและสอบสวนกรณีทุจริตโครงการจัดการน้ำเสียเขตควบคุมมลพิษ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งได้รับแต่งตั้งตามคำสั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น

คณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้สรุปรายงานว่า มีนักการเมืองซึ่งเกี่ยวข้องกับการทุจริต จำนวน 3 คน ซึ่งหมายรวมถึงนายวัฒนา อัศวเหมด้วย จากนั้น คณะกรรมการฯได้จัดทำรายงานเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ขณะนั้น

ต่อมา นายประพัฒน์ สั่งการให้อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อคณะกรรมการป.ป.ช. เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2547 ในรอบนี้ คณะกรรมการป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวน ซึ่งมีนายตำรวจหลายนายที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตชุดที่ได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการสอบสวนด้วย

แต่ระยะเวลาการสอบสวนได้ทอดยาวนาน ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตจากสังคมว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้คดีคลองด่าน ต่อรองทางการเมืองกับนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา และนายวัฒนา อัศวเหม ซึ่งนายวัฒนา ได้ยกเรื่องนี้ต่อสู้ในศาลฎีกาฯ ด้วย แต่เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น

กระทั่งเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้รับแต่งตั้งโดยคณะปฏิรูปการปกครองเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) ได้รื้อฟื้นคดีสำคัญที่แช่ค้างอยู่ใน ป.ป.ช. ขึ้นมาใหม่โดยหยิบยกคดีทุจริตคลองด่าน ซึ่งใกล้จะหมดอายุความขึ้นมาไต่สวน และแยกสำนวนออกเป็น 2 ส่วน คือ คดีทุจริตที่ดิน และ คดีทุจริตการดำเนินโครงการ

ทั้งนี้ โดยใช้สำนวนคดีที่คณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ตรวจสอบ สอบสวน และส่งเรื่องมายัง ป.ป.ช. ก่อนหน้านี้ กระทั่งมีการสรุปสำนวนคดีในส่วนการทุจริตที่ดินส่งให้อัยการสูงสุดฟ้องนายวัฒนา ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

นอกจากคดีนี้แล้ว นายวัฒนา อัศวเหม ยังถูกฟ้องในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงร่วมกับผู้กระทำความผิดที่เป็นฝ่ายเอกชน ที่ศาลแขวงดุสิต โดยคดีดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล

ขณะที่ คดีทุจริตในส่วนของการดำเนินโครงการ ที่มีนักการเมืองเกี่ยวข้อง คือ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ จนบัดนี้ทางคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าในการสรุปสำนวนคดี แต่อย่างใด

สำหรับคดีที่ศาลฎีกาฯ พิพากษาในวันนี้ มีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องอายุความ ซึ่งจะเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาคดีต่อๆ ไป โดยศาลฎีกาฯ ได้พิพากษาจำคุกนายวัฒนา ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งมาตรา 148 มีอายุความ 20 ปี ขณะที่ประมวลกฎหมายอาญา 157 ซึ่งเป็นหนึ่งในฐานความผิดที่กล่าวหานายวัฒนา มีอายุความ 15 ปี

ทั้งนี้ โฉนดใบสุดท้ายที่ออกโดยมิชอบนั้น ได้ออกเมื่อปี 2536 หากนับอายุความ 15 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ถือว่า ขาดอายุความไปแล้ว แต่หากนับอายุความ 20 ปี ตามมาตรา 148 ถือว่าคดียังไม่ขาดอายุความ

กว่าทศวรรษในการติดตามคดีทุจริตคลองด่าน การเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเกือบคว้าน้ำเหลว เพราะความล่าช้า ความไม่ต่อเนื่องในการทำคดี การพลิกข้อกฎหมายเพื่อไม่ให้คดีขาดอายุความเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ นายวัฒนา อัศวเหม หนีไม่พ้นคุก ขณะที่ผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดทั้งข้าราชการและเอกชน ต่างลอยนวล เพราะคดีขาดอายุความ

กำลังโหลดความคิดเห็น