ผู้จัดการรายวัน – กระทุ้ง ก.พ.“ล้างทุจริต เทิดไท้องค์ราชัน” ล้างพันธุ์ข้าราชการช่วยเหลือเครือข่ายทักษิณโกงชาติ งัดกฎให้ออกจากราชการแก๊งพัวพันทุจริตกล้ายางนำร่อง สร้างบรรทัดฐานก่อนตามเชคบิลอีกหลายคดี พลิกสำนวน คตส. ชี้มูลความผิดกล่าวหาข้าราชการระดับสูงร่วมขบวนโกงเพียบ ทั้งคดีหวยบนดิน ซีทีเอ็กซ์ ท่อร้อยสายไฟ เซ็นทรัลแล็บ
คดีล้างพันธุ์นักการเมืองและข้าราชการขี้โกง กำลังทยอยขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยบางคดีศาลฯได้รับฟ้องและเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีแล้ว ซึ่งถึงขั้นตอนนี้ ถือว่าคดีมีมูลความผิดตามที่ถูกกล่าวหา บรรดานักการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวพันต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมาย
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้กลับกลายเป็นว่า นักการเมืองและข้าราชการตัวการที่ร่วมกันกระทำความผิดยังดึงดันปฏิบัติหน้าที่ต่อไปโดยอ้างว่าคดียังไม่ถึงที่สุด พร้อมกับส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล เป็นผู้ชี้ขาด
พฤติกรรมไม่ยี่หระดื้อดึงปฏิบัติหน้าที่ที่อาจขัดต่อกฎหมายของรัฐมนตรี 3 คน ในคดีหวยบนดิน คือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงการคลัง, นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.กระทรวงแรงงาน และนายอนุรักษ์ จุรีมาศ รมช.กระทรวงคมนาคม ทำให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมาเพื่อให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความของกลุ่มพันธมิตรฯ ชี้ว่า การที่รัฐมนตรีทั้งสามคนยังคงทำหน้าที่ต่อถือว่าขัดมาตรา 55 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย ทั้งยังเห็นว่า เรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่มีอำนาจชี้ขาดเพราะกฤษฎีกา มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายของรัฐบาลเท่านั้น
ตาม มาตรา 55 ระบุว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล และข้อกล่าวหานั้นเป็นเรื่องที่ประธานวุฒิสภาส่งมาตามมาตรา 43 ( 1 ) หรือผู้เสียหายยื่นคำร้องเพื่อดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 43 ( 2 ) นับแต่วันที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติดังกล่าวผู้ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะมีคำพิพากษา แล้วแต่กรณี”
ขณะที่นักการเมืองพันธุ์ “อย่างหนา” ยืนกรานทำหน้าที่ต่อไป กระทั่งกลุ่มพันธมิตรฯ ต้องร้องต่อศาล บรรดาข้าราชการที่ติดร่างแหในคดีนี้ ก็ยึดถือคติเดียวกัน และจนบัดนี้หน่วยงานที่ที่ทำหน้าที่ควบคุมกฎ เช่น คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และกระทรวงต้นสังกัด ยังนิ่งเฉย ไม่พิจารณาว่า ข้าราชการที่ถูกฟ้องในคดีหวยบนดิน ซึ่งถือเป็นคดีอาญา จะต้องได้รับการปฏิบัติเช่นใด ถูกสอบวินัย ให้ออก หรือไล่ออก ??
สำหรับกลุ่มข้าราชการที่ตกเป็นจำเลยในคดีหวยบนดิน ประกอบด้วย 1. นายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล 2.นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง 3.นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย
4.นายพรชัย นุชสุวรรณ ผู้แทนสำนักงบประมาณ 5.นางสาว สุรีพร ดวงโต ผู้แทนกรมบัญชีกลาง 6.นายณัฐวิช อินทุภูมิ ผู้แทนสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย 7.นายชัยวัฒน์ พสกภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 8.นายกำธร ตติยกวี 3.พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ ผู้อำนวยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 10.นายชัยฤกษ์ ดิษฐอำนาจ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย
11.นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ผู้แทนสำนักงบประมาณ 12.พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ 13.นางสตรี ประทีปปะเสน ผู้แทนสำนักงบประมาณ 14.นายอำนวยศักดิ์ พูลศิริ 15.พล.ต.ท.อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา 16.นายบัณฑูร สุภัควณิช ผู้แทนสำนักงบประมาณ 17.นางอรอนงค์ มณีกาญจน์ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล
กลุ่มข้าราชการที่ตกเป็นจำเลยข้างต้น บางส่วนได้ชื่อว่าเป็นเครือข่ายบริวารอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่น นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช, พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์, พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ เป็นต้น
*** ยื่นก.พ.สอบวินัย-พักราชการคดีทุจริตกล้ายาง
ในระหว่างที่กลุ่มข้าราชการที่ติดร่างแหในคดีหวยบนดินยังลอยนวล เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 51 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งรับฟ้องคดีทุจริตกล้ายางพารา 1,400 ล้าน ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นผู้ยื่นฟ้อง โดยมีผู้ตกเป็นจำเลย 3 กลุ่มใหญ่ คือ นักการเมือง ข้าราชการ และบริษัทเอกชน
หลังจากศาลมีคำสั่ง รัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาล คือ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เรียกฝ่ายนิติกรของกระทรวง มาปรึกษาทันทีว่าข้าราชการที่ตกเป็นจำเลยในคดีนี้ จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้หรือไม่ แต่ฝ่ายนิติกรก็เอาตัวรอดไม่ชี้ขาด
รมว.กระทรวงเกษตรฯ จึงมีคำสั่งให้ทำเรื่องหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา พร้อมกับยื่นเรื่องไปให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พิจารณาว่าจะสอบวินัย หรือจะให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน
แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรฯ ชี้ว่า กฎของ ก.พ. มีข้อกำหนดชัดเจนในเรื่องการสั่งพักราชการและสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน หากข้าราชการผู้นั้นถูกฟ้องในคดีอาญาหรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา ขึ้นอยู่กับว่า ก.พ.และกระทรวงฯ จะดำเนินการหรือไม่
นอกจากนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ ทาง ป.ป.ช. ซึ่งเข้ามาเป็นผู้รับผิดชอบคดีแทน คตส. ควรเร่งทำหนังสือมายังกระทรวง แจ้งผลการสอบสวนและชี้มูลความผิดข้าราชการที่ตกเป็นจำเลยในคดีดังกล่าว เพื่อให้กระทรวงดำเนินการต่อไป
แนวทางดังกล่าว เหมือนกับกรณีกลุ่มข้าราชการะดับสูงของกระทรวงการคลัง ไม่จัดเก็บภาษีจาการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ซึ่ง ป.ป.ช.ตั้งข้อหาเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการไม่เก็บภาษี และเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 154, 157 และมีความผิดวินัยร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ม. 82 วรรค 3, ม. 85 วรรค 2 และ ม. 98 วรรค 2 เป็นผลให้กลุ่มข้าราชการที่ทำความผิดถูกไล่ออกจากราชการไป ก่อนหน้าที่ศาลอาญาจะตัดสินจำคุกนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร
“เรื่องนี้ต้องทำให้เป็นบรรทัดฐาน เพราะยังมีอีกหลายคดีที่ข้าราชการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องและจะตกเป็นจำเลยในคดีอาญา” แหล่งข่าวกระทรวงเกษตรฯ ให้ความเห็น
อนึ่ง คดีทุจริตกล้ายาง ศาลฎีกาฯ ได้ประทับรับฟ้องเมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมา มีข้าราชการที่ตกเป็นจำเลย คือ
1) กลุ่มคณะกรรมการนโยบายและมาตราการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ประกอบด้วย นายพิศิษฐ เศรษฐวงศ์ รองปลัดกระทรวงพานิชย์, นายปริญญา อุดมทรัพย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง, นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ, น.ส.บุญมี เลิศพิเชษฐ ผู้อำนวยการกลุ่มงานเงินนอกงบประมาณ
นางเสริมสุข ชลวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน นายกรณรงค์ ฤทธิ์ฤาชัย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นายสิทธิ บุณยรัตผลิน อธิบดีกรมประมง และน.ส.สุชาดา วราภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ทั้งหมดมีฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 151และ 157
ส่วน น.ส.สุกัญญา โตวิวิชญ์ ผู้บริหารส่วนวิเคราะห์ สาขาเศรษฐกิจ และนายพิทยาพล นาถธราดล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 ประกอบมาตรา 83 ตามประมวลกฎหมายอาญา
2) กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการ ( กำหนดทีโออาร์) และคณะกรรมการพิจารราผลประกวดราคาซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการ ประกอบด้วย นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายจิรากร โกศัยเสวี นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ นายจำนง คงศิลป์ กรรมการบริหารโครงการและกรรมการพิจารณาโครงการประกวดราคา นายสุจินต์ แม้นเหมือน นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการบริหารโครงการ นายสมบัติ ยิ่งยืน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล กรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 11, 12 และมาตรา 83, 157 และ 341 ตามประมวลกฎหมายอาญา
สำหรับนายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ยังมีความผิดฐานเป็นผู้ริเริ่มโครงการมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดการเสนอความผิดต่อหน่วยงานรัฐ มาตรา 10, 11, 12 ตามประมวลกฎหมายอาญา 83, 84, 157, 341
นอกจากโทษทางอาญาแล้ว ป.ป.ช. ในฐานะผู้ฟ้องคดีแทน คตส. ยังขอให้ผู้กระทำผิดร่วมกันชดใช้เงินค่าเสียหาย 1,100 ล้านบาทด้วย
บรรดากลุ่มข้าราชการดังกล่าวข้างต้น มีบางส่วนที่พัวพันกับการกระทำความผิดในคดีเซ็นทรัลแล็บ ซึ่งขณะนี้ ป.ป.ช. กำลังอยู่ระหว่างการสรุปสำนวน
**** ระเบียบก.พ.ชัดให้ออกจากราชการ
หากพลิก “คู่มือปฏิบัติงานบุคคลว่าด้วยการแต่งตั้ง การประจำส่วนราชการ การให้ได้รับเงินเดือนในอัตรากำลังทดแทน การพักราชการ และการให้ออกจากราชการของสำนักงาน ก.พ.” ตีพิมพ์เมื่อเดือน ก.พ. 2548 หรือ พ.ร.บ.ระเบียบราชการพลเรือนฯ ก.พ. ได้นิยามการให้ออกจากราชการไว้ก่อนว่า
“การให้ออกจากราชการไว้ก่อน หมายถึงการสั่งให้ข้าราชการผู้มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนหรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา ออกจากราชการโดยขาดจากตำแหน่งและอัตราเงินเดือนไว้ก่อนระหว่างการสอบสวน พิจารณา เพื่อรอฟังการสอบสวนพิจารณา”
การให้ออกจากราชการไว้ก่อน ก.พ.มีกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง คือ มาตรา 107 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบราชการพลเรือน พ.ศ. 2535, กฎ ก.พ. ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2535) ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน และ หนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0709.1/ว 12 ลงวันที่ 24 พ.ย. 2537
กฎ ก.พ. ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2538) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า
“ข้อ 3 เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใด มีกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ผู้มีอำนาจตามมาตรา 102 วรรคสาม วรรคสี่ หรือวรรคห้า มาตรา 104 วรรคสาม หรือมาตรา 109 วรรคสาม แล้วแต่กรณี จะสั่งให้ผู้นั้นพักราชการได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(1) ผู้นั้นถูกตั้งกรรมการสอบสวนหรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำความผิดอาญา ในเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ หรือเกี่ยวกับความประพฤติ หรือพฤติการณ์อันไม่น่าไว้วางใจ และผู้ที่ถูกฟ้องนั้นพนักงานอัยการมิได้รับเป็นทนายแก้ต่างให้และผู้มีอำนาจดังกล่าวพิจารณาเห็นว่าถ้าให้ผู้นั้นคงอยู่ในหน้าที่ราชการอาจเกิดการเสียหายแก่ราชการ
(2) ผู้นั้นมีพฤติการณ์ที่แสดงว่า ถ้าคงอยู่ในหน้าที่ราชการจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนพิจาณา หรือจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้น
ในหนังสือ “คู่มือปฏิบัติงานฯ ข้างต้น หน้า 57 ได้สรุปเรื่องการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนเมื่อมีหลายกรณี หรือมีกรณีอื่นเพิ่มขึ้นว่า
“3.1 ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนหลายสำนวน หรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือต้องหาว่ากระทำผิดอาญาหลายคดี เว้นแต่เป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือผู้ที่ถูกฟ้องนั้น พนักงานอัยการรับเป็นทนายแก้ต่างให้ ถ้าจะสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ให้สั่งออกทุกสำนวนและทุกคดี”
อย่างไรก็ตาม กรณีคดีหวยบนดิน และคดีทุจริตกล้ายางนั้น นอกจากผู้ถูกกล่าวหาและตกเป็นจำเลยในคดีอาญา ไม่ได้ถูกสอบวินัย สั่งพักราชการใดๆ แล้ว ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความผิดเหมือนเดิม เช่น นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อดีตอธิบดีกรมวิชาการ ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ดูแลเรื่องยางพารา
ส่วนนายจำนง คงศิลป์ ครม.ได้อนุมัติ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 51 ตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอให้เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการสงเคราะห์การทำสวนยาง ทั้งที่นายจำนง เป็นบุคคลที่ คตส. ชี้มูลความผิดในคดีทุจริตกล้ายาง ซึ่งขณะนั้น นายจำนง เป็นกรรมการบริหารโครงการและกรรมการพิจารณาโครงการประกวดราคา
*** ศาลชี้ มติ คตส. คือ มติป.ป.ช.
ในประเด็นที่ตั้งข้อสงสัยว่า คดีเลี่ยงภาษีหุ้นชินคอร์ป ทางป.ป.ช. เป็นผู้ไต่สวนความผิดและตั้งข้อหาตามอำนาจของ ป.ป.ช.ที่มีกฎหมายรองรับ แต่คดีหวยบนดินและคดีทุจริตกล้ายาง รวมถึงคดีอื่นๆ ที่จะตามมาภายใต้การไต่สวนของ คตส. เป็นการไต่สวนความผิดและตั้งข้อหาโดย คตส. ไม่ใช่ ป.ป.ช.นั้น ประเด็นนี้ ศาลฎีกาฯ ได้ชี้ไว้แล้วอย่างชัดเจนว่า คตส. ใช้อำนาจ ของ ป.ป.ช. ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 จึงถือว่า มติ ของ คตส. คือ มติของ ป.ป.ช.
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้วินิจฉัยประเด็นอำนาจของ คตส. และป.ป.ช. ในขณะที่ไต่สวนคดีทุจริตกล้ายาง เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า “คำร้องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ลงวันที่ 25 ก.ค. 51 ขอเข้าเป็นโจทก์แทนที่ คตส. องค์คณะฯ เห็นว่า คตส. มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดย คตส. ใช้อำนาจ ป.ป.ช. ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ข้อ 5 และข้อ 9 บัญญัติว่า ให้มติ คตส. ที่พิจารณาเกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำผิดและทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ ร่ำรวยผิดปกติ ให้ถือว่ามตินั้นเป็นมติ ป.ป.ช.
ดังนั้น ป.ป.ช. มีอำนาจเข้ามาเป็นโจทก์แทน คตส. ซึ่งสิ้นสุดหน้าที่ไปหลังจากวันที่ 30 มิ.ย.51 ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 พ.ศ.2550 จึงอนุญาตให้ ป.ป.ช. เข้ามาเป็นโจทก์คดีนี้แทน คตส. ได้”
นอกจากนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ ยังได้วินิจฉัยอำนาจของ ป.ป.ช. และ คตส. ที่เกิดขึ้นตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 19 และ 30 ตามลำดับ ว่า มีผลสมบูรณ์บังคับใช้ได้ตามกฎหมาย เนื่องจาก คปค. ขณะนั้นมีฐานะเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” มีอำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว ประกาศหรือคำสั่งของ คปค.ย่อมมีผลบังคับใช้ได้มาตั้งแต่ต้น
***ซีทีเอ็กซ์-ท่อร้อยสาย ข้าราชโกงเพียบ
ไม่เพียงแต่คดีหวยบนดินและกล้ายางเท่านั้นที่มีข้าราชการเข้าไปมีส่วนในกระบวนการทุจริตก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ คดีอื่นๆ ที่กำลังรออัยการสูงสุด และ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องต่อศาล เช่น คดีเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์, คดีท่อร้อยสายไฟ ก็มีข้าราชการระดับสูงที่ถูก คตส.ชี้มูลความผิดไว้แล้วรวมอยู่ด้วย
กรณีคดีซีทีเอ็กซ์ 9000 มีผู้เกี่ยวข้องกระทำความผิด 3 กลุ่มเช่นกัน คือ กลุ่มนักการเมือง ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเอกชน โดยกลุ่มข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ ที่ร่วมกระทำผิด คือ อดีตบอร์ด บทม.และ ทอท. เช่น นายศรีสุข จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม, พล.อ.อ.สมชาย สมประสงค์, พล.อ.อ.นรงศักดิ์ สังฆพงศ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด
โดยมีฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือ หน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิด เกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542, ความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149
เฉพาะกรณีของนายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด อดีต กรรมการ บทม. ก่อนหน้านี้ คตส.มีมติส่งฟ้องเอง ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติมาตรา 56 (2) ประกอบมาตรา 97 แต่อย่างไรก็ตาม เวลานี้คดีดังกล่าง ทางป.ป.ช.และอัยการสูงสุด ได้ร่วมกันพิจารณาสำนวนเพื่อความสมบูรณ์ท่ามกลางข้อกังขาว่าเป็นการดึงเรื่องเพราะประธานคณะทำงานร่วมจาก ป.ป.ช. เป็นอดีตอัยการ และผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้มีอัยการสูงสุด ร่วมอยู่ด้วย
ส่วน คดีทุจริตโครงการก่อสร้างระบบจ่ายไฟฟ้าและเครือข่ายท่อร้อยสาย สนามบินสุวรรณภูมิ มีกลุ่มข้าราชการที่ถูก คตส.ตั้งข้อหาความผิด เช่น นายศรีสุข จันทรางศุ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม และประธานกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) คณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) คณะกรรมการตรวจจ้างออกแบบ คณะกรรมการกำหนดราคากลาง
ในความผิดว่าด้วย พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือฮั้วประมูล มาตรา 5, 7, 10 และ ม.11 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157 มาตรา 341 และมาตรา 83 ขณะนี้อัยการและป.ป.ช. กำลังร่วมกันพิจารณาสำนวนคดีที่ คตส. ส่งมา โดยคณะอัยการ อ้างว่าสำนวนที่ คตส.ส่งมาไม่สมบูรณ์ในหลายประเด็น เช่นเดียวกันกับคดีซีทีเอ็กซ์
*** จี้ ก.พ.“ล้างทุจริต เทิดไท้องค์ราชัน”***
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ก.พ. ได้แสดงท่าทีตระหนักถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ข้าราชการเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญ เพราะกรณีทุจริตทั้งปวงที่เกิดขึ้นล้วนแล้วแต่มี 3 ตัวการสำคัญเป็นองค์ประกอบร่วมไม้ร่วมมือกัน คือ นักการเมือง ข้าราชการ และบริษัทเอกชน
ในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธ.ค. 50 ที่ผ่านมา ทาง ก.พ.ถึงกับจัดงานยิ่งใหญ่ให้ข้าราชการทุกหมู่เหล่าทั่วประเทศเข้าร่วมพิธีถวายสัตย์ปฎิญาณ เพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและเป็นพลังของแผ่นดิน โดยปฏิบัติหน้าที่ตามรอยพระยุคลบาทในฐานข้าของแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนและประเทศชาติ ภายใต้คำขวัญ “ล้างทุจริตให้สิ้นแผ่นดินไทย เพื่อเทิดไท้องค์ราชัน”
แต่การนิ่งเฉยไม่เอาจริงต่อการกำหราบข้าราชการพันธุ์โกง เพื่อปราบทุจริตในวงราชการให้เบาบางลง ทั้งที่มีข้าราชการตกเป็นจำเลยในคดีอาญาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ประทับรับฟ้องแล้ว และคตส.(ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดแล้ว เป็นเรื่องซึ่งแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ก.พ. ยึดถือปฏิบัติที่แท้จริงนั้นสวนทางกับคำถวายสัตย์ปฏิญาณหรือไม่ หรือแนวนโยบาย “ล้างทุจริตให้สิ้นแผ่นดินไทย เพื่อเทิดไท้องค์ราชัน” เป็นแต่เพียงคำโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น