xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฯ รับฟ้องทุจริตกล้ายางถึงคิว ‘เนวิน’ เรียกชดใช้พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งรับฟ้องคดี “สมคิด-เนวิน และพวก” ทุจริตกล้ายางพารา 1,440 ล้านบาท พร้อมเรียกค่าเสียหายชดใช้คืนนับพันล้าน พิจารณานัดแรก 23 ก.ย.นี้ ถือเป็นการรับคดีคตส.ฟ้องเองคดีที่สามต่อจากคดีหวยบนดิน - เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่า หลังถูกอัยการสูงสุดเตะสกัด

วานนี้ (6 ส.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายบุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เจ้าของสำนวน คดีหมายเลขดำที่ อม.4/2551 กรณีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท พร้อมองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ยื่นฟ้อง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ,นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมว.เกษตรฯ กับพวกรวม 44 คน

ประกอบด้วย กลุ่มคณะกรรมการกลั่นกรองเสนอโครงการต่อ ครม. คณะที่ 2 , กลุ่มคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ( คชก.) , กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการ ( กำหนดทีโออาร์) และคณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคาซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการ และกลุ่มบริษัทเอกชน ที่มี 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี , บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด และ บริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด เป็นจำเลย

ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ประมวลกฎหมายอาญา ม.157, เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์สินใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ม.151 , ผู้ใดทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ประกอบ มาตรา 83 ,84 , 86 และ ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 4,10 -14 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 11

โดยองค์คณะ ฯ พิจารณาคำฟ้อง และคำร้องของจำเลยที่ 1 – 3 , ที่ 6-18 , ที่ 27 และที่ 30 แล้ว ซึ่งจำเลยที่ 2 ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 7 ประเด็น เห็นว่าประเด็นที่ 1-4 ที่จำเลยที่ 2 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ( คปค.) ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ขัดหรือแย้ง ต่อหลักนิติธรรม ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง จารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญหรือประเพณีการปกครองของประเทศไทยใยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 นั้น เป็นประเด็นที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นขัดหรือแย้งต่อ รธน.ปี 2550 ซึ่งใช้บังคับไม่ได้ตามบทบัญญัติมาตรา 6 ของ รธน. ปี 2550 ดังนั้น องค์คณะฯ จึงไม่ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

สำหรับประเด็นที่ 5 -7 ที่จำเลยที่ 2 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ขัดหรือแย้งต่อ รธน. พ.ศ.2550 นั้น เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยแล้วตามคำวินิจฉัยที่ 5/2551 ลงวันที่ 30 มิ.ย.51 ว่าประกาศ คปค. ดังกล่าวลงวันที่ 30 ก.ย.49ไม่ได้มีบทบัญญัติใดขัด หรือแย้งต่อ รธน. ปี 2550 ไม่ว่าจะเป็นมาตราใด จึงไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยซ้ำอีก

สำหรับข้อโต้แย้งอื่นๆ ของจำเลยที่ 1-3 , ที่ 6 – 18 , ที่ 27 และ ที่ 30 ตามคำร้องดังกล่าว หากจำเลยประสงค์จะโต้แย้งก็ให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นพิจารณาต่อไป

ส่วนคำฟ้อง ศาลเห็นว่า คำฟ้องที่เสนอต่อศาล เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 9 (1) (2) พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจาณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2545 และคำฟ้องถูกต้องตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 8 จึงมีคำสั่งให้ประทับฟ้อง

ส่วนคำร้องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ลงวันที่ 25 ก.ค. 51 ขอเข้าเป็นโจทก์แทนที่ คตส. องค์คณะฯ เห็นว่า คตส. มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดย คตส. ใช้อำนาจ ป.ป.ช. ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ข้อ 5 และข้อ 9 บัญญัติว่า ให้มติ คตส. ที่พิจารณาเกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำผิดและทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ ร่ำรวยผิดปกติ ให้ถือว่ามตินั้นเป็นมติ ป.ป.ช.

ดังนั้น ป.ป.ช. มีอำนาจเข้ามาเป็นโจทก์แทน คตส. ซึ่งสิ้นสุดหน้าที่ไปหลังจากวันที่ 30 มิ.ย.51 ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 พ.ศ.2550 จึงอนุญาตให้ ป.ป.ช. เข้ามาเป็นโจทก์คดีนี้แทน คตส. ได้

โดยศาลมีคำสั่งให้ส่งหมายเรียก , สำเนาฟ้อง และสำเนาคำร้อง ป.ป.ช. ขอเป็นโจทก์แทนที่ คตส. ให้จำเลยทั้ง 44 คน ซึ่งจำเลยที่มีภูมิลำเนาใน กทม. ให้โจทก์นำเจ้าหน้าที่ศาลส่งหมายภายใน 10 วัน นับแต่วันนี้

ส่วนจำเลยที่มีภูมิลำเนาต่างจังหวัดให้ส่งหนังสือถึงศาลจังหวัดซึ่งมีอำนาจในเขตพื้นที่นั้น ช่วยดำเนินการส่งหมาย หากการส่งหมายทั้ง 2 กรณีไม่พบจำเลยเป็นผู้รับหมาย หรือมีผู้แทนรับหมายโดยชอบ ก็ให้ปิดหมาย โดยศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 23 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น.

นัดแรกจำเลยต้องมาศาล

ภายหลังศาลฎีกาฯ รับฟ้องคดี นายเจษฎา อนุจารี อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ ซึ่งเป็นทนายความรับผิดชอบคดี กล่าวถึงกรณีจำเลยได้ยื่นคำร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหลายประเด็นเกี่ยวกับประกาศ คปค. ศาลมองว่าประเด็นเหล่านั้นศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดเรียบร้อยแล้ว จึงพิจารณาที่จะไม่ส่งซ้ำอีก ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการฟ้องคดี คตส.และป.ป.ช.ทั้งหมดนั้น เป็นประเด็นที่จำเลย สามารถยื่นคำให้การคัดค้านได้

นายเจษฎา กล่าวด้วยว่า ในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรกที่ 23 ก.ย.นี้ จำเลยทั้งหมดต้องมาศาลด้วยตัวเอง เพราะคดีที่ฟ้องเป็นความผิดอาญา ซึ่งหากจำเลยทราบนัดแล้วไม่มาศาล ศาลก็อาจจะพิจารณาออกหมายจับได้ ทั้งนี้กระบวนการพิจารณาไต่สวนคดีของศาลฎีกาฯ ค่อนข้างรวดเร็ว จึงคาดว่าคดีนี้ใช้เวลาไม่นาน แต่ก็ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเสร็จได้ในช่วงเวลาใด

สำหรับการไต่สวนพยานนั้น ฝ่ายโจทก์ จะนำสืบบุคคลที่สำคัญเท่านั้น เพราะการพิจารณาคดีก็ยึดสำนวนการสอบสวนในชั้น คตส. ซึ่งมีพยานเอกสารจำนวนมาก โดยสำนวนการสอบสวนคดีนี้ค่อนข้างสมบูรณ์จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่ทั้งนี้การพิจารณาคดีก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล

ทนายแม้วขอสำเนาฟ้องปล่อยกู้พม่า

ในวันเดียวกันนี้ นายวัชระ สุคนธ์ ทีมทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีทุจริตการปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงค์ ) ให้กับรัฐบาลพม่า 4,000 ล้านบาท ก็ได้เดินทางมายังศาลฎีกา ฯเพื่อยื่นคำร้องขอคัดสำเนาคำฟ้อง และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดี เพื่อเตรียมการต่อสู้คดี ซึ่งคดีนี้ศาลฎีกา ฯ นัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 16 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น.

รับคดี คตส.ฟ้องเองคดีที่สาม

การรับฟ้องคดีทุจริตกล้ายางของศาลฎีกาฯ ถือเป็นการรับฟ้องในคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นผู้ยื่นฟ้องต่อศาลเอง เป็นคดีที่สาม ต่อจากคดีหวยบนดิน ซึ่งศาลฎีกาฯ รับฟ้องคดีไปแล้ว เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา ส่วนอีกคดีที่ คตส. ฟ้องเองอีกคดีหนึ่งคือ คดีเงินกู้เอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้รัฐบาลพม่า ศาลฎีกาฯ รับฟ้องไปเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 51

ทั้งสามคดีที่ คตส. ต้องฟ้องเอง เนื่องจากเมื่อคตส.สรุปผลสอบและส่งสำนวนคำฟ้องไปให้สำนักงานอัยการสูงสุด สั่งฟ้องคดีเพื่อนำคดีขึ้นสู่ศาล ปรากฏว่า ทางอัยการสูงสุด มีความเห็นว่าสำนวนที่ส่งไปมีความไม่สมบูรณ์ทั้ง 3 คดีข้างต้นติดต่อกัน กระทั่ง คตส. ต้องให้ทนายความฟ้องคดีเอง

ในคดีทุจริตกล้ายางนั้น อัยการสูงสุด แจ้งข้อหาไม่สมบูรณ์ คตส. แจ้งข้อกล่าวหา มาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ยังมิได้แจ้งข้อกล่าวหา มาตรา 151 แต่คณะทำงานของ คตส. เห็นว่า ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาตามข้อเท็จจริง รายละเอียดของการกระทำความผิดทั้งหมด ตามความผิดหลักแล้ว ส่วนในชั้นสรุปสำนวน เพิ่มบทกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นการปรับบท ซึ่งมีแนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐานแล้ว จึงถือว่าได้แจ้งข้อกล่าวหาโดยชอบแล้ว เมื่อความเห็นไม่ตรงกัน หาข้อยุติไม่ได้ คตส. จึงมีมติฟ้องคดีเอง

ส่วนคดีสลากพิเศษหวยบนดิน อัยการสูงสุดแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ว่า ให้คตส. สอบพยานชั้นตรวจสอบทุกปากใหม่อีกครั้งหนึ่งให้เป็นพยานชั้นไต่สวนและทั้งสองฝ่ายได้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน คณะทำงานฝ่ายคตส. เห็นว่า ตามกฎหมาย ตามระเบียบ คำให้การพยานในชั้นตรวจสอบเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนไต่สวน จึงถือเป็นพยานหลักฐานที่ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้พยานทุกปากมายืนยันคำให้การตนเองอีกครั้งหนึ่ง คตส. จึงมีมติฟ้องคดีเองเช่นกัน

สำหรับ คดีเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้พม่า อัยการสูงสุดแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ว่า ให้สอบพยาน ๓ ปาก เพิ่มเติม คือ อดีต รมต. ว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ อีก 2 คน คณะทำงานฝ่าย คตส. เห็นว่า ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ขอให้สอบเพิ่มเติมนั้นได้มีอยู่ในคำให้การพยานทั้ง 3 คน ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ไม่จำต้องสอบพยานเพิ่มเติม จึงมีความเห็นไม่ตรงกัน ไม่อาจหาข้อยุติได้ภายใน 14 วัน คตส. จึงมีมติฟ้องคดีเองต่อศาล โดยแต่งตั้งทนายความจากสภาทนายความยื่นฟ้องคดีเอง

เรียกค่าเสียหายคืนรัฐ 1,100 ล้าน

คดีทุจริตกล้ายางนั้น คตส.สรุปผลสอบโดยกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกับพวก อนุมัติโครงการและอนุมัติการใช้เงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร พ.ศ. 2534

และการขอรับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมการทำสวนยาง (สกย.) ใช้เงินค่าธรรมเนียมการส่งออกยาง (CESS) ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 มูลค่าของการอนุมัติให้ใช้เงินในโครงการนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับการผลิตพันธุ์ยางมีมูลค่า 1,440 ล้านบาท

นอกจากนั้น ยังตั้งข้อกล่าวหาคณะกรรมการประกวดราคาและบริษัทที่เข้าร่วมประมูล มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ

ในสำนวนคำฟ้อง คตส. ยังมีความเห็นว่า สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดตามข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนและพยานเอกสาร พอสรุปได้ว่าความเสียหายได้แก่ เงิน คชก. ที่กรมวิชาการเกษตรเบิกไปจากกรมบัญชีกลางจำนวน 7 งวด และได้จ่ายให้กับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ค่าเสียหายในส่วนที่คำนวณได้เป็นตัวเงินจำนวน 1,100.69 ล้านบาท

ความผิดดังกล่าวนั้น บุคคลที่จะต้องรับผิดชอบในการชดใช้ความเสียหายแก่รัฐ คตส. พิจารณาแล้วเห็นว่า คณะกรรมการ คชก. ในฐานะที่อนุมัติให้มีการใช้เงินคชก. และให้นำเงิน CESS มาใช้คืน คชก. นายเนวิน ชิดชอบ ในฐานะรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว

นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรในขณะนั้น คณะกรรมการบริหารโครงการ คณะกรรมการพิจารณาผลประกวดราคา บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด บริษัทรีสอร์ทแลนด์ จำกัด บริษัทเอกเจริญการเกษตร จำกัด และกรรมการบริษัทเอกชนที่มีอำนาจทำการแทนบริษัททั้งสามบริษัท นายสกล บุญชูดวง, นายสำราญ ชัยชนะ, นายญาณกร สิงห์ชุม ต้องร่วมรับผิดชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวทั้งหมดโดยจะต้องรับผิดร่วมกันเต็มจำนวนความเสียหาย

นอกจากความเสียหายดังกล่าวข้างต้นแล้ว คตส.ขอให้ข้อสังเกตในส่วนที่เกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อเกษตรกรในโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะในปีที่ 1 เป็นผลมาจากการส่งมอบกิ่งยางชำถุงไม่ครบและมีอัตราการตายสูงเนื่องจากมีการส่งมอบนอกระยะเวลาตามสัญญาและกรณีที่ส่งมอบในระยะเวลาตามสัญญามีอัตราการตายสูงเนื่องจากภัยแล้ง

ในปีที่ 2 การดำเนินการส่งมอบกิ่งยางชำถุงครบถ้วน อัตราการตายถือว่าต่ำ แต่ปีที่ 3 การส่งมอบขาดไปประมาณ 16ล้านต้น ส่วนการตายยังไม่ทราบ(เอกสารหน้าที่ 176 แฟ้มที่ 7)

โครงการกล้ายาง 90 ล้านต้นมีการกำหนด TOR ให้ส่งมอบยาง 4 งวด ซึ่งการปลูกยางควรปลูกในฤดูฝน ตั้งแต่เดือนมิ.ย.ไม่ควรเกินเดือนส.ค. การส่งมอบเดือนส.ค. เป็นการส่งในปลายฤดูฝน จะเกิดปัญหายางตาย ซึ่งโครงการดังกล่าวมีต้นกล้ายางตายไปถึง 20 เปอร์เซ็นต์ หาก TOR กำหนดให้ส่งมอบต้นฤดูฝน เปอร์เซ็นต์การตายของยางจะลดลง (เอกสารหน้า 200 แฟ้มที่ 7)

สำหรับ มีผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาและก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐในคดีทุจริตกล้ายาง แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) คณะกรรมการประกวดราคา บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมประมูล และผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ แยกตามฐานความผิด ได้ 7 กลุ่ม ประกอบด้วย
 
1.คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตร (คชก.) ประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการการกลั่นกรองและประธาน คชก. นายวราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ในฐานะกรรมการ คชก. นายสรอรรถ กลิ่นประทุม อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกรรมการ คชก. นายอดิศัย โพธารามิก อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะกรรมการ คชก. นายพิศิษฐ เศรษฐวงศ์ รองปลัดกระทรวงพานิชย์ นายปริญญา อุดมทรัพย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง

นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ น.ส.บุญมี เลิศพิเชษฐ ผู้อำนวยการกลุ่มงานเงินนอกงบประมาณ นางเสริมสุข ชลวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน นายกรณรงค์ ฤทธิ์ฤาชัย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นายสิทธิ บุณยรัตผลิน อธิบดีกรมประมง และน.ส.สุชาดา วราภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ทั้งหมดมีฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 151และ 157

ส่วน น.ส.สุกัญญา โตวิวิชญ์ ผู้บริหารส่วนวิเคราะห์ สาขาเศรษฐกิจและนายพิทยาพล นาถธราดล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 11 ประกอบมาตรา 83 ตามประมวลกฎหมายอาญา
 
2.นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 157 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ มาตรา 11
 
3.นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายจิรากร โกศัยเสวี นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ นายจำนง คงศิลป์ กรรมการบริหารโครงการและกรรมการพิจารณาโครงการประกวดราคา นายสุจินต์ แม้นเหมือน นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการบริหารโครงการ นายสมบัติ ยิ่งยืน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล กรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 11, 12 และมาตรา 83, 157 และ 341 ตามประมวลกฎหมายอาญา
 
4.นายสกล บุญชูดวง ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธ์ จำกัด นายญาณกร สิงห์ชุม ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด นายสำราญ ชัยชนะ ผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธ์ จำกัด ในฐานะผู้ชนะการประกวดราคา บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด บริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด ในฐานะผู้เสนอราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 4, 10, 11, 12, 13 และประมวลกฎหมายอาญา 86, 157, 341
 
5.นายวัลลภ เจียรวนนท์ นายมิน เธียรวร นายประเสริฐ พุ่งกุมาร นายธีรยุทธ พิทยาอิสรกุล นายพงษ์เทพ เจียรวนนท์ นายเอี่ยม งามดำรง นายบุญเลิศ ประภากมล กรรมการบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด นายวรวิทย์ เจนธนากุล นางวิไลลักขณ์ รัตนสวัสดิ์ กรรมการบริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด น.ส.พัชรี ชินรักษ์ นางอนงนุช ภรณวลัย นางเจริญศรี ลือพัฒนสุข กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐมาตรา 4, 9, 10, 11, 12, 13 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86, 157, 341
 
6.นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ฐานเป็นผู้ริเริ่มโครงการมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดการเสนอความผิดต่อหน่วยงานรัฐ มาตรา 10, 11, 12 ตามประมวลกฎหมายอาญา 83, 84, 157, 341 และ
 
7.นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรฯ มีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดการเสนอความผิดต่อหน่วยงานรัฐ มาตรา 10, 13 ตามประมวลกฎหมายอาญา 83, 157, 341
 
สำหรับโทษความผิดตามข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 โทษจำคุก 1-10 ปี หรือ ปรับ 2,000-20,000 บาท, เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์สินใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ม.151 ที่มีโทษจำคุก 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000-40,000 บาท,

ผู้ใดทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท ประกอบมาตรา 83, 84 และ 86 และความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 4, 10-14 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 11
กำลังโหลดความคิดเห็น