xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีการับฟ้อง “เนวิน” และพวกทุจริตกล้ายาง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายเนวิน ชิดชอบ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งรับฟ้องคดี “เนวิน และพวก” ทุจริตกล้ายางพารา 1,440 ล้านบาท พิจารณานัดแรก 23 ก.ย.51

วันนี้(6 ส.ค.)ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นายบุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เจ้าของสำนวน คดีหมายเลขดำที่ อม.4/2551 กรณีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท พร้อมองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ยื่นฟ้อง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ,นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรฯ กับพวกรวม 44 คน ประกอบด้วยกลุ่มคณะกรรมการกลั่นกรองเสนอโครงการต่อ ครม. คณะที่ 2 , กลุ่มคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ( คชก.) , กลุ่มคณะกรรมการบริหารโครงการ ( กำหนดทีโออาร์) และคณะกรรมการพิจารราผลประกวดราคาซึ่งเป็นกลุ่มข้าราชการ และกลุ่มบริษัทเอกชน ที่มี 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี , บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด และ บริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัดเป็น เป็นจำเลย ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ประมวลกฎหมายอาญา ม.157 , เป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ จัดการหรือรักษาทรัพย์สินใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ ม.151 , ผู้ใดทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เพื่อให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สิน อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกง ประกอบ มาตรา 83 ,84 , 86 และ ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ( ฮั้วประมูล) พ.ศ.2542 มาตรา 4,10 -14 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 11

โดยองค์คณะ ฯ พิจารณาคำฟ้อง และคำร้องของจำเลยที่ 1 – 3 , ที่ 6-18 , ที่ 27 และที่ 30 แล้ว ซึ่งจำเลยที่ 2 ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยใน 7 ประเด็น เห็นว่าประเด็นที่ 1-4 ที่จำเลยที่ 2 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ( คปค.) ฉบับที่ 30 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ขัดหรือแย้ง ต่อหลักนิติธรรม ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง จารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญหรือประเพณีการปกครองของประเทศไทยใยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 นั้น เป็นประเด็นที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นขัดหรือแย้งต่อ รธน.ปี 2550 ซึ่งใช้บังคับไม่ได้ตามบทบัญญัติมาตรา 6 ของ รธน. ปี 2550 ดังนั้นองค์คณะ ฯ จึงไม่ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

สำหรับประเด็นที่ 5 -7 ที่จำเลยที่ 2 ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ขัดหรือแย้งต่อ รธน. พ.ศ.2550 นั้น เห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยแล้วตามคำวินิจฉัยที่ 5/2551 ลงวันที่ 30 มิ.ย.51 ว่าประกาศ คปค. ดังกล่าวลงวันที่ 30 ก.ย.49ไม่ได้มีบทบัญญัติใดขัด หรือแย้งต่อ รธน. ปี 2550 ไม่ว่าจะเป็นมาตราใด จึงไม่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยซ้ำอีก สำหรับข้อโต้แย้งอื่นๆ ของจำเลยที่ 1-3 , ที่ 6 – 18 , ที่ 27 และ ที่ 30 ตามคำร้องดังกล่าว หากจำเลยประสงค์จะโต้แย้งก็ให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในชั้นพิจารณาต่อไป

ส่วนคำฟ้อง ศาลเห็นว่า คำฟ้องที่เสนอต่อศาล เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 9 (1)(2) พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจาณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2545 และคำฟ้องถูกต้องตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 8 จึงมีคำสั่งให้ประทับฟ้อง

ส่วนคำร้องของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) ลงวันที่ 25 ก.ค.51 ขอเข้าเป็นโจทก์แทนที่ คตส. องค์คณะ ฯ เห็นว่า คตส. มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามแห่งชาติ พ.ศ.2542 โดย คต.ส ใช้อำนาจ ป.ป.ช. ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ข้อ 5 และข้อ 9 บัญญัติว่า ให้มติ คตส. ที่พิจารณาเกี่ยวกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกระทำผิดและทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ ร่ำรวยผิดปกติ ให้ถือว่ามตินั้นเป็นมติ ป.ป.ช. ดังนั้น ป.ป.ช. มีอำนาจเข้ามาเป็นโจทก์แทน คตส. ซึ่งสิ้นสุดหน้าที่ไปหลังจากวันที่ 30 มิ.ย.51 ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 พ.ศ.2550 จึงอนุญาตให้ ป.ป.ช. เข้ามาเป็นโจทก์คดีนี้แทน คตส. ได้

โดยศาลมีคำสั่งให้ส่งหมายเรียก , สำเนาฟ้อง และสำเนาคำร้อง ป.ป.ช. ขอเป็นโจทก์แทนที่ คตส. ให้จำเลยทั้ง 44 คน ซึ่งจำเลยที่มีภูมิลำเนาใน กทม. ให้โจทก์นำเจ้าหน้าที่ศาลส่งหมายภายใน 10 วัน นับแต่วันนี้ ส่วนจำเลยที่มีภูมิลำเนาต่างจังหวัดให้ส่งหนังสือถึงศาลจังหวัดซึ่งมีอำนาจในเขตพื้นที่นั้น ช่วยดำเนินการส่งหมาย หากการส่งหมายทั้ง 2 กรณีไม่พบจำเลยเป็นผู้รับหมาย หรือมีผู้แทนรับหมายโดยชอบ ก็ให้ปิดหมาย โดยศาลนัดพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 23 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น.

ภายหลัง นายเจษฎา อนุจารี อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ สภาทนายความ ซึ่งเป็นทนายความรับผิดชอบคดี กล่าวถึงกรณีจำเลยได้ยื่นคำร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหลายประเด็นเกี่ยวกับประกาศ คปค. ศาลมองว่าประเด็นเหล่านั้นศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดเรียบร้อยแล้ว จึงพิจารณาที่จะไม่ส่งซ้ำอีก ส่วนประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในการฟ้องคดี คตส.และป.ป.ช.ทั้งหมดนั้น เป็นประเด็นที่จำเลย สามารถยื่นคำให้การคัดค้านได้

นายเจษฎา กล่าวด้วยว่า ในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรกที่ 23 ก.ย.นี้ จำเลยทั้งหมดต้องมาศาลด้วยตัวเอง เพราะคดีที่ฟ้องเป็นความผิดอาญา ซึ่งหากจำเลยทราบนัดแล้วไม่มาศาล ศาลก็อาจจะพิจารณาออกหมายจับได้ ทั้งนี้กระบวนการพิจารณาไต่สวนคดีของศาลฎีกาฯ ค่อนข้างรวดเร็ว จึงคาดว่าคดีนี้ใช้เวลาไม่นาน แต่ก็ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเสร็จได้ในช่วงเวลาใด สำหรับการไต่สวนพยานนั้น ฝ่ายโจทก์จะนำสืบบุคคลที่สำคัญเท่านั้น เพราะการพิจารณาคดีก็ยึดสำนวนการสอบสวนในชั้น คตส. ซึ่งมีพยานเอกสารจำนวนมาก โดยสำนวนการสอบสวนคดีนี้ค่อนข้างสมบูรณ์จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหา แต่ทั้งนี้การพิจารณาคดีก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะเดียวกันวันนี้ นายวัชระ สุคนธ์ ทีมทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คดีทุจริตการปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงค์ ) ให้กับรัฐบาลพม่า 4,000 ล้านบาท ก็ได้เดินทางมายังศาลฎีกา ฯ เพื่อยื่นคำร้องขอคัดสำเนาคำฟ้อง และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดี เพื่อเตรียมการต่อสู้คดี ซึ่งคดีนี้ศาลฎีกา ฯ นัดพิจารณาคดีครั้งแรกวันที่ 16 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น