xs
xsm
sm
md
lg

“เนวิน” แน่มาก! ศาลยกฟ้อง 44 จำเลยทุจริตกล้ายาง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง “เนวิน-อดิศัย-วราเทพ-สรอรรถ” ไม่มีเอี่ยวทุจริตโครงการจัดซื้อกล้ายาง 1,440 ล้าน ขณะที่กลุ่มข้าราชการ คชก.และบริษัทเอกชน 3 ราย พิพากษายกฟ้องเช่นกัน เนื่องจากไม่พบความผิดใด และไม่จำเป็นต้องชดใช้คืนงบประมาณดังกล่าวแก่รัฐ
เนวิน น้ำตาคลอ พ้นผิดทุจริตกล้ายาง


รายงานพิเศษ ย้อนรอยทุจริตกล้ายาง


วันนี้ (21 ก.ย.) ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาครั้งที่ 2 ในคดีทุจริตจัดซื้อต้นกล้ายางพารา 90 ล้านต้น มูลค่า 1,440 ล้านบาท หลังเลื่อนมาจากวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา เนื่องจากนายอดิศัย โพธารามิก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาไม่เดินทางมาฟังคำพิพากษา อ้างว่ากำลังเข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในวันนี้จำเลยเดินทางมาครบ ยกเว้นนายอดิศัย

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย นายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ จำเลยที่ 4 นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร จำเลยที่ 19 มีความผิดฐานเป็นผู้ริเริ่มโครงการโดยปกปิดข้อเท็จจริงทำให้รัฐได้รับข้อเสียหาย หรือไม่ ซึ่งเห็นว่า โครงการกล้ายาง เป็นการริเริ่มจากนโยบายรัฐสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมุ่งสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างการปลูกยางพาราในประเทศ ทั้งยังมีรายงานการศึกษา แนวทางปฏิรูปยางพาราไทย เพื่อรองรับตลาดยางโลก หาใช่ความคิดเห็นของจำเลยที่ 4, จำเลยที่ 19 เพียงฝ่ายเดียว ดังนั้น จำเลยที่ 4, จำเลยที่ 19 ไม่มีความผิด พิพากษายกฟ้อง ไม่ต้องชดใช้งบประมาณทั้งหมดคืนรัฐ

ส่วนจำเลยที่ 1-3 และจำเลยที่ 5-8 ประกอบไปด้วย คณะรัฐมนตรี และข้าราชการ กลุ่มคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คชก., นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะ คชก., ในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ, นายสรอรรถ กลิ่นประทุม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอดิศัย โพธารามิก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และข้าราชการระดับอธิบดีหลายกระทรวงที่รวมอยู่ในคณะกรรมการของกระทรวง โดยมีมติอนุมัติงบประมาณ 1,440 ล้านบาท ที่ซื้อกล้ายาง โดยฝ่าฝืนมติ คชก.เดิม ที่ห้ามมิให้ช่วยเหลือกิจการยางพารา ที่มีมาตรการตามกฎหมายช่วยเหลือเป็นระบบอยู่แล้ว แนวทางนำสืบเห็นว่า ข้อกำหนดห้ามมิให้ช่วยเหลือดังกล่าวน่าจะเป็นการห้ามมิให้ช่วยเหลือในรูปแบบที่มีข้อกำหนดคุ้มครองช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่หากเป็นการช่วยเหลือในลักษณะอื่นย่อมสามารถทำได้ การกระทำของจำเลยกลุ่ม คชก.ไม่เข้าข่ายการกระทำผิดตามฟ้องของโจทก์

ส่วนกลุ่มข้าราชการที่เป็นผู้กำหนดเงื่อนไข และคณะกรรมการประกวดราคาโครงการกล้ายาง ศาลเห็นว่าในทางนำสืบพบว่า มีขั้นตอนการกำหนดเงื่อนไข หลักเกณฑ์ในการประกวดราคา โดยเปิดกว้างไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติ เพื่อกีดกันผุ้ประกวดราคารายใด รายหนึ่ง จึงเป็นการปฏิบัติเป็นไปตามหน้าที่ พิพากษายกฟ้องเช่นกัน

ในส่วนของกลุ่มบริษัทเอกชนที่มี 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี, บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด และ บริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด ศาลพิพากษายกฟ้อง

ภายหลังที่ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง นายเนวินกล่าวด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า รู้สึกดีใจกับคำตัดสินที่พิพากษายกฟ้อง ซึ่งกล้ายางพารา 90 ล้านต้นจากงบประมาณ 1,440 ล้านบาท อีก 2 ปีข้างหน้าเกษตรกรชาวสวนยางจะได้น้ำยางพาราที่สร้างรายได้ในอนาคต ส่วนตนก็จะเดินหน้าทำงานต่อไป และจะปกป้องสถาบันจนกว่าชีวิตจะหาไม่ จากนั้นนายเนวินได้นั่งรถโฟล์คแวนสีบรอนซ์ดำ ทะเบียน ฮต 6279 กทม.ออกจากศาลทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าว จำนวน 44 คน แยกตามฐานความผิด ได้ 7 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตร (คชก.) ประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการการกลั่นกรอง และประธาน คชก. นายวราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการ คชก. นายสรอรรถ กลิ่นประทุม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกรรมการ คชก. นายอดิศัย โพธารามิก อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกรรมการ คชก. นายพิศิษฐ เศรษฐวงศ์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายปริญญา อุดมทรัพย์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ น.ส.บุญมี เลิศพิเชษฐ ผู้อำนวยการกลุ่มงานเงินนอกงบประมาณ นางเสริมสุข ชลวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ อธิบดีกรมการค้าภายใน นายกรณรงค์ ฤทธิ์ฤาชัย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน นายสิทธิ บุณยรัตผลิน อธิบดีกรมประมง และ น.ส.สุชาดา วราภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ทั้งหมดมีฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 151 และ 157 ส่วน น.ส.สุกัญญา โตวิวิชญ์ ผู้บริหารส่วนวิเคราะห์ สาขาเศรษฐกิจ และ นายพิทยาพล นาถธราดล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 11 ประกอบมาตรา 83 ตามประมวลกฎหมายอาญา

2.นายอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรแห่งประเทศไทย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ มาตรา 11

3.นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายจิรากร โกศัยเสวี นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ นายจำนง คงศิลป์ กรรมการบริหารโครงการและกรรมการพิจารณาโครงการประกวดราคา นายสุจินต์ แม้นเหมือน นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการบริหารโครงการ นายสมบัติ ยิ่งยืน นายสมชาย ชาญณรงค์กุล กรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 11, 12 และมาตรา 83, 157 และ 341 ตามประมวลกฎหมายอาญา

4.นายสกล บุญชูดวง ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด นายญาณกร สิงห์ชุม ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด นายสำราญ ชัยชนะ ผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในฐานะผู้ชนะการประกวดราคา บริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด บริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด ในฐานะผู้เสนอราคา มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ มาตรา 4, 10, 11, 12, 13 และประมวลกฎหมายอาญา 86, 157, 341

5.นายวัลลภ เจียรวนนท์ นายมิน เธียรวร นายประเสริฐ พุ่งกุมาร นายธีรยุทธ พิทยาอิสรกุล นายพงษ์เทพ เจียรวนนท์ นายเอี่ยม งามดำรง นายบุญเลิศ ประภากมล กรรมการบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด นายวรวิทย์ เจนธนากุล นางวิไลลักขณ์ รัตนสวัสดิ์ กรรมการบริษัท รีสอร์ทแลนด์ จำกัด น.ส.พัชรี ชินรักษ์ นางอนงนุช ภรณวลัย นางเจริญศรี ลือพัฒนสุข กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท เอกเจริญการเกษตร จำกัด มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐมาตรา 4, 9, 10, 11, 12, 13 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86, 157, 341

6.นายฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ฐานเป็นผู้ริเริ่มโครงการมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดการเสนอความผิดต่อหน่วยงานรัฐ มาตรา 10, 11, 12 ตามประมวลกฎหมายอาญา 83, 84, 157, 341

7.นายเนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดการเสนอความผิดต่อหน่วยงานรัฐ มาตรา 10, 13 ตามประมวลกฎหมายอาญา 83, 157, 341

รายงานสดจากพื้นที่ข่าว

เดินทางมายังศาลฎีกา


ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องคดีโครงการจัดซื้อกล้ายางพารา 1,440 ล้านบาท










กำลังโหลดความคิดเห็น