xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้องทวงคืน ปตท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – กระชากหน้ากาก ปตท. ผูกขาดธุรกิจน้ำมันและก๊าซฯ บิดเบือนกลไกตลาดจนประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ขณะที่บิ๊กปตท.-ข้าราชการ – นักการเมือง ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในองค์กรซ่อนเงื่อนกลับร่ำรวย ถ้วนหน้า แถมงุบงิบอมทรัพย์สินของแผ่นดินที่ต้องคืนตามคำสั่งศาลหลายแสนล้าน พันธมิตรฯ รวมพลบุกทวงคืนปตท.วันนี้ (25 ก.ค.)

การแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) จากรัฐวิสาหกิจ ให้กลายเป็นบริษัท จำกัด (มหาชน) ในยุคสมัยรัฐบาลทักษิณ เมื่อปี 2544 ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของรัฐแห่งนี้ มีเป้าหมายมุ่งแสวงหากำไรเป็นด้านหลัก แทนที่จะเป็นองค์กรของรัฐเพื่อตรึงราคาน้ำมันและก๊าซฯ รวมทั้งการเกลี่ยราคาระหว่างกันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงรับมือภาวะขาดแคลน และจัดหาแหล่งพลังงาน เพื่อหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจโดยรวมของชาติ

บทบาทที่เปลี่ยนไปทำให้ ปตท. ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงขั้นฟ้องร้องต่อศาลเพื่อเอา ปตท. คืนมาเป็นของรัฐ แม้คดีจะจบลงโดยองค์กรผู้บริโภค ผู้ฟ้อง แพ้คดี แต่ศาลฯได้สั่งให้ปตท.ต้องคืนทรัพย์สินที่เป็นสมบัติชาติ รวมทั้งอำนาจและสิทธิของรัฐ กลับคืนมา แต่จนบัดนี้ปตท.ยังงุบงิบอิดเอื้อน เพราะปตท.ได้อาศัยทรัพย์สิน อำนาจและสิทธิของรัฐ ซึ่งเป็นสถานะที่เหนือกว่าคู่แข่งขันในทุกด้านเข้าผูกขาดตัดตอน บิดเบือนกลไกตลาดอย่างยอกย้อนซ่อนเงื่อนพร้อมๆ กับหว่านโปรยเม็ดเงินและผลประโยชน์ทั่วทุกวงการเพื่อซื้อใจคนเหล่านั้นเข้ามาเป็นพวก

***ขาย ปตท. ขาดทุน ขายทำไม ??

ในการแปลงสภาพหรือแปรรูปปตท. คณะกรรมการที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลายคณะที่จัดตั้งโดยรัฐบาลทักษิณ ได้ตีมูลค่าทรัพย์สิน และราคาหุ้น ของ ปตท.ในราคาต่ำมาก สร้างความเสียหายต่อประเทศไม่น้อยกว่า 190,000 ล้านบาท โดยหุ้นของปตท.ที่นำออกขาย 25% เมื่อปี 2544 จำนวน 800 ล้านหุ้นในราคา 35 บาทต่อหุ้น จะได้เงินสูงสุดไม่เกิน 28,000 ล้านบาท ขณะที่ข้อเท็จจริงรัฐและประชาชนถูกโกงไปมากกว่าเงินที่ได้จากการขายหุ้น กล่าวคือ

1) ก่อนกำหนดราคาหุ้นของ ปตท. มีการแก้บัญชีย้อนหลัง ทำให้ทุนและกำไรสะสมของ ปตท. จำนวน 50,121 ล้านบาท ถูกลดเหลือเพียง 14,441 ล้านบาท เท่ากับมูลค่าทรัพย์สินของ ปตท. เมื่อเป็นรัฐวิสาหกิจหายไปถึง 36,000 ล้านบาท สินทรัพย์ที่หายไปมีมูลค่ามากกว่าเงินที่ได้จากการขายหุ้น
 
2) เงินที่ได้จากการขายหุ้น ต้องจ่ายให้บริษัทผู้ขายหุ้น 800 ล้านบาท

3) ประกาศจ่ายเงินปันผลก่อนขายหุ้นว่าภายใน 3 เดือน จะปันผลหุ้นละ 2 บาท แม้จะยังไม่ได้คำนวณผลประกอบการเป็นเงิน 1,600 ล้านบาท
 
4) ขายหุ้นให้พนักงานและผู้บริหารในราคาพาร์ 10 บาท จำนวน 48 ล้านหุ้น เป็นการนำสมบัติชายมาแบ่งปันกัน ซึ่งฝ่ายบริหารอาศัยการแบ่งหุ้นให้พนักงานระดับล่างของปตท. เป็นเกราะกำบังในการได้ประโยชน์จากทรัพย์สมบัติชาติมากกว่าพนักงานทั่วไป

และ 5) การประเมินมูลค่าบริษัทในเครือปตท. ซึ่งรัฐวิสาหกิจ ปตท. เคยลงทุนบริษัทในเครือจำนวน 63,672 ล้านบาท กลับถูกตีมูลค่าติดลบ 5,190 ล้านบาท เท่ากับยกบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจ ปตท. ให้ฟรีแล้วยังแถมเงินให้อีก 5,190 ล้านบาท

ดังนั้น เมื่อรวมการประเมินลดมูลค่าทรัพย์สิน ปตท. ทั้งหมด ปรากฏว่า มีจำนวนถึง 106,008 ล้านบาท เทียบกับการขายหุ้น ปตท. ได้เงินสูงสุดไม่เกิน 28,000 ล้านบาท เท่ากับการขายรัฐวิสาหกิจ ปตท.แบบขาดทุน คำถามคือ ขายทำไม

ขณะที่ประเทศชาติเสียหายจากการประเมินมูลค่าทรัพย์สินราคาถูก ขายขาดทุน ข้างต้น ผู้บริโภค ภาคธุรกิจในฐานการผลิตเดือดร้อนจากการผูกขาดและกำไรสูงเกินควร คือ น้ำมันราคาแพง และการกำหนดโครงสร้างราคา การกำกับดูแลที่ไม่ชอบธรรม กำไรที่ขูดรีด การก่อหนี้กองทุนน้ำมัน การฮั้วราคาน้ำมันระหว่างโรงกลั่นกับปั๊มน้ำมัน การทำลายผู้ประกอบการรายเล็กในท้องตลาด

ส่วนก๊าซธรรมชาติผูกขาด ราคาแพง จากโครงสร้างราคา ค่าปากหลุม ค่าหัวคิว ค่าท่อ กำไรจากก๊าซ ฮั้วกันระหว่างปตท.และบริษัทลูก และราคาไฟฟ้า ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากก๊าซ สิทธิพิเศษที่ ปตท. ผูกขาดขายก๊าซ 100% และน้ำมัน 80% ให้ กฟผ. ในราคาแพงกว่าที่ขายให้บริษัทลูกของ ปตท.

*** เครือข่าย เครือญาติ นักการเมือง รวยอื้อ

การแปรรูป ปตท. เปิดทางให้มีการคอร์รัปชั่น กลายเป็นเครื่องมือสร้างความร่ำรวย เอื้อประโยชน์ให้กับญาติ พรรคพวก นักการเมืองและเครือข่าย มาตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ เป็นต้นมาจนบัดนี้ การจัดสรรขายหุ้นบริษัท ปตท. ซึ่งเป็นสมบัติของชาติและของประชาชนทุกคน มีการจัดสรรในลักษณะอภิสิทธิ์ จำนวน 47,245,725 หุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท ต่ำกว่าราคาขายให้ประชาชนทั่วไปในราคาหุ้นละ 35 บาท

ขณะที่การเปิดขายให้ประชาชนทั่วไป ปรากฏว่า การจองหุ้นหมดเกลี้ยงภายใน 1 นาที 17 วินาที แต่บรรดาญาติและพรรคพวกนักการเมืองกลับได้รับการจัดสรรหุ้นสูงสุดถึงครอบครัวละ 5,106,000 หุ้น ซึ่งไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะตระกูลจุฬางกูล เช่น ทวีฉัตร จุฬางกูร หลานของ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตเลขาพรรคไทยรักไทย และรมว.อุตสาหกรรม ขณะนั้น ได้ 2.2 ล้านหุ้น มูลค่า 77 ล้านบาท และตระกูล มหากิจศิริ ที่ได้หุ้นจำนวนมาก

ไม่เพียงแต่ร่ำรวยจากหุ้น ปตท. เท่านั้น เครือข่าย เครือญาติ นักการเมือง รวมถึงข้าราชการระดับสูง และผู้บริหารของปตท. ยังมีร่ำรวยจากเงินเดือน เบี้ยประชุม โบนัส สารพัดผลประโยชน์จากการเข้ามาเป็นบอร์ดของปตท.และบริษัทลูก เป็นการถ่างขาคุมหลายตำแหน่ง

ยกตัวอย่างเช่น ณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ที่นั่งเป็นประธานบอร์ด ปตท., พานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนฯ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เป็นกรรมการ ปตท., จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการ กพช. เป็นกรรมการ ปตท., พรทิพย์ จาละ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการกพช. เป็นกรรมการอิสระและตรวจสอบ ปตท.,

อำพน กิตติอำพน เลขาธิการสภาพัฒน์ คณะกรรมการ กพช. เป็นกรรมการปตท., คุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานบอร์ด ปตท. สผ., เมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เป็นกรรมการ ปตท. สผ. และ พรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานบอร์ดปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น และประธานบอร์ดปตท.เคมิคอล เป็นต้น ซึ่งข้าราชการเหล่านี้จะได้รับโบนัสประมาณ 1-2 ล้านบาทต่อปี ค่าเบี้ยประชุมหลักแสนถึงหลักล้านบาท

ส่วนผู้บริหาร ปตท. ยกตัวอย่างกรณีนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ผู้ซึ่งเคยเป็นกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่มีมติให้แปรรูปปตท. ได้รับเบี้ยประชุม โบนัส เงินเดือน ปีละมากกว่า 39,045,426 บาท ไม่นับการรวยหุ้นที่ได้จากการได้สิทธิซื้อหุ้นในราคาถูกแล้วนำมาขายเฉพาะในปี 2550 ได้เงินเฉพาะที่เปิดเผยมากกว่า 122 ล้านบาท เป็นต้น

***ผูกขาด บิดเบือน สูบกำไร

ปตท.กำไรปีละประมาณ 100,000 ล้านบาท มีผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 45 – 55% หรือค้าขายโดยคืนทุนในเวลาเพียง 2 ปี ท่ามกลางความทุกข์ยากของประชาชน สร้างผลกระทบของภาคธุรกิจจริงวายวอด

การผูกขาดธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ธุรกิจก๊าซหุงต้ม และธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ทำให้บริษัท ปตท. และบริษัทในเครือ สามารถกำหนดราคาน้ำมันแพงเกินควร ขูดรีดเอากำไรจากประชาชนเกินควรปีละประมาณ 84,000 ล้านบาท และตั้งราคาก๊าซแพงเกินควรไปปีละกว่า 40,000 ล้านบาท ก๊าซฯและน้ำมันซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน มีความจำเป็นต่อชีวิตถูกค้ากำไรเกินควรโดยปตท. ครัวเรือนต้องรับภาระค่าพลังงานจาก 10,000 บาท/ครัวเรือน ในปี 2543ก่อนการแปรรูป ปตท. เป็น 17,000 บาท/ครัวเรือน/ปี ในเวลานี้

การขูดรีดจากการผูกขาด ทำให้ผลประกอบการของ ปตท. ใน 2540 – 2544 ก่อนการแปรรูปมีกำไรเพียงปีละประมาณ 20,000 ล้านบาท ไต่ระดับขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยในปี 2547 ปตท.มีรายได้ 680,650 ล้านบาท กำไรสุทธิ 62,666 ล้านบาท พอสิ้นปี 2550 รายได้เพิ่มขึ้นกว่า 150% อยู่ที่ 1,553,053 ล้านบาท หรือกว่า 1.5 ล้านล้านบาท มีกำไร 97,803 ล้านบาท หรือเกือบแสนล้าน โดยธุรกิจน้ำมันทำยอดรายได้กว่า 70% แต่กำไรเนื้อๆ ของปตท.มาจากธุรกิจก๊าซฯ ซึ่งผูกขาดทั้งระบบ

แผนลงทุนของ ปตท.จึงทุ่มลงทุนไปยังธุรกิจก๊าซฯ โดยในช่วง 5 ปี (2551-2555) มูลค่ารวม 241,211 ล้านบาท ทั้งการวางท่อก๊าซฯและโรงแยกก๊าซฯ ขณะที่ธุรกิจน้ำมัน ปตท.ยึดครองส่วนแบ่งตลาดการจำหน่ายน้ำมัน (หน้าปั๊ม) ไว้ได้ถึง 34% ปริมาณ 14,277,771 ล้านลิตร (น้ำมันทุกประเภท) จากปริมาณรวม 42,016,351 ล้านลิตร

สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การค้ากำไรจากน้ำมัน ปตท. กระทำโดยคิดราคาน้ำมันที่สูงกว่าต้นทุนจริงโดยอิงราคาน้ำมันที่ซื้อขายล่วงหน้าที่สิงคโปร์ มาเป็นราคาต้นทุนน้ำมัน ซึ่งไม่ใช่ต้นทุนที่แท้จริงของบริษัทเนื่องจากส่วนใหญ่ซื้อน้ำมันจากประเทศแถบตะวันออกกลางแล้วนำมากลั่นในประเทศออกขาย และอีกส่วนหนึ่งประมาณ 21% เป็นน้ำมันในประเทศ

เช่น หากสิงคโปร์ กำหนดราคาซื้อขายที่ 34 บาท บริษัทน้ำมันจะกำหนดราคาน้ำมันในประเทศไทยอยู่ที่ 35 บาทโดยอัตโนมัติเพราะบวกค่าขนส่ง 1 บาททันที เมื่อรวมกับค่าการตลาด ภาษีกองทุนน้ำมัน ภาษีมูลค่าเพิ่มอีกประมาณ 6 บาท ทำให้ราคาน้ำมันที่จำหน่ายในท้องตลาดจะอยู่ที่ 41 บาท

แต่หากพิจารณาต้นทุนที่แท้จริง พบว่า ต้นทุนราคาน้ำมันดิบที่ซื้อขายประมาณ 140 เหรียญต่อบาเรล ทำให้ราคาน้ำมันดิบก่อนการกลั่นของบริษัท อยู่ที่ประมาณ 28 บาทต่อลิตร หากรวมค่าขนส่งและค่าการกลั่นจำนวน 2 บาท ค่าการตลาดและภาษีทุกประเภทอีก 6 บาท บริษัทน้ำมัน หรือปตท. ควรจะขายน้ำมันอยู่ที่ลิตรละ 36 บาทก็มีกำไรแล้ว ในทางกลับกัน หากปตท.กลั่นน้ำมันส่งออกไปขายที่สิงคโปร์ จะขายได้ในราคาเพียง 33 บาทเท่านั้น เพราะต้องหักต้นทุน 1 บาทสำหรับค่าขนส่งน้ำมัน

*** ปตท.อมท่อก๊าซฯ - ทวงคืนสมบัติชาติ

สำหรับการผูกขาดธุรกิจก๊าซฯ ของ ปตท. นั้น รัฐบาลทักษิณ ได้ใช้วิธีแยบยลในการฮุบสมบัติชาติ คือ จัดการให้ท่อส่งก๊าซกลายเป็นสมบัติของบริษัท ปตท. ด้วยการเปลี่ยนนโยบายด้านการจัดการพลังงานเป็นระบบผูกขาดเจ้าเดียว ทำให้หุ้นของ ปตท. มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมหาศาล ซึ่งเป็นประจักษ์พยานถึงการคอร์รัปชั่นทางนโยบายในยุครัฐบาลทักษิณ ทั้งที่ ปตท. มีเงื่อนไขในการขายหุ้นว่า จะมีการแยกท่อก๊าซฯ ภายใน 1 ปี ก็ตาม ปตท. โยกโย้คืนท่อก๊าซฯ ให้แก่รัฐมาโดยตลอด กระทั่งมีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเมื่อปลายปีที่แล้วในคดีที่องค์กรผู้บริโภคฟ้องร้อง

กระนั้นก็ตาม การคิดราคาค่าเช่าท่อก๊าซฯ ของกระทรวงการคลัง เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้และกำไรจากธุรกิจก๊าซฯ ที่ปตท. ได้รับในแต่ละปี ถือเป็นราคาถูกแสนถูก และยังมีระบบท่อก๊าซอีกหลายส่วนที่ ปตท. เบี้ยวไม่ยอมคืนแก่รัฐ และรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่ได้ประโยชน์จาก ปตท. ก็ทำเป็นเพิกเฉย

สายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ให้ข้อมูลว่า ความสำคัญของระบบท่อก๊าซไม่ได้มีแค่เพียงรายได้จากค่าผ่านท่อก๊าซฯ กว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี แต่ยังหมายถึงการเอากิจการท่อก๊าซฯ ซึ่งผูกขาดตามธรรมชาติไปต่อยอดธุรกิจ ค้ากำไรเกินควร ตั้งแต่การจัดหาและจำหน่ายก๊าซฯ การเลือกปฏิบัติในการขายก๊าซฯให้โรงแยกก๊าซฯของปตท.ในราคาถูก ขณะที่ขายให้กับโรงไฟฟ้าในราคาแพง การเอื้อประโยชน์ให้ ปตท.สผ. บริษัทลูก ปตท. โดยการรับซื้อก๊าซในราคาที่แพงกว่าก๊าซที่รับซื้อจากผู้ผลิตก๊าซรายอื่นๆ ซึ่งผลของการผูกขาด ขูดรีดและเลือกปฏิบัติเหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อภาระค่าก๊าซและค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นของผู้บริโภคและประชาชนทุกคน

สายรุ้ง บอกว่า หากคิดอัตราค่าผ่านท่อ โดยปรับใช้เกณฑ์การเงินเท่ากิจการไฟฟ้า แทนการประกันกำไรสูงเกินควรดังในปัจจุบัน ที่คิด IRROE สูงถึง 18% ส่วนนี้จะลดค่าไฟฟ้าได้มากกว่าปีละ 6,000 ล้านบาทต่อปี และหากเกลี่ยราคาก๊าซที่ขายโรงไฟฟ้า และโรงแยกก๊าซของ ปตท. ให้เท่ากันไม่เลือกปฏิบัติ จะลดได้มากกว่า 5,000 ล้านบาท/ปี

ทั้งนี้ เมื่อปตท.กลายเป็นบริษัทเอกชน ธุรกิจโรงแยกก๊าซของปตท. ไม่ควรได้รับอภิสิทธิ์ในการใช้ก๊าซราคาถูกกว่าผู้ใช้ก๊าซอื่น เหมือนเมื่อครั้งที่มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ปัจจุบัน ปตท.ขายก๊าซให้กับโรงแยกก๊าซของตนเอง จำนวน 5 โรง ในราคาประมาณ 150 บาทต่อล้านบีทียู (ไม่รวมค่าผ่านท่อ) ขณะที่ขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ผู้ใช้ก๊าซรายใหญ่สุดของประเทศ ในราคาที่แพงกว่า คือ 180 บาทต่อล้านบีทียู (ไม่รวมค่าผ่านท่อ) กลายเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าของทุกครัวเรือน

ขณะที่โรงแยกก๊าซฯ ของปตท. ไม่ได้ผลิตก๊าซหุงต้มเพื่อใช้ภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งออกผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำกำไรให้ปตท.สูงถึง 15,000 ล้านบาท/ปี รวมทั้งหากยกเลิกการเก็บค่าหัวคิวกับโรงไฟฟ้าจากการเป็นพ่อค้าคนกลางผูกขาดท่อก๊าซฯ ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ถึงปีละประมาณ 3,500 ล้านบาท

ปัจจุบัน บมจ.ปตท.คิดค่าตอบแทนในการจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ หรือ “ค่าหัวคิว” ในฐานะที่เป็นพ่อค้าคนกลางผูกขาดการซื้อก๊าซจากผู้รับสัมปทานขุดเจาะก๊าซฯ และผูกขาดการจำหน่ายให้ผู้ใช้ก๊าซ โดยบวก “ค่าหัวคิว” ในอัตราร้อยละ 1.75 - 9–33 ของราคาเนื้อก๊าซเฉลี่ย ดังนั้นหากผู้ใช้ก๊าซ และผู้ขุดเจาะก๊าซสามารถซื้อขายตรงได้ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าหัวคิว

ปตท. ยังเอื้อประโยชน์ราคารับซื้อก๊าซจาก ปตท.สผ. เพราะก๊าซที่ซื้อจากแหล่งในอ่าวไทยที่ ปตท.สผ. ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่บมจ.ปตท. ร่วมทุนแพงกว่าแหล่งอื่น ๆ ถึง 28% และก๊าซที่ซื้อจากแหล่งในพม่าที่ ปตท.สผ. ร่วมทุนแพงกว่าแหล่งอื่น ๆ ถึง 72% ภาระค่าก๊าซที่เพิ่มขึ้นนี้จะถูกผลักภาระไปให้ผู้ใช้ไฟ ซึ่งการเอื้อประโยชน์ดังกล่าวนี้ ไม่สามารถประเมินค่าไม่ได้ แต่ทำให้ปตท.สผ. มีผลกำไรปีละกว่า 30,000 ล้านบาท และเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามราคาน้ำมันโลก โดยรายได้กว่า 90% มาจากการขายก๊าซราคาแพงให้โรงไฟฟ้าและประชาชนคนไทย

ข้อมูลแผนการระดมทุนของ บมจ. ปตท. ระบุชัดว่า โครงสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน โดยพิจารณาจากกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA และกำไรขั้นต้นที่ผ่านมาของปตท.แยกตามรายธุรกิจ พบว่า ธุรกิจหลักที่สร้างผลกำไรให้กับปตท.อย่างแท้จริง คือ ธุรกิจก๊าซฯ ซึ่งสร้าง EBITDA และกำไรขั้นต้นในช่วงปี 2542 – 2543 และ 6 เดือนแรกของปี 2544 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.5 และ 82.3 ของ EBITDA รวม และกำไรขั้นต้นรวมของปตท.ตามลำดับ

“ผลประกอบการของปตท.ที่เน้นธุรกิจก๊าซฯ จะส่งผลดีต่อมูลค่าของบมจ.ปตท. เนื่องจากนักลงทุนจะให้มูลค่าธุรกิจก๊าซฯ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนส่งก๊าซฯทางท่อ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีผลตอบแทนค่อนข้างแน่นอน) สูงกว่ามูลค่าธุรกิจน้ำมันที่มีผลประกอบการค่อนข้างผันผวน…” นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ปตท. รุกหนักในธุรกิจก๊าซ โดยงบลงทุนประมาณร้อยละ 90 จะทุ่มลงไปยังโครงการธุรกิจก๊าซฯ ทั้งสิ้น

การผูกขาดตัดตอนขูดรีดกำไร ทั้งธุรกิจน้ำมัน และธุรกิจก๊าซฯ ของปตท.ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนอย่างแสนสาหัส จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องทวงคืนปตท. และทวงสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ปตท.ต้องโอนคืนให้รัฐ ทั้งระบบท่อน้ำมัน-ท่อก๊าซ ซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 3,523 กม.แบ่งเป็นระบบท่อบนบกความยาว 3,384 กม.ระบบท่อส่งก๊าซในทะเลยาว 1,369 กม.ระบบท่อจัดจำหน่ายยาว 770 กม. รวมทั้งท่อที่กำลังก่อสร้างตามแผนแม่บทฉบับที่ 3 ซึ่งใช้งบประมาณลงทุนของรัฐ จำนวนทั้งสิ้น 157,102 ล้านบาท

ระบบท่อของโครงการไทยมาเลเซีย ที่มีมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่อยู่ในประเทศไทย ประมาณ 15,062 ล้านบาท รวมถึงโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 1 และ 2 ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา และโรงแยกก๊าซฯ 4 แห่ง คลังก๊าซฯแอลพีจี 6 แห่ง คลังคลังสำรองผลิตภัณฑ์เขาบ่อย่า คลังปิโตรเลียม 7 แห่ง คลังน้ำมัน 3 แห่ง คลังก๊าซ 1 แห่ง ท่าเทียบเรือ 7 แห่ง เป็นต้น

กำลังโหลดความคิดเห็น