xs
xsm
sm
md
lg

24มิ.ย.เครือข่ายภาคประชาชน-เกษตรกร-แรงงาน-คนจนเมืองดีเดย์ชุมนุมใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

20 เครือข่ายเกษตรกรและองค์กรประชาชนประกาศยุทธศาสตร์ความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหาร จับตาต่างชาติ และบริษัทขนาดใหญ่ลงทุนทำนา โรงสี ลงทุนการเกษตร ต้านข้าวลูกผสมและพันธุ์พืชจีเอ็มโอ รวมพลังผลักดันให้มีการปฎิรูปที่ดิน โอนหนี้สินชาวนาเข้ากองทุนฟื้นฟู ขับเคลื่อนเกษตรกรรมแบบชีวภาพ และพลังงานทดแทนระดับชุมชน ให้เป็นวาระแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนรวม 20 เครือข่าย ได้แก่ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก สภาเครือข่ายองค์กรประชาชนแห่งประเทศไทย เครือข่ายหนี้สินชาวนา เครือข่ายสลัมสี่ภาค กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน เป็นต้น ร่วมกันประกาศยุทธศาสตร์และแผนปฎิบัติการของภาคประชาชน ในวันสุดท้ายของการประชุม “สมัชชาประชาชนเพื่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหาร” ซึ่งจัดขึ้นที่อาคารสถาบัน 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 14-15 มิถุนายน 2551 โดยมีเกษตรกร และองค์กรภาคประชาชนเข้าร่วมประมาณ 200 คน จาก 20 เครือข่ายทั่วประเทศ

นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา คณะทำงานสมัชชาประชาชนเพื่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหาร แถลงว่าที่ประชุมได้ประกาศยุทธศาสตร์ 4 ประการ คือ

1) เกษตรกรและภาคประชาชนต้องมีบทบาทหลักในการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาเรื่องอาหารและการเกษตร

2) ยุทธศาสตร์การปฏิรูปที่ดิน และการปลดเปลื้องหนี้สินเกษตรกร

3) ยุทธศาสตร์การพัฒนาตนเองเพื่อให้รอบรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตการตลาด การรู้เท่าทันบรรษัทขนาดใหญ่

และ 4)
ยุทธศาสตร์การพัฒนาทางเลือกและความร่วมมือระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภคและคนจนเมือง

นางกิมอัง พงษ์นารายณ์ ตัวแทนคณะทำงานจากสภาเครือข่ายองค์กรประชาชน ได้แถลงเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้ประกาศแผนปฏิบัติการรวม 12 ข้อเพื่อให้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวบรรลุเป้าหมาย ดังนี้

1)ผลักดันให้มีการปฎิรูปที่ดิน การบังคับใช้กฎหมายการเช่าที่ดินเพื่อให้คุ้มครองชาวนาเช่าอย่างจริงจัง

2) เคลื่อนไหวร่วมกันเพื่อหยุดการบังคับคดียึดที่ดินของเกษตรกรขายทอดตลาด และเร่งรัดโอนหนี้สินเกษตรกรเข้าสู่ระบบกองทุนฟื้นฟู

3) ร่วมมือกันต่อต้านต่างชาติเข้ามาครอบครองที่ดิน และการลงทุนทางการเกษตรที่ทำลายความมั่นคงของเกษตรกรรายย่อยและอธิปไตยของประเทศ

4) เปิดโปงปัญหาการเกษตรแบบพันธสัญญาของบริษัทขนาดใหญ่ที่ผลักภาระให้เกษตรกรผู้บริโภคเป็นผู้รับความเสี่ยง อีกทั้งยังไม่คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

5) ต่อต้านการส่งเสริมพืชจีเอ็มโอและคัดค้านพันธุ์ข้าวลูกผสมที่นำไปสู่การผูกขาดและปัญหาอื่นๆต่อเกษตรกรและผู้บริโภค

6) สร้างระบบการแลกเปลี่ยนผลผลิตระหว่างเครือข่าย ชุมชน และส่งเสริมระบบการค้าที่เป็นธรรม

7) ผลักดันเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรกรรมอินทรีย์ ที่ยืนอยู่บนฐานความหลากหลายทางชีวภาพโดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี

8) ผลักดันให้มีการพัฒนาพลังงานทางเลือกและพลังงานทดแทนในระดับชุมชน

9) สร้างฐานข้อมูล ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและทางออกที่เกี่ยวกับฐานทรัพยากร การเกษตร และอาหารระหว่างเครือข่าย

10) ร่วมกันฟื้นฟูภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่เกี่ยวกับการผลิต การจัดการทรัพยากร และการรักษาสิ่งแวดล้อม

11) ผลักดันให้คนจนเมืองได้รับหลักประกันในเรื่องการเข้าถึงอาหาร ซึ่งรวมถึงการพัฒนาความร่วมมือโดยตรงระหว่างเกษตรกร กรรมกร และคนจนในเมือง

12) ร่วมมือกันเพื่อให้เกิดขบวนการของเกษตรกรที่เข้มแข็ง เปลี่ยนแปลงระบบสหกรณ์ที่เป็นอยู่ให้เป็นองค์กรของชาวไร่ชาวนา และทำให้เกิดสภาเกษตรกรที่เป็นของเกษตรกรอย่างแท้จริง

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) และรศ.สุริชัย หวันแก้ว สถาบันวิจัยสังคมจุฬาซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการจัดประชุมครั้งนี้ ให้สัมภาษณ์ร่วมกันว่าที่ประชุมได้ตกลงจะจัดตั้ง “คณะทำงานประชาชนเพื่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหาร”ขึ้น เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนให้แผนปฏิบัติการดังกล่าวให้เกิดขึ้นได้จริง โดยจะมีองค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันทางวิชาการ เป็นจำนวนมากให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ 20 เครือข่ายองค์กรประชาชนข้างต้น

อนึ่ง ในวันที่ 24 มิถุนายน 2551 นี้ เครือข่ายสลัมสี่ภาคจะร่วมกับเครือข่ายของเกษตรกรและองค์กรภาคประชาชนจะชุมนุมเรียกร้องร่วมกันเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับมาตรการการเข้าถึงอาหารของคนจนเมือง ราคาสินค้าเกษตรที่เป็นธรรม และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติอาหารที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น