xs
xsm
sm
md
lg

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาคดีลดค่าเงินบาท(ฉบับเต็ม) ไขความลับดำมืด "ทักษิณ"อินไซด์ข้อมูล สะสมทุนตั้งพรรคกินเมือง??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ผู้จัดการออนไลน์ - เปิดคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ลดค่าเงินบาท (ฉบับเต็ม) เผยธาตุแท้ “โภคิน” มือกฎหมายชั้นนำของประเทศโกหกกลางศาล ด้าน “ด็อกเตอร์ทักษิณ” เศรษฐีมือถือ อินไซด์ข้อมูล ไขปริศนาดำมืดเหตุใดจึงรวยอู้ฟู่ ตักตวงประโยชน์ สะสมทุนตั้งสามารถตั้งพรรคกินเมืองในเวลาต่อมา ??

**ถอดรหัสคำพิพากษาศาลฎีกาคดีค่าเงินบาท ย้อนรอยวิกฤต 40 เปิดขบวนการปล้นชาติ - ตอนที่ 1 : เวลา 4 ทุ่ม กับคืนที่ทักษิณรู้ข่าวลดค่าเงินบาท**

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5730/2550 ยกฟ้องคดีที่นายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กับหนังสือพิมพ์อีก 8 ฉบับ เป็นเงิน 2,500 ล้านบาท กรณีที่นายสุเทพอภิปรายในญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2540 เรื่องการลดค่าเงินบาท โดยตั้งข้อสงสัยว่านายโภคิน จะนำมติจากที่ประชุมลับเรื่องการลดค่าเงินบาท ไปบอก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้บริษัทของ พ.ต.ท.ทักษิณได้ประโยชน์

คำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งทั้งสองฝ่ายนำสืบพยานและศาลได้พิเคราะห์ข้อเท็จจริงก่อนมีคำพิพากษา เปิดเผยให้เห็นความจริงที่ถูกเก็บงำเป็นความลับมาตลอดร่วมสิบปี ทั้งยังเผยให้เห็นธาตุแท้ของนักกฎหมายระดับชั้นนำของประเทศ ขณะที่ปริศนาและข้อพิรุธสำคัญที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการลดค่าเงินบาทได้ปรากฏให้เห็นมูลความจริง

ต่อไปนี้ คือ คำฎีกาและการนำสืบของโจทก์ (นายโภคิน พลกุล) การนำสืบต่อสู้คดีของฝ่ายจำเลยที่ 1 (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) การพิเคราะห์ข้อเท็จจริงของศาล และคำพิพากษาในคดีประวัติศาสตร์

…………………………………..

ศาลฎีกา รับคำฎีกาของโจทก์ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547 และศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณา โจทก์นำสืบว่า โจทก์สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญ ปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมดี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เนติบัณฑิตไทย ปริญญาโทและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปรารีส ประเทศฝรั่งเศส

หลังจากสำเร็จการศึกษาจากประเทศฝรั่งเศส ได้กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นอาจารย์ระดับปริญญาตรีและปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งทางวิชาการ เริ่มต้นจากอาจารย์ ต่อมาเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ ทั้งมีตำแหน่งทางบริหารในมหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ เป็นหัวหน้าฝ่ายวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ และเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ทั้งเป็นกรรมการกฤษฎีกา กรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เป็นกรรมการข้าราชการตำรวจ เป็นกรรมการทบวงมหาวิทยาลัย เป็นกรรมการสถาบันอุดมศึกษาเอกชน และกรรมการอื่นๆ อีกหลายแห่ง ต่อมา ได้ลาออกจากราชการและดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา และรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2540 มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่รัฐสภา เป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีขณะนั้น คือพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงทางวิทยุโทรทัศน์ ช่อง 9 และช่อง 11 ถ่ายทอดเสียงไปทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย การถ่ายทอดดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 1 ทราบดี ขณะนั้น จำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน

จำเลยที่ 1 อภิปรายกล่าวพาดพิงถึงโจทก์ว่า โจทก์ทราบถึงการตัดสินใจจะเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 และได้พาดพิงถึงโจทก์ว่า ได้นำข้อมูลที่ทราบไปบอกแก่ด็อกเตอร์ทักษิณ ชินวัตร ด็อกเตอร์ทักษิณ ชินวัตร ได้อาศัยข้อมูลดังกล่าวทำการซื้อขายเงินตราในระยะ 2 วัน ทำกำไร 4,000,000,000 บาท ถึง 5,000,000,000 บาท ทำให้ประชาชนน้ำตาไหล ทำให้พรรคพวกของตัวเองได้ประโยชน์ เป็นการผิดศีลธรรมจรรยา และเป็นการที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เองก็จะอยู่ในแผ่นดินไทยไม่ได้

กล่าวโดยสรุป กล่าวหาว่าโจทก์ร่วมกันหาประโยชน์กับด็อกเตอร์ทักษิณ ชินวัตร ในข้อมูลที่จะเปลี่ยนแปลงค่าบาท ซึ่งทำให้ชาติบ้านเมืองเสียหาย ทั้งยังกล่าวว่า หากจำเลยที่ 1 พูดไม่ถูกต้องก็ให้นำไปฟ้องเป็นคดีต่อศาล ปรากฏตามคำอภิปรายของจำเลยที่ 1

***ในวันรุ่งขึ้น หลังจากจำเลยที่ 1 หนังสือพิมพ์ได้ลงพาดหัวข่าวในทำนองที่เชื่อคำอภิปรายของจำเลยที่ 1 ว่า ด็อกเตอร์ทักษิณ กับโจทก์ มีส่วนรู้เห็นในการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท และนำข้อมูลดังกล่าวไปแสวงหาประโยชน์ ซึ่งข้อความที่จำเลยที่ 1 อภิปรายนั้นเป็นข้อความที่ใส่ร้ายและเป็นเท็จ โจทก์ไม่เคยทราบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท ไม่เคยติดต่อกับด็อกเตอร์ทักษิณ และไม่เคยร่วมมือกับด็อกเตอร์ทักษิณ หรือบุคคลอื่นใดหาประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว

***ต่อมา พรรคความหวังใหม่ มีหนังสือไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ตรวจสอบการซื้อขายเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงวันที่ 29 มิถุนายน 2540 และย้อนหลังขึ้นไปอีก 2 สัปดาห์ แต่กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้ตอบกลับมา

พรรคความหวังใหม่ จึงได้มีหนังสือไปยังผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่ง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า ปริมาณการซื้อขายเงินตราต่างประเทศในตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของเดือนก่อนหน้าร้อยละ 12 เนื่องจากเป็นช่วงกลางปีจึงมีเงินกู้และดอกเบี้ยครบกำหนดต้องชำระเป็นจำนวนมาก ส่วนการซื้อขายในตลาดต่างประเทศนั้น ไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศในตลาดต่างประเทศ ธนาคารผู้ค้าจะแจ้งเฉพาะอัตราที่เสนอซื้อขายโดยไม่แจ้งปริมาณซื้อขาย (ตามเอกสารหมายเลข จ.3)

โจทก์เห็นว่า เอกสารหมายเลข จ.3 ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่มีหนังสือถามไป จึงให้รองผู้อำนวยการพรรคความหวังใหม่ มีหนังสือไปยังผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหาข้อมูลของบุคคลที่แสวงหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท

ต่อมา ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ เนื่องจากเป็นข้อมูลลับ ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งขณะนั้นคือ นายธารินทร์ นิมมานเหมินทร์ ไม่ตอบหนังสือกลับมายังพรรคความหวังใหม่ พรรคความหวังใหม่ จึงมีหนังสือสอบถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอีกครั้ง

ต่อมา กระทรวงการคลัง โดยปลัดกระทรวงการคลัง มีหนังสือตอบกลับมายังพรรคความหวังใหม่ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ตอบคำถามของพรรคความหวังใหม่ไปแล้ว

หนังสือตอบกลับสรุปว่า ไม่ได้ความว่าผู้ใดเป็นผู้รับประโยชน์จากการที่ค่าเงินบาทลอยตัว

การอภิปรายของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถูกอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่ร่วมสอนหนังสือพูดหยอกล้อเรื่องที่โจทก์คงได้เงินไปหลายร้อยล้านบาท เป็นการเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 ได้อภิปราย ซึ่งหลังจากที่จำเลยที่ 1 อภิปรายมาจนถึงปัจจุบันก็ไม่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างจริงจังจากภาครัฐบาล

เหตุที่โจทก์ต้องฟ้องคดีนี้ เนื่องจากต้องการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้ใส่ร้ายป้ายสีทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ทำให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าโจทก์ได้ผลประโยชน์จากการทำกำไรของด็อกเตอร์ทักษิณอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง จึงขอเรียกค่าเสียหาย 2,500,000,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ไม่ติดใจที่จะเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนอื่นอีก

จำเลยที่ 1 นำสืบว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งขณะนั้นเป็นพรรคฝ่ายค้าน จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากพรรคประชาธิปัตย์ให้อภิปรายในสภาเกี่ยวกับพฤติกรรมของโจทก์ที่เกี่ยวข้องกับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท ประเพณีปฏิบัติที่ทำกันทุกสมัยในกรณีที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมจะมีเพียง 3 คน คือ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่การประชุมในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 นั้น โจทก์เข้าร่วมประชุมด้วยทั้งที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลังหรือธนาคารแห่งประเทศไทย

ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ยืนยันต่อสื่อมวลชนว่า เรื่องนี้ได้ทำเป็นความลับโดยมีผู้รู้เห็นเพียง 3 คน คือ ตนเอง นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนางเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

แต่จำเลยที่ 1 ทราบว่า โจทก์เข้าร่วมประชุมด้วย โดยทราบจากนายภูษณะ ปรีมาโนช นายไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ และนายเริงชัย มะระกานนท์ เมื่อจำเลยที่ 1 ทราบว่าโจทก์เข้าร่วมประชุมด้วย จึงเห็นเป็นข้อพิรุธว่าโจทก์สามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการค้าขายเก็งค่าเงินบาทได้ผลกำไร

การอภิปรายของจำเลยที่ 1 ไม่เคยใช้ข้อความยืนยันว่าโจทก์ทุจริต แต่จะใช้คำว่าตั้งข้อสงสัยในพฤติกรรมของโจทก์ว่าไม่เหมาะสม ไม่โปร่งใส สงสัยว่าโจทก์จะนำความลับเกี่ยวกับการปรับลดค่าเงินบาทไปบอกด็อกเตอร์ทักษิณ เพราะเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ด็อกเตอร์ทักษิณ ไม่ได้รับความเสียหายจากการปรับค่าลดค่าเงินบาทในครั้งนี้ แต่กลับได้รับผลกำไรและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการลดค่าเงินบาท

ในการอภิปรายของจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีเจตนาใส่ความหรือใส่ร้ายโจทก์ จึงไม่เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 เนื่องจากจำเลยที่ 1 ได้ทำหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน มาตรา 157 ได้บัญญัติคุ้มครองการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาไว้ ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิแถลงข้อเท็จจริงแสดงความคิดเห็นเป็นเอกสิทธิ์ ผู้ใดนำไปฟ้องร้องไม่ได้

แม้การอภิปรายในที่ประชุมจะมีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ประกาศใช้แล้วเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและของประชาชน บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญไม่สามารถใช้ย้อนหลังเพื่อเป็นโทษได้ แต่ต้องนำส่วนที่เป็นคุณมาใช้บังคับ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง เนื่องจากก่อนเป็นนักการเมืองโจทก์เป็นนักวิชาการไม่มีชื่อเสียงโด่งดังมากนัก ทั้งไม่เคยทำธุรกิจค้าขายร่วมกับชาวต่างประเทศและเสียภาษีเพียงปีละหลักพันบาทเท่านั้น

พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2540 และวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น ร่วมปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท

ต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2540 มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่รัฐสภา เป็นการอภิปรายญัตติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีคือพลเอกชวลิต และมีการถ่ายทอดไขข่าวแพร่หลายทั้งการกระจายเสียงทางสถานีวิทยุและแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ จำเลยที่ 1ซึ่งขณะนั้นป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้าน ส่วนโจทก์เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลของพลเอกชวลิต

จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากพรรคประชาธิปัตย์ให้อภิปรายญัตติไม่ไว้วางใจพลเอกชวลิตนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท และระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา

***จำเลยที่ 1 อภิปรายว่า "การที่มีคนมีกำไรอย่างนี้นะครับ ทำให้ผมสงสัยว่ามีคนอื่นที่ได้กำไร ไม่ใช่เพราะไม่เชื่อพลเอกชวลิต แต่เป็นพวกที่เชื่อพลเอกชวลิต แล้วได้กำไรมีไหม มีครับท่านประธาน เพราะเขาเชื่อว่าพลเอกชวลิตจะตัดสินใจลดค่าเงินบาทเมื่อไร คนนี้เอาเปรียบคนไทยทั้งชาติ คนนี้เอาข้อมูลภายในไปแสวงหาประโยชน์ มีข่าวลือกันมากในตลาดการเงินในประเทศไทยว่า ขาใหญ่ที่ร่ำรวยนั้น รวยถึงขนาดมีการันตีได้ว่า เลือกตั้งคราวหน้าสบายกันทุกคน

ท่านประธานที่เคารพครับ ผมสงสัยเรื่องนี้แล้ว ท่านประธานต้องเห็นใจอย่างยิ่งที่ผมมีความสงสัย เพราะพลเอกชวลิตแสดงพิรุธ พลเอกชวลิตแสดงพิรุธ 2 ประการ

***ประการที่ 1 พลเอกชวลิตแสดงพิรุธด้วยการมาพูดจาในที่สาธารณะต่อสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ ทั้งทีวี ทั้งวิทยุ ว่าในการตัดสินใจครั้งสุดท้ายที่จะประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัวนั้น ทำอย่างเป็นความลับที่สุด รู้กัน 3 คน เท่านั้นเอง คือพลเอกชวลิต นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

ตรงนี้เป็นพิรุธครับท่านประธาน ผมสอบสวนมีพยานหลักฐานยืนยันได้ ถ้าพลเอกชวลิตต้องการรู้ว่า ต้องการที่จะเถียงกับผม ผมท้าให้ฟ้องศาลเรื่องนี้เพราะผมมีหลักฐาน พยานบุคคลยืนยันว่า วันที่ตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ได้รู้กันแค่ 3 คนมีคนที่ 4 รู้ด้วย

ท่านประธานที่เคารพครับ เข้าประตูทำเนียบนี่มียามรักษาการณ์ มีเจ้าหน้าที่ มีว่า วันนั้นเวลานั้นในห้องนายกรัฐมนตรีมีใครอยู่กี่คน ผมแอบได้ยินมาด้ว ว่า พูดอย่างไรด้วย มีคนเขาเล่าให้ผมฟัง เขาพร้อมที่จะเป็นพยานให้ผม คนที่ 4 ซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและไม่สมควรที่จะนั่งอยู่ในการตัดสินใจครั้งสุดท้าย ตามตำหนิรูปพรรณที่คนเขาให้การมา รวมทั้งแผลเป็นบอกว่าชื่อนายโภคิน พลกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่เคยปรากฏว่า ในวันที่นายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจเรื่องสำคัญอย่างนี้จะต้องมีคนมานั่งใกล้ชิดกำกับอยู่ด้วย นายกรัฐมนตรีควรมีสติ มีปัญญาที่จะตัดสินวินิจฉัยได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องมีคนกำกับ

***ผมสงสัยว่า นายโภคิน พลกุล ไปนั่งอยู่ทำไมในเวลานั้น ไม่ใช่หน้าที่ของนายโภคิน ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะให้นายโภคินล่วงรู้เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตัดสินใจ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกันตัดสินใจเท่านั้น แต่เรื่องนี้แม้พลเอกชวลิตจะมาพูดกับคนทั้งชาติว่ารู้กัน 3 คน แต่ที่จริงรู้กัน 4 คน นายโภคินนั่งอยู่ด้วยตลอดในเวลา 1 ชั่วโมง ที่หารือกันเรื่องนี้ หารือกันวันที่เท่าไร ท่านประธานครับ วันที่ 29 มิถุนายน เป็นวันอาทิตย์ เวลา 9.30 นาฬิกา เป็นต้นไป

***ตรงนี้พลเอกชวลิต แสดงพิรุธอีก เพราะพลเอกชวลิตบอกกับสภานี้ว่าได้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายที่จะประกาศที่จะให้ค่าเงินบาทลอยตัวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ความตรงนี้มีนัยที่น่าสนใจมาก

***ท่านประธานครับ พลเอกชวลิตคล้ายๆ จะบอกกับสภานี้ว่า ตัดสินใจวันที่ 1 รุ่งขึ้นเช้าวันที่ 2 ประกาศเลย เหมือนกับเป็นการป้องกันตัวไว้ก่อนว่าไม่มีใครหยิบฉวยจังหวะตรงนี้ไปหาประโยชน์ได้หรอก ความจริงไม่ใช่ ไปปรึกษาการตัดสินใจครั้งสุดท้ายวันที่ 29 มิถุนายน เป็นวันอาทิตย์ 9.30 น.

ก่อนหน้านี้มีคนนั่งกันอยู่ในห้องหลายคนมีผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ มีสภาพัฒน์ฯ พอ 3 คนนี้เข้าไปก็ให้คนอื่นออก แต่เหลือนายโภคินเอาไว้ แล้วตัดสินใจเสร็จ จากวันที่ 29 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ รุ่งขึ้นวันที่ 30 เป็นวันจันทร์ วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นวันอังคาร

***พลเอกชวลิต มาพูดที่นี่ว่า วันที่ 1 เป็นวันหยุดกลางปีของธนาคาร ใครรู้อะไรก็ทำอะไรไม่ได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยหยุด ท่านประธานครับ ธนาคารฮ่องกง ธนาคารสิงคโปร์ไม่หยุด รู้ล่วงหน้า 2 วัน ทำเงินได้หลายพันล้านบาทครับ ถ้าคนนั้นมีเงินในระดับที่จะไปลงทุนได้

***ความ 2 ประการนี้เป็นพิรุธ พิรุธเรื่องที่บอกว่ารู้กัน 3 คน ทั้งๆ ที่รู้กัน 4 คน พิรุธเรื่องที่บอกว่า ตัดสินวันที่ 1 ทั้งๆ ที่ตัดสินเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พิรุธนี้ทำให้ผมสงสัยว่าอย่างไร สงสัยว่า เอาเวลาช่วงที่ขาดไปนั้นไปให้พรรคพวกของตัวเองได้ไปซื้อเงินดอลลาร์ไว้ล่วงหน้า ไปซื้ออัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้าแล้วทำกำไร

ท่านประธานที่เคารพครับวันนี้ผมยอมบาป คนที่ผมสงสัยมากที่สุดนั่งอยู่ตรงนั้นครับ ด็อกเตอร์ทักษิณ ชินวัตร ครับผู้ต้องสงสัยของผม ท่านด็อกเตอร์ทักษิณไม่ได้ทำบาปอะไรหรอกครับ ที่ผมสงสัยคือสงสัยว่ารัฐมนตรีโภคินจะเป็นคนบอกความลับเรื่องนี้กับด็อกเตอร์ทักษิณ แล้วด็อกเตอร์ทักษิณไปซื้อขายเงินไว้ล่วงหน้าทำกำไร

ท่านประธานที่เคารพครับ ท่านได้กำไรไปเยอะในขณะที่คนในชาติน้ำตาไหลกันทุกคน ผมไม่แปลกใจว่า หลังจากนั้นไม่นาน ได้มาเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ก็เก่งขนาดทำเงินได้ 2 วัน 4,000,000,000 บาท ถึง 5,000,000,000 บาท ก็น่าจะให้เป็นหรอกครับ

***ท่านประธาน นี่เป็นข้อสงสัยของผม ผมคาดคะเนสงสัยด้วยเหตุผลแวดล้อมอย่างนี้และผมมีประจักษ์พยานหลักฐานว่า หลังจากนายโภคินได้รับความลับเรื่องนี้ ได้มีการโทรศัพท์ติดต่อกับด็อกเตอร์ทักษิณ ชินวัตร เสียอย่างเดียวว่า ผมไม่มีหูทิพย์ว่าพูดกันอย่างไรเท่านั้นเองครับ แต่ผมสงสัย และผมรู้ว่านายโภคินได้พูดความลับเรื่องนี้กับคนอื่นอีก ถ้าท่านรัฐมนตรีโภคินสงสัยฟ้องศาล จะได้รู้ว่า คนที่ท่านบอกนั้นจะเป็นพยานให้ท่านหรือจะเป็นพยานให้ผม

การที่มีคนรู้ความลับและเอาความลับไปเปิดเผยแล้วไปหาประโยชน์กันมันผิดทั้งคุณธรรม ทั้งจรรยา ผมต้องเรียนกับท่านประธานตรงๆ นะครับ ผมไม่สามารถจะสงสัยคนอื่นที่เปิดเผยความลับได้หรอกนอกจากรัฐมนตรีโภคิน เพราะว่า คนแรกคือนายกรัฐมนตรีผมเชื่อว่า ด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นนายกรัฐมนตรีคงไม่บอกด้วยปากตัวเอง

คนที่ 2 คือ รัฐมนตรีฯ ทนง ถึงจะเคยมีความสัมพันธ์กับด็อกเตอร์ทักษิณมาก่อน ทำงานอยู่ด้วยกัน แต่ศักดิ์ศรีขุนคลังของประเทศคงไม่เปิดปากคนที่ 3 คือ นายเริงชัย มะระกานนท์ ที่รู้เรื่อง เขาเป็นลูกหม้อธนาคารแห่งประเทศไทยแบงก์ชาติ ผมว่า จิตวิญญาณเขาคงหนักแน่นไม่ทำอย่างนั้น คนที่ 4 ซึ่งไม่เกี่ยวกับเขาละสิครับไปนั่งอยู่ด้วยนี่สิครับ ไม่ให้ผมสงสัยได้อย่างไร นี่คือเหตุผลครับ ท่านประธานครับ...."

วันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ลงพาดหัวข่าวการอภิปรายของจำเลยที่ 1
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ศาลวินิจฉัยแล้ว เห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น

คดีมีปัญหาวินิจฉัยในประการต่อไปว่า คำอภิปรายของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่

โจทก์เบิกความว่า คำอภิปรายของจำเลยที่ 1 ได้กล่าวพาดพิงถึงโจทก์ว่า โจทก์ทราบว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท ในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 และโจทก์นำข้อมูลที่ทราบไปบอกด็อกเตอร์ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ด็อกเตอร์ทักษิณอาศัยข้อมูลที่ได้รับทราบจากโจทก์ไปทำการซื้อขายเงินตราในระยะเวลา 2 วัน ได้กำไร 4,000,000,000 บาท ถึง 5,000,000,000 บาท ทำให้ประชาชนน้ำตาไหล และพรรคพวกของโจทก์ได้ประโยชน์เป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรมจรรยา

โดยสรุปจำเลยที่ 1 กล่าวว่าโจทก์ร่วมกันหาประโยชน์กับด็อกเตอร์ทักษิณเกี่ยวกับข้อมูลที่จะเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท ซึ่งเป็นการทำให้บ้านเมืองเสียหาย

ต่อมาหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ลงพิมพ์โฆษณาพาดหัวข่าวและลงข้อความว่า โจทก์ทำกำไรเรื่องค่าเงินบาท ซึ่งข้อความที่จำเลยที่ 1 อภิปรายนั้นเป็นความเท็จ โจทก์ไม่ทราบว่าในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 จะมีการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท โจทก์ไม่เคยติดต่อกับด็อกเตอร์ทักษิณ ทั้งไม่เคยร่วมมือกับด็อกเตอร์ทักษิณหรือบุคคลอื่นใดในการแสวงหาประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว คำอภิปรายของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

ส่วนจำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้ว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกชวลิตนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จำเลยที่ 1 ได้อภิปรายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงลดค่าเงินบาท โดยก่อนวันที่โจทก์อภิปรายได้มีสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองที่ว่า ความลับเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงลดค่าเงินบาทได้รั่วไหลไปสู่นักธุรกิจก่อนแล้ว

พลเอกชวลิตได้ออกมายืนยันว่า เรื่องนี้ได้ทำเป็นความลับและมีผู้รู้เพียง 3 คน เท่านั้น คือพลเอกชวลิต นายทนง พิทยะ ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเริงชัย มะระกานนท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

เหตุที่จำเลยที่ 1 อภิปรายเกี่ยวกับโจทก์เนื่องจากได้รับทราบข้อมูลจากนายภูษณ ปรีย์มาโนช และนายไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ ซึ่งเป็นเพื่อนของโจทก์ ทั้งได้ทราบจากนายเริงชัย มะระกานนท์ ด้วยว่า ในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 ไม่ได้มีบุคคลเพียง 3 คนดังกล่าวข้างต้น แต่โจทก์ได้ร่วมประชุมด้วย

ในการอภิปรายจำเลยที่ 1 ไม่เคยอภิปรายยืนยันว่า โจทก์ทุจริต จำเลยที่ 1 อภิปรายโดยตั้งข้อสงสัยในพฤติกรรมของโจทก์ว่า โจทก์จะนำความลับเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงลดค่าเงินบาทไปบอกด็อกเตอร์ทักษิณ

จำเลยที่ 1 อภิปรายในฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เป็นการอภิปรายตามหน้าที่ และเป็นการติชมโดยสุจริต อันเป็นวิสัยของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

***เห็นว่า โจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์ไม่ทราบว่าจะเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท โจทก์ไม่เคยบอกด็อกเตอร์ทักษิณเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท โจทก์ไม่เคยร่วมมือกับด็อกเตอร์ทักษิณหรือบุคคลอื่นใดในการแสวงหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท

***การอภิปรายของจำเลยที่ 1 เป็นความเท็จทั้งหมดแต่กลับได้ความจากนายเริงชัยพยานโจทก์เองว่า ในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 พยานกับนายทนง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าพบพลเอกชวลิตนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อที่จะปรึกษาหารือเกี่ยวกับการลดค่าเงินบาท โจทก์ซึ่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั่งอยู่ด้วย นายทนง พูดขึ้นว่า ที่มาพบก็เนื่องจากจะปรึกษาหารือเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการลดค่าเงินบาท พยาน (นายเริงชัย) จึงพูดขึ้นว่า เรื่องนี้จะนำมาพูดในขณะนี้สมควรหรือไม่ เนื่องจากมีโจทก์อยู่ด้วย

นายกรัฐมนตรี ก็พูดขึ้นว่า ไม่เป็นไรให้โจทก์อยู่ด้วยได้ และรับทราบได้ ดังนั้น นายทนงซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงได้รายงานผลสรุปของคณะกรรมการที่ได้เสนอต่อพยาน (นายเริงชัย) โดยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว

นอกจากนี้ นายทนง พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า ในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 เวลาประมาณ 8 นาฬิกา พยาน(นายทนง)ได้ไปพบนายกรัฐมนตรีเพื่อร่วมปรึกษาหารือทางด้านเศรษฐกิจ นายเริงชัยได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีพร้อมกับพยาน และโจทก์ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งมีบางตอนที่นายกรัฐมนตรีถามที่ประชุมว่า หากประชาชนมีคำถามเกี่ยวกับนโยบายการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน จะให้ตอบอย่างไร นายเริงชัยได้ให้คำแนะนำว่า ให้นายกรัฐมนตรีปฏิเสธว่า ยังไม่มีการดำเนินการอย่างใด

***ดังนี้ เห็นได้ว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวข้างต้นแตกต่างขัดแย้งกับคำเบิกความของโจทก์โดยสิ้นเชิง พยานโจทก์ทั้งสองปาก (นายเริงชัยและนายทนง) ดังกล่าวเป็นประจักษ์พยานที่อยู่ในเหตุการณ์วันที่ 29 มิถุนายน 2540 และไม่มีส่วนได้เสียในคดี ทั้งเป็นพยานที่โจทก์อ้าง จึงเชื่อว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความไปตามความจริง ซึ่งสอดคล้องกับทางนำสืบของจำเลยที่ 1

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 ขณะที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมประชุมกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท โจทก์ได้ร่วมประชุมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ นายเริงชัย ยังเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ตามประเพณีปฏิบัติเกี่ยวกับการลดค่าเงินบาทจะรู้กันเพียง 3 คน เท่านั้น คือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรี

เหตุที่เป็นความลับเนื่องจากว่า หากบุคคลภายนอกซึ่งไม่เกี่ยวข้องล่วงรู้จะนำไปหาประโยชน์โดยแสวงหากำไร พยานจึงท้วงติงนายกรัฐมนตรีว่า ควรที่จะพูดเรื่องลดค่าเงินบาทในขณะนั้นหรือไม่เพราะมีโจทก์อยู่ด้วย เนื่องจากโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยน

***ดังนี้ จึงเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรว่า โจทก์ซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและไม่สมควรจะไปนั่งอยู่ด้วยในการประชุมตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะให้ค่าเงินบาทลอยตัวนั้น ไม่ใช่ข้อความอันเป็นเท็จหรือฝ่าฝืนต่อความจริง ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ต่างหากที่ฝ่าฝืนต่อความจริง

ส่วนที่จำเลยที่ 1 อภิปรายต่อไปว่า จำเลยที่ 1 สงสัยว่า โจทก์เป็นคนบอกความลับเรื่องนี้แก่ด็อกเตอร์ทักษิณนั้น

ศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่เห็นว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิและหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลพลเอกชวลิตได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 มาตรา 148 ถึงมาตรา 150 ส่วนโจทก์ซึ่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกชวลิตเป็นบุคคลที่ต้องรับการตรวจสอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากพรรคประชาธิปัตย์ให้ร่วมอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจพลเอกชวลิตนายกรัฐมนตรี ได้อภิปรายถึงการทำงานของพลเอกชวลิตว่ามีข้อบกพร่องและไม่ถูกต้องอย่างไรนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2534 กำหนดไว้

***และการกระทำของพลเอกชวลิตที่ยอมให้โจทก์ได้ร่วมรับรู้ถึงการปรึกษาหารือและตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท อันเป็นเรื่องความลับที่สุดซึ่งเกี่ยวกับประโยชน์และส่วนได้เสียของประเทศและประชาชนจำนวนมากเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2540 ก่อนวันประกาศเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ถึง 3 วันทั้งๆ ที่โจทก์ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือควรรับรู้ถึงการปรึกษาหารือและการตัดสินใจในครั้งนี้เลย

และหลังจากนั้นยังยืนยันในที่สาธารณะต่อสื่อมวลชนมาโดยตลอดว่า มีผู้รู้ถึงการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเพียง 3 คนเท่านั้น คือ ตัวพลเอกชวลิต นายทนง และนายเริงชัย เป็นข้อพิรุธสำคัญ

***ประกอบกับพันตำรวจโททักษิณซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจการค้ารายใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบเสียหายรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอย่างผู้ประกอบธุรกิจการค้าใหญ่รายอื่นที่มีหนี้สินเป็นเงินตราต่างประเทศที่ต่างประสบความเสียหายอย่างรุนแรง ย่อมเป็นมูลเหตุเพียงพอที่จะทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายตั้งข้อสงสัยโจทก์ได้

จำเลยที่ 1 เพียงแต่ตั้งข้อสงสัยว่าโจทก์เป็นผู้นำเอาความลับที่สุดดังกล่าวที่รู้มาโดยไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและไม่ควรจะรู้ไปบอกพันตำรวจโททักษิณ ไม่ได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง

การตั้งข้อสงสัยดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงมีมูลเหตุเพียงพอที่จะให้ตั้งข้อสงสัยเช่นนั้นได้ ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยอย่างเลื่อยลอย อันจะทำให้เห็นเจตนาร้ายของจำเลยที่ 1 ที่จงใจฉวยโอกาสในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎพรรคฝ่ายค้านให้ร้ายโจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร

การอภิปรายของจำเลยที่ 1 ที่พาดพิงถึงโจทก์นั้นยังอยู่ในขอบเขตของการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของพลเอกชวลิตนายกรัฐมนตรีเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อันเป็นวิสัยที่พึงกระทำคำอภิปรายของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์

ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น จึงไม่จำต้องวินิยฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป

///////////////////////////

** “ทักษิณ” ยอมรับรู้ล่วงหน้าลดค่าบาท

สำนักข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ตรวจสอบรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับการอภิปรายญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ กรณีลดค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2540 ซึ่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายสงสัยว่านายโภคินจะนำความลับเรื่องการลดค่าเงินบาท เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ไปบอกพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ได้ประโยชน์จากการลดค่าเงิน

จากการตรวจสอบรายงานการประชุมสภาผู้แทนฯชุดที่ 20 ปีที่ 1 ครั้งที่ 25-26 ( สมัยสามัญครั้งที่ 2 เล่ม 21 พ.ศ. 2540 ) หน้า 179 -181 พบว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งขณะนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นตอบนายสุเทพซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมรับว่ารู้เรื่องการประชุมเรื่องการลดค่าเงินบาทที่ทำเนียบรัฐบาลเพราะมีคนแจ้งไป ดังนี้

"เมื่อวันที่ 1 กรกฏาคม ( 2540 ) กลางคืนวันนั้น บังเอิญผมทานข้าวกับผู้ใหญ่ที่ผมนับถือร่วมกับนักหนังสือพิมพ์อาวุโสคนหนึ่ง ประมาณ 4 ทุ่ม มีคนโทรมาบอกผมว่า ได้มีการพบปะกันอย่างซีเรียสมากที่ทำเนียบ มีคน 4 คนคือ นายกฯ ( พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ), นายเริงชัย มะระกานนท์ ( ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยขณะนั้น ), นายทนง พิทยะ และ นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ( รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ) เพราะผมรู้ว่า นายชัยวัฒน์ เป็นผู้จัดการกองทุนรักษาระดับ

ผมเลยเดาแล้วยังบอกกับผู้ใหญ่คนนั้นกับนัก นสพ. อาวุโส ว่า สงสัยจะมีการลดค่าเงินบาทแน่ เพราะถ้ามีผู้จัดการทุนรักษาระดับเข้าไปร่วมด้วยในการพิจารณาซีเรียสอย่างนั้น ผมเดาว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น ผู้ใหญ่ที่ผมนับถือคือ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ ครับ ผมอยู่กับท่านวันที่ 1 กรกฏาคม ตอน 4 ทุ่ม"

สำนักข่าวอิศรา ตั้งข้อสังเกตว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยพูดเลยว่า ทำอย่างไรต่อไปหลังรู้ข้อมูลดังกล่าวและบุคคลที่โทรศัพท์มาบอกเขาเป็นใคร

อ่านเรื่องเกี่ยวเนื่อง
-ถอดรหัสคำพิพากษาศาลฎีกาคดีค่าเงินบาท ย้อนรอยวิกฤต 40 เปิดขบวนการปล้นชาติ - ตอนที่ 1 : เวลา 4 ทุ่ม กับคืนที่ทักษิณรู้ข่าวลดค่าเงินบาท
นายโภคิน พลกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น