xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาพิพากษาคดีลดค่าบาท "โภคิน - ทักษิณ" ได้ประโยชน์จากข้อมูลวงในมีมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการออนไลน์ - ปิดคดีประวัติศาสตร์ ศาลฏีกาพิพากษา "โภคิน" แพ้คดีหลังพยานปากเอก "เริงชัย-ทนง" ให้การมัด "โภคิน"ร่วมวงประชุมถกลดค่าเงินบาททั้งที่ไม่ใช่หน้าที่และไม่สมควร ศาลพบข้อพิรุธสำคัญ “พลเอกชวลิต” ปกปิดความจริง รวมถึง “ทักษิณ” ไม่ได้รับความเสียหายจากการลดค่าบาทเหมือนนักธุรกิจอื่นที่เจ๊งระนาว ชี้ข้อกังขา “โภคิน-ทักษิณ” ได้ประโยชน์จากการอินไซด์มีมูล

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ศาลฏีกา ได้แถลงคำพิพากษาคดี ที่นายโภคิน พลกุล เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องตนเป็นจำเลยที่ 1 และสื่อมวลชน อีก 16 ราย เป็นจำเลยที่ 2 ในข้อหาละเมิดเรียกค่าเสียหาย 2,562 ล้านบาท

นายสุเทพ กล่าวถึงคดีนี้ว่า ในปี 2540 ตนในฐานะฝ่ายค้านในขณะนั้น ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ในสมัยนั้นถึงกรณีการประกาศลดค่าเงินบาท โดยตนเป็นคนหนึ่งที่ได้รับมอบหมายให้อภิปรายพล.อ.ชวลิต กระทำการในสิ่งที่ไม่ควร โดยในการประชุมตัดสินใจประกาศลดค่าเงินบาท ซึ่งปกติจะมีบุคคลที่เข้าประชุมเพียง 3 คน คือ นายกรัฐมนตรี รมว.คลัง และ ผู้ว่าฯธปท.

แต่ทางพล.อ.ชวลิต ได้ให้บุคคลอื่น คือนายโภคิน พลกุล เข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้นด้วย ซึ่งถือเป็นการไม่เหมาะสม เนื่องจากนายโภคิน มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบค่าเงินบาท ซึ่งในการอภิปราย ตนได้ตั้งข้อสงสัยว่านายโภคิน นำความลับในที่ประชุมไปบอก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และหาประโยชน์กับการลดค่าเงินบาท

นายสุเทพ กล่าวว่า พล.อ.ชวลิต ได้ออกมาปฎิเสธในที่ประชุมสภาว่านายโภคินไม่ได้อยู่ร่วมประชุม ส่งผลให้นายโภคิน ฟ้องคดีกับตน เรียกค่าเสียหาย 4,000 ล้านบาท แต่ภายหลังได้ลดจำนวนเหลือ 2,500 ล้านบาท และได้มีการต่อสู้คดีจนถึงวันนี้ เป็นเวลา 11 ปี

จนในที่สุดศาลฏีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ ได้อ่านคำพิพากษาว่า สิ่งที่ตนอภิปรายนั้น เป็นการทำหน้าที่ของส.ส.อย่างถูกต้อง และมีสิทธิที่จะทำได้ ถือว่าไม่เป็นความผิด เป็นการติดชมโดยสุจริต ในการอภิปรายนายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

แต่ที่สำคัญพยานที่นายโภคิน ได้อ้างต่อศาล ได้แก่ นายทนง พิทยะ รมว.คลัง นายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าฯธปท. ได้ให้การว่านายโภคิน ได้เข้าร่วมอยู่ในที่ประชุมจริง ทั้งที่เป็นพยานได้ให้นายโภคิน แต่ได้ให้การตรงกันข้ามกับนายโภคิน

โดยนายเริงชัย ระบุว่าได้ทักท้วงว่า นายโภคิน ไม่ควรอยู่ร่วมประชุมด้วย แต่ พล.อ.ชวลิต กลับบอกว่าให้อยู่ร่วมได้ ไม่เป็นไร ฉะนั้นที่กล่าวหาว่าตนอภิปรายด้วยข้อความเป็นเท็จ ศาลจึงบอกว่าตนได้อภิปรายในสิ่งที่เป็นความจริง

*** มั่นใจชนะคดี “เหลิม”เรียกร้อยล้าน

นายสุเทพ กล่าวต่อว่า นายโภคินฟ้องตนว่าใส่ร้าย และทำให้เขาเสียหาย ที่ประชุมใหญ่ของศาลฏีกาได้พิพากษาว่า ตนเป็นส.ส. ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญ และ พล.อ.ชวลิต และนายโภคิน ถือเป็นบุคคลที่ต้องได้รับการตรวจสอบโดย ส.ส.

ดังนั้นการอภิปรายของตน ถือว่าได้ทำหน้าที่ถูกต้องแล้ว และนายโภคิน ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในการรับรู้การประชุม ดังกล่าว ดังนั้น ศาลฏีกาจึงตัดสินตน ไม่มีความผิด

"กรณีนี้ถือเป็นเรื่องที่สื่อ และส.ส. ควรจะได้รับทราบ และเป็นประโยชน์ เพราะการทำหน้าที่อย่างสุจริต และยึดถือประโยชน์ของสื่อ และส.ส. ย่อมได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย

" ตอนที่คุณโภคินฟ้องผม พร้อมเรียกค่าเสียหาย 4,000 ล้านบาท สร้างความตกใจให้กับหลายคน เพราะนายโภคิน เป็นด็อกเตอร์ด้านกฎหมาย แต่ผมก็ได้ต่อสู้มาจนในที่สุดศาลก็พิสูจน์ได้ว่า ศาลยังมีความยุติธรรมให้กับเราได้

"ดังนั้น สื่อ และประชาชนที่ทำหน้าที่ ให้ประโยชน์ส่วนร่วมไม่ต้องตกใจกฎหมายยังศักดิ์สิทธิ์เสมอ หากใครรู้สึกท้อแท้ในสถานการณ์ของบ้านเมืองให้มั่นใจได้ว่า ศาลสถิตยุติธรรมยังเป็นที่พึ่งของประชาชนได้”

นายสุเทพ กล่าวว่า คำตัดสินที่ออกมาถือเป็นการยืนยันว่า ศาลยังคงมีความยุติธรรม อย่างไรก็ตาม คดีที่เกิดขึ้นทำให้ตนมีความมั่นใจในการทำหน้าที่ ส.ส.ที่ต้องคอยตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และการชนะคดีดังกล่าว ยังถือเป็นการชนะนักกฎหมายมืออันดับต้นๆ ของเมืองไทยอย่างนายโภคิน อีกด้วย

ดังนั้น คดีที่ตนฟ้อง ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง รมว.มหาดไทย ทั้งคดีอาญา และคดีแพ่ง พร้อมเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท อยู่ในขณะนี้ จึงทำให้ตนมีความมั่นใจว่า จะสามารถชนะคู่ความที่เป็นนักกฎหมายได้อีกครั้งหนึ่ง

***เปิดคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์

สำหรับคดีดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในคดีประวัติศาสตร์ที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน และเป็นข้อพิสูจน์ถึงข้อสงสัยที่ว่ามีบุคคลบางกลุ่มนำข้อมูลวงในหรืออินไซด์ไปแสวงหาประโยชน์จากการประกาศลดค่าเงินบาท

คดีนี้ การมีฟ้องร้องกันตั้งแต่ปี 2540 โดยศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ คือ นายโภคิน เป็นเงิน 10 ล้านบาท และให้ประกาศคำโฆษณาในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ผู้จัดการ เดลินิวส์และไทยรัฐ ฉบับละ 7 วัน

ต่อมา จำเลย ยื่นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์จึงฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 7 ก.ค. 2547 ศาลฎีกา รับฟ้องวันที่ 27 ธ.ค. 2547

ศาลฎีกา ได้วินิจฉัยฎีกาของโจทก์ เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีอำนาจฟ้อง

ศาลวินิจฉัยในประการต่อมา คือ คำอภิปรายของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่

โจทก์เบิกความว่า คำอภิปราย จำเลยที่ 1 ได้กล่าวพาดพิงถึงโจทก์ว่า โจทก์ทราบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทในวันที่ 29 มิ.ย. 2540 และโจทก์นำข้อมูลที่ทราบไปบอกด็อกเตอร์ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ด็อกเตอร์ทักษิณ อาศัยข้อมูลที่ได้รับทราบจากโจทก์ไปทำการซื้อขายเงินตราในระยะเวลา 2 วัน ได้กำไร 4,000,000,000 ถึง 5,000,000,000 บาท ทำให้ประชาชนน้ำตาไหล และพรรคพวกของโจทก์ได้ประโยชน์ เป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรมจรรยา

โดยสรุป จำเลยที่ 1 กล่าวว่าโจทก์ร่วมกันหาประโยชน์กับด็อกเตอร์ทักษิณ เกี่ยวกับข้อมูลที่จะเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท ทำให้บ้านเมืองเสียหาย ต่อมาหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ลงตีพิมพ์ข่าวและลงข้อความว่าโจทก์ทำกำไรเรื่องค่าเงินบาท ซึ่งข้อความที่จำเลยอภิปรายนั้นเป็นความเท็จ โจทก์ไม่ทราบในวันที่ 29 มิ.ย. 2540 จะมีการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท โจทก์ไม่เคยติดต่อกับด็อกเตอร์ทักษิณ ทั้งไม่เคยร่วมมือกับด็อกเตอร์ทักษิณและบุคคลอื่นใดในการแสวงหาประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

*** “เริงชัย – ทนง” ให้การมัด “โภคิน”

ทางด้านนายสุเทพ จำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้ว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกชวลิต นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จำเลยที่ 1 ได้อภิปรายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงลดค่าเงินบาท โดยก่อนวันที่อภิปรายได้มีสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองที่ว่า ความลับเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทได้รั่วไหลไปสู่นักธุรกิจก่อนแล้ว พลเอกชวลิต ได้ออกมายืนยันว่า เรื่องนี้ได้ทำเป็นความลับมีผู้รู้เพียง 3 คนเท่านั้น

คือ พลเอกชวลิต นายทนง พิทยะ ซึ่งขณะนั้นเป็นรมว.กระทรวงการคลัง และนายเริงชัย มะระกานนท์ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เหตุที่จำเลยอภิปรายเกี่ยวกับโจทก์เนื่องจากได้รับทราบข้อมูลจากนายภูษณะ ปรีมาโนช และนายไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ ซึ่งเป็นเพื่อนของโจทก์ ทั้งได้รับทราบจากนายเริงชัยว่า ในวันที่ 29 มิ.ย. 2540 ไม่ได้มีบุคคลเพียง 3 คนดังกล่าวข้างต้น แต่โจทก์ได้ร่วมประชุมด้วย

ซึ่งในการอภิปรายของจำเลย ไม่เคยอภิปรายยืนยันว่าโจทก์ทุจริต แต่อภิปรายโดยตั้งข้องสงสัยในพฤติการณ์ของโจทก์ว่าโจทก์จะนำความลับเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทไปบอกด็อกเตอร์ทักษิณ ซึ่งเป็นการทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีตามหน้าที่ของส.ส. และเป็นการติชมโดยสุจริต

ส่วนการเบิกความของโจทก์ยืนยันว่า โจทก์ไม่ทราบว่าจะเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท โจทก์ไม่เคยบอกด็อกเตอร์ทักษิณ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท โจทก์ไม่เคยร่วมมือกับด็อกเตอร์ทักษิณหรือบุคคลอื่นใดในการแสวงหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท การอภิปรายของจำเลยเป็นเท็จทั้งหมดนั้น

ในการนำสืบพยาน กลับได้ความจากนายเริงชัย มะระกานนท์ พยานโจทก์เองว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2540 นายเริงชัย กับนายทนง ได้เข้าพบพลเอกชวลิต ที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการลดค่าเงินบาท โจทก์ซึ่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นั่งอยู่ด้วย นายทนง พูดขึ้นว่าที่มาพบก็เนื่องจากจะปรึกษาหารือเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการลดค่าเงินบาท พยานจึงพูดขึ้นว่า เรื่องนี้จะนำมาพูดในขณะนี้สมควรหรือไม่ เนื่องจากมีโจทก์อยู่ด้วย นายกรัฐมนตรี ก็พูดขึ้นว่า ไม่เป็นไร ให้โจทก์อยู่ด้วยได้และรับทราบได้

นอกจากนี้ นายทนง พยานโจทก์ อีกปากหนึ่งก็ให้การว่าได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีพร้อมกับนายเริงชัย และโจทก์ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวแตกต่างกับคำเบิกความของโจทก์โดยสิ้นเชิง

ศาลฟังโจทก์และจำเลยนำสืบต่อสู้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2540 ขณะที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี นายทนง พิทยะ รมว.กระทรวงการคลัง และนายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมประชุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทโจทก์ได้ร่วมประชุมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ นายเริงชัย ยังเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่า ตามประเพณีปฏิบัติเกี่ยวกับการลดค่าเงินบาท จะรู้กันเพียง 3 คน เท่านั้น คือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, รมว.กระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรี เหตุที่เป็นความลับเนื่องจากหากบุคคลภายนอกซึ่งไม่เกี่ยวข้องล่วงรู้จะนำไปหาประโยชน์โดยแสวงหากำไร พยานจึงท้วงติงนายกรัฐมนตรีว่า ควรจะพูดเรื่องลดค่าเงินบาทในขณะนั้นหรือไม่เพราะมีโจทก์อยู่ด้วย เนื่องจากโจทก์ไม่เกี่ยวข้อง

ดังนี้ จึงเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรว่า โจทก์ซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและไม่สมควรจะไปนั่งอยู่ด้วยในการประชุมตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะให้ค่าเงินลอยตัวนั้น ไม่ใช่ข้อความอันเป็นเท็จหรือฝ่าฝืนต่อความจริง คำฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ต่างหากที่ฝ่าฝืนต่อความจริง

***พิรุธปกปิด“โภคิน”ร่วมวงถกลดค่าบาท

ส่วนประเด็นที่จำเลยที่ 1 อภิปรายต่อว่า จำเลย สงสัยว่าโจทก์เป็นคนบอกความลับเรื่องนี้แก่ด็อกเตอร์ทักษิณนั้น ศาลฎีกา โดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นส.ส.และมีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลพลเอกชวลิต ได้ตาม รธน. 2534 มาตรา 148 ถึงมาตรา 150 ส่วนโจทก์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกชวลิต เป็นบุคคลที่ต้องรับการตรวจสอบจาก ส.ส.

การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากพรรคประชาธิปัตย์ ให้ร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกชวลิต เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ และการกระทำของพลเอกชวลิต ที่ยอมให้โจทก์ ร่วมรับรู้ถึงการปรึกษาหารือและตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท อันเป็นเรื่องความลับที่สุดซึ่งเกี่ยวกับประโยชน์และส่วนได้เสียของประเทศและประชาชนจำนวนมาก เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2540 ก่อนวันประกาศเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2540 ถึง 3 วัน ทั้งๆ ที่โจทก์ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือควรรับรู้ถึงการปรึกษาหารือและการตัดสินใจในครั้งนี้เลย

และหลังจากนั้น ยังยืนยันในที่สาธารณะต่อสื่อมวลชนมาโดยตลอดว่า มีผู้รู้ถึงการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท เพียง 3 คน เท่านั้น คือ ตัวพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายทนง พิทยะ และนายเริงชัย มะระกานนท์ เป็นข้อพิรุธสำคัญ

*** กังขา “ทักษิณ” ไม่กระทบลดค่าบาท

นอกจากศาลฎีการจะมีความเห็นต่อข้อพิรุธข้างต้นแล้ว มติที่ประชุมใหญ่ ศาลฎีกา ยังมีเห็นว่า ประกอบกับพันตำรวจโททักษิณ ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจการค้ารายใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบเสียหายรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอย่างผู้ประกอบธุรกิจการค้าใหญ่รายอื่นที่มีหนี้สินเป็นเงินตราต่างประเทศที่ต่างประสบความเสียหายอย่างรุนแรง ดังนี้ ย่อมเป็นมูลเหตุเพียงพอที่จะทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมายตั้งข้อสงสัยโจทก์ได้

*** “โภคิน” คาบข่าวบอกทักษิณมีมูล

มติที่ประชุมใหญ่ ศาลฎีกา ยังเห็นว่า จำเลยที่ 1 เพียงแต่ตั้งข้อสงสัยว่า โจทก์เป็นผู้นำเอาความลับที่สุดดังกล่าวที่รู้มาโดยไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและไม่ควรจะรู้ไปบอกพันตำรวจโททักษิณ ไม่ได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง การตั้งข้อสงสัยของจำเลยที่ 1 จึงมีมูลเหตุเพียงพอที่จะให้ตั้งข้อสงสัยเช่นนั้นได้ ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยอย่างเลื่อนลอย อันจะทำให้เห็นเจตนาร้ายของจำเลยที่ 1 ที่จงใจฉวยโอกาสในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ฝ่ายค้านให้ร้ายแก่โจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร

การอภิปรายของจำเลยที่ 1 ที่พาดพิงถึงโจทก์นั้นยังอยู่ในขอบเขตของการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของพลเอกชวลิต นายกรัฐมนตรีเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อันเป็นวิสัยที่พึงกระทำ

คำอภิปรายของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความจริง จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกา เห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น