xs
xsm
sm
md
lg

ACT ART ของ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2547 ที่อภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้รับการเลือกตั้งแบบถล่มทลายกว่า 9 แสนคะแนนนั้น ผู้สมัครที่ชื่อ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้รับคะแนนเพียง 165,761 คะแนน คิดเป็นเพียง 6.94 % แพ้กระทั่งนางปวีณา หงสกุล ที่ได้ 619,039 คะแนน และนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่ได้ 334,168 คะแนน

อนาคตทางการเมืองของเฉลิมน่าจะดับวูบไปนานแล้ว ถ้าไม่อยู่ๆ ร.ต.อ.เฉลิมก็กระเตงลูกๆไปเยี่ยมทักษิณที่ลอนดอน กลับมาเป็นผู้สมัครบัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทยอันดับสาม และกลายเป็น ฯพณฯรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้ทรงเกียรติในที่สุด

แต่เกียรติที่เฉลิมได้รับนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้คนนอกพรรคตกอกตกใจเพียงฝ่ายเดียว เพราะแม้กระทั่งเว็บไซต์ไฮ-ทักษิณ ที่ซุ่มอยู่ในซอกหลืบก็ยังรับไม่ได้ ด้วยถ้อยความว่า "อย่าปล้นชัยชนะของประชาชนไปเป็นของครอบครัวอยู่บำรุง"

ประดาบ ระบุว่า.. “หากจะนับวันเวลาการต่อสู้เพื่อโค่นล้มเผด็จการ ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย และนำชัยชนะมาสู่พลังประชาชน แล้ว เฉลิม อยู่บำรุง น่าจะเป็นคนสุดท้ายหรือเกือบสุดท้าย ที่เข้ามามีส่วนร่วม แต่หากจะนับรางวัลหลังการต่อสู้ที่เพิ่งผ่านพ้นไป เฉลิม อยู่บำรุง น่าจะเป็นคนที่ได้รับรางวัลใหญ่ที่สุด ทั้งๆ ที่ลงทุนน้อยที่สุด”

ประดาบ ไม่เพียงแต่กล่าวถึงเฉลิม อยู่บำรุง เท่านั้น กระทั่งลูกที่รักของเฉลิม 3 คน ประดาบก็ยังไม่ละเว้น “ไม่เชื่อว่าลูกชายของเฉลิม อยู่บำรุง จะกลับตัวกลับใจ จากอันธพาลของสังคม และภัยของประชาชน มาเป็นผู้รับใช้สังคม และเป็นมิตรกับประชาชนได้ เพราะพฤติกรรมแต่ละครั้งของ “ลูกเหลิม” ไม่ได้เกิดขึ้นจากความวู่วาม ความคึกคะนอง ความด้อยวุฒิภาวะ การขาดสติเพราะแอลกอฮอล์ หรือพวกมากลากไป หากแต่เกิดจาก “สันดาน” ที่บ่มเพาะมาแต่เล็กแต่น้อย”

วันนั้น ประดาบ เตือนสติ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง ด้วยว่า เมื่อมาจากประชาชนได้ ก็ไปจากประชาชนได้เช่นกัน

ข้อเขียนของประดาบสะท้อนให้เห็นว่า เฉลิม ไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของคนในสังคมที่ชิงชังเขาและเกลียดชังระบอบทักษิณเท่านั้น กระทั่งคนที่รักทักษิณก็ไม่อาจยอมรับได้

แต่เฉลิมก็คือฉลาม เหมือนที่เขาเคยเปรียบตัวเองว่า ไปทะเลเจอฉลาม มาสภาเจอเฉลิม หลังเขียนถึงเฉลิมแล้ว ประดาบเจอฉลามงับน่องกระทั่งต้องซมซานไปเลียแผลถึงชายฝั่งทะเลแห่งหนึ่ง พร้อมโอดครวญกับบรรดาสาวกว่า จะเขียนเป็นครั้งสุดท้าย และทิ้งระเบิดใส่เฉลิมและลูกๆว่า เหมือนหลุมใหญ่บนถนนเส้นที่นายกฯทักษิณ ชินวัตร กำลังจะเดินทางกลับบ้าน

แม้ว่า การแสดงออกของเว็บบูชาทักษิณ จะสะท้อนความหวั่นไหวต่อกระแสสังคมที่ชิงชังต่อเฉลิมและครอบครัว แต่ลีลาท่าทางของเฉลิมหลังจากกลายเป็น ฯพณฯรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็พอจะบอกได้ว่า เฉลิมคงจะยังไม่รู้ตัวเองเลยว่า คนในสังคมชิงชังตัวเขาขนาดไหน

อาจเป็นเพราะว่า สำหรับเฉลิมวันนี้เขาไม่ใช่อดีตนายสิบทหารบกอีกต่อไป และไม่ใช่แค่สารวัตรกองปราบที่เชี่ยวชาญในการตรวจสอบร้านเพชรย่านพาหุรัดที่รู้จักเขาดี แต่วันนี้เฉลิมคือ ฯพณฯรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่มีดีกรีเป็นถึงดุษฎีบัณฑิตระดับปริญญาเอก จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปมด้อยทางการศึกษาของเขามลายหายไปหมดสิ้นแล้ว และฉับพลันก็กลายเป็นปมเขื่องที่เขาเที่ยวคุยอวดใครต่อใครขึ้นมา

ตอนที่ยังไม่เป็น ด็อกเตอร์เฉลิม เวลาอภิปรายในสภาหรือโต้เถียงกับใคร เขามัก ACT ART (คำที่เฉลิมชอบพูด) ใส่คนโน้นคนนี้เสมอมาว่า ใครจะมารู้ดีกว่าเขาไม่ได้ เขาเป็นอดีตพนักงานสอบสวนอ่านสำนวนมามาก แต่พอมีดีกรีด้านกฎหมายเพิ่มมาเราก็ได้ยินอดีตสารวัตรเหลิมพูดว่า

“ผมเป็นพนักงานสอบสวนเก่าและเรียนจบทางด้านกฎหมาย ซึ่งผมเห็นแล้วว่าเจ้าหน้าที่ส่งสำนวนการสอบสวนมาให้อ่านล่วงหน้าเพียง 3 วัน จำนวนหลายร้อยหน้า และยังเป็นการสรุปของคณะกรรมการสอบสวนเพียงฝ่ายเดียว โดยที่ไม่มีเอกสารประกอบแนบท้าย อีกทั้งยังไม่มีคำแก้ข้อกล่าวหาของอธิบดีกรมที่ดิน”

“ด็อกเตอร์กฎหมายเรียนยาก ในเมืองไทย แต่ด็อกเตอร์นิด้าเดินชนกันตาย ด็อกเตอร์กฎหมายในเมืองไทยเพิ่งมีสามสี่คน เดี๋ยวผมตั้งวงเป็นนักวิชาการบ้างเอามาชำแหละกัน วิจารณ์นักวิชาการบ้างแล้วจะทำยังไง แล้วก็ไปบอก แหมรัฐมนตรีไม่ยินยอม มันก็ระดับหนึ่ง มันเรียนหนังสือมาด้วยกัน มองตาก็รู้ใจ นิด้าไม่มีหรอก จวกทุกรัฐบาล แต่พลังประชาชนจะโดนหนักหน่อย พวกผมไม่ได้คิดถือเป็นธรรมดา และพวกอาจารย์พวกนี้ ชอบวิจารณ์ นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เอาเข้าจริงๆ เอาปืนไปจี้ให้ลงเลือกตั้ง ไม่เอากลัวแพ้”

เฉลิมไม่ได้พูดเพียงแค่นั้นเขายังท้าด้วยว่า ให้อาจารย์ที่วิพากษ์วิจารณ์มาลงเลือกตั้งแข่งกับเขา ซึ่งหลายคนก็ฟังแล้วหัวเราะขบขัน เพราะทำให้เขาสงสัยว่า เฉลิมจะเข้าใจเนื้อหาสาระในรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ เพราะจริงแล้วนักวิชาการก็ทำหน้าที่ของเขาเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น นักวิชาการทั่วโลกเขาก็เป็นแบบนี้ แต่ไม่มีนักการเมืองประเทศไหนท้าทายนักวิชาการที่มาวิจารณ์ตัวเองว่า แน่จริงมาลงเลือกตั้งแข่งกัน

ว่าไปแล้วก็เป็นโชคดีของเฉลิมด้วยซ้ำไป เพราะถ้านักวิชาการเขารับคำท้าจริง ไม่รู้เหมือนกันว่า เฉลิมจะได้คะแนนจากคนกรุงเทพฯ สักกี่คะแนน

เรื่องอวดปมเขื่องของเฉลิมเหมือนเป็นสันดานที่ติดตัว เมื่อปี พ.ศ. 2549 เฉลิมตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ คือ พรรคทางเลือกใหม่ เฉลิม หัวหน้าพรรค ซึ่งกลายเป็นดุษฎีบัณฑิตทางนิติศาสตร์แล้ว ก็เลยออกมา ACT ART โชว์ภูมิ เสนอให้ออกพระราชกฤษฎีกางดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตทางการเมือง

แต่ข้อเสนอของ ร.ต.อ.ดร.เฉลิมก็กลายเป็นที่ขบขันและวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่แวดวงนักกฎหมายหรือผู้มีความรู้ด้านกฎหมายเป็นอันมาก

เพราะว่าพระราชกฤษฎีกาเป็นกฎหมายที่มีลำดับชั้นต่ำกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งผู้ที่เรียนวิชากฎหมายมาจะทราบดีว่ากฎหมายลำดับชั้นต่ำกว่าจะยกเลิกแก้ไขผลหรือตัวบทกฎหมายในลำดับชั้นสูงกว่าไม่ได้

การ ACT ART ของ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม จึงถูกมองว่า เป็นการแสดงออกถึงความไม่เข้าใจในเรื่องพื้นฐานของระบบกฎหมาย และทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ตามมาเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจและคุณวุฒิปริญญาทางกฎหมายที่ ร.ต.อ.ดร.เฉลิม ได้รับ

แต่วันนี้เฉลิมก็ยังยืนยันว่า เขารู้เรื่องกฎหมายดีกว่าใคร เฉลิม ท้าทาย 5 แกนนำพันธมิตรฯ ให้ออกโทรทัศน์คุยเรื่องรัฐธรรมนูญ แต่มีเงื่อนไขห้ามเปิดตำรา เฉลิม บอกว่า สนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้มีความรู้จริงเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ เพราะจบทางด้านประวัติศาสตร์ ส่วนน.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่มีความรู้รัฐธรรมนูญเช่นกัน เพราะจบด้านครูบ้านสมเด็จฯ

โชคดีของเฉลิมที่ทั้งสองไม่ให้ราคากับคำพูดท้าทายนี้ เพราะแค่ได้ยิน ฯพณฯ เฉลิมวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ก็รู้แล้วว่า ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง ท่องรัฐธรรมนูญได้กี่มาตรา
กำลังโหลดความคิดเห็น