xs
xsm
sm
md
lg

ถอดรหัสคำพิพากษาศาลฎีกาคดีค่าเงินบาท ย้อนรอยวิกฤต 40 เปิดขบวนการปล้นชาติ - ตอนที่ 1 : เวลา 4 ทุ่ม กับคืนที่ทักษิณรู้ข่าวลดค่าเงินบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online




“เขาพูดกันว่า คนที่เป็นนักธุรกิจส่งนอก บอกว่าเดี๋ยวนี้เงินบาทแข็งเกินไป แต่ก่อนนี้เงินบาทลอยไป ไม่ต้องมีเครื่องบิน ไม่ต้องมีบอลลูนหรอก มันลอยขึ้นไป พวกที่หัวใสในทางเก็งราคา ก็เก็งราคาดอลลาร์ ไปซื้อดอลลาร์ เพราะทราบว่าจะลอย ก็ซื้อดอลลาร์มากมายทีเดียว เมื่อลอยก็ขายได้กำไร ถ้าซื้อล้านบาทก็ได้กำไรกลับคืนมาสองล้านบาทภายในไม่กี่เดือน” – พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววันที่ 4 ธันวาคม 2541


ข่าวเชิงวิเคราะห์ โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


ย้อนรอยคดีค่าเงินบาท หลังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีค่าเงินบาทที่ “โภคิน” แพ้ “สุเทพ” พบทักษิณเคยยอมรับกลางสภาได้รับโทรศัพท์ตอน 4 ทุ่มมาคาบข่าวก่อนลอยค่าเงิน ตะลึงเงินไหลออกสุทธิ 3 วันเกือบ 5 หมื่นล้านบาท หลัง “ทักษิณ” ให้สัมภาษณ์ฟันธงลดค่าเงินบาทตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2540

**เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาคดีลดค่าเงินบาท(ฉบับเต็ม) ไขความลับดำมืด "ทักษิณ"อินไซด์ข้อมูล สะสมทุนตั้งพรรคกินเมือง??**

จากกรณีที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 5730/2550 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2550 ที่ได้ยกฟ้องคดีความที่นายโภคิน พลกุล ในฐานะอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็น โจทย์ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้อภิปรายญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2540 เรื่องการลดค่าเงินบาท โดยนายสุเทพตั้งข้อสงสัยว่านายโภคินได้นำมติจากที่ประชุมลับเรื่องการลดค่าเงินบาท ไปบอก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำให้บริษัทของ พ.ต.ท.ทักษิณได้ประโยชน์ ตามที่ได้ปรากกฏเป็นข่าวแล้วนั้น

หากได้ย้อนเวลากลับไปตามวันและเวลาก่อนลอยค่าเงินบาท ได้พบที่น่าสังเกตุและมีพิรุธดังต่อไปนี้

วันเสาร์ที่ 21 มิถุนายน 2540 เป็นวันหยุดราชการ ผู้บริหารแบงก์ชาติ 6 คน (นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์, นางธัญญา ศิริเวคิน, นายศิริ การเจริญดี , นายบัณฑิต นิจถาวร, นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน และ นางเกลียวทอง เหตระกูล) พิจารณาทั้งวันแล้วมีมติ ให้ลอยค่าเงินบาทและเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดตามที่เคยหารือกับไอเอ็มเอฟมาก่อนหน้านี้ และมีการโทรศัพท์ให้นายเริงชัย มะระกานนท์ ผู้ว่าแบงก์ชาติได้รับทราบ โดยไม่มีการแจ้งให้ฝ่ายการเมืองทราบอย่างทันท่วงที

วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน 2540 เปิดทำการวันแรก ทุนสำรองสุทธิอยู่ที่ประมาณ 4,883 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

วันอังคารที่ 24 มิถุนายน 2540 เปิดทำการวันที่สองแบงก์ชาติทำสัญญา SWAP กับเอกชนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ทุนสำรองสุทธิค่อนข้างคงที่

วันพุธที่ 25 มิถุนายน 2540 แบงก์ชาติทำสัญญา SWAP กับเอกชนเพิ่มขึ้น เงินไหลออกนอกประเทศจนทุนสำรองสุทธิลดลง 208 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 5,200 ล้านบาท) ทุนสำรองสุทธิเหลือประมาณ 4,675 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน 2540 มีการทำสัญญา SWAP เพิ่มอีกเช่นเคย ผู้บริหารแบงก์ชาติ เข้าพบนายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อนายทนงได้เห็นทุนสำรองสุทธิที่เหลือน้อยมากไม่สามารถปกป้องค่าเงินบาทได้แล้ว จึงให้นโยบายว่าให้แบงก์ชาติต้องเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน แต่แบงก์ชาติกลับบอกว่าจะกลับไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่ของแบงก์ชาติทั้งๆ ที่ได้มีการประชุมผู้บริหารไปก่อนหน้านี้แล้ว

วันนั้นนอกจากผู้บริหารของแบงก์ชาติทั้ง 7 คนแล้ว นายทนง พิทยะ รัฐมตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ย่อมรู้ดีว่าจะต้องมีการเปลี่ยนระบบค่าเงินด้วย เพราะได้เห็นสถานภาพของทุนสำรองระหว่างประเทศจนหมดสิ้นแล้ว

ปรากฏว่าวันเดียวกัน เงินไหลออกนอกประเทศ จนทุนสำรองสุทธิลดลงไปอีก 417 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 10,425 ล้านบาท) หรือเงินไหลออกนอกประเทศสุทธิเกือบ 2 เท่าตัว เมื่อเทียบกับก่อนหน้าหนึ่งวัน ทำให้ทุนสำรองสุทธิเหลือประมาณ 4,258 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน 2540 ปรากฏว่า เงินไหลออกสุทธิเพิ่มหนักมากขึ้นประมาณถึง 1,408 ล้านเหรียญสหรัฐฯในช่วงเวลาเพียงแค่วันเดียว (ประมาณ 35,200 ล้านบาท) เทียบเป็น 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า 1 วัน หรือคิดเป็นกว่า 6 เท่าตัวเมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า 2 วัน เป็นผลทำให้ทุนสำรองสุทธิลดลงเหลือเพียง 2,850 ล้านเหรียญสหรัฐฯเท่านั้น

วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2540 เป็นวันหยุดทำการไม่มีธุรกรรมใดๆ นายทนง พิทยะ ได้ตกลงกับ นายเริงชัย มะระกานนท์ และนายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ว่าจะไปเรียนนายกรัฐมนตรี ในเช้าวันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน 2540

วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน 2540 เป็นวันหยุดทำการเช่นเดียวกัน เวลา 9.30 น. นายทนง พิทยะ, นายเริงชัย มะระกานนท์, นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ เข้าร่วมประชุมเพื่อแจ้งว่าจะมีการลอยค่าเงินบาท โดยมีนายโภคิน พลกุล ร่วมประชุมอยู่ด้วย (ตามคำพิพากษาศาลฎีกา)

วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2540 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลงนามให้ประกาศลอยค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 โดยนายเริงชัย มะระกานนท์ อ้างว่าเพื่อให้ปิดงวดบัญชีครึ่งปีในวันที่ 30 มิถุนายน 2540 และวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 เป็นวันหยุดทำการของแบงก์ชาติ

แต่ในวันดังกล่าว แบงก์ชาติกลับไปทำ SWAP เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดกับเอกชนเป็นจำนวนถึง 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งๆ ที่น่าจะรู้ดีว่าการทำ SWAP กับเอกชนในวันนั้นเมื่อถึงกำหนดคืนเงินเหรียญสหรัฐฯตามสัญญา SWAP จะต้องขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากการลอยค่าเงินบาทอย่างย่อยยับและเอกชนคู่สัญญาก็น่าจะได้กำไรไปอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน

ตามคำพิพากษาศาลฎีการะบุคำพิพากษาในการยกฟ้องที่นายโภคิน พลกุล ฟ้องร้องต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณความตอนหนึ่งว่า

“การที่จำเลยที่ 1 (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรว่า โจทก์ (นายโภคิน พลกุล )ซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและไม่สมควรจะไปนั่งอยู่ด้วยในการประชุมตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะให้ค่าเงินบาทลอยตัวนั้น ไม่ใช่ข้อความอันเป็นเท็จหรือฝ่าฝืนต่อความจริง ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ต่างหากที่ฝ่าฝืนต่อความจริง”

ส่วนเรื่องที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อภิปรายสงสัยว่า นายโภคิน พลกุล เป็นคนบอกความลับเรื่องนี้แก่ พ.ต.ท. ทักษิณนั้น ศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่เห็นว่า

“การกระทำของพลเอกชวลิตที่ยอมให้โจทก์ (นายโภคิน พลกุล) ได้ร่วมรับรู้ถึงการปรึกษาหารือและตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท อันเป็นเรื่องความลับที่สุดซึ่งเกี่ยวกับประโยชน์และส่วนได้เสียของประเทศและประชาชนจำนวนมากเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2540 ก่อนวันประกาศเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ถึง 3 วันทั้งๆ ที่โจทก์ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือควรรับรู้ถึงการปรึกษาหารือและการตัดสินใจในครั้งนี้เลย

และหลังจากนั้นยังยืนยันในที่สาธารณะต่อสื่อมวลชนมาโดยตลอดว่า มีผู้รู้ถึงการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเพียง 3 คนเท่านั้น คือ ตัวพลเอกชวลิต นายทนง และนายเริงชัย เป็นข้อพิรุธสำคัญ

ประกอบกับพันตำรวจโททักษิณซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจการค้ารายใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบเสียหายรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอย่างผู้ประกอบธุรกิจการค้าใหญ่รายอื่นที่มีหนี้สินเป็นเงินตราต่างประเทศที่ต่างประสบความเสียหายอย่างรุนแรง ย่อมเป็นมูลเหตุเพียงพอที่จะทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายตั้งข้อสงสัยโจทก์ได้

การตั้งข้อสงสัยดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงมีมูลเหตุเพียงพอที่จะให้ตั้งข้อสงสัยเช่นนั้นได้ ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยอย่างเลื่อยลอย”


สิ่งที่น่าสนใจในการอภิปรายญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2540 นั้น ได้ปรากฎว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ลุกขึ้นยืนตอบการอภิปรายในครั้งนั้น ตามรายงานการประชุมสภาผู้แทนฯชุดที่ 20 ปีที่ 1 ครั้งที่ 25-26 (สมัยสามัญครั้งที่ 2 เล่ม 21 พ.ศ. 2540 ) หน้า 179 -181 ว่า:

"เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม (2540) กลางคืนวันนั้น บังเอิญผมทานข้าวกับผู้ใหญ่ที่ผมนับถือร่วมกับนักหนังสือพิมพ์อาวุโสคนหนึ่ง ประมาณ 4 ทุ่มมี “คน” โทรมาบอกผมว่า ได้มีการพบปะกันอย่างซีเรียสมากที่ทำเนียบ มีคน 4 คนคือ นายกฯ (พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ), นายเริงชัย มะระกานนท์ (ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยขณะนั้น), นายทนง พิทยะ และ นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ (รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย) เพราะผมรู้ว่า นายชัยวัฒน์ เป็นผู้จัดการกองทุนรักษาระดับ ผมเลยเดาแล้วยังบอกกับผู้ใหญ่คนนั้นกับนัก นสพ.อาวุโสว่า สงสัยจะมีการลดค่าเงินบาทแน่ เพราะถ้ามีผู้จัดการทุนรักษาระดับเข้าไปร่วมด้วยในการพิจารณาซีเรียสอย่างนั้น ผมเดาว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น ผู้ใหญ่ที่ผมนับถือคือ พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ ครับ ผมอยู่กับท่านวันที่ 1 กรกฏาคม ตอน 4 ทุ่ม"

เพราะวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 เป็นวันหยุดทำการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย การอ้างว่ารู้ข้อมูลการเคลื่อนไหวเพื่อลดค่าเงินบาทในวันดังกล่าวนั้นก็เพื่อจะบอกต่อสภาผู้แทนราษฎรว่าแม้จะรู้ข้อมูลก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะหาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลค่าเงินบาทได้ก็ควรต้องรู้ข้อมูลก่อนคืนวันอังคารที่ 1 กรกฎาคม 2540

แต่จากหลักฐานที่ปรากฎพบว่า หน้าปกมติชนสุดสัปดาห์ฉบับวันอังคารที่ 1 กรกฎาคม 2540 ได้ขึ้นรูป พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมกับพาดหัวด้วยคำว่า “อัศวินแห่งคลื่นลูกที่ 3 ทักษิณ ชินวัตร เปิดถ้วยไฮโล-ควบดาวเทียม ฟันธง ลดค่าเงินบาท” การสัมภาษณ์ครั้งนั้นได้เกิดที่ห้องไดนาสตี้ โรงแรมเซ็นทรัล “ในวันอังคารที่ 24 มิถุนายน 2540”

วันอังคารที่ 24 มิถุนายน 2540 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฟันธงว่าจะลดค่าเงินบาทนั้นห่างกันถึง 7 วัน จากเวลา 4 ทุ่มของคืนวันอังคารที่ 1 กรกฎาคม 2540 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อ้างว่าเพิ่งจะรู้ข่าวเพราะมีคนโทรมาบอก

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฟันธงเรื่องการลดค่าเงินบาทได้อย่างไรทั้งๆ ที่ ในเวลานั้นเรื่องของทุนสำรองระหว่างประเทศและภาระผูกพันการทำ SWAP ของแบงก์ชาตินั้นเป็นความลับสุดยอด การกำหนดวันเวลาการลดค่าเงินจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้

ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร “รู้ไส้” ข้อมูลว่าจะมีการลดค่าเงินตั้งแต่วันอังคารที่ 24 มิถุนายน 2540 นั่นหมายถึงว่าข่าวการลดค่าเงินนั้นไม่น่าจะสงสัย นายโภคิน พลกุล เพียงแค่คนเดียวเท่านั้น แต่อาจจะมีคนในแบงก์ชาติที่ได้ประชุมกันว่าจะลดค่าเงินตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน 2540 เป็นคนบอกข่าวล่วงหน้าด้วยหรือไม่?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในแบงก์ชาติที่ประชุมลอยค่าเงินบาท ที่มีความเจริญก้าวหน้ามากที่สุดในตำแหน่งทางการเมืองและสถาบันการเงินหลายแห่งในสมัยรัฐบาลทักษิณ ก็คือ นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ รองผู้ว่าการแบงก์ชาติในสมัยนั้นที่ปัจจุบันก็ยังเป็นประธานกรรมการ บริษัท เอสซี แอสเสท (มหาชน) จำกัด ที่ได้ถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการตรวจสอบการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นในกิจการแห่งนี้

นับตั้งแต่วันที่ 24 – 30 มิถุนายน 2540 ถ้านับเฉพาะวันทำการของแบงก์ชาติ พบว่ามีคนนำเงินบาทมาแลกเป็นเงินเหรียญสหรัฐฯในรูปแบบต่างๆ เป็นตัวเลขเงินไหลออกสุทธิประมาณไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯหรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ถ้านำมาแลกกลับเป็นบาทตอนอ่อนค่าลงเป็น 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ก็จะได้กำไรไปประมาณ 5 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ โดยเงิน 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯนั้นก็จะได้กำไรไปประมาณ 1 หมื่นล้านบาท หรือถ้านำมาเงินดังกล่าวแลกกลับตอน 40 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯก็จะได้กำไรไปประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และถ้านำมาแลกในช่วงค่าเงินบาทอ่อนตัวลงที่ 50 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯก็จะทำกำไรไปอย่างมโหฬารถึง 5 หมื่นล้านบาท

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้อภิปรายญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2540 ความตอนหนึ่งว่า

“คนนี้เอาเปรียบคนไทยทั้งชาติ คนนี้เอาข้อมูลภายในไปแสวงหาประโยชน์ มีข่าวลือกันมากในตลาดการเงินในประเทศไทยว่า ขาใหญ่ที่ร่ำรวยนั้น รวยถึงขนาดมีการันตีได้ว่า เลือกตั้งคราวหน้าสบายกันทุกคน.....

“ท่านประธานที่เคารพครับวันนี้ผมยอมบาป คนที่ผมสงสัยมากที่สุดนั่งอยู่ตรงนั้นครับ ด็อกเตอร์ทักษิณ ชินวัตร ครับผู้ต้องสงสัยของผม ท่านด็อกเตอร์ทักษิณไม่ได้ทำบาปอะไรหรอกครับ ที่ผมสงสัยคือสงสัยว่ารัฐมนตรีโภคินจะเป็นคนบอกความลับเรื่องนี้กับด็อกเตอร์ทักษิณ แล้วด็อกเตอร์ทักษิณไปซื้อขายเงินไว้ล่วงหน้าทำกำไร”

“ท่านประธานที่เคารพครับ ท่านได้กำไรไปเยอะในขณะที่คนในชาติน้ำตาไหลกันทุกคน ผมไม่แปลกใจว่า หลังจากนั้นไม่นาน ได้มาเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ก็เก่งขนาดทำเงินได้ 2 วัน 4 พันล้านบาท ถึง 5 พันล้านบาท ก็น่าจะให้เป็นหรอกครับ”

“ท่านประธาน นี่เป็นข้อสงสัยของผม ผมคาดคะเนสงสัยด้วยเหตุผลแวดล้อมอย่างนี้และผมมีประจักษ์พยานหลักฐานว่า หลังจากนายโภคินได้รับความลับเรื่องนี้ ได้มีการโทรศัพท์ติดต่อกับด็อกเตอร์ทักษิณ ชินวัตร เสียอย่างเดียวว่า ผมไม่มีหูทิพย์ว่าพูดกันอย่างไรเท่านั้นเองครับ แต่ผมสงสัย และผมรู้ว่านายโภคินได้พูดความลับเรื่องนี้กับคนอื่นอีก ถ้าท่านรัฐมนตรีโภคินสงสัยฟ้องศาลจะได้รู้ว่าคนที่ท่านบอกนั้นจะเป็นพยานให้ท่านหรือจะเป็นพยานให้ผม”

10 ปีผ่านไปศาลฎีกานอกจากจะยกฟ้องคดีค่าเงินบาท ที่นายโภคิน พลกุล ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการอภิปรายญัตติไม่ไว้วางใจของนายสุเทพ เทือกสุบรรณแล้ว นายสุเทพยังได้นำสืบอีกด้วยว่า นายโภคิน พลกุล ไม่ได้รับความเสียหายจากการอภิปรายญัตติไม่ไว้วางใจครั้งนั้นอีกด้วย โดยระบุเอาไว้ในคำพิพากษาความตอนหนึ่งว่า:

“โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง เนื่องจากก่อนเป็นนักการเมืองโจทก์เป็นนักวิชาการไม่มีชื่อเสียงโด่งดังมากนัก ทั้งไม่เคยทำธุรกิจค้าขายร่วมกับชาวต่างประเทศและเสียภาษีเพียงปีละหลักพันบาทเท่านั้น”

พ.ศ.2546 นายโภคิน พลกุล ได้เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปรากฏว่านายโภคินมีทรัพย์สิน 22,584,577 บาท ไม่มีหนี้สิน ภรรยามีทรัพย์สิน 84,371,703 บาท มีหนี้สิ้น 8,261,376 บาท ภรรยามีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน 76,110,327 บาท บุตรยังที่ไม่บรรลุนิติภาวะ 1 คน มีทรัพย์สิน 368,087 บาท ไม่มีหนี้สิ้น

นายโภคิน พลกุล เสียภาษีปีละหลักพันบาทแต่กลับมีทรัพย์สินของครอบครัวที่แจ้งต่อ ป.ป.ช.ในเวลาต่อมาร่วมร้อยล้านบาท ในขณะที่ประชาชนจำนวนมากที่ได้ผ่านเหตุการณ์ในการลอยค่าเงินบาทในวันนั้นได้ผ่านชีวิตที่ล่มสลาย ล้มละลาย ตกงาน แทบสิ้นเนื้อประดาตัว ในขณะที่มีคนบางกลุ่มได้ร่ำรวยในชั่วพริบตา กลายเป็นนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

อ่านเรื่องเกี่ยวเนื่อง
-เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาคดีลดค่าเงินบาท(ฉบับเต็ม) ไขความลับดำมืด "ทักษิณ"อินไซด์ข้อมูล สะสมทุนตั้งพรรคกินเมือง??
กำลังโหลดความคิดเห็น