มูลนิธิผู้บริโภคและพวกยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ออกหมายบังคับคดี ปตท.ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลฯ เหตุเพราะยังไม่จัดทำบัญชีแบ่งแยกสาธารณสมบัติของแผ่นดินโอนคืนกระทรวงคลังให้ครบถ้วนก่อน แต่กลับจัดตั้งคณะกรรมการประกอบกิจการพลังงานเพื่อปิดคดี พร้อมยื่นรายการทรัพย์สินมูลค่าร่วมสองแสนล้านที่ ปตท.ต้องโอนคืนคลัง
วันนี้ (28 ม.ค.) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กรรมการผู้จัดการมูลนิธิผู้บริโภค และนางสาวรสนา โตสิตระกูล ในฐานะผู้ฟ้องคดี ปตท.ได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี หมายเลขคดีดำที่ ฟ.47/49 และหมายเลขคดีแดงที่ ฟ.35/50 ระหว่างมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กับพวกรวม 5 คน ผู้ฟ้องคดี กับ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รมว.กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
คดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สิน ในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดิน เพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจ และสิทธิ ในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐ ออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550
ส่วนคำขอตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ที่ขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 นั้นให้ยก
ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ได้กำหนดให้มีการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ให้แล้วเสร็จก่อนการจัดตั้งคณะกรรมการประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งตามกฎหมายระบุให้มีการตั้งคณะกรรมการฯในกำหนด 120 วัน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ จึงมีเวลาเพียงพอในการจัดทำรายการทรัพย์สิน รวมทั้งให้มีการตรวจสอบอย่างรอบคอบโดยให้ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นผู้ตรวจสอบ และประเมินราคา ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 18 ธันวาคม 2550
ต่อมา เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการประกอบกิจการพลังงาน ตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 จำนวน 7 คน ทำให้ครบเงื่อนเวลาที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกฟ้องคดียังมิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาให้ครบถ้วน
กล่าวคือ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่เพียงแต่กระทำการแยกทรัพย์สิน ที่ดินและสิทธิในการใช้ที่ดิน ท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ เฉพาะ 3 โครงการ ได้แก่ (1) ที่ดินที่ได้มาโดยการใช้อำนาจเวนคืนจำนวน 32 ไร่ ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และ ระยอง (2) สิทธิเหนือที่ดินในข้อ (1), (3) ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ที่อยู่ในที่ดินข้อ (1) และท่อในโครงการบางปะกง-วังน้อย โครงการชายแดนไทยพม่า-ราชบุรี โครงการราชบุรี-วังน้อย โดยประเมินมูลค่ารวมทั้งสิ้นเพียง 15,139 ล้านบาท จากมูลค่าที่แท้จริงที่สูงกว่าหลายเท่าตัว
ผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ยื่นคำร้องต่อศาลฯ ว่า ยังมีทรัพย์สินของผู้ถูกฟ้องคดีที่สี่ ที่ต้องโอนคืนกระทรวงการคลัง อีกเป็นจำนวนมาก โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่พยายามปิดบัง บ่ายเบี่ยง ไม่ยอมทำบัญชีแบ่งแยก เพื่อโอนคืนกระทรวงการคลัง ตามคำพิพากษาซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้ตรวจพบเบื้องต้น ปรากฏว่า มีสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ยังไม่จัดทำบัญชีแบ่งแยกเพื่อโอนคืนกระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด มีรายการดังต่อไปนี้
หนึ่ง ระบบท่อทั้งหมด ซึ่งมีความยาวทั้งสิ้น 3,523 กม.แบ่งเป็นระบบท่อบนบกความยาว 3,384 กม.ระบบท่อส่งก๊าซในทะเลยาว 1,369 กม.ระบบท่อจัดจำหน่ายยาว 770 กม.
เนื่องจากทรัพย์สินที่เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ทั้งบนบกและในทะเล ถือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการที่ ปตท.ซึ่งเป็นองค์การของรัฐใช้อำนาจมหาชนของรัฐดำเนินการให้ได้มา จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(3) ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่สี่ มีหน้าที่ต้องโอนทรัพย์สินดังกล่าวกลับไปเป็นของกระทรวงการคลัง ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 เช่นเดียวกับกรณีการโอนที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่กระทรวงการคลัง
สอง ระบบท่อที่กำลังดำเนินการก่อสร้างตามแผนแม่บทฉบับที่ 3 ซึ่งใช้งบประมาณลงทุนของรัฐ จำนวนทั้งสิ้น 157,102 ล้านบาท ได้แก่ หน่วยเพิ่มความดันที่กาญจนบุรี ลงทุน 2,888 ล้านบาท หน่วยเพิ่มความดันสำรองที่ราชบุรี ลงทุน 529 ล้านบาท ท่อไทรน้อย-โรงไฟฟ้าพระนครใต้-พระนครเหนือ ลงทุน 10,323 ล้านบาท ท่อในทะเล-บนบก อาทิตย์-PRP-ระยอง-บางปะกง 57,922 ล้านบาท
ท่อบนบก วังน้อย-แก่งคอย 6,249 ล้านบาท หน่วยเพิ่มความดันบนบก-ในทะเล 11,968 ล้านบาท ท่อในทะเล-JDA-อาทิตย์ เงินลงทุน 11,884 ล้านบาท หน่วยเพิ่มความดันบนบกกลางทาง 4,917 ล้านบาท ท่อบนบกระยอง-บางประกง-วังน้อย-Compressor ลงทุน 21,209 ล้านบาท ท่อในทะเล KP 361-ราชบุรี ลงทุน 23,907 ล้านบาท ท่อในทะเลไปทับสะแก ลงทุน 5,306 ล้านบาท
สาม ระบบท่อของโครงการไทยมาเลเซีย ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนไทย-มาเลเซีย ในสัดส่วน 50:50 มูลค่าทรัพย์สินส่วนที่อยู่ในประเทศไทย มีมูลค่าประมาณ 15,062 ล้านบาท ได้แก่ ท่อจากแปลง A18 ในเจดีเอ ถึงอำเภอจะนะ ยาว 227 กิโลเมตร ท่อจากอำเภอจะนะ-ชายแดนรัฐเคดาห์ 98 กิโลเมตร รวมความยาวทั้งสิ้น 325 กิโลเมตร โรงแยกก๊าซหน่วยที่ 1 และ 2 ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
สี่ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 1(ระยอง, พ.ศ.2528) โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 2 (ระยอง, พ.ศ.2531) โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 3 (ระยอง, พ.ศ.2536) โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่4 (นครศรีธรรมราช, พ.ศ.2536) คลังก๊าซแอลพีจี 6 แห่ง ตั้งแต่ปี 2526-2530 คลังสำรองผลิตภัณฑ์เขาบ่อย่า คลังปิโตรเลียม 7 แห่ง คลังน้ำมัน 3 แห่ง คลังก๊าซ 1 แห่ง ท่าเทียบเรือ 7 แห่ง เป็นต้น
คณะรัฐมนตรียังได้มีมติเห็นชอบการร่วมลงนามระหว่าง ปตท.และ ปิโตรนาส ตามโครงการร่วมทุนไทย-มาเลเซีย ซึ่งการลงนามให้มีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ 28 มกราคม 2551 โดยที่ยังไม่ได้มีการแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ ปตท.ใช้อำนาจรัฐโอนไปของตนเองโดยมิชอบ ตามคำพิพากษา ออกให้เสร็จสิ้นก่อนการเซ็นสัญญา รวมทั้งยังอนุญาตให้ ปตท.ร่วมทุนและแสวงหาผลประโยชน์จากธุรกิจที่ต่อเนื่องดังกล่าวได้อีกด้วย ทั้งที่ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาแล้วว่า ปตท.มิใช่องคาพยพของรัฐอีกต่อไป
ดังนั้น การทำธุรกิจของบริษัทเอกชนกับกลุ่มทุนต่างชาติ โดยนำเอาทรัพย์สินของรัฐไปร่วมลงทุนโดยฝ่าฝืนคำพิพากษา ย่อมทำให้ประชาชนไทยและรัฐไทยสูญเสียผลประโยชน์ของชาติ ที่ควรจะได้รับจากสาธารณสมบัติของแผ่นดินเหล่านี้ เป็นการแสดงพฤติกรรมที่หลีกเลี่ยงกฎหมายและเอาเปรียบประชาชนผู้จำเป็นต้องบริโภคพลังงานที่ผูกขาดโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่สี่เป็นอย่างยิ่ง
คำร้องยังระบุว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ยังมิได้ตรวจสอบความถูกต้องของรายการทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติและโอนคืนให้แก่กระทรวงการคลังโดยครบถ้วนก่อนการจัดตั้งคณะกรรมการประกอบกิจการพลังงาน แต่กลับเร่งรัดเสนอชื่อแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อปิดคดี ยืนยันว่า ได้แบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเสร็จสิ้นเพียงเท่าที่ได้จัดทำใน 3 โครงการดังกล่าวแล้ว ซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งห้าขอยืนยันว่ายังมีทรัพย์สินของแผ่นดินที่ยังมิได้นำมาคืนตามคำพิพากษาอีกจำนวนมาก การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จึงไม่ชอบด้วยคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าจึงขอศาลปกครองสูงสุด ได้โปรดไต่สวนและออกหมายเรียกผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่มาให้ถ้อยคำเกี่ยวกับทรัพย์สินและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่สี่ ในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่จะต้องโอนคืนให้กระทรวงการคลัง และออกหมายบังคับคดี กำหนดวิธีการบังคับคดี ที่จะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
1) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่แสดงรายการบัญชีทรัพย์สิน และมูลค่าทรัพย์สินทุกรายการที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่จะโอนคืนกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยรวมเอาท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเลตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าตรวจสอบพบดังรายการข้างต้น โอนคืนให้กระทรวงการคลังด้วย
2) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่แสดงกระบวนการ วิธีคิดคำนวณราคาในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินส่งให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ และให้ความเห็นชอบก่อนจึงถือเป็นราคาประเมินที่ศาลจะบังคับใช้ให้เป็นไปตามคำพิพากษา
3) ให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าเช่าให้กระทรวงการคลัง จากการใช้ทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ นับแต่วันที่เข้าใช้ทรัพย์ จนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษาและนับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะทำสัญญาเช่ากับกระทรวงการคลังแล้วเสร็จ โดยให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้คิดคำณวนกำหนดอัตราค่าเช่า
4) ขอศาลปกครองสูงสุดได้โปรดให้โอกาสเรียกผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเข้าร่วมรับฟัง ซักถามและให้ถ้อยคำพยานหลักฐาน ที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการบังคับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้ปฎิบัติตามคำพิพากษาให้ครบถ้วน และเป็นธรรมต่อผู้บริโภคอันเป็นการปกปักรักษาผลประโยชน์ของสาธารณะ
5) หากความปรากฏแก่ศาลว่ามีข้อขัดข้องทำให้ไม่อาจดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาได้ หรือมีความจำเป็นต้องกำหนดวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา ให้ศาลใช้อำนาจออกคำสั่ง เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าวตามความจำเป็นและสมควรแก่กรณีเพื่อประโยชน์ต่อแผ่นดิน