xs
xsm
sm
md
lg

ส.การค้ายาสูบไทยเผยบุหรี่เถื่อนระบาดหนัก 7 จว.ภาคใต้ตอนล่าง หลังปรับโครงสร้างภาษี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สมาคมการค้ายาสูบไทย เผยสถานการณ์บุหรี่เถื่อน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างยังรุนแรง จากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพาสามิต และการขึ้นภาษีบุหรี่ หนักสุด คือ จ.สงขลา สตูล และ จ.นราธิวาส คาดปีหน้าหนักยิ่งกว่าเหตุจะมีการปรับภาษีบุหรี่อีกระลอก

วันนี้ (9 พ.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทาราหาดใหญ่ จ.สงขลา นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย แถลงสถานการณ์ปัญหาบุหรี่เถื่อนในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ทั้ง จ.สตูล สงขลา ตรัง ปัตตานี พัทลุง นราธิวาส และ จ.ยะลา ยังคงมีการค้าบุหรี่เถื่อนกันอย่างแพร่หลาย จังหวัดที่มีปัญหาบุหรี่เถื่อนรุนแรงมากที่สุดได้แก่ จ.สงขลา สตูล และ จ.นราธิวาส

นางวราภรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้ปัญหาบุหรี่เถื่อนรุนแรงขึ้น ได้แก่ ภาษี และราคาบุหรี่ถูกกฎหมายที่สูงขึ้น สภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และแรงจูงใจการค้าบุหรี่เถื่อนที่มีค่าตอบแทนสูง

นางวราภรณ์ กล่าวต่อไปว่า การที่รัฐขึ้นภาษีบุหรี่อย่างต่อเนื่องทุกปี บุหรี่ถูกต้องเสียภาษีทั้งสิ้น 8 ประเภท ได้แก่ สรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย ภาษี อบจ.เงินบำรุงกองทุน สสส. กองทุนกีฬา กองทุนไทยพีบีเอส กองทุนคนชรา และภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้บุหรี่เถื่อนแพร่หลายมากขึ้น
 

 
โดยเฉพาะตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2560 เมื่อมีการปรับโครงสร้างพร้อมกับขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่ และเรียกเก็บภาษีเพื่อมหาดไทยจากสินค้าบุหรี่ ซึ่งไม่เคยต้องเสียมาก่อน ทำให้ราคาบุหรี่ถูกกฎหมายพุ่งขึ้น จากเดิมราคาต่ำสุดซองละ 40 บาท เป็นซองละ 60 บาท จึงเป็นแรงจูงใจทั้งมิจฉาชีพ และผู้บริโภค

และที่น่าเป็นห่วงคือ ในเดือนตุลาคม 2562 จะมีการขึ้นภาษีบุหรี่อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้บุหรี่ทั้งหมดต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 40 ของราคาขายปลีก บวกกับภาษีตามปริมาณซองละ 24 บาท คาดว่า จะทำให้บุหรี่ถูกกฎหมายราคาพุ่งขึ้นอีกระลอก จากราคาที่ถูกที่สุดซองละ 60 บาท เป็นซองละ 70-80 บาท ทำให้บุหรี่เถื่อนทะลักเข้าไทยมากขึ้น จึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการขึ้นภาษีบุหรี่เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมร้านค้า และไม่ให้เป็นการเพิ่มแรงจูงใจของผู้ค้าบุหรี่เถื่อน

ด้าน นายเชิดเกียรติ เมธีลักษณ์ ที่ปรึกษานายก อบจ.สงขลา ฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 ภาษี อบจ.จากการค้ายาสูบในพื้นที่เก็บได้ 7.2 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 41 จากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2560 ที่เก็บได้ 12.2 ล้านบาท ซึ่งหมายถึงปริมาณการซื้อขายบุหรี่ถูกกฎหมายลดลงร้อยละ 41 เช่นกัน และรายได้สรรพสามิตบุหรี่ในปี 2558 จัดเก็บได้ 80 ล้านบาท ปีงบประมาณเก็บได้ 15 ล้านบาท ที่ประชุมสมาพันธ์ อบจ.ภาคใต้ 14 อบจ.ประสบปัญหาเดียวกันทั้งหมด คือ ภาษีสรรพสามิตลดลง ซึ่งจะกระทบต่อการพัฒนาท้องถิ่น
 





กำลังโหลดความคิดเห็น