xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มเลี้ยงปลาบ้านน้ำลัดสะเดารวมกลุ่มเลี้ยง “ปลาในกระชัง” ส่งขายได้ราคาดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กลุ่มเลี้ยงปลาบ้านน้ำลัด อ.สะเดา จ.สงขลา รวมกลุ่มเลี้ยงปลาในกระชัง ชูเด่นรสชาติดี ไม่มีกลิ่นสาบโคลน ขายได้ราคาดี และเป็นที่ต้องการของตลาด ยอมรับยังขาดประสบการณ์ และพร้อมศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติม

วันนี้ (11 เม.ย.) ชาวบ้านกลุ่มเลี้ยงปลาในกระชัง ม.2 บ.น้ำลัด ต.สำนักแต้ว อ.สะเดา จ.สงขลา ต่างช่วยกันจับปลาทับทิมที่เลี้ยงไว้ในกระชังเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าที่มารอรับซื้อถึงที่เลี้ยง ซึ่งมีอยู่เพียงแห่งเดียวในบ้านน้ำลัด ซึ่งเป็นการเลี้ยงในโครงการ 9101 ตามรอยพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน

นายเกษม ชายสัน อยู่บ้านเลขที่ 6/6 ม.2 บ้านน้ำลัด ซึ่งเป็นประธานกลุ่มเลี้ยงปลาในกระชังเปิดเผยว่า มีสมาชิกในกลุ่มทั้งหมดรวม 19 คน ได้ใช้งบประมาณในโครงการฯ เพื่อทำการเลี้ยงปลาในอ่างเก็บน้ำสาธารณะของหมู่บ้าน โดยทำโครงเหล็ก ใช้ถังพลาสติกขนาด 200 ลิตร เพื่อให้กระชังลอยขนาด 4 คูณ 4 เมตร ใช้ตาข่ายกั้น เบื้องต้น ทำได้ 12 กระชัง เลี้ยงปลานิล 1,500 ตัว ปลาทับทิม 1,500 ตัว โดยซื้อลูกปลาขนาด 4 นิ้ว ราคาตัวละ 4 บาท มาปล่อย โดยเริ่มปล่อยปลาตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมปี 2560 ซึ่งการเลี้ยงจะให้สมาชิกในกลุ่มหมุนเวียนกันมาดูแล และให้อาหารปลากินพืชวันละ 2 เวลาเช้าเย็น
 

 
ปลาที่เลี้ยงในกระชังของกลุ่มบ้านน้ำลัด เริ่มจับขายได้ตั้งแต่อายุประมาณ 5 เดือนกว่า น้ำหนักเฉลี่ยตัวละครึ่งถึง 1 กิโลกรัม จุดเด่นอยู่ที่ปลามีรสชาติดี เนื้อหวาน ไม่มีกลิ่นสาบโคลนตม จึงเป็นที่ต้องการของกลุ่มลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามา และร้านอาหารในพื้นที่ ราคาจำหน่ายปลานิล กิโลกรัมละ 65 บาท ส่วนปลาทับทิม กิโลกรัมละ 80 บาท

“ปลาที่ทางกลุ่มเราเลี้ยงค่อนข้างโตช้า และขนาดไม่เท่ากัน เนื่องจากไม่ได้คัดขนาดในการเลี้ยง และขาดเทคนิคในการให้อาหาร ยอมรับว่าสมาชิกในกลุ่มทุกคนไม่มีความรู้ในการเลี้ยงปลาเลยสักคน แต่ทำด้วยใจรัก ซึ่งจะพยายามทำการค้นคว้า และศึกษาเพิ่มเติมเพื่อที่จะได้ทำการเลี้ยงต่อในรุ่นต่อๆ ไปให้ได้รับผลดีกว่านี้”

ด้าน นายประสบ อิตัน ผู้ใหญ่บ้าน ม.2 บ้านน้ำลัด เปิดเผยว่า ทุกคนในกลุ่มเลี้ยงปลามีความตั้งใจสูง ซึ่งรายได้จากการขายปลาจะเก็บรวบรวมไว้ และจะทำการปันส่วนเมื่อจำหน่ายปลาหมด โดยจะหักลบค่าใช้จ่ายทั้งหมดก่อน ซึ่งการเลี้ยงในครั้งนี้เป็นรุ่นแรกถือเป็นการทดลอง และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ตนเองจะสนับสนุนให้มีการขยายจำนวนการเลี้ยงให้เพิ่มมากขึ้นกว่านี้ในรุ่นต่อๆ ไป เพื่อชาวบ้านจะได้มีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นให้แก่ครอบครัวอีกทางหนึ่ง
 




กำลังโหลดความคิดเห็น