อุบลราชธานี - อากาศร้อน น้ำลด อากาศปิด-เปิดทำปลาเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำมูลตายกว่า 14 ตัน เสียหายเกือบล้านบาท เจ้าของกระชังปลาที่ยังไม่ตาย ต้องเร่งปั้มอากาศเพิ่มออกซิเจนให้ปลาที่เหลืออีกกว่า 50 กระชัง พร้อมวอนเขื่อนหัวนาที่ตั้งอยู่เหนือน้ำ ช่วยปล่อยน้ำมาหล่อเลี้ยงระบบนิเวศช่วยลดการตายของปลาให้ด้วย
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (2 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังบ้านท่าลาด ต.ท่าลาด อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มีปลาเลี้ยงในกระชังของเกษตรกรที่เลี้ยงในแม่น้ำมูลตายจำนวนมาก จึงไปตรวจสอบพบปลานิลเลี้ยงในกระชังของเกษตรกรจำนวน 3 ราย คือ นางบุญสวย มาลาสาย อายุ 53 ปี น.ส.คำปุ่น พันธ์คำ อายุ 49 ปี และ น.ส.ทองคำ บุริวงศ์ อายุ 43 ปี ทยอยตายตั้งแต่ช่วงเช้ามืดมาจนถึงปัจจุบันรวม 14 กระชัง คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 14 ตันเศษ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 7 แสนบาทเศษ
สำหรับปลาเลี้ยงในกระชังของเกษตรกรที่ตาย เป็นปลาอายุระหว่าง 4-5 เดือน น้ำหนักตัวละเกือบ 1 กิโลกรัม ใกล้เก็บเกี่ยวส่งออกขายตลาดได้แล้ว เมื่อเกษตรกรที่เลี้ยงพบปลาเริ่มทยอยตาย ได้นำเครื่องปั๊มอากาศมาช่วยปั๊มออกซิเจนให้กับปลาที่ยังเหลืออยู่ แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งการตายของปลาได้
ขณะที่สาเหตุการตาย ผู้เลี้ยงปลาเชื่อมาจากสภาพอากาศที่ร้อน และท้องฟ้าปิด-เปิดติดต่อกันมาหลายวัน รวมทั้งจุดเลี้ยงมีเขื่อนหัวนา ตั้งอยู่ด้านเหนือน้ำไม่ได้ปล่อยน้ำออกมาหล่อเลี้ยงระบบนิเวศ ทำให้เกิดเป็นน้ำนิ่งและมีน้ำเน่าเสียด้วย
โดยทางออกแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของเกษตรกรที่ปลาตาย นอกจากนำเครื่องปั๊มอากาศมาช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำให้ปลาแล้วก็ได้จับปลาที่ใกล้ตายขึ้นมาขายให้กับรถรับซื้อปลาจากตลาดและประชาชนที่ทราบข่าวในราคาถูกกิโลกรัม 35 บาท เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ในจุดเลี้ยงที่มีปลาตายครั้งนี้ยังมีกระชังเลี้ยงปลาอีกประมาณ 50 กระชัง เจ้าของได้นำเครื่องปั้มอากาศมาช่วยเพิ่มออกซิเยนให้กับปลา และอาจได้รับผลกระทบไม่มาก เนื่องจากเป็นปลาขนาดเล็กมีอายุการเลี้ยงประมาณ 2 เดือน
สำหรับเหตุการณ์ปลาเลี้ยงในกระชังในแม่น้ำมูลตายที่บ้านท่าลาด เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ของปีนี้ โดยครั้งแรกเกิดเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา มีปลาตายกว่า 5 ตัน เสียหายกว่า 3 แสนบาทมาแล้ว
ด้าน น.ส.คำปุ่น พันธ์คำ ผู้เลี้ยงปลาในกระชังในแม่น้ำมูลที่บ้านท่าลาด กล่าวว่า ต้องการให้เขื่อนหัวนาช่วยปล่อยน้ำออกมาไล่น้ำเสียที่เกิดขึ้นในจุดใช้เลี้ยงปลา เพื่อลดอัตราการตายของปลาของพวกตนด้วย แม้จะไม่ใช่สาเหตุหลักในการตายของปลาครั้งนี้ แต่ก็เชื่อจะช่วยลดการตายของปลาลงได้ เพราะน้ำมีการหมุนเวียนไม่เป็นน้ำนิ่งเพียงอย่างเดียว