กาฬสินธุ์ - กอ.รมน.กาฬสินธุ์ ผนึกนายอำเภอกุฉินารายณ์ลงพื้นที่เยียวยาชาวบ้านที่ได้รับแจกจ่ายพันธุ์ปลา-หัวอาหาร ตามโครงการ 9101 ฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมผิดสเปก พร้อมเดินหน้าสอบทุจริตหลังพบความผิดปกติการรวมเกษตรกรเป็นกลุ่มใหญ่หลายร้อยคน
จากกรณีชาวบ้านพบความผิดปกติการซื้อปัจจัยการผลิตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในหลายพื้นที่ของ จ.กาฬสินธุ์ราคาสูงกว่าท้องตลาด โดยเฉพาะ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด, อ.นาคู, อ.กุฉินารายณ์, อ.ห้วยผึ้ง, อ.เขาวง และ อ.สมเด็จ จัดซื้อปัจจัยผลิตราคาแพงกว่าท้องตลาด ชาวบ้านนำเรื่องดังกล่าวเข้าร้องทุกข์ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรมตรวจสอบ กระทั่งนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ หากพบการทุจริตจริงจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดทันที
ล่าสุด พ.อ.มานพ ไขขุนทด รอง ผอ.รมน.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบโครงการ 9101 จ.กาฬสินธุ์, นายพิชัย ส่งสุขเลิศสันติ นายอำเภอกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.กาฬสินธุ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานเกษตรอำเภอ ประมงอำเภอ และผู้รับจ้างลงพื้นที่ประสานงานนำพันธุ์ปลาดุก ปลาหมอเทศ และหัวอาหาร เยียวยาให้แก่ชาวบ้านมะนาว ต.เหล่าใหญ่ และบ้านบุ่งคล้า ต.บัวขาว อ.กุฉินารายณ์
หลังจากชาวบ้านประสบปัญหาความเดือดร้อน เนื่องจากได้รับพันธุ์ปลาผิดสเปก มีขนาดเล็ก และได้รับหัวอาหารผิดประเภทในการแจกจ่ายครั้งแรกตามโครงการ 9101 และขาดความรู้การเลี้ยงปลา ทำให้ปลาที่นำมาเลี้ยงไว้ในกระชังตายลงจำนวนมาก มีหลายรายปลาตายยกกระชัง รวมทั้งการร้องเรียนว่าปัจจัยที่นำมาแจกจ่ายไม่คุ้มค่ากับเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาท
ชาวบ้านมะนาวที่ปลาตายหมดทั้งกระชังจะได้รับการเยียวยาเป็นพันธุ์ปลาดุก รายละ 500 ตัว ส่วนชาวบ้านที่ปลาตายบางส่วนได้รับการเยียวยารายละ 200 ตัว รวมทั้งหมด 115 ราย และทุกคนจะได้รับอาหารปลาเล็กเพิ่มอีกคนละ 1 กระสอบ สำหรับเกษตรกรกลุ่มเลี้ยงปลาบ้านบุ่งคล้าที่ก่อนหน้านี้ต้องการพันธุ์ปลาหมอเทศมาเลี้ยงแต่กลับได้รับพันธุ์ปลาตะเพียน จะได้รับการเยียวยาเป็นพันธุ์ปลาหมอเทศรวมทั้งหมด 19 รายตามที่ขอ และอีก 157 รายจะได้รับหัวอาหารปลาขนาดเล็กเพิ่มอีกคนละ 1 กระสอบ ทำให้ชาวบ้านต่างดีใจเป็นอย่างมาก และขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ช่วยเหลือครั้งนี้
นางอารี สำโรงแสง อายุ 57 ปี ชาวบ้านมะนาว ต.เหล่าใหญ่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การรับพันธุ์ปลาดุกกับหัวอาหารในครั้งแรกนำมาเลี้ยงในกระชังนั้นตายไปจำนวนมาก เพราะปลาตัวเล็กกินอาหารยังไม่เป็น หัวอาหารเม็ดใหญ่ผิดประเภทประกอบกับอากาศหนาว ที่สำคัญชาวบ้านขาดความรู้ในการเลี้ยง แต่วันนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาเยียวยา นำพันธุ์ปลาและหัวอาหารมาเพิ่ม ทั้งแนะนำการเลี้ยง ทำให้ชาวบ้านดีใจมากจะได้เลี้ยงปลาไว้บริโภคและขาย สามารถลดรายจ่ายในครัวเรือน ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะทหาร กอ.รมน.กาฬสินธุ์ และอำเภอกุฉินารายณ์ที่เร่งแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน
ด้าน พ.อ.มานพ ไขขุนทด รอง ผอ.รมน.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่เยียวยาครั้งนี้เป็นการเร่งให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วมและได้รับพันธุ์ปลามาเลี้ยงแต่กลับประสบปัญหาปลาตาย ตามนโยบายรัฐบาลของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนโยบายของนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ ที่ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบและเร่งให้การช่วยเหลือ
ควบคู่ไปกับการตรวจสอบการดำเนินโครงการที่ผิดปกติไปด้วย เนื่องจากคณะกรรมการได้มีการตรวจสอบในเบื้องต้นมีข้อพิรุธ และได้ตั้งข้อสังเกตความผิดปกติอยู่หลายกรณี โดยเฉพาะการจัดส่งปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้ตามขนาดหรือผิดสเปก ผิดประเภท การจัดซื้อในราคาที่สูง ความผิดปกติที่มีผู้รับจ้างจัดส่งปัจจัยการผลิตทั้ง 39 โครงการ งบประมาณกว่า 23 ล้านบาทรายเดียวและร้านเสนอราคาแข่งขันแต่แพ้ทั้งหมดทุกโครงการรายเดียวเช่นกัน
ที่สำคัญจากการตรวจสอบพบว่าอำเภอกุฉินารายณ์ดำเนินโครงการทั้งหมดรวม 39 โครงการ รวม 12 ตำบล 18 ชุมชน แต่ละตำบลมีการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้นมาทำหน้าที่กำกับดูแลกลุ่มเกษตรกร แต่ประเด็นที่ผิดปกติ คือนำเกษตรกรที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากอุทกภัยแต่ละหมู่บ้าน ในตำบลนั้นๆ มารวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มใหญ่ทั้งตำบล บางพื้นที่มีการรวมกลุ่มกันประมาณ 200 คน และบางพื้นที่มีมากถึง 300-360 คน
มีการจัดตั้งประธาน คณะกรรมการ เลขานุการ เหรัญญิกขึ้นมาบริหาร โดยเฉพาะการจัดซื้อปัจจัยการผลิต แต่กลับไม่ได้ให้เกษตรกรที่รวมกลุ่มกันซื้อปัจจัยการผลิตเอง ลักษณะการดำเนินงานดังกล่าวปัญหาคืออาจจะดูแลเกษตรกรไม่ทั่วถึง เจ้าหน้าที่ตั้งข้อสังเกตว่าการรวมเกษตรกรให้เป็นกลุ่มใหญ่มีนั้นจะเป็นการรวมงบประมาณให้มากที่สุด อาจเป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์ และง่ายต่อการทุจริตหรือไม่
คณะกรรมการจะเข้าตรวจสอบเอกสารทุกโครงการ รวมทั้งการเข้าสอบคณะกรรมการที่จัดซื้อปัจจัยการผลิตว่าได้ใช้หลักเกณฑ์ใดสืบราคา และเหตุใดจึงต้องเป็นร้านค้าร้านเดียว มีการทำประชาคมสอบถามความต้องการของชาวบ้านที่ประสบภัยหรือไม่ และสาเหตุใดจึงต้องตั้งรวมเกษตรกรกรไว้หลายร้อยคนในกลุ่มเดียว