xs
xsm
sm
md
lg

โวยอีก! โครงการ 9101 ต.บัวบานได้พันธุ์กบไม่สมบูรณ์ตายเป็นเบือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พันธุ์กบที่นำมาแจกจ่ายให้ชาวบ้าน ไม่สมบูรณ์ เลี้ยงได้ไม่นานก็ตายเป็นส่วนใหญ่
กาฬสินธุ์ - ฉาวรับปีใหม่ ชาวบ้านโพสต์เฟซบุ๊กประจานโครงการ 9101 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ขอพันธุ์ลูกกบเล็กมาเลี้ยง แต่ได้กบอายุ 3-4 เดือน อ้างเป็นพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ให้ผสมเอง แถมได้หัวอาหารปลาดุกราคาแพง ไม่ระบุวันเดือนปีผลิตและวันหมดอายุ จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบด่วน

จากกรณีชาวบ้านพบความผิดปกติการซื้อปัจจัยการผลิตโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในหลายพื้นที่ของ จ.กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด ตั้งราคาซื้อพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรัง พันธุ์ปลาดุก หัวอาหาร และสารปรับปรุงดินแพงกว่าท้องตลาด และ อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง เขาวง และ อ.สมเด็จ จัดซื้อพันธุ์ปลาดุกขนาดเล็กไม่สมกับราคา ทั้งยังมีหัวอาหารปลาดุก และปุ๋ยชีวภาพราคาแพงกว่าท้องตลาด

ชาวบ้านนำเรื่องดังกล่าวเข้าร้องทุกข์ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรม เรียกร้องให้ตรวจสอบและเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน กระทั่งคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตโครงการ 9101 จ.กาฬสินธุ์เข้าตรวจสอบพบการจัดซื้อปัจจัยการผลิตของ ต.บัวบาน อ.ยางตลาดผิดระเบียบมีราคาสูง รวมทั้งมีข้าราชการและผู้นำชุมชนร่วมขบวนการแสวงหาผลประโยชน์ ส่อไปในทางทุจริต

ล่าสุดวันนี้ (4 ม.ค.) ชาวบ้านโคกก่อง ม.7 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งประสบภัยน้ำท่วมและเป็นสมาชิกกลุ่มเลี้ยงกบที่ได้รับการช่วยเหลือตามโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดรายละ 5,000 บาท ออกมาเรียกร้องให้เข้ามาตรวจสอบการแจกจ่ายพันธุ์กบให้เกษตรกร หลังจากชาวบ้านต้องการพันธุ์ลูกกบเล็กมาเลี้ยงไว้บริโภคและจำหน่าย แต่กลับได้รับแจกกบขนาดอายุเพียง 3-4 เดือน

คณะกรรมการและผู้รับเหมาอ้างว่าเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์กบ ทั้งยังได้รับแจกจ่ายหัวอาหารปลาดุกมาเลี้ยงกบมีราคาแพง ไม่มีระบุวันเดือนปีผลิตและวันหมดอายุ เกรงว่าจะไม่มีคุณภาพ ไม่เหมาะสมกับราคา จนทำให้กบป่วยตาย

นางดวงเนตร สาระฆัง อายุ 56 ปี ชาวบ้านโคกก่อง ม.7 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า โครงการ 9101 เป็นเรื่องดี สามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่เดือดร้อนได้มาก แต่การปฏิบัติในพื้นที่ทำไม่ดี กลายเป็นภาระของเกษตรกรด้วยซ้ำ โดยเฉพาะพื้นที่บ้านโคกก่อง ต.บัวบาน เดิมชาวบ้านประชุมกันแล้วสรุปว่าต้องการเลี้ยงลูกกบขนาดเล็ก ไว้บริโภคในครัวเรือน หากเหลือก็จำหน่ายได้ แต่เมื่อช่วงก่อนปีใหม่ได้นำกบมาแจกจ่ายเป็นกบขนาดอายุประมาณ 3-4 เดือน คล้ายกับกบที่วางขายตามตลาดสด แต่ละคนได้ 13 ตัว ซึ่งแต่ละตัวอ่อนแอ มีบาดแผล และทยอยตายไปเกือบหมดแล้ว คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์กบ ให้ชาวบ้านนำไปเลี้ยงผสมพันธุ์เอง


เรื่องดังกล่าวชาวบ้านมองว่าไม่ถูกต้อง เพราะนอกจากจะแจกจ่ายกบได้จำนวนน้อย ไม่ตรงความต้องการที่ชาวบ้านอยากเลี้ยง และไม่ใช่พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ซึ่งมีราคาแพงคู่ละ 500 บาทแล้ว ชาวบ้านยังได้รับหัวอาหารปลาดุกในราคาแพง แทนหัวอาหารกบในราคากระสอบละ 600 บาท คนละ 5 กระสอบ มุ้งเขียว 1 ม้วน ราคาประมาณ 300 บาท พลาสติกดำ 1 ม้วน ราคาประมาณ 390 บาท และน้ำอีเอ็ม 1 แกลลอน ประเมินแล้วไม่เหมาะสมกับราคาเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาท จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่มาตรวจสอบด้วย

ด้านนางสมคิด พลโคกก่อง อายุ 61 ปี ชาวบ้านโคกก่อง กล่าวว่า ปกติครอบครัวมีอาชีพเพาะเลี้ยงลูกกบขายมาเป็นสิบปีแล้ว ซึ่งคณะกรรมการนำกบมาแจกจ่ายให้ชาวบ้าน เท่าที่ดูไม่ใช่พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ เพราะหากเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ จะต้องเป็นกบที่ถูกคัดสรรอย่างดี มีอายุอย่างน้อย 8 เดือน จึงจะมีน้ำอสุจิแข็งแรงสามารถเพาะพันธุ์ได้ดี แต่กบที่มาแจกจ่ายอายุประมาณ 3-4 เดือน มีสภาพอ่อนแอ มีแผลเต็มไปหมด นอกจากนี้หัวอาหารที่ให้มาก็เป็นหัวอาหารปลาดุก แต่ให้นำมาเลี้ยงกบ ไม่มีวันเดือนปีผลิตและวันหมดอายุ ทำให้กบที่ถูกให้มาจำนวน 15 ตัวตายทั้งหมด

ประเด็นปัญหาดังกล่าวได้นำไปโพสต์เฟซบุ๊ก จากนั้นนำกบไปทิ้งเพราะกลัวเป็นโรคระบาด อย่างไรก็ตาม การที่คณะกรรมการนำกบมาให้โดยอ้างว่าเป็นพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ และให้ชาวบ้านผสมพันธุ์เองนั้น ที่จริงแล้วคนทั่วไป แม้กระทั่งเด็กๆ ต่างรู้ดีว่าช่วงนี้ไม่ใช่ช่วงผสมพันธุ์ของกบ เพราะอยู่ในช่วงหน้าหนาว จึงอยากให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบด้วย ดูแล้วไม่เหมาะสมกับเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น