กาฬสินธุ์ - กอ.รมน.กาฬสินธุ์ เดินหน้าสอบโครงการ 9101 ฟื้นฟูผู้ประสบภัยน้ำท่วมซื้อปัจจัยการผลิตราคาสูงกว่าท้องตลาด ด้าน สตง.-ปปท.เตรียมจัดชุดใหญ่ลงพื้นที่อำเภอนาคู และอำเภอกุฉินารายณ์ สอบโครงการ 9101 พุ่งเป้าจัดซื้อพันธุ์ปลาได้ขนาดเล็กไม่เหมาะสมราคา หัวอาหาร ปุ๋ยชีวภาพแพงเกินจริง ย้ำพบทุจริตฟันไม่เลี้ยง
จากกรณีชาวบ้านพบความผิดปกติการดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลดในหลายพื้นที่ ส่อทุจริต โดยเฉพาะพื้นที่ ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เนื่องจากตั้งราคาซื้อพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรัง พันธุ์ปลาดุก หัวอาหาร และสารปรับปรุงดิน หรือปุ๋ยชีวภาพสูงกว่าท้องตลาด และพื้นที่ อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.ห้วยผึ้ง อ.เขาวง และ อ.สมเด็จ มีการจัดซื้อพันธุ์ปลาดุกขนาดเล็กไม่เหมาะสมกับราคา อีกทั้งยังซื้อหัวอาหารปลาดุก และปุ๋ยชีวภาพมีราคาสุงกว่าท้องตลาด
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตรวจสอบพบหัวอาหารที่นำมาแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ไม่ระบุวันเดือนปีผลิต-วันหมดอายุ ชาวบ้านเกรงว่าจะเป็นหัวอาหารที่ไม่มีคุณภาพและหมดอายุ จนต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าร้องทุกข์ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์ดำรงธรรม เรียกร้องให้ตรวจสอบเพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุน
ล่าสุด วันนี้ (19 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.กาฬสินธุ์ หรือ กอ.รมน.กาฬสินธุ์ ศาลลากลาง จ.กาฬสินธุ์ ชั้น 3 พ.อ.มานพ ไขขุนทด รอง ผอ.กอ.รมน.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการ 9101 ของ จ.กาฬสินธุ์ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการ 9101 หลังจากทางจังหวัดได้แต่งตั้งขึ้น เพื่อตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าว โดยมี น.ส.ชุลีพร ภูสมศรี ผอ.ศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ นายสุพจน์ ศรีอ่อน รักษาการเกษตร จ.กาฬสินธุ์ นายอำพล จินดาวงค์ ประมงจ.กาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมเข้าร่วมประชุม
พ.อ.มานพ ไขขุนทด รอง ผอ.กอ.รมน.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นประชุมรับทราบข้อมูลดำเนินการเบื้องต้นเท่านั้น เพื่อวางแนวทางตรวจสอบ โดย จ.กาฬสินธุ์ดำเนินโครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อฟื้นฟูอาชีพด้านการเกษตรแก่เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยหลังน้ำลด จำนวน 161 ชุมชน 392 โครงการ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 27,913 ครัวเรือน ครอบคลุม 18 อำเภอ รวมเงิน 139,585,000 บาท
ส่วนใหญ่ 72% ดำเนินกิจกรรมประมงเลี้ยงปลาดุก ปลานิล รองลงมาคือ ปลูกพืชอายุสั้น คือข้าวนาปรัง และในวันนี้ทางคณะกรรมการได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบราคาพันธุ์ข้าวเปลือกกับร้านพันธุ์ทวี
จากการสืบข้อมูลพบว่า จำหน่ายให้ร้านด๊อกเตอร์เกษตร ก่อนจะนำไปจำหน่ายให้กลุ่มชุมชนบัวบาน 1 ชุมชนบัวบาน 2 และพื้นที่ตำบลต่างๆ ใน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งพนักงานของร้านระบุว่า จำราคาที่จำหน่ายไม่ได้ และใบเสร็จก็ส่งไปยังสำนักงานใหญ่แล้ว ดังนั้น คณะกรรมการจะทำหนังสือเพื่อขอสอบถามข้อมูลราคาพันธุ์ข้าวต่อไป
สำหรับรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง ของคณะกรรมการตรวจสอบอำเภอยางตลาด กรณีราคาจัดซื้อปัจจัยการผลิตสูงกว่าท้องตลาดของ ต.บัวบาน โดยเฉพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวกระสอบละ 700 บาท พันธุ์ปลาดุกขนาด 5-7 ซม.ตัวละ 3 บาท หัวอาหารปลากระสอบละ 550-600 บาท และปุ๋ยอินทรีย์ หรือสารปรับปรุงดินกระสอบละ 550 บาท ซึ่งทางอำเภอสรุป ว่า กำหนดราคาพันธุ์ข้าวขณะนั้นยังอยู่ในช่วงอ้างอิงราคาตามท้องตลาด ส่วนพันธุ์ปลาดุกนั้น เกษตรกรระบุอยากได้พันธุ์ปลาดุกเป็นพันธุ์บิ๊กอุย ขนาด 5-7 ซม.ซึ่งเป็นปลาดุกที่ค่อนข้างหายาก และผสมพันธุ์ยาก
ส่วนราคาหัวอาหารปลาดุกเป็นสูตรอาหารเร่งโตได้ดีในระยะสั้น แตกต่างจากเกรดอาหารปลาดุกทั่วไป สำหรับราคาปุ๋ยอินทรีย์ หรือสารปรับปรุงดินนั้น มีธาตุอาหารหลายชนิด และมีคุณภาพสามารถเร่งการเจริญเติบโตจึงทำให้มีราคาสูง เบื้องต้น คณะกรรมการระดับจังหวัดยังไม่สามารถสรุปได้ว่า มีการทุจริตหรือไม่ จะต้องลงพื้นเข้าไปตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง
รายงานข่าวแจ้งว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจ.กาฬสินธุ์ หรือ สตง.กาฬสินธุ์ และ ปปท.กำลังเร่งดำเนินการตรวจสอบการซื้อปัจจัยการผลิตทั้งพันธุ์ข้าวเปลือกนาปรัง พันธุ์ปลาดุก หัวอาหาร และปุ๋ยชีวภาพ หรือสารปรับปรุงดินของ ต.บัวบาน โดยเน้นการตรวจสอบแหล่งที่มา และสาเหตุที่ตั้งราคาสูงกว่าท้องตลาด ซึ่งเป็นเจตนาทำให้รัฐเสียหายหรือไม่ รวมทั้งปัจจัยการผลิตตามตลาดจำหน่ายราคาเท่าไหร่ สาเหตุใดต้องตั้งราคาจัดซื้อสูง และผ่านคณะกรรมการระดับอำเภอมาได้อย่างไร เบื้องต้น พบว่ายังมีปัญหาลักษณะเดียวกันนี้อีกหลายตำบลในพื้นที่ อ.ยางตลาด
ส่วนปัญหาการร้องเรียนของชาวบ้านในพื้นที่ อ.นาคู ที่ระบุว่า มีการแจกจ่ายพันธุ์ปลาดุกขนาดเล็กไม่เหมาะสมต่อราคาตัวละ 2 บาท อีกทั้งหัวอาหารปลาดุกไม่ระบุวันเดือนปีผลิต และวันหมดอายุ รวมทั้งปัญหาที่ชาวบ้านพบความผิดปกติการแจกจ่ายพันธุ์ปลาดุกที่ได้กำหนดสเปกไว้ขนาด5-7 ซม.ราคาตัวละ 2 บาท และราคาพันธุ์ปลานิล อ.กุฉินารายณ์ อ.นาคู อ.สมเด็จ อ.ห้วยผึ้ง และเขาวง ซึ่งปลาตัวเล็กไม่เหมาะสมต่อราคา และหัวอาหารมีราคาค่อนข้างสูงกว่าท้องตลาด และราคาปุ๋ยชีวภาพราคาสูงนั้น
ล่าสุด สตง.และ ปปท.เตรียมจัดเจ้าหน้าที่ชุดใหญ่ลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาดังกล่าวแล้ว โดยเน้นการตรวจสอบถึงสาเหตุที่กำหนดราคาซื้อปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะราคาพันธุ์ปลาดุกที่กำหนดขนาด 5-7 ซม.ซึ่งมีขนาดเล็กแต่ซื้อในราคาที่สูงถึงตัวละ 2 บาท แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ที่กำหนดขนาด 7-10 ซม.แค่กลับสามารถซื้อได้ในราคาตัวละ 2 บาท อีกทั้งกรณีราคาของอาหารที่สูงกว่าท้องตลาดอีกด้วย