นราธิวาส - ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส สั่งด่วนหน่วยงานนำรถแบ็กโฮเข้าขุดเปิดร่องน้ำ หลังถูกทรายทับถมปิดร่องน้ำคลองโคกเคียน และแม่น้ำบางนรา กระทบผู้เลี้ยงปลาในกระชัง เผยหากล่าช้าเสี่ยงปลาตายนับล้านตัว
วันนี้ (15 มี.ค.) จากลมมรสุมในทะเลอ่าวไทย ฝั่งทะเล จ.นราธิวาส ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2560 ถึงเดือนมีนาคม 2561 ทำให้เกิดผลกระทบลมในทะเลพัดกระโชกแรง เกิดคลื่นซัดทรายมาทับถมอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริเวณชายหาดซึ่งเปิดเป็นปากร่องน้ำชั่วคราวคลองโคกเคียน เส้นทางเรือขนาดเล็กออกสู่ทะเล บริเวณชายหาดนราทัศน์ เขตเทศบาลเมือง จ.นราธิวาส แนวสันทรายทับถมปิดเส้นทางร่องน้ำยาวเป็นระยะทางกว่า 500 เมตร จนเป็นเหตุให้น้ำที่หมุนเวียนเข้าคลองโคกเคียน และแม่น้ำบางนรา เกิดความตื้นเขิน และสภาพน้ำในคลองโคกเคียน เริ่มเน่าเสีย จนผู้เลี้ยงปลาในกระชังกว่า 1,000 ครัวเรือน ที่อาศัยเลี้ยงชีพอยู่ในบริเวณคลองโคกเคียน และแม่น้ำบางนรา ได้ร้องเรียนไปยัง นายสุรพร พร้อมมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เพื่อให้แก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้าน จากกรณีแนวสันทรายปิดกั้นร่องน้ำดังกล่าว
ต่อมา นายสุรพร พร้อมมูล ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้สั่งการด่วนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้นำรถแบ็กโฮเพื่อเข้าทำการขุดลอกสันทราย แก้ปัญหาให้แก่กลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ในการเปิดร่องน้ำให้น้ำในทะเลไหลหมุนเวียนเข้าสู่คลองโคกเคียน อย่างเร่งด่วน โดยให้ขุดร่องน้ำเป็นไปในลักษณะเฉียง ป้องกันแรงคลื่นลมมรสุม และให้ลึกกว้างประมาณ 5-6 เมตร เพื่อให้น้ำสะดวกในการวนเวียนเข้าสู่ระบบการระบายทางธรรมชาติ และเรือเล็กสามารถใช้เป็นเส้นทางผ่านเดินเรือเข้าออกสู่ทะเลนราธิวาสได้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 1 สัปดาห์ จะสามารถขุดปากร่องน้ำได้แล้วเสร็จ ซึ่งจะช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบได้อย่างแน่นอน
ด้าน นายอาลีฟ มามะ กลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชังในคลองโคกเคียน กล่าวว่า ในบริเวณคลองโคกเคียน และแม่น้ำบางนรา มีผู้เลี้ยงปลาในกระชังประมาณ 1,200 กระชัง ส่วนใหญ่เลี้ยงปลากะพงขาว กะพงแดง ปลาเก๋า และปลาทับทิมนับล้านตัว ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจ โดยหลายเดือนที่ผ่านมาตั้งแต่ปลายปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ลมมรสุมได้พัดซัดทรายในทะเลปิดร่องน้ำจนสนิท ทำให้กลุ่มผู้เลี้ยงปลาได้รับผลกระทบ ปลาเริ่มทยอยตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากน้ำไม่ไหลเวียน ค่า PH และออกซิเจนในน้ำลดลง และน้ำเริ่มเน่าเสีย ซึ่งต้องขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ที่ได้สั่งการดำเนินการช่วยชาวบ้านได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเมื่อน้ำวน และหมุนเวียน ชาวบ้านก็จะไม่เกิดผลกระทบต่ออาชีพ สามารถที่จะนำรายได้จุนเจือครอบครัวได้ และไม่เกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อครอบครัวอีก
สำหรับปลากะพง ราคาที่พ่อค้ารับซื้อจากกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในกระชัง ราคาจะขึ้นลงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 120-150 บาทต่อกิโลกรัม และราคาขายปลีกในตลาดอยู่ที่ราคา 180-200 บาทต่อกิโลกรัม