ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ชาวชายแดนใต้ให้กำลังใจ “MGR Online” หลังหมาย สภ.เมืองปัตตานีส่งหมายเรียก “ปิยะโชติ อินทรนิวาส” หัวหน้าศูนย์ข่าวผู้จัดการ-NEWS1 หาดใหญ่ ไปรายงานตัว 21 มี.ค.นี้สะพัดสื่อสังคมออนไลน์ ด้านคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลแถลงกลางที่ประชุมสหประชาชาติ จี้ประเทศไทยหยุดใช้กฎหมายคุกคามและปิดปากประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าวันนี้ (17 มี.ค.) สื่อสังคมออนไลน์ได้มีการเผยแพร่ภาพหมายเรียกของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองปัตตานี ที่แจ้งให้ นายปิยะโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ข่าวหาดใหญ่เครือผู้จัดการ-NEWS1 ให้ไปรายงานตัว ณ สภ.เมืองปัตตานี เวลา 09.00 น. ในวันที่ 21 มี.ค.2561 กรณีมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีที่มีผู้กล่าวหาได้มาแจ้งความร้องทุกข์ในความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยการโฆษณา ทั้งนี้เป็นผลจาก กอ.รมน. โดย พ.อ.หาญพล เพชรม่วง ผบ.ทหารพราน 43 ค่ายอิงยุทธบริหาร จ.ปัตตานี รับมอบอำนาจช่วงจาก กอ.รมน.ภาค 4 ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา
สำหรับการแจ้งความร้องทุกข์ดังกล่าว สืบเนื่องจากเว็บไซต์ MGR Online ได้รายงานข่าวกรณีมีเหตุอดีตผู้ต้องสงสัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ถูกซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหารเมื่อวันที่ 5 ก.พ.2561 ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ แต่กลับไม่มีการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงที่ประกอบด้วยคณะกรรมการจากทุกฝ่ายที่มีการยอมรับของสังคม เพื่อให้มีสอบสวนหาข้อเท็จจริงจากกรณีดังกล่าว มากกว่าที่จะให้ทางหน่วยทหารสอบสวนกันเอง
ภายหลังที่มีการเผยแพร่หมายเรียกให้นายปิยะโชติไปรายงานตัวที่ สภ.เมืองปัตตานีไม่นาน ทำให้ประชาชนที่ได้รับทราบข่าวสารเป็นห่วงในเรื่องในเรื่องความเป็นธรรม และการแสดงความคิดเห็นที่อาจจะถูกปิดกั้น โดยเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัยการสุ่มเสี่ยงจะถูกดำเนินคดี เพราะสื่อมวลชน หรือสำนักข่าวยังต้องถูกดำเนินคดีจากการนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ จึงมีหลายภาคส่วนมีการวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง และพร้อมแสดงท่าทีที่จะให้กำลังใจสื่อเครือผู้จัดการ-NEWS1 ในการทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงแทนประชาชน โดยเฉพาะคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ได้รับความเป็นธรรม อีกทั้งจะมีการละหมาดขอพรให้ตามมาด้วยในหลายพื้นที่
นายมะแซ มูซอ ประชาชนชาวจังหวัดยะลา กล่าวว่า หลังจากที่ได้ทราบข่าวเว็บไซต์ MGR Online ถูกทหารแจ้งความดำเนินคดีที่ สภ.เมืองปัตตานี ก็ทำให้ต้องหันกลับมารู้สึกเป็นห่วงชาวบ้านมากยิ่งขึ้น จากเมื่อก่อนมีความรู้สึกกังวลถึงความปลอดภัยของทุกคนอยู่แล้ว แต่หลังจากที่เว็บไซต์ผู้จัดการถูกทหารแจ้งความดำเนินคดีเพราะนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับสังคม เวลานี้ก็ยิ่งทำให้รู้สึกเพิ่มกังวลมากยิ่งขึ้นมากมาย
“อยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมองถึงปัญหาในพื้นที่อย่างแท้จริง หยุดสร้างความขัดแย้งหวาดระแวงให้กับประชาชน ผมมั่นใจว่าสื่อก็ต้องมุ่งมั่นทำหน้าที่ของสื่อให้เป็นอย่างดีที่สุด โดยพาะเว็บไซต์ของสื่อเครือผู้จัดการเขาได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพราะส่วนตัวก็ได้ติดตามข่าวกรณีดังกล่าวเช่นกัน ทางเว็บผู้จัดการมีการเสนอข่าวรอบด้าน ทั้งด้านของชาวบ้านที่ถูกซ้อม และข่าวสารของเจ้าหน้าที่ทหาร รวมถึงฝ่ายความมั่นคงต่างๆ”
นายมะแซกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในส่วนตัวถือว่าสื่อเครือผู้จัดการ-NEWS1 เขาทำหน้าที่ดีที่สุดแล้ว ตนเองจึงอยากให้เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้ความสำคัญกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเร่งด่วน และขอเป็นกำลังใจให้กับเว็บข่าว MGR Online ยืนหยัดสู้ต่อไปเพื่อประเทศชาติและประชาชน
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2561 คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ได้แถลงการณ์ด้วยวาจาเรียกร้องให้ประเทศไทยยุติการใช้กฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ณ การประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) สมัยที่ 37 ณ นครเจนีวา ในช่วง General Debate ของ Item 4 ว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่ต้องการให้คณะมนตรีให้ความสนใจ (Human rights situations that require the Council’s attention) โดยมีข้อความดังต่อไปนี้
“เรียนท่านประธาน ICJ ยังคงกังวลต่อการใช้กฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่มีมาอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ระบบกฎหมายถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง เพื่อคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักวิชาการ ทนายความ สื่อมวลชน ผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน และครอบครัวของพวกเขา โดยผ่านคำสั่งทางทหาร กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา การดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ...
“ยกตัวอย่างแค่ในช่วงปีนี้ และแค่ในกรณีที่ทหารเป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์ ตำรวจได้ดำเนินคดีกับบุคคลมากกว่า 50 คนแล้ว ในฐานละเมิดคำสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ซึ่งเป็นฐานความผิดที่ถูกกำหนดขึ้นหลังการรัฐประหารในเดือน พ.ค.2557 เพียงเพราะใช้สิทธิที่ตนพึงมีตามหลักสิทธิมนุษยชน ประชาชนกลับตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกจำคุก...
“ในกรณีหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ตำรวจดำเนินคดีกับนักวิชาการและนักศึกษา 5 คน หลังจากมีป้าย ‘เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร’ ถูกนำมาติดแสดงในบริเวณมหาวิทยาลัย...
“ในเดือน ก.พ.เจ้าหน้าที่ความมั่นคงก็ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ฐานหมิ่นประมาทกับ นายอิสมาแอ เต๊ะ ผู้ที่กล่าวอ้างว่าเป็นผู้เสียหายจากการถูกซ้อมทรมาน เพียงเพราะว่าเขาได้อธิบายในรายการโทรทัศน์ว่า ตนเคยถูกกระทำการทรมานและการได้รับการปฏิบัติที่ทารุณ (ill-treatment) ในค่ายทหาร...
“ICJ ขอเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิกและแก้ไขกฎหมาย คำสั่ง และประกาศทั้งหลาย ที่ขัดต่อหลักนิติธรรม (rule of law) และการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และป้องกันมิให้ระบบยุติธรรมถูกนำไปใช้เพื่อคุกคามบุคคลใดๆ ที่ใช้สิทธิที่ตนพึงมีตามหลักสิทธิมนุษยชน ขอขอบคุณท่านประธาน”
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้ใช้สิทธิในการตอบและได้แถลงว่า ในประเด็นของการเคารพเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมนั้น “เราต้องเคารพความสมดุลระหว่างการใช้เสรีภาพดังกล่าวกับความสงบและเรียบร้อยของสังคมโดยรวม” ผู้แทนของประเทศไทยยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “รัฐบาลไม่สนับสนุนข้อความเนื้อหาใดๆ ที่จะนำไปสู่ความแตกแยกในสังคมและกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น” และ “เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเคารพกฎหมายและกฎภายในประเทศ ซึ่งถูกร่างขึ้นเพื่อรับประกันสิทธิและเสรีภาพของบุคคลทุกคน รวมถึงความสงบเรียบร้อยของสังคม”
นอกจากนี้ผู้แทนประเทศไทยยังได้อธิบายถึงก้าวขั้นที่ประเทศไทยดำเนินการ เพื่อให้เกิดการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ได้แก่ การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ทหาร เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้กฎหมายในทางที่ผิด การให้ความสำคัญกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชนในการพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศ และการเสนอกฎหมายเพื่อป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของสาธารณชน (SLAPP) โดยศาลยุติธรรม
(สำหรับข้อความต้นฉบับภาษาอังกฤษ และวีดีโอคำตอบของผู้แทนประเทศไทยฉบับเต็ม (ภาษาอังกฤษ) สามารถดูได้ที่ https://www.icj.org/hrc37thailand/)