xs
xsm
sm
md
lg

ตร.ปัตตานีขอ “สื่อเครือผู้จัดการ” เลื่อนให้ปากคำคดี กอ.รมน.ภาค 4 ฟ้องหมิ่นฯ เหตุลงข่าวชาวบ้านแฉถูกซ้อมในค่ายทหาร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายปิยะโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ข่าวเครือผู้จัดการ MGR Online ภาคใต้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา
 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ตำรวจ สภ.เมืองปัตตานีแจ้งให้ “นักข่าวเครือผู้จัดการ” เลื่อนมาให้ปากคำคดีที่ถูก กอ.รมน.ภาค 4 ฟ้องหมิ่นประมาทเหตุลงข่าว “แฉ อดีตผู้ต้องสงสัยเผยถูกซ้อมทรมานเหมือนตาย ระหว่างถูกคุมตัวในค่ายทหาร” โดยเลื่อนนัดการมาให้ปากคำในวันที่ 9 เม.ย.นี้ ด้าน ผอ.มูลนิธิผสานวัฒนธรรมซึ่งเคยถูกฟ้องร้องในคดีลักษณะเดียวกันมาก่อนแล้ว โพสต์เฟชบุ๊กตั้งคำถามและเชิญชวนภาคประชาชนร่วมให้กำลังใจสื่อที่รายงานเรื่องการทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้

วันนี้ (31 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าได้รับแจ้งจากนายปิยะโชติ อินทรนิวาส หัวหน้าศูนย์ข่าวเครือผู้จัดการ หรือ MGR Online อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ว่าได้รับการประสานงานจากตำรวจ สภ.เมืองปัตตานี อ้างว่าติดภารกิจสำคัญ ขอเลื่อนให้ตนเองไปให้การที่ สภ.เมืองปัตตานี จากวันที่ 3 เม.ย.เป็นวันจันทร์ที่ 9 เม.ย.นี้

“ตามที่ สภ.เมืองปัตตานี มีหมายเรียกครั้งที่ 2 ให้ผมไปให้การในวันที่ 3 เม.ย. เวลา 10.00 น. กรณี กอ.รมน.ภาค 4 แจ้งความดำเนินคดี MGR Online สื่อเครือผู้จัดการนั้น เมื่อคืนและต่อเนื่องถึงเช้าวันนี้ (31 มี.ค.) ร.ต.ท.อนิรุทธ์ ไกรนรา ได้โทรติดต่อมาขอเลื่อนเป็นวันจันทร์ที่ 9 เม.ย.แล้ว โดยอ้างว่าฝ่ายตำรวจติดภารกิจสำคัญมาก ทั้งที่ผมเตรียมทนายไว้พร้อมแล้ว โดยจะมีการออกหมายเรียกครั้งที่ 3 ตามมาครับ ขอขอบพระคุณทุกกำลังใจ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความจำเป็นต้องเลื่อน เราก็ยินดี และเรายังยืนยันจะทำหน้าที่ในกรอบจรรยาบรรณสื่อมวลชนต่อไปครับ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเกี่ยวกับกรณีนี้ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ถูกฟ้องร้องในคดีลักษณะเดียวกันร่วมกับน.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ และนายสมชาย หอมลออ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ต่อมาทาง กอ.รมน.ภาค 4 ได้ถอนการฟ้องร้องคดี

โดย น.ส.พรเพ็ญ ได้เขียนข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า เพราะอะไรเราจึงต้องไปให้กำลังใจสื่อที่รายงานเรื่องการทรมานใน จชต.(จังหวัดชายแดนภาคใต้) ที่จะต้องไปรายงานตัวกับพนักงานสอบสวนที่ สภ.เมืองปัตตานีในวันที่ 3 เมษายน 2561 (ตำรวจขอเลื่อนเป็นวันจันทร์ที่ 9 เม.ย.2561)

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กลุ่มด้วยใจและ เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานีได้เผยแพร่แถลงการณ์ กรณีที่มีการแจ้งความดำเนินคดีต่อนักข่าวในพื้นที่เกี่ยวกับการรายงานเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่ามีการทรมานในค่ายทหารเมื่อหน่วยงานรัฐใช้ทุนน้อยในการเดินไปสถานีตำรวจและแจ้งความกับตำรวจว่าตนถูกหมิ่นประมาทจากการรายงานข่าวของนักข่าว

สิ่งที่เกิดขึ้นหน่วยงานรัฐต้องมาทำการสืบสวนสอบสวนข้อกล่าวหาว่ามีการหมิ่นประมาทหรือไม่ในทางกลับกัน เมื่อวันที่ 21-22 มีนาคมมีกรณีที่ผู้เสียหายจากกรณีหนึ่งรายได้ถูกส่งตัวไปสถานีตำรวจแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี พบว่าร่างกายมีร่องรอยบาดแผลจากการทรมานที่เชื่อว่าเกิดขึ้นในค่ายทหารเพราะถูกควบคุมตัวมาตั้งแต่เดือน ก.พ. และถูกส่งตัวมาทำสำนวนที่สถานีตำรวจสองวันก่อนส่งตัวไปฝากขังที่ศาล

ญาติและผู้เสียหายได้ร้องเรียนขอให้ตำรวจรับแจ้งความว่าถูกทหารทำร้าย ตำรวจสถานีนั้นแจ้งว่า ไม่ได้เป็นพื้นที่เกิดเหตุ ให้ไปแจ้งความที่หนองจิก เพราะค่ายทหารแห่งนั้น ตั้งอยู่ที่อำเภอหนองจิก

เหตุใดคดีที่ทหารมาแค่มายื่นเอกสารสองสามแผ่น อ้างว่าถูกหมิ่นประมาท ตำรวจจึงดำเนินการอย่างจริงจัง บาดแผลก็เห็นชัดว่าถูกทำร้ายแต่กลับไม่รับแจ้งความไม่ส่งตัวไปตรวจรักษาส่งตัวไปเรือนจำทำเรื่องขอรักษาและตรวจร่างกายโดยแพทย์ภายนอกก็ไม่ได้ ดูเหมือนการฟ้องปิดปากจะทำงานของมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลงทุนน้อย
แต่ได้ผลอย่างแรง
 
โลโก้รณรงค์โดยเครือข่ายประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้
 
แถลงการณ์ การรายงานข่าวไม่ใช่อาชญกรรม ขอให้ถอนแจ้งความสำนักข่าวผู้จัดการออนไลน์ กรณีรายงานข่าวชาวบ้านแฉถูกซ้อมทรมาน

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 ตามที่ทางพลโทปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาค4 และผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาคสี่ (กอ.รมน. 4) ได้มอบอำนาจผู้แทนพันเอกหาญพล เพชรม่วง ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 และทนายความเข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อหัวหน้าศูนย์ข่าวผู้จัดการออนไลน์ที่ได้เปิดเผยข่าว “แฉ อดีตผู้ต้องสงสัยเผยถูกซ้อมทรมานเหมือนตาย ระหว่างถูกคุมตัวในค่ายทหาร” เผยแพร่เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 องค์กรที่มีชื่อข้างท้ายแถลงการณ์นี้ เห็นว่า

1.ประชาชนมีสิทธิในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามต่อหน่วยงานและเจ้าหน้าที่รัฐ อันเป็นสิทธิอันชอบด้วยรัฐธรรมนูญและหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายหรือการกระทำของเจ้าหน้าที่ 2.สื่อมวลชนมีหน้าที่เปิดพื้นที่ หรือสะท้อนข้อเท็จจริงและปัญหาที่เกิดจากการกรทำของเจ้าหน้าที่ ในกรณีนี้ การรายงานข่าวโดยนักข่าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ได้สท้อนข้อเท็จจริงจากประชาชนที่อ้างว่าตนป็นเหยื่อของการทรมานหรือการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบโดยเจ้าหน้าที่ต่อสาธารณะเป็นหน้าที่อันชอบธรรมของนักข่าวที่ทำหน้าที่ของตน

3.รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนทุกคน ดังนั้น เมื่อปรากฎเป็นข่าว หรือมีกรณีร้องเรียน ว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งการซ้อมทรมานประชาชนที่ต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับความไม่สงบแล้ว หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องย่อมมีหน้าที่สืบสวนสอบสวนว่าอาจมีผู้กระทำความผิดตามข่าวหรือข้อร้องเรียนหรือไม่ หากพบว่ารายงานข่าวหรือการร้องเรียนมีมูล หน่วยงานรัฐย่อมมีหน้าที่ในการแก้ไข หากไม่มีมูล ก็ชอบที่จะชี้แจงต่อสื่อดังกล่าวและต่อสาธารณะชนได้

4.การที่ หน่วยงานของรัฐที่ถูกกล่าวหา คือ หน่วยทหารพราน ฉก.ที่ 43 หรือ กอ.รมน. 4 ได้แจ้งความเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อบรรณาธิการผู้จัดการออนไลน์ที่ได้เผยแพร่ข่าว “แฉ อดีตผู้ต้องสงสัยเผยถูกซ้อมทรมานเหมือนตาย ระหว่างถูกคุมตัวในค่ายทหาร” นั้น นอกจากจะเป็นการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและลิดรอนสิทธิของประชาทชนและสื่อในการตรวจสอบหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณที่เข้าข่ายการดำเนินคดีปิดปาก (Strategic Litigation against Public Participation)

5.การตอบโต้ของ กอ.รมน. 4 ย่อมมีผลให้ ประชาชนที่อาจตกเป็นเหยื่อการกระทำโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ ไม่กล้าที่จะเปิดเผย เรื่องร้องดังกล่าวต่อสาธารณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจากจะมีผลให้รัฐสูญเสียโอกาสในการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สามารถทำหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่รัฐบางคน ใช้อำนาจหน้าที่ในทางไม่ชอบต่อไป และทำให้เกิดช่องว่าง ความห่างเหิน และความไม่ไว้วางใจระหว่างประชาชนและหน่วยงานของรัฐในที่สุด อันจะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของสังคมอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุผลดังกล่าว องค์กรที่มีชื่อข้างท้ายนี้ จึงขอเรียกร้องให้ กอ.รมน. 4 หรือ หน่วยทหารพรานที่ ฉก.43 ได้โปรดถอนแจ้งความร้องทุกข์ หรือยุติการกระทำดังกล่าวด้วย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, กลุ่มด้วยใจ, เครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี
 


กำลังโหลดความคิดเห็น