xs
xsm
sm
md
lg

รันทด! หนุ่มชาวเลป่วยน้ำหนีบขาดคนหาเลี้ยงครอบครัว 6 ชีวิตลำบาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รันทด! หนุ่มชาวเลป่วยเป็นโรคน้ำหนีบ ทำครอบครัวลำบากเหตุขาดคนหาเลี้ยงครอบครัว แถมหูมีปัญหาทางการได้ยิน นายกฯ อรุณ นำทีมชาวเลราไวย์ ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าฯ ภูเก็ต หลังจากถูกจับกุมดำเนินคดีในเขตอุทยานฯ ขณะจอดเรือเพื่อให้ผู้ป่วยโรคน้ำหนีบลงไปปรับสภาพร่างกายในทะเล

จากกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จับกุมชาวเล ราไวย์ จำนวน 6 คน ขณะจอดเรือลอยลำบริเวณอ่าวหน้าหาดในทอน ต.สาคู อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ก่อนที่จะส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการน้ำหนีบลงไปปรับสภาพร่างกาย โดยกล่าวหาว่า จับสัตว์น้ำในแนวเขตพื้นที่อุทยานฯ และได้นำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสาคู ดำเนินคดีตามกฎหมาย

ล่าสุด วันนี้ (11 ม.ค.) ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต พร้อมด้วยกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ นายนิรันดร์ หยังปาน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 2 ต.ราไวย์ ในฐานะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาของชาวเล ตลอดจนชาวเลที่ถูกจับกุมทั้ง 6 คน รวมทั้งพี่น้องชาวเลราไวย์ จำนวนหนึ่งเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต

กรณีการจับกุมชาวเลครั้งนี้ ว่า เป็นการกระทำความผิดจริงตามที่เจ้าหน้าที่อุทยานส่งฟ้องหรือไม่ รวมทั้งขอทราบข้อเท็จจริงกรณีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล เพื่อพี่น้องชาวเลจะได้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และไม่ทำผิดกฎหมาย โดยมี นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เดินทางมารับหนังสือร้องเรียนแทน นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ซึ่งติดภารกิจ

สำหรับการเดินทางมายื่นหนังสือในครั้งนี้ นายอรุณ โสฬส นายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ กล่าวถึงการนำชาวเลราไวย์ที่ถูกจับกุม และตัวแทนจำนวนหนึ่งมายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ว่า จากการพูดคุยกับพี่น้องชาวเลที่ถูกจับกุมทั้ง 6 คน ซึ่งต่างยืนยันว่า ในวันเกิดเหตุนั้นไม่ได้เข้าไปจับปลาในเขตอุทยานฯ ตามที่ถูกกล่าวหา แต่เป็นการทอดสมอเรือเพื่อให้ชาวเลที่มีอาการน้ำหนีบลงไปปรับสภาพเท่านั้น

ส่วนปลาที่เห็นในเรือ ชาวเลยืนยันว่า จับมาจากทะเลในจังหวัดพังงา โดยใช้เหล็กแหลมยิงปลาเท่านั้น ส่วนชาวเลที่เห็นลงอยู่ในน้ำนั้นคนหนึ่งเพื่อรักษาอาการน้ำหนีบ ขณะที่อีก 2 คน ลงอยู่ข้างเรือเพื่อทำธุระส่วนตัว แต่ทางเจ้าหน้าอุทยานฯ ไม่รับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าว ทางเทศบาลฯ และกำนันผู้ใหญ่บ้าน ในฐานะผู้นำท้องถิ่นจึงได้มายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้แก่พี่น้องชาวเลที่ถูกจับกุมดังกล่าว

นายอรุณ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดำเนินคดีในครั้งนี้ ย่อมก็มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพ รวมทั้งจะต้องหาเงินมาประกันตัว ทำให้การใช้ชีวิตลำบากมากยิ่งขึ้น รวมทั้งต้องการขอความชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ซึ่งเห็นชอบในหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนดังกล่าวมาปฏิบัติเพื่อความชัดเจนในการปฏิบัติ และจะได้ไม่ไปละเมิดกฎหมาย

ขณะที่ นายนิรันดร์ หยังปาน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต อนุกรรมการแก้ไขปัญหาชาวเลจังหวัดภูเก็ต และเป็นหนึ่งในแกนนำชาวเลราไวย์ กล่าวว่า ต้องการมาขอความเป็นธรรมให้แก่ผู้ที่ถูกจับกุม และยืนยันว่า พวกเราไม่ได้ต้องการละเมิดกฎหมาย และไม่ได้ต้องการทำลายทรัพยากร

โดยการทำประมงนั้นก็เพียงเพื่อการบริโภคเท่านั้น ดังนั้น ในการต่อสู้คดีก็จะยึดตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 ซึ่งเห็นชอบในหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล โดยคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชาวเล ซึ่งมี พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการฯ รวมทั้งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุทยานฯ เป็นต้น ได้ไปกำหนดขอบเขตและเครื่องมือในการทำประมงของชาวเล ซึ่งที่ผ่านมา ได้กำหนดให้ใช้เครื่องมือได้ 17 ชนิด แต่จะมีการกำหนดการใช้ในแต่ละพื้นที่ เช่น ในแหล่งท่องเที่ยวจะใช้ได้ 12 ชนิด เช่น เครื่องปั๊มลม หน้ากากสายยาง เหล็กยิง ปลาถังใส่ปลา เป็นต้น

นายนิรันดร์ ยังได้กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันการประกอบอาชีพของชาวเลถูกจำกัดด้วยข้อกำหนดของกฎหมาย ทำให้การประกอบอาชีพเป็นไปด้วยความลำบาก ลงทะเลก็เสี่ยงทำผิดกฎหมาย ขึ้นบกก็เสี่ยงกับการทำผิดกฎหมาย ซึ่งการจับปลาของชาวเลปัจจุบันเรายังอาศัยการจับปลาแบบสมัยอดีต โดยจะใช้วิธีดำน้ำลึก 30 เมตร เพื่อลงไปจับปลา และการจับปลานั้นใช้เพียงเหล็กแหลมในการยิงปลาเท่านั้น ซึ่งการจับปลาโดยวิธีนี้ก็เสี่ยงต่อชีวิตเพราะคนที่ลงไปจะเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคน้ำหนีบ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพของชาวเลให้ชัดเจนมากขึ้น

ด้าน นายสนิท ศรีวิหค รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวภายหลังการรับหนังสือว่า หลังจากนี้จะนำเรื่องเสนอผู้ว่าฯ เพื่อรับทราบ และจะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ส่วนประเด็นในเรื่องของมติ ครม.นั้น ก็จะต้องมีการสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอรายละเอียดที่ชัดเจน เพราะขณะนี้ทราบเพียงเบื้องต้นจากนายกเทศมนตรีตำบลราไวย์ เท่านั้น เมื่อทราบรายละเอียดแล้วจะได้แจ้งให้ทางผู้นำท้องถิ่น และชาวเลได้ทราบต่อไป

ขณะที่ นายพิชิต บางจาก อายุ 43 ปี หนึ่งในชาวเลราไวย์ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม กล่าวว่า วันที่เกิดเหตุไม่ได้จอดเรือเพื่อจับปลาในเขตอุทยาสนแต่อย่างใด แต่เป็นการจอดเรือเพื่อรักษาอาการน้ำหนีบที่เพื่อนเป็นอยู่ ซึ่งยืนยันว่า ไม่ได้จับปลาแน่นอน ปลาทั้งหมดจับมาจากพื้นที่พังงา ส่วนอาการป่วยของ นายทนงศักดิ์ เกาะงาม นั้น พบว่าขณะนี้ยังมีอาการอ่อนเพลีย ไม่สามารถสื่อสารได้ เนื่องจากหูมีปัญหาทางการได้ยิน และขณะนี้กลับมารักษาอาการที่บ้าน

นายพิชิต กล่าวว่า อาการโรคน้ำหนีบนั้นเกิดจากขึ้นจากน้ำอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน ซึ่งชาวเลที่ประกอบอาชีพเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคน้ำหนีบ เนื่องจากการประกอบอาชีพจะต้องดำน้ำลึก ปัจจุบัน ในพื้นที่ภูเก็ตมีชาวเลป่วยเป็นโรคนี้จำนวนมาก มีทั้งที่พิการ และเสียชีวิต

สำหรับกรณี นายทนงศักดิ์ นั้นเมื่อป่วยเป็นโรคน้ำหนีบก็เหมือนตกงาน ไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพหาปลาได้ ทำให้ครอบครัวซึ่งมี 6 ชีวิต ต้องอยู่กันด้วยความลำบาก เนื่องจากนายทนงศักดิ์ เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นเสาหลักของบ้าน เมื่อไม่สมารถออกไปจับปลาได้ก็ทำให้ขาดรายได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ลูก และหลานกำลังจะเข้าโรงเรียน ถ้าอาการไม่หายก็จะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น