ประธาน กสม.มอบรางวัลเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล “ปู่คออี้-ศรีสว่าง-สุแก้ว” รับรางวัลเกียรติยศผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน ด้าน คกก.สมานฉันท์แรงงานไทย-เครือข่ายสิทธิคนจนภูเก็ต ได้รางวัลส่งเสริม-คุ้มครองสิทธิดีเด่นประเภทองค์กรภาคเอกชนดีเด่น “คนเคาะข่าว” นิวส์วัน รับรางวัลประเภทสื่อ
วันนี้ (14 ธ.ค.) นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นประธานมอบรางวัลเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม ประจำปี 2560 ให้แก่บุคคลและองค์กรที่มีผลงานด้านสิทธิมนุษยชนดีเด่น โดยมอบรางวัลเกียรติยศผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน ให้แก่
1. นายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ อายุ 106 ปี ผู้นำจิตวิญญาณแห่งผืนป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย จากกรณีถูกผลักดันให้อพยพจากพื้นที่อาศัยเดิมที่อยู่มาก่อนประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ปัจจุบันปู่คออี้ยังมีความหวังสุดท้ายที่จะได้กลับไปยังบ้านเกิด โดยนายโคอิไม่ได้เดินทางมารับรางวัลในวันนี้เนื่องจากมีอายุมากแล้ว
2. น.ส.ศรีสว่าง พั่ววงแพทย์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา และนักพัฒนาอาวุโสที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันในเกิดโอกาสเด็ก เยาวชน สตรี และผู้สูงอายุให้ได้รับสิทธิที่พึงมีพึงได้ เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เพื่อเป็นกลไกประสานงานกับภาครัฐและองค์กรเอกชนต่างๆ
3. นายสุแก้ว ฟุงฟู เกษตรกรภาคเหนือ ผู้นำชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิในที่ดินและเรียกร้องความเป็นธรรมให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายจัดสรรที่ดินเพื่อเกษตรกรของรัฐ
ส่วนรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิ ประเภทบุคคล ได้แก่ นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติให้ได้รับการคุ้มครอง เยียวยา ส่งเสริมการศึกษา ลดการเสี่ยงถูกหลอกไปค้าแรงงานผิดกฎหมาย น.ส.สมลักษณ์ หุตานุวัตร อาสาสมัครอิสระเพื่อมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน มีผลงานโดดเด่นในการปกป้องทรัพยากรและคุณภาพชีวติประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน น.ส.อรนุช ผลภิญโญ กรรมการบริหารเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ซึ่งเป็นแกนนำเคลื่อนไหวปกป้องสิทธิชุมชนจาการถูกละเมิดสิทธิในที่ดินจนก่อให้เกิดเครือข่ายผู้หญิงปกป้องสิทธิที่ดินทำกินเทือกเขาเพชรบูรณ์ขึ้น
ประเภทเด็ก และเยาวชน ได้แก่ กลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิด อาสาสมัครชุมชนด้านทรัพยากร จ.สตูล เครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมืองภาคเหนือ
ประเภทสื่อมวลชน ได้แก่ น.ส.ณัฏฐา โกมลวาทิน บรรณาธิการและผู้ดำเนินรายการ ที่นี่ไทยพีบีเอส ที่นำเสนอประเด็นการสนทนา วิเคราะห์สถานการณ์ แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในสถานการณ์ต่างๆ อย่างเจาะลึก ตรงประเด็น, นายปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการรายการ “ล่าความจริง” สถานีโทรทัศน์เนชั่นทีวี และบรรณาธิการศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ซึงนำเสนอปัญหาสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่อื่นของประเทศ
รายการ “คนเคาะข่าว” สถานีโทรทัศน์นิวส์วัน รายการข่าวที่นำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงแก่สาธารณชน ให้ความสำคัญต่อปัญหาการละเมิดสิทธิ เช่น การต่อสู้ของผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ จ.สระบุรี เปิดโอกาสให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเสนอปัญหาข้อร้องเรียนผ่านรายการและช่วยประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา
ประเภทองค์กรภาคเอกชน ได้แก่ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งดูแลติดตามการแก้ไขปัญหาแรงงาน เคลื่อนไหวเรียกร้อง ต่อรองหรือผลักดันให้รัฐบาลกำหนดนโยบายหรือมาตรการตอบสนองต่อปัญหาของผู้ใช้แรงงานอย่างเป็นธรรม เครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต (กรณีที่ดินชาวเลราไวย์) ที่รวมตัวกันแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ผู้ประสบภัยสึนามิปลายปี 47 และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำงานร่วมกับนักพัฒนาในองค์กรเอกชนทุกภาคมุ่งสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ฟื้นฟูองค์ความรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อให้สามารถจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้ด้วยตนเอง
“วัส” ลังเลใช้สิทธิยื่นตีความ พ.ร.ป.กสม.ขัด รธน.หรือไม่
นายวัสยังได้กล่าวถึงกรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีผลบังคับใช้ว่า เมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลแล้วผู้มีที่เกี่ยวข้องไม่เฉพาะแค่ตน สามารถใช้สิทธิยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.ป.ฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ที่ตนเคยมีท่าทีว่าจะให้ประเด็นดังกล่าวไปยุติที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อ สนช.ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ซึ่งมี 5 คนครบวาระ 9 ปีไปแล้ว อยู่ทำหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีประธานสภาผู้แทนราษฎรและผู้นำฝ่ายค้านมาทำหน้าที่คณะกรรมการสรรหาตุลาการชุดใหม่ ซึ่งอาจจะถือได้ว่าตุลาการชุดปัจจุบันอยู่นานถึง 12 ปี ทำให้ตนลังเลว่าจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจาณาหรือไม่ เพราะเกรงว่าหากยื่นไปแล้วไม่รู้ว่าผลการพิจาราจะเป็นอย่างไรหรือก่อให้เกิดผลอย่างไรบ้าง ดังนั้นตนจึงยังไม่ได้ตัดสินใจอะไร