xs
xsm
sm
md
lg

กสม.สรุปปี 60 พบละเมิดสิทธิทุกด้าน นักวิชาการชี้นานาชาติเชื่อไทยกลับสู่ ปชต.เต็มใบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กสม.สรุปสถานการณ์สิทธิ 60 พบละเมิดสิทธิทุกด้าน รัฐปิดปากแสดงความเห็น จนท.ละเมิดกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ นักวิชาการด้านสิทธิฯ ระบุยูเอ็นฝากการบ้านไทยแก้ปัญหาสิทธิสตรี-การบังคับใช้ กม.มั่นคง-การจำกัดสิทธิชุมนุมการแสดงความเห็น เผยนานาชาติเชื่อไทยจะกลับสู่ ปชต.เต็มใบ

วันนี้ (14 ธ.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้จัดงานเนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล 10 ธันวาคม ประจำปี 2560 โดยนายวิทิต มันตาภรณ์ อดีตผู้รายงานพิเศษและผู้เชี่ยวชาญอิสระของสหประชาชาติในเรื่องสิทธิมนุษยชน ได้แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ร่วมสร้างสังคมไทยให้เคารพสิทธิมนุษยชน” ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันไทยลงนามเป็นภาคีอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ 7 ฉบับ จากที่มีทั้งหมด 9 ฉบับ ในจำนวนนี้มี 2 อนุสัญญาที่ไทยได้ไปร่วมประชุมด้วยเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่ผ่านมา คือ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ซึ่งกรรมการของสหประชาชาติได้ฝากการบ้านไว้กับกรรมการไทยหลายเรื่อง ในเรื่องสตรีเขามีความเป็นห่วงเรื่องการกระทำรุนแรง และต่อไปประเทศไทยจะต้องเก็บข้อมูลในเรื่อง 1. การขลิบอวัยวะเพศของสตรี 2. การบังคับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีแต่งงาน 3. การมีสามี-ภรรยาหลายคน ว่ามีเกิดขึ้นในประเทศไทยหรือไม่ และมีสถานการณ์เป็นอย่างไร รวมทั้งห่วงสตรีใน 3 จังหวัดภาคใต้ เฉพาะอย่างยิ่งสตรีที่สูญเสียผู้นำครอบครัวในเหตุความไม่สงบ และไม่เห็นด้วยกับการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากการบังคับเก็บ

ส่วนเรื่องสิทธิทางการเมือง กรรมการสหประชาชาติได้ขอให้ไทยประเมินเรื่องการใช้กฎหมายความมั่นคงใหม่ โดยเฉพาะการกักตัวผู้ถูกกล่าวหาโดยไม่ต้องขึ้นศาล โดย พ.ร.ก.การบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน กักได้ 30 ชั่วโมง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก 7 วัน โดยเขายินดีที่ตั้งแต่กันยายน 2559 ประเทศไทยคดีพลเรือนที่ขึ้นศาลทหารไปขึ้นศาลพลเรือน และเห็นว่าจะต้องมีการอุทธรณ์ซึ่งต้องอุทธรณ์ต่อศาลพลเรือน ส่วนเรื่องการแสดงออกและการรวมกลุ่มเพื่อแสดงความคิดเห็นซึ่งเห็นว่าต้องเป็นตามหลักสากล ถ้าจะจำกัดสิทธิต้องจำกัดเท่าที่จำเป็นและมีสัดส่วน ไม่ใช่มีการชุมนุมเล็กน้อยก็ห้าม และถ้าหากจะดำเนินการก็ต้องมีข้อพิสูจน์ว่ามีฐานกฎหมายรองรับอยู่ข้างหลัง รวมทั้งอยากให้อยากให้การบังคับใช้มาตรา 112 และมาตรา 116 เป็นไปด้วยความระมัดระวัง มีการเปิดพื้นที่ให้แสดงออกมากขึ้น เพิ่มความเชื่อมโยงในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

“เขาเชียร์ให้ประเทศไทยกลับไปสู่การนำพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามที่ได้ระบุว่าจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า โดยท่าทีของนานาชาติต่อประเทศมีความยืดหยุ่น เพราะเขาเชื่อว่าเราจะกลับไปสู่ประชาธิปไตยเต็มใบในเร็วๆ นี้”

จากนั้นได้มีการสรุปสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยปี 60 ที่น่าสนใจในเรื่องพลเมืองและสิทธิทางการเมือง กสม.ได้รับการร้องเรียนเรื่องการทรมานและการบังคับสูญหายตั้งแต่ปี 50-59 จำนวน 102 คำร้อง สวนใหญ่เป็นในพื้นที่ภาคใต้ ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นปัญหาโครงสร้างมาจากข้อจำกัดทางกฎหมาย เฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการกับผู้ต้องสงสัยคดีบังคับสูญหาย ส่วนการละเมิดสิทธิในกระบวรการยุติธรรมได้รับคำร้อง 125 เรื่อง จาก 387 เรื่อง คำร้องอ้างว่าเจ้าหน้าที่กระทำละเมิดครอบคลุมกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ตั้งแต่การจับกุม ควบคุมตัว แจ้งข้อกล่าวหา คุมขัง การพิจาณาคดี การลงโทษ และการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ขณะที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพวิชาการ สื่อมวลชน การชุมชุมนุมโดยปราศจากพบว่ายังถูกจำกัด ตรวจสอบ ควบคุมอย่างเข้มงวดโดยกฎหมาย อาทิ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 คำสั่ง คสช.ที่3 /2558 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ส่วนสิทธิมนุษยชนของบุคคล 7 กลุ่ม คือ เด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ยังพบสถานการณ์บุคคลดังกล่าวถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและถูกละเมิดซ้ำซ้อน ด้วยเหตุแห่งการมีสถานะต่างๆ ที่เหลื่อมทับซ้อนกัน เนื่องมาจากข้อจำกัดทางกฎหมาย เด็กถูกล่วงละเมิดและแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศ ทำร้ายร่างกายถูกชักจูงให้เข้าสู่ขบวนการยาเสพติด กลุ่มวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศพบมีการกระทำการรุนแรงต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ สื่อมวลชนมีการผลิตซ้ำภาพต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีลักษณะเหมารวม

สำหรับสถานการณ์เฉพาะหน้าด้านการปกป้องและปราบปรามการค้ามนุษย์ยังมีการนำผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์แสวงหาผลประโยชน์ ทั้งบังคับใช้แรงงาน ขายบริการทางเพศ บังคับเป็นขอทาน เหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้พบว่าสตรีที่สูญเสียผู้นำในความไม่สงบยังคงได้รับผลกระทบทางตรงทางอ้อม รัฐยังไม่มีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม ด้านสิทธิชุมชน ฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พบว่าการดำเนินการโครงการต่างๆของรัฐทั้งการจัดการพลังงานเหมืองแร่ ทรัพยากรธรรมชาติที่ดิน ป่าไม้ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษยังไม่เป็นไปตามหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน นักปกป้องสิทธิมนุษยชนยัง มีการคุกคาม ข่มขู่ การบังคับให้สูญหายมีการใช้กฎหมายฟ้องร้องดำเนินคดีเพื่อให้ระงับการเผยแพร่ความคิดและการเข้าไปส่วนร่วมกับประชาชน




กำลังโหลดความคิดเห็น