xs
xsm
sm
md
lg

กสม.เรียกชี้แจงกรณีไล่ที่ชาวเลราไวย์ เผย ตร.รวบคนรุมสกรัมชาวบ้าน 6 ราย จากทั้งหมดนับร้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวไทยใหม่ ต.ราไวย์ เผาพริกเผาเกลือสาปแช่งผู้ที่จะมาแย่งที่ดินจากชาวบ้าน (แฟ้มภาพ)
 
ศูนย์ข่าวภาคใต้ - ที่ประชุม กสม. เรียกทุกฝ่ายชี้แจงข้อมูลกรณีชาวเลราไวย์ ตร.รวบคนรุมสกรัมชาวบ้าน 6 ราย จากทั้งหมดนับร้อย ด้านดีเอสไอ เสนอนำคดีที่ดินขึ้นศาลยุติธรรม นักวิชาการสังคมแนะไทยให้สิทธิชนเผ่า

วันนี้ (26 ก.พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ (กสม.) คณะประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร มีการประชุมชี้แจงข้อมูลเรื่องข้อพิพาทที่ดินหาดราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ตและกรณีกลุ่มชายฉกรรจ์กว่า 100 คน ทำร้ายร่างกายชาวเลบาดเจ็บกว่า40 คน โดยมีนางเตือนใจ ดีเทศน์ เป็นประธานการประชุม

ตัวแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรฉลอง จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ความคืบหน้าคดีชาวเลถูกทำร้ายนั้น เบื้องต้นทางตำรวจมีการออกหมายจับบุคคลตามภาพที่ปรากฏในคลิปวิดีโอทั้งหมด 14 คน และมีผู้ต้องหาที่ยอมรับสารภาพอีก 6 คน โดยทั้งหมดนี้เป็นคนนอกจังหวัดภูเก็ต เป็นลูกจ้างของบริษัทรับเหมาที่บรรทุกหินมาถมที่ให้บริษัทบารอน เวิร์ลเทรด ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหาทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัสและจะส่งฟ้องต่อศาลเป็นลำดับต่อไป อย่างไรก็ตามทางผู้ต้องหาทั้ง7 คนได้ให้ปากคำเพิ่มเติมว่า การกระทำที่ตำรวจระบุว่าเป็นการทำร้ายร่างกายนั้นพวกตนทำไปเพื่อปกป้องตนเอง ดังนั้นจึงต้องสอบสวนเพิ่มเติมทั้งสองฝ่าย โดยจะส่งหนังสือเชิญชาวเลทั้ง7 คนที่เป็นผู้เสียหายมาให้ปากคำอีกครั้งเร็วๆนี้

นายบัญชา หาดทรายทอง ตัวแทนชาวเลราไวย์ กล่าวว่า กรณีชาวเลถูกทำร้ายนั้นอยากให้ตำรวจส่งข้อมูลมาบอกชาวเลบ้าง หรือถ้ามีข้อสงสัยเรื่องอะไรก็ให้ถามได้ อีกประเด็นที่ชาวบ้านต้องการเรียกร้องคือให้ตำรวจได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วย เช่น ถ้าหากจับผู้ต้องสงสัยตามคลิปวิดีโอได้ อยากให้ทางตำรวจเชิญผู้เสียหายไปดูหน้าผู้ต้องสงสัยว่าใช่คนเดียวกันหรือไม่ เพราะชาวเลเองก็ไม่อยากให้มีการจับผิดตัวที่สำคัญต้องการรู้ด้วยว่าผู้ต้องสงสัยใช่ลูกจ้างบริษัทเอกชนที่มีข้อพิพาทหรือไม่

ด้านนายประยงค์ ดอกลำไย อนุกรรมการสิทธิ์ฯ กล่าวว่า ส่วนตัวอยากให้ตำรวจเร่งติดตามสอบสวนลูกจ้างบริษัทบารอน เวิร์ล เทรดเพิ่มเติม เนื่องจากชาวเลร้องต่อ กสม.ด้วยว่า มีความสงสัยว่าผู้ทำร้ายอาจเกี่ยวข้องกับบริษัทฯ และอาจเป็นไปได้ว่าคนร้ายเป็นกลุ่มเดียวกับแรงงานที่เอาหินไปเทปิดทาง อยากให้ตำรวจติดต่อฝ่ายบริษัทเพื่อสอบสวนเพิ่มเติมด้วย

ขณะที่ พ.ต.ท.ประวุธ วงศ์สีนิล ผู้บัญชาการสำนักคดีคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงปัญหาข้อพิพาทที่ดินว่า ที่ดิน 33ไร่ของบริษัทบารอน ฯ อยู่ระหว่างการพิสูจน์เอกสารสิทธิ์ แต่กรณีที่ดินเนื้อที่ 19 ไร่ ที่ชาวเลอาศัยอยู่และมีเอกชนยืนยันว่ามีเอกสารสิทธิ์เป็นทั้งโฉนดเป็นทั้ง นส.3 นั้น พบออกเอกสารสิทธิ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายแปลงและพบหลักฐานการอาศัยอยู่ตั้งแต่ปี 2493 ซึ่งที่ผ่านมาตนขึ้นศาลให้ข้อมูลร่วมกับชาวเลที่ถูกฟ้องขับไล่หลายคน พร้อมส่งข้อมูลรายละเอียดทุกอย่างให้กับศาลแล้ว อีกทั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางที่อยู่อาศัยและจิตวิญญาณของชาวเล ก็ส่งเรื่องถึงกรมที่ดินเพื่อเพิกถอนแล้ว แต่ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ดังนั้นข้อเสนอขณะนี้ คือ ต้องนำเรื่องนี้ไปต่อสู้ในศาลยุติธรรม ซึ่งตนก็ยังไม่แน่ใจว่าศาลจะพิจารณาตามหลักฐานที่ดีเอสไอส่งไปหรือไม่

“คือความผิดปกติที่ผู้เชี่ยวชาญพบในแบบสอบสวนสิทธิการครอบครองที่ดิน ตามกฎหมายที่ดิน 1 ข้อ คือข้อ 9 ที่ระบุให้คนที่แจ้งครอบครองที่ดิน ยืนยันตัวตนพร้อมระบุว่าที่ดินแปลงนั้นๆตนอยู่อาศัยเองและไม่ได้ทำนิติกรรมหรือปล่อยให้ผู้อื่นเช่าหรืออาศัย ซึ่งเอกชนบางรายระบุว่ามีการปล่อยให้แก่ชาวเล อาศัยในฐานะลูกจ้าง หรือให้ผู้อื่นเช่าก็ต้องตอบคำถามข้อดังกล่าวด้วย แต่ในแบบสอบสวนหลายที่ซึ่งชุมชนชาวเลอาศัยอยู่ กลับไม่มีการตอบคำถามดังกล่าว” พันตำรวจโทประวุธ กล่าว

ด้านนายประเจียด อักษรธรรมกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็จ กล่าวว่า กรณีการแก้ไขปัญหาชาวเลนั้น จังหวัดเคยเจอปัญหาเรื่องการติดตั้งเสาไฟฟ้าเพื่อชุมชนชาวเลราไวย์ที่อาศัยอยู่อย่างแออัดในเนื้อที่19 ไร่ แต่หลายครั้งเจ้าหน้าที่ถูกเอกชนฟ้องร้อง และห้ามไม่ให้มีการตั้งเสาไฟในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ จึงส่งผลกระทบจนถึงทุกวันนี้ ทางจังหวัดจึงเสนอกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม) อนุมัติเงินซื้อที่ดินและเงินสร้างที่อยู่อาศัยแก่ชาวเลในงบประมาณราว 313 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่พอจะพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวเลได้ โดยกรณีข้อเสนอดังกล่าวมีชาวเลบางคนเห็นด้วย บางคนก็ยังปฏิเสธ

“เรื่องกระบวนการตรวจสอบ ถ้าดีเอสไอและคณะกรรมการชาวเลของพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ทำได้ ก็ทำต่อไป แต่ผมว่า แนวทางเร่งด่วนที่สุด น่าจะเป็นการซื้อที่ดินเนี่ยแหละ จะได้แก้ปัญหาเร็วๆ เพื่อให้ชาวเลมีความมั่นคงทางที่อยู่อาศัย” นายประเจียด กล่าว

ต่อข้อถามว่าในเมื่อทางจังหวัดรับรู้ว่า ดีเอสไอพิสูจน์เอกสารสิทธิ์แล้วพบความผิดปกติออกเอกสารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเหตุใดไม่สนับสนุนกระบวนการดังกล่าวของดีเอสไอ แล้วเลือกที่จะซื้อที่ดินเอกชน รองผู้ว่าฯ ตอบว่า ตนไม่มีสิทธิในการตัดสินใจแทนกรมที่ดินหรือใครได้ ตนเพียงแต่พิจารณาแล้วว่า การแก้ปัญหาใดที่จะเป็นทางออกเร่งด่วนก็น่าจะดีที่สุด ส่วนกระบวนการสอบสวน สืบสวนก็ปล่อยไปตามกระบวนการยุติธรรม

ดร.นฤมล อรุโณทัย นักวิจัยจากสถาบันสังคมจุฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแก้ปัญหาชาวเลให้พวกเขามีตัวตน ต้องอาศัยการวางเงื่อนไขทางสังคมให้เป็นสากลและเปิดพื้นที่ยอมรับประเพณี วัฒนธรรมของชาวเล ให้ชัดเจน เหมือนที่อเมริกาเปิดโอกาสให้ชาติมีวันชนเผ่าพื้นเมือง คู่กับวันยกย่องผู้ค้นพบดินแดนอเมริกาอย่าง “ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส” ซึ่งอเมริกายอมรับแล้วว่า โคลัมบัสไม่ใช่คนแรกที่บุกเบิกและตั้งถิ่นฐานอยู่อเมริกา แต่เป็นชาวพื้นเมืองเช่น ชาวอินเดียแดงต่างหาก ระยะหลังอเมริกาจึงเคารพสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองเท่าเทียมกับคนผิวขาว ขณะที่ประเทศอื่น เช่นสวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ มีการประกาศสิทธิที่ดินในลักษณะนี้
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น