xs
xsm
sm
md
lg

รองปลัดยุติธรรมลงภูเก็ตรับเรื่องร้องทุกข์อ้างกระทบจาก จนท.จัดระเบียบชายหาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นำทีมลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต รับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนกรณีได้รับผลกระทบจากการแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐ อ้างไม่ได้รับความธรรม ตามโครงการกระทรวงยุติธรรมเคลื่อนที่

เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (25 ก.พ.) ที่ห้องประชุมชั้น 4 เทศบาลตำบลกะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต กระทรวงยุติธรรม เปิดศูนย์บริการร่วมกระทรวงยุติธรรมเคลื่อนที่ เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนกรณีได้รับผลกระทบจากการแก้ปัญหาของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยไม่เป็นธรรม เช่น การแก้ปัญหาร่มเตียงชายหาด กลุ่มผู้บริการรถแท็กซี่ ซึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า ตั้งซ่องโจร เป็นต้น

โดยมี พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานรับฟังปัญหาและรับหนังสือร้องเรียนจากประชาชนผู้เดือดร้อน และมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรม ในจังหวัดภูเก็ต ในนามของยุติธรรมจังหวัดภูเก็ต ร่วมรับเรื่องราว ทั้งนี้ มีประชาชนผู้เดือดร้อน และได้รับผลกระทบจากกลุ่มผู้ประกอบอาชีพร่มเตียงชายหาด รถแท็กซี่ และอื่นๆ ร่วมนำเสนอปัญหาและผลกระทบที่ได้รับจำนวนร่วม 300 คน นอกจากนี้ ยังมีเจ้าของที่ดินบริเวณชายหาดราไวย์ มายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม เช่นเดียวกับชาวเลราไวย์ ซึ่งขอให้มีการติดตามการดำเนินคดีกรณีเหตุปะทะกับกลุ่มชายฉกรรจ์ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 รวมถึงเงินเยียวยาในการว่าจ้างทนายเพื่อต่อสู้คดีด้วย

ทั้งนี้ ได้มีการนำเสนอกรณีนโยบายจัดระเบียบชายหาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่อนุญาตให้นำเตียงมาตั้งให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ทั้งๆ ที่อาชีพดังกล่าวได้ทำกันมานาน และผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวไม่ได้ร่ำรวย หรือเป็นมาเฟียอย่างที่มีการกล่าวหาแต่อย่างใด รวมไปทั้งสงสัยว่า ทำไมแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ตั้งเตียงได้ เช่นเดียวกับทางกลุ่มหมอนวดชายหาดซึ่งไม่สามารถตั้งเตียงได้ ทำให้ไม่สะดวกเพราะต้องนวดบนหาดทราย ในขณะที่ตัวแทนผู้ประกอบการรถแท็กซี่หาดกะรน ระบุว่า อาชีพให้บริการรถแท็กซี่นั้นทำกันมานาน และเมื่อมีการกำหนดกติกาให้พวกเขาปฏิบัติก็ได้ดำเนินการทุกอย่าง แต่ทำไมตั้งข้อกล่าวหาทั้งการบุกรุกที่สาธารณะ และซ่องโจร ซึ่งไม่เป็นธรรมเลย จึงอยากขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การนำเจ้าเหน้าที่มารับเรื่องราวร้องทุกข์นั้น เพื่อให้ได้รับทราบสภาพข้อเท็จจริง โดยเฉพาะเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย และกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อจะได้นำข้อมูลไปสู่กระบวนการวิเคราะห์ปัญหา และนำเสนอต่อผู้บังคับบัญชามีอำนาจตัดสินใจต่อไป เพราะปกติจะใช้ตัวอักษร ข้อกฎหมาย และองค์ความผิดมาพิจารณา ซึ่งมองว่าในบางเรื่องจะต้องใช้เรื่องของยุทธศาสตร์เข้ามาดำเนินการด้วย เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาของพี่น้องประชาชนได้อย่างถูกต้อง

ซึ่งในส่วนนี้คิดว่าไม่น่าจะใช้เวลานาน เพราะก่อนที่จะลงพื้นที่มารับทราบปัญหาจากผู้เดือดร้อนนั้นก็มีการมาเก็บข้อมูลเบื้องต้นแล้วในระดับหนึ่ง จนทราบว่า ควรนำเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นต่อไป โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของร่มเตียง และแท็กซี่ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ว่ามีประชาชนตกเป็นผู้ต้องหามากถึง 500 คน ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้เป็นการให้ความเป็นธรรม ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฎิบัติหน้าที่ และประชาชนที่เดือดร้อนด้วย
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น